แมนกรุพอาณาจักรที่สร้างกันขึ้นมาด้วยทุน 2 หมื่นบาท


นิตยสารผู้จัดการ( มีนาคม 2528)



กลับสู่หน้าหลัก

แมนกรุพเป็นอาณาจักรทางธุรกิจที่ยังไม่ถึงกับใหญ่โตมากนัก แต่ถ้ามองย้อนหลังกลับไปเมื่อประมาณ 8 ปีที่แล้วในช่วงที่แมนกรุพกำลังตั้งไข่ อาณาจักรในปัจจุบันก็คงจะเป็นสิ่งที่สัมผัสได้เพียงความฝัน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับตัวสุทัศน์ ศุกลรัตนเมธี ในฐานะเจ้าของและกรรมการผู้จัดการของแมนกรุพแล้ว เขารู้สึกอยู่เสมอว่าอาณาจักรแห่งนี้มันโตขึ้นรวดเร็ว จนบางครั้งเขาเองก็ไม่ทราบเหมือนกันว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น

เขายอมรับว่าเป็นการสร้างตัวขึ้นมาอย่างสนุกสนานมากและไม่เคยเบื่อที่จะแสวงหาลู่ทางธุรกิจใหม่ๆ เพิ่มขึ้น

สุทัศน์ก่อตั้งแมนกรุพขึ้นมาในช่วงปลายปี 2520 โดยเริ่มจากการจัดทำหนังสือแมนซึ่งสุทัศน์ได้หัวหนังสือมาจากบุรินทร์ วงศ์สงวน

สุทัศน์เคยทำหนังสือมาก่อนหลายเล่ม และเล่มล่าสุดก่อนจะเป็นแมนกรุพก็คือหนังสือแมน โดยทำร่วมกับไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม และนักเขียนรุ่นใหม่อีกหลายคน

หนังสือแมนต้องหยุดตีพิมพ์ไปเมื่อเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 อีกเกือบปีต่อมาสุทัศน์จึงได้หัวจากบุรินทร์มาลงทุนทำเอง

บุรินทร์เห็นว่าสุทัศน์เป็นคนเอาจริงเอาจังกับงานและกำลังต้องการเริ่มต้นจึงมอบหนังสือแมนให้พร้อมกับเงินลงทุนอีก 20,000 บาท เป็นทุน และให้ใช้สำนักงานที่อาคารบีอาร์ของบุรินทร์โดยไม่ต้องเสียค่าเช่า

“ผมเริ่มมาแค่นั้น ออฟฟิศก็แค่ 50-60 ตารางเมตร” สุทัศน์เล่าให้ “ผู้จัดการ” ฟัง

แมนกรุพของสุทัศน์จึงเริ่มขึ้นมาด้วยน้ำพักน้ำแรงที่ลงไปและเงินของบุรินทร์ วงศ์สงวน กับสำนักงานไม่ต้องเสียค่าเช่าเท่านั้นจริงๆ

หนังสือแมนเป็นหนังสือที่มีตลาดของมันเองอยู่แล้วก่อนปิด เมื่อบวกกับแรงทุ่มเทของสุทัศน์และทีมงาน และโชคดีที่คู่แข่งก็มีเพียงหนังสือหนุ่มสาวฉบับเดียว แมนจึงเป็นที่ฮือฮาของบรรดานักอ่านในเวลาอันรวดเร็ว สร้างผลกำไรเป็นกอบเป็นกำให้กับสุทัศน์จนหายเหนื่อยเป็นปลิดทิ้ง

สุทัศน์นั้นโดยท่วงทำนองภายนอกอาจจะบอกได้ว่า เขาเป็นคนนุ่มนวลสุภาพและออกจะเป็นคนที่เรียบร้อยมาก

แต่ถ้าศึกษากันนานๆ แล้วก็จะพบว่า เขาเป็นคนที่กระตือรือร้นอย่างรุนแรงทีเดียว โดยเฉพาะเกี่ยวกับการตัดสินใจขยายตัวทางธุรกิจ

เพราะฉะนั้นเมื่อหนังสือแมนเริ่มให้ผลกำไร สุทัศน์ก็ตัดสินใจนำกำไรนั้นไปออกหนังสืออีก 2 เล่ม เป็นหนังสือสำหรับเด็กแนวเดียวกับชัยพฤกษ์ของเครือไทยวัฒนาพานิช เล่มหนึ่งชื่อ โลกของเด็ก มี ส.สุวรรณ เป็นผู้คุมทีมจัดทำส่วนอีกเล่มเป็นหนังสือบันเทิงชื่อ ดารารีวิว ควบคุมโดยน้ำมนต์ อยู่สกุล บรรณาธิการหนังสือ วัยหวาน ในปัจจุบัน

หนังสือทั้ง 2 เล่มนี้สุทัศน์ร่วมลงทุนคนละครึ่งกับบุรินทร์ วงศ์สงวน

ประมาณ 7-8 เดือนให้หลัง หนังสือทั้ง 2 เล่มก็ต้องปิดตัวเอง เพราะผู้ลงทุนทนขาดทุนต่อไปไม่ไหว สุทัศน์ยอมรับว่า เป็นการเจ็บครั้งแรกในชีวิตและต้องจดจำไปนานจนแม้ทุกวันนี้ทุกครั้งที่จะตัดสินใจเกี่ยวกับการลงทุนใดๆ เขาก็ต้องนึกถึงบทเรียนครั้งนี้อยู่เสมอ

“ก็หมดไปคนละ 3-4 แสนบาท” สุทัศน์หมายถึงราคาของบทเรียนที่เขาลงทุนซื้อหามาร่วมกับบุรินทร์ ซึ่งหลังจากครั้งนี้แล้วก็ดูเหมือนว่าบุรินทร์จะเริ่มวางมือจากวงการหนังสือไปตามลำดับ

สุทัศน์ยอมรับตรงๆ กับ “ผู้จัดการ” ว่า คราวนั้นแมนกรุพ ยอมแยกไปพักใหญ่ๆ เหมือนกัน

แต่เขาก็คงข่มความทะเยอทะยานในจิตใจเบื้องลึกไม่ได้อยู่ดี

ในช่วงปลายปี 2522 สุทัศน์ตัดสินใจออกหนังสืออีกเล่มชื่อ ไฮ-ไฟ สเตอริโอ และเป็นหนังสือที่สุทัศน์เชื่อมั่นมากว่าจะต้องประสบความสำเร็จ

ไฮ-ไฟ สเตอริโอ มีที่มาจากคอลัมน์เครื่องเสียงในหนังสือแมน ซึ่งเขียนโดย ประพันธ์ ฟักเทศ วิศวกรทางด้านอิเล็กทรอนิกส์จากจุฬาฯ ทำงานอยู่ที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ เป็นอาชีพหลัก แต่เผอิญเป็นเพื่อนรุ่นพี่ร่วมสถาบันเดียวกัน สุทัศน์จึงผลักดันให้เขียนคอลัมน์เครื่องเสียงในหนังสือ แมน

และกลายเป็นคอลัมน์ยอดนิยมในเวลาอันรวดเร็ว มีผู้อ่านและตัวแทนจำหน่ายเครื่องเสียงให้ความสนใจสูงมาก

“แรกๆ ผมก็ยังไม่แน่ใจว่าจะมีคนชอบมากแค่ไหน จึงไม่กล้าออกเป็นหนังสือทันที เพราะบทเรียนเก่ามีมาแล้ว ผมจึงออกเป็นฉบับพิเศษในหนังสือแมนก่อน ก็ปรากฏว่าโฆษณาเข้ามามาก และคนอ่านให้การต้อนรับดี ก็เลยตัดสินใจออกเป็นรายสองเดือน และตอนนี้ปรับขึ้นมาเป็น 3 เดือน 2 เล่ม” สุทัศน์บอกรายละเอียดเกี่ยวกับเบื้องหลัง

ไฮ-ไฟ สเตอริโอ เป็นหนังสือที่สุทัศน์บอกว่ายอดขายและโฆษณาขึ้นสูงมาก และขึ้นอย่างรวดเร็ว สุทัศน์ไม่ปิดบังว่า ขณะนี้รายได้ จาก ไฮ-ไฟ สเตอริโอ นั้นได้แซงหน้าหนังสือแมนไปแล้วเรียบร้อย

หลังจากออก ไฮ-ไฟ สเตอริโอ ได้ไม่นานสุทัศน์ก็แยกคอลัมน์วิดีโอในหนังสือเล่มนี้ออกมาเป็นอีกเล่มต่างหาก คือหนังสือ วิดีโอรีวิว

กลางปี 2523 ก็ออกหนังสือในเครือแมนกรุพฉบับที่ 4 ชื่อ คอมพิวเตอร์รีวิว

“เบื้องหลังการออกหนังสือ วิดีโอ และ คอมพิวเตอร์ ก็คือการมองว่า 2 ตลาดนี้กำลังโตมีคนตื่นตัวสนใจมาก” สุทัศน์พูดกับ “ผู้จัดการ”

มีสัจธรรมข้อหนึ่งบอกไว้ว่า วิถีทางของคนเรานั้นย่อมเปลี่ยนแปลงไปได้เมื่อโอกาสมาถึง โดยเฉพาะเมื่อมองแล้วว่าทางสายใหม่อาจจะให้อะไรที่ยิ่งใหญ่กว่าเก่า

วิถีชีวิตของสุทัศน์และวิถีทางของแมนกรุพก็คงจะเป็นไปในทำนองนั้นด้วย

ย้อนกลับไปในปี 2524 หลังจากทำหนังสือ ไฮ-ไฟ สเตอริโอ มาครบสองปี ด้วยความตั้งใจแท้จริงที่จะสร้างภาพพจน์และพลังให้กับหนังสือ สุทัศน์ตัดสินใจจัดงานนิทรรศการแสดงเครื่องเสียงขึ้นที่โรงแรมอิมพีเรียล

“ผมได้รับแรงผลักดันจากคุณปราจิณ เอี่ยมลำเนา (เจ้าของหนังสือรถยนต์ชื่อกรังด์ปรีซ์) ซึ่งเคยจัดนิทรรศการมอเตอร์โชว์มา 2-3 ครั้ง เขาก็บอกว่าผมควรทำเพื่อเป็นการโปรโมตหนังสือและสร้างอำนาจต่อรองกับเจ้าของสินค้าและก็เท่ากับตอบแทนลูกค้าด้วย ผมก็ตัดสินใจจัดโดยที่ไม่มีประสบการณ์เลย โนว์ฮาวต่างๆ ก็เพียงได้รับการถ่ายทอดจากคุณปราจิณ...” สุทัศน์กล่าวให้ฟัง

งานไฮ-ไฟ โชว์ ครั้งแรกก็เลยออกมาอย่างไม่ค่อยประทับใจทุกฝ่ายเท่าไร

“ขาดทุนนิดหน่อย มีตัวแทนจำหน่ายเครื่องเสียงมาออกร้าน 18 ราย เราก็ใช้ห้องนอนของโรงแรมเป็นห้องๆ แทนบูท” สุทัศน์เสริม

แต่กระนั้นสุทัศน์ก็คงจะเริ่มมองเห็นลู่ทางธุรกิจบางอย่างแล้ว จึงได้จัดไฮ-ไฟ โชว์ ครั้งที่ 2 ขึ้นในปีถัดมา คราวนี้สถานที่ย้ายมาที่โรงแรมรามาการ์เด้น และครั้งนี้นอกจากจะมีการแสดงเครื่องเสียงตามปกติ ก็ยังรวมผลิตภัณฑ์ไมโครคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์โทรคมนาคมเข้าไปด้วย

ผลออกมาดีกว่าครั้งแรก แม้จะยังขาดทุนอยู่บ้าง และถ้ามองกันว่าแมนกรุพเริ่มจะมีประสบการณ์ด้านการจัดนิทรรศการเพิ่มขึ้น ก็คงต้องถือว่ามีกำไร เพียงแต่กำหนดค่าออกมาเป็นตัวเงินไม่ได้เท่านั้น

ปี 2526 สุทัศน์ตัดสินใจให้แมนกรุพจัดนิทรรศการอีก คราวนี้เป็นการรวบรวมผลิตภัณฑ์ทั้งเครื่องเสียงและเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ เข้ามาเกือบครบทุกประเภท ใช้เนื้อที่กว้างขวางขึ้นเป็น 3,500 ตารางเมตร มีผู้เข้าร่วมงานมากกว่า 50 บริษัท และเปลี่ยนชื่อนิทรรศการเสียใหม่เป็น “BES 83 หรือ BANGKOK HI-FI & ELECTRONICS SHOW”

คราวนี้โชคเป็นของแมนกรุพ เพราะเป็นครั้งแรกที่จัดแล้วมีกำไรตอบแทนกลับมา

“จากงานนี้เองที่ผมเริ่มรู้แล้วว่าแมนกรุพกำลังจะเดินไปในทางสายใหม่ทางไหน” สุทัศน์สรุปให้ฟัง

เป็นเรื่องแน่นอนที่ธุรกิจหนังสือในเครือแมนกรุพนั้นจะต้องทำกันต่อไป เพราะมีหนังสือหลายเล่มที่จะสามารถเกื้อกูลซึ่งกันและกันกับงานจัดนิทรรศการได้ และแน่เสียยิ่งกว่าแน่ที่แมนกรุพจำเป็นต้องจัดสรรกำลังคนแยกมาส่วนหนึ่งต่างหาก โดยให้มีหน้าที่รับผิดชอบเฉพาะงานด้านการจัดนิทรรศการ

สุทัศน์เล่าให้ฟังว่า ปัจจุบันแมนกรุพมีพนักงานทั้งสิ้น 52 คน ต้องทำงานควบทั้งทางด้านหนังสือและจัดนิทรรศการไปพร้อมๆ กัน

“ถ้าต้องการจะเอาดีทางด้านจัดนิทรรศการจริงๆ ก็คงต้องแยกงาน 2 ส่วนนี้ออกจากกัน คงมีเพียงบางส่วนเท่านั้น เช่น ฝ่ายหาลูกค้ากับฝ่ายศิลป์ทางด้านครีเอทีฟที่อาจจะใช้ร่วมกันได้...”

การขยายตัวทางด้านการจัดนิทรรศการที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว จากไฮ-ไฟ โชว์ ครั้งที่ 1 และ 2 มาเป็นครั้งที่ 3 คือ BES'83 ตามด้วย BES'84 เมื่อวันที่ 1-5 ธันวาคม 2527 ที่บางกอกคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลพลาซา และงานคอมพิวเตอร์ไทย '85 ที่เพิ่งจบสิ้นไปสดๆ ร้อนๆ ตอนต้นเดือนมีนาคม 2528 นี้ ซึ่งจัดที่เซ็นทรัลพลาซาอีกเหมือนกัน ได้ทำให้แมนกรุพเร่งรีบจัดตั้งฝ่ายนิทรรศการขึ้นมาทันที

ฝ่ายนี้สุทัศน์เปิดเผยว่าจะมีการแบ่งงานออกเป็น 3 ส่วนใหญ่ๆ คือ ส่วนที่เกี่ยวกับงานวิจัย มีหน้าที่เสาะแสวงหาข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับสินค้าและสภาวะการตลาดและงานวิจัยอื่นๆ ที่เป็นงานด้านวิชาการของการจัดนิทรรศการ อีก 2 ส่วนก็จะเป็นฝ่ายประสานงานต่างประเทศและฝ่ายการตลาด

การตั้งฝ่ายประสานงานต่างประเทศนั้นแมนกรุพจำเป็นต้องมีไว้ เพราะแมนกรุพมองว่าในอนาคตจะต้องพยายามขยายธุรกิจออกไปในโลกกว้าง จะไม่จำกัดตัวเองอยู่เฉพาะการจัดนิทรรศการระดับภายในประเทศเท่านั้น

“ตอนนี้เราก็พยายามหาทางเป็นตัวแทนในประเทศไทยของบริษัท CAHNERS EXPOSITION GROUP และบริษัท LEED INTERNATIONAL อยู่ พวกนี้ที่จริงเขาก็พยายามจะเข้ามาเอง แต่ยังไม่สบโอกาสเหมาะเท่านั้น เราก็คิดว่าไหนๆ เขาจะต้องเข้ามาแน่แล้วก็ให้เราเป็นตัวแทนของเขาจะไม่ดีกว่าหรือ” สุทัศน์กล่าว

บริษัท CAHNERS EXPOSITION GROUP และบริษัท LEED INTERNATIONAL นี้ จัดว่าเป็นผู้จัดนิทรรศการที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลก ทั้ง 2 บริษัทมีบริษัทแม่เดียวกัน เพียงแต่สำนักงานใหญ่ของ CAHNERS อยู่ที่ชิคาโก และในย่านเอเชียมีศูนย์อยู่ที่ฮ่องกง ส่วน LEED มีสำนักงานใหญ่ที่อังกฤษ

แมนกรุพเริ่มเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับทั้ง 2 บริษัทนี้บ้างแล้ว

สุทัศน์เล่าให้ฟังว่า นอกจากการจัดตั้งฝ่ายและแบ่งส่วนงานใหญ่ๆ ดังกล่าวแล้ว งานด้านอื่นๆ ที่มีผู้ชำนาญการเฉพาะด้านดำเนินการได้ดีอยู่แล้ว เขาจะใช้วิธีตกลงให้ความร่วมมือกันหรือว่าจ้างกันอีกทอดหนึ่ง อย่างเช่นงานที่เกี่ยวกับการสร้างบูท แมนกรุพจะต้องใช้บริการจากบริษัทปิโก้ประเทศไทย ซึ่งมีชื่อเสียง ทั่วโลกให้การยอมรับด้านความเป็นมาตรฐานอยู่แล้ว และงานที่เกี่ยวข้องทางด้านการโปรโมชั่นแมนกรุพจะร่วมมือกับบริษัทซีพีแอนด์เอส ทุกงานไป

“จากประสบการณ์วิธีนี้จะลดต้นทุนด้านค่าใช้จ่ายได้ดีที่สุด” สุทัศน์ยืนยัน

แมนกรุพมีงานในช่วงปี 2528 ที่จะต้องดำเนินแน่นอนแล้ว 5 งานในขณะนี้ คืองานลิกไนต์ไทย 85 เป็นนิทรรศการเกี่ยวกับการทำเหมืองถ่านหิน จัดร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตระหว่างวันที่ 18-21 พฤศจิกายน ที่เซ็นทรัลพลาซา ต่อมาได้แก่งาน BES'85 ซึ่งจัดติดต่อกันทุกปี และครั้งนี้จะเป็นครั้งที่ 5 แล้ว

มีงานระดับนานาชาติอีก 2 งานคือ เอ็กซโป '85 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 8-12 พฤษภาคม ที่ประเทศบรูไน โดยบริษัทรับจัดนิทรรศการของสิงคโปร์เป็นเจ้าของงาน และเมนกรุพได้รับแต่งตั้งให้เป็นตัวแทนจำหน่ายในประเทศไทย หรือพูดง่ายๆ ก็คือหาลูกค้าไปออกงานนั่นเอง

งานระดับนานาชาติอีกงานหนึ่งได้แก่นิทรรศการอาหารแช่แข็งนานาชาติ (INTER NATIONAL FROZIN FOOD EXHIBITION AND CONFERENCD จัดโดยบริษัทไอทีเอฟของอังกฤษ แมนกรุพเป็นตัวแทนในประเทศไทยอีกเหมือนกัน

นิทรรศการอาหารแช่แข็งนานาชาติจะจัดขึ้นที่บางกอกคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์เซ็นทรัลพลาซา ระหว่างวันที่ 11-13 พฤศจิกายนศกนี้

ส่วนงานสุดท้ายเป็นงานซีเกมส์แฟร์ จัดระหว่างการแข่งขันกีฬาซีเกมส์บริเวณสนามศุภชลาศัยและสนามกีฬาหัวหมาก

“เป็นงานแฟร์ครั้งแรกของเรา ก็เรียกว่างานช้างทีเดียว เราประมูลได้มาก็จะมีการออกร้านและขายอาหาร ความจริงแมนกรุพไม่มีนโยบายจัดงานแฟร์ เราเน้นไปที่นิทรรศการมากกว่า...” สุทัศน์ชี้แจง

กิจกรรมด้านการจัดนิทรรศการของแมนกรุพพอสรุปได้ว่ามีอัตราการขยายตัวที่รวดเร็วมาก

แมนกรุพในวันนี้ตั้งเป้าหมายไว้อย่างค่อนข้างจะมั่นใจว่า นอกจากงาน BES ซึ่งเป็นงานที่จะต้องจัดกันปีละหนึ่งครั้งแล้ว ก็จะพยายามเป็นผู้จัดงานคอมพิวเตอร์ไทยต่อไปเรื่อยๆ ทุกปีให้ได้ นอกจากนั้นก็จะให้ความสนใจสินค้าในภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ ด้วย

และนี่ก็คือภาพของแมนกรุพในปัจจุบัน ที่กำลังจะก้าวเข้าไปในวงการจัดนิทรรศการในอนาคต โดยเริ่มต้นสร้างเนื้อสร้างตัวขึ้นมาด้วยเงินทุน 20,000 บาท จริงๆ



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.