ความเห็น "ผู้จัดการ" คณะรัฐมนตรีในฝัน


นิตยสารผู้จัดการ( มีนาคม 2528)



กลับสู่หน้าหลัก

ปฏิกิริยาจากท่านผู้อ่าน

“ผู้จัดการ” ดีใจเป็นอย่างมากที่ได้รับทั้งจดหมายและโทรศัพท์เข้ามาแสดงความเห็นเรื่อง เกษม จาติกวณิช ที่เราว่า “เขาเหมาะเป็นนายกฯ ที่สุด” รวมทั้งคณะรัฐมนตรีในฝันที่เราได้ตีพิมพ์ออกไปเมื่อเดือนที่แล้ว

มีจดหมายเข้ามาหาเรา 82 ฉบับ และโทรศัพท์อีกประมาณ 40 กว่าราย ส่วนใหญ่จะเห็นด้วยกับ CHOICE ของเรา

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “เกษม จาติกวณิช” ได้รับคะแนนเสียงอย่างท่วมท้น ยกเว้นเพียง 2 ท่านเท่านั้นที่บอกมาว่า “เป็นใครก็ได้แต่ขอให้เปลี่ยนเสียทีเถอะ”

ทุกท่านที่ออกความเห็นมาเห็นพ้องต้องกันว่า ประเทศไทยควรจะถูกบริหารด้วยมืออาชีพมากกว่านักการเมือง หรือนักการทหาร

แต่กว่าครึ่งก็ยังสงสัยว่าจะไปได้แค่ไหน? ถ้าระบบราชการยังคงเป็นเช่นนี้

เกือบ 80% ที่ส่งจดหมายเข้ามามีความรู้สึกที่เลวร้ายกับระบบราชการและประมาณ 30% ประณามและกล่าวหาว่าข้าราชการไทย คืออุปสรรคสำคัญที่สุดที่ทำให้ประเทศชาติเลวร้ายลง

ผู้อ่านที่ส่งจดหมายเข้ามาเกือบ 40% ยอมรับว่าก่อนหน้านี้ไม่ได้คิดถึง เกษม จาติกวณิช ว่าจะเป็นนายกฯ ได้ แต่พอมีคนเตือนความจำก็เห็นด้วย 100%

ส่วนคณะรัฐมนตรีในฝันนั้น บุคคลที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดคือ ดร.อำนวย วีรวรรณ (มีอยู่ 5 ท่านเสียดายว่าไม่น่าจะไปเป็นมือปืนรับจ้างของชาตรี โสภณพานิช-“เสียศักดิ์ศรีหมด-ภาพพจน์ธนาคารกรุงเทพเลวเกินกว่าที่ ดร.อำนวย วีรวรรณ จะเข้าไปเป็นผู้นำ” ฯลฯ)

จรัส ชูโต ณรงค์ ศรีสอ้าน จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา

ที่ไม่ได้รับการยอมรับนั้นเป็นเพราะผู้อ่านที่ตอบกลับมาส่วนใหญ่จะไม่ค่อยรู้จัก เช่น วิโรจน์ ภู่ตระกูล ดร.อาชว์ เตาลานนท์ ฯลฯ

มีอยู่ 5 ท่านถามมาว่า “บุญชู โรจนเสถียร หายไปไหน”

มีอยู่ท่านหนึ่งโทรศัพท์มา บุญชู โรจนเสถียร น่าจะถูกตั้งให้เป็นรองนายกฯ เฉพาะกิจ นั่นคือรับงานที่เป็นปัญหาเป็นชิ้นๆ ไปและนำไปแก้

โดยสรุปแล้วทุกคนยอมรับว่าถ้าประเทศเราให้นักบริการมืออาชีพได้บริหารแล้วอนาคตจะไปได้ไกลกว่านี้อีกมาก

หลายคนตั้งข้อสงสัยว่าการจะมีคณะรัฐบาลเช่นนี้ได้ก็ต้องไม่มีระบบการเมืองเช่นที่เป็นไปแบบปัจจุบัน

มีอีกหลายคนก็ให้ความเห็นว่าประชาธิปไตยแบบเกาหลี ไต้หวัน และสิงคโปร์คือ สิ่งที่เหมาะสมกับบ้านเรา

ส่วน “ผู้จัดการ” มีความเห็นว่า เราจะพยายามเสนอสิ่งใหม่ๆ ที่เป็นเรื่องท้าทายความคิดให้กับท่านผู้อ่านตลอดไป เท่าที่เราสามารถจะทำได้

และเราดีใจที่ข้อเสนอของเราได้รับการถกเถียงในหลายวงการ

รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายพาณิชย์และการคลัง

ดร.อำนวย วีรวรรณ

ถ้าพูดถึงบุคลากรที่มีคุณภาพซึ่งผ่านทั้งภาครัฐบาลและภาคเอกชนมาอย่างโชกโชนแล้วก็คงจะหาคนแบบ อำนวย วีรวรรณ ได้ยาก

“ผู้จัดการ” เคยลงเรื่องของอำนวย วีรวรรณ มาแล้วครั้งหนึ่งในฉบับเดือนสิงหาคม พ.ศ.2526

อำนวย วีรวรรณ จัดได้ว่าเป็นนักบริหารมืออาชีพชั้นแนวหน้าคนหนึ่งของเมืองไทยที่มีอยู่ไม่กี่คนในทุกวันนี้

โดยการศึกษาแล้วเขาเรียนมาทางการบริหาร

โดยอาชีพการงานแล้วเขาเป็นคนหนึ่งในการสร้างระบบราชการต่างๆ ในด้านการคลังของประเทศมาเป็นเวลา 20 กว่าปี

บทบาทด้านหนึ่งในช่วงแรกของชีวิต คือความเป็นคนที่รับผิดชอบในการสร้างโครงสร้างของการลงทุนที่ได้รับการส่งเสริมโดยเป็นเลขาธิการ BOI คนแรก

จากการที่ได้เริ่มงานในกรมบัญชีกลางและกรมศุลกากร ในฐานะอธิบดีตลอดจนเป็นปลัดกระทรวงการคลัง และในที่สุดเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ทำให้อำนวย วีรวรรณ เป็นคนที่เข้าถึงเส้นสนกลในของระบบการเงินการคลังได้ดีเยี่ยม ตลอดจนโครงสร้างของภาษีที่กำลังฆ่านักธุรกิจและคนระดับกลางอยู่ทุกวันนี้

ช่วงหลังของชีวิตเขาได้ข้ามรั้วมาอยู่อีกฝ่ายหนึ่งคือ ภาคเอกชน

ในบทบาทฐานะของประธานกลุ่มบริษัทสหยูเนี่ยน ทำให้อำนวยต้องมองออกไปนอกประเทศในเรื่องการค้าขาย

ขอบข่ายงานของสหยูเนี่ยนที่ค้าทั้งในและนอกประเทศ ทำให้อำนวย วีรวรรณ เข้าใจถึงโครงสร้าง ปัญหา และอุปสรรคในการค้าขายของธุรกิจ

และในบทบาทของประธานกรรมการบริหารของธนาคารกรุงเทพ อำนวยก็มานั่งอีกฝั่งหนึ่งของวงการธุรกิจคือ เป็นผู้จัดสรรเงินและทุนให้กับธุรกิจและผู้ประกอบการ

จากบทบาทใหม่อันนี้ทำให้ อำนวย วีรวรรณ รู้ลึกลงไปถึงวงจรต่างๆ ที่ตัวเองอาจจะไม่เคยเรียนรู้เมื่อสมัยที่อยู่ภาครัฐบาล และสมัยที่อยู่ในฐานะพ่อค้าที่ต้องกู้เงิน

การเงินการคลังและการพาณิชยกรรมเป็นของที่อยู่ควบคู่กันไปตลอด เพราะมันเกี่ยวพันถึงการลงทุน การหมุนเวียนของเงินในวงจรธุรกิจการค้า การเก็บภาษีจากธุรกิจการค้ามาใช้จ่ายและการกู้เงินเพื่อพัฒนาปรับปรุงในการผลิตดีขึ้นเพื่อให้การค้าดีขึ้น เพื่อให้เก็บภาษีดีขึ้นและเพื่อให้ทุกอย่างดีขึ้น

ตำแหน่งนี้จึงเหมาะกับคนที่ชื่อ อำนวย วีรวรรณ อย่างที่สุด

รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายอุตสาหกรรม เกษตรกรรม และคมนาคม

จรัส ชูโต

จรัส ชูโต ไม่เคยเกี่ยวข้องกับการเมืองมาแม้แต่น้อย แต่จรัส ชูโต มักจะถูกการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องเสมอในสมัยที่บริหารอยู่ที่เครือซิเมนต์ไทย

ในชีวิตของจรัส ชูโต เกี่ยวพันอยู่ 3 ประการคือ

1. การพัฒนาคน
2.
3. การผลิตที่มีประสิทธิภาพในต้นทุนที่ต่ำที่สุดแต่ได้คุณภาพที่สูงที่สุด
4.
5. การบริหารและขนส่งที่มีขอบข่ายกว้างขวางเพื่อสนับสนุนเอเย่นต์ของเครือซิเมนต์ไทย
6.
3 ข้อข้างต้นนี้เป็นเอกลักษณ์พิเศษของจรัส ชูโต ที่ทำให้เขาเด่นมากในเรื่องการบริหาร

สินค้าอุตสาหกรรมของไทยเราเป็นสินค้าที่ขาดในด้านคุณภาพอย่างมากๆ และนอกจากนั้นแล้วต้นทุนก็ยังสูง

ส่วนสินค้าทางเกษตรกรรมนั้นก็เช่นเดียวกับอุตสาหกรรม กล่าวคือผลผลิตต่อไร่ยังต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่น และต้นทุนก็มักจะสูงกว่าคนอื่นมาก

ส่วนขอบข่ายของการคมนาคมนั้นยังไม่สามารถจะตอบสนองความต้องการของประเทศชาติได้ในแง่ของการเป็น LOGISTIC SUPPORT ให้กับสังคมอุตสาหกรรม เกษตรกรรม และพาณิชยกรรม

อีกประการหนึ่ง AGRO-INDUSTRY ของบ้านเรากำลังอยู่ในขั้นของการเริ่มต้น

ทั้ง 3 ประการนี้ต้องอาศัยคุณสมบัติพิเศษของจรัส ชูโต เข้ามาช่วยในการวางแผน จัดการ และประสานงานเพื่อให้เป็นประโยชน์อย่างมากที่สุด

หรือพูดในลักษณะของรูปธรรมว่า เราต้องสามารถผลิตสินค้าอุตสาหกรรมในราคาต้นทุนที่ต่ำที่สุด ด้วยคุณภาพที่สูงที่สุด เพื่อสามารถไปแข่งขันในตลาดโลกได้

ส่วนสินค้าเกษตรกรรมนั้นก็ต้องมีผลผลิตต่อไร่ที่ดีกว่านี้ รวมทั้งการควบคุมคุณภาพและราคาที่ต้องยุติธรรมต่อชาวไร่ชาวนา

ทั้งหมดนี้เราต้องการคุณสมบัติของจรัส ชูโต มาช่วยดำเนินการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการวางแผนระยะยาวในอนาคต

รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง

พลโทชวลิต ยงใจยุทธ

ตำแหน่งนี้ถูกตั้งขึ้นมาโดยยอมรับสภาพข้อเท็จจริงว่าทหารจะต้องมีบทบาทอยู่ในประเทศนี้อย่างแน่นอน

บางคนอาจจะมองว่าตำแหน่งนี้ คือตำแหน่งที่จะทำให้ทหารไม่คิดขึ้นมาเป็นนายกฯ ถ้ามอบหมายงานด้านความมั่นคงทั้งภายในและภายนอกประเทศให้ทั้งหมด

สำหรับเหตุผลและข้อเท็จจริงในการมีตำแหน่งนี้ขึ้นมานั้นเราได้ให้ไปแล้วใน “ผู้จัดการ” ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ เราก็จะไม่พูดต่อไปอีก เพียงแต่จะชี้ให้เห็นว่าลักษณะของทหารนั้นต่างกับตำรวจตรงที่ “ทหารนั้นนายหาเลี้ยงลูกน้อง แต่ตำรวจต้องให้ลูกน้องหาเลี้ยงนาย”

ฉะนั้นการเอาทหารมาคุมมหาดไทยนั้นเราเชื่อว่าการกดขี่ข่มเหงราษฎรจะน้อยลงมาก แต่ก็อาจจะต้องแลกกับสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานบางประการที่จะต้องหมดไป

ตำแหน่งนี้เรามอบให้กับพลโทชวลิต ยงใจยุทธ ด้วยเหตุผลที่ทหารชั้นผู้ใหญ่ของกองทัพในจำนวนที่น้อยมากที่มีความเข้าใจเศรษฐกิจการเมืองอย่างลึกซึ้ง

นอกจากนั้นแล้วพลโทชวลิตยังเป็นนายกฯ ทหารที่เชี่ยวชาญการวางแผนอย่างหาตัวจับได้ยาก

ในภาวะที่ประเทศชาติมีความผันผวนทางเศรษฐกิจมากๆ เช่นนี้ ปัญหาความเดือดร้อนจะมีอยู่สองลักษณะ

ลักษณะหนึ่งคือความเดือดร้อนเดี่ยวหรือเป็นความเดือดร้อนของการไม่พอใจในบางสิ่งบางอย่างที่ไม่ยืนยาว แต่จะถูกสื่อมวลชนกระพือจนดูว่าเป็นความเดือดร้อนทุกย่อมหญ้า

อีกลักษณะหนึ่งคือความเดือดร้อนแท้ ที่เป็นโรคร้ายเกาะกินสังคมไทยมานานแล้ว เช่นความแตกต่างระหว่างรายได้ของคนไทย หรือปัญหาราคาพืชไร่ที่อยู่กับการกำหนดของพ่อค้าใหม่ที่จะต้องได้รับการหนุนหลังจากธนาคารพาณิชย์ของบรรดากลุ่มตระกูลต่างๆ หรือปัญหาของการแบกรับภาษีที่ไม่เท่าเทียมกันระหว่างคนรวย คนชั้นกลาง กับคนจน ที่คนชั้นกลางจะต้องแบกหนักที่สุด ฯลฯ

ทั้งสองปัญหานี้มักจะมีมาตรการต่างๆ ออกมาแก้อยู่เสมอและแต่ละมาตรการก็จะทำให้ปัญหา 2 ลักษณะ ต้องเข้ามาเกี่ยวข้องกันและเป็นเหตุให้ทหารเข้าใขอยู่เสมอว่ามีแต่ตัวเองเท่านั้นที่จะสามารถแก้ความเดือดร้อนได้

ยกตัวอย่างเช่น ถ้าจะมีมาตรการเก็บภาษีมรดกและภาษีที่ดินให้เป็นธรรม มาตรการนี้จะไม่มีผลทางตรงกับประชาชนทั่วไป แต่จะมีผลทางอ้อมกับสังคมไทยในระยะยาวในแง่ที่จะเป็นการเปิดโอกาสให้คนที่เคยผูกขาดอะไรอยู่ในรุ่นนี้จะหมดโอกาสในรุ่นหน้า และจะมีคนรุ่นใหม่ที่ใช้ความสามารถสร้างตัวขึ้นมา และนี่คือการทำให้คนรวย รวยน้อยลงและทำให้คนชั้นกลางมากขึ้น

มาตรการที่ว่านี้จะกระทบกระเทือนกลุ่มผูกขาดและแหล่งผลประโยชน์มากพอที่จะทำให้อิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารประเทศ

เราคิดว่าระดับสติปัญญาของพลโทชวลิต ยงใจยุทธ มีมากพอที่จะมองปัญหานี้ออกและสามารถทำความเข้าใจกับทหารที่อาจจะรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของความเดือดร้อนเทียมอันนี้

พลโทชวลิต ยงใจยุทธ อาจเป็นทหารคนหนึ่งในไม่กี่คนที่รู้เรื่องระบบการเงินของประเทศอย่างมากทีเดียว

และที่สำคัญที่สุด พลโทชวลิตเป็นคนที่ฟังอย่างมากๆ และคู่สนทนาจะไม่มีวันรู้ว่าพลโทชวลิตคิดเช่นไร นอกจากนั้นแล้วเขาเป็นคนที่ทุกคนเข้าพบได้แต่ก็จะไม่มีใครรู้ว่าเขาคิดอะไรบ้าง

จุดเด่นพิเศษที่เขามีอยู่คือ ความเข้าใจในสังคมไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องสงครามลัทธิ

พลโทชวลิตจะเข้าใจฝ่ายซ้ายอย่างมากๆ จนเขาถูกสงสัยว่าเขามีเบื้องหน้าเบื้องหลังกับฝ่ายซ้าย ซึ่งข้อสงสัยนี้บางครั้งก็ทำให้อนาคตของพลโทชวลิต ยงใจยุทธ ดูไม่แน่นอนเท่าไรนัก

โดยสรุปแล้ว ถ้าพลโทชวลิต ยงใจยุทธ เป็นรองนายกฯ ในช่วงการลดค่าเงินบาทครั้งนั้น เขาก็จะเห็นด้วยว่าควรลดแต่เขาก็คงจะไม่เห็นด้วยว่าจะต้องลดมากถึงเพียงนั้น เพราะพลโทชวลิตมีคุณสมบัติสุดท้ายที่ผู้นำคนอื่นในปัจจุบันแทบจะไม่มี คือ การที่ชอบฟังความเห็นหลายๆ คนและตัดสินใจโดยไม่ต้องเชื่อคนใดคนหนึ่งเป็นพิเศษหรือต้องอิงผู้หนึ่งผู้ใดในการตัดสินใจ

รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายพิธีการ

พล.อ.อ.สิทธิ เศวตศิลา

ถ้าพูดถึงการติดต่อกับต่างประเทศในฐานะตัวแทนประเทศไทยของ พล.อ.อ.สิทธิ เศวตศิลา แล้วเขาเป็นคนที่ต่างประเทศรู้จักและยอมรับอย่างมากๆ

ในภาระของนายกรัฐมนตรีที่เป็นนายกฯ ทำงานแล้ว งานพิธีการต่างๆ ควรจะต้องลดน้อยลงให้มากที่สุด

ในต่างประเทศเช่นสหรัฐอเมริกา เรามักจะเห็นจอร์จ บุช ทำหน้าที่ในพิธีการต่างๆ ในต่างประเทศแทนเรแกน

เรแกนจะปรากฏตัวในข่าวในเรื่องของการทำงานแทบจะตลอดเวลา

อาจจะมีประเทศไทยประเทศหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่นายกรัฐมนตรีของเราต้องทำหน้าที่ตั้งแต่เลี้ยงนักมวยไปจนถึงร้องเพลงการกุศล

การจัดการเวลาที่ผิดพลาด (MISMANAGEMENT OF TIME) ถือว่าเป็นเรื่องร้ายแรงมากในวงการจัดการ

นายกรัฐมนตรีประเทศไทยมักจะใช้เวลาเพียง 20% ทำงาน อีก 20% เอาอกเอาใจกลุ่มพลังต่างๆ 25% หาคะแนนเสียงให้กับตัวเอง และอีก 35% ออกงานพิธีต่างๆ

ถ้าตัด 35% ไปให้รองนายกฯ ฝ่ายพิธีการและอีก 20% ที่ต้องเอาใจกลุ่มพลังต่างๆ นายกฯ บ้านเราก็จะมีเวลาทำงานถึง 75% ถึงแม้ว่าจะต้องใช้ 25% ที่เหลือในการหาเสียงให้ตัวเองก็ตาม

พล.อ.อ.สิทธิ เศวตศิลา เป็นคนที่เหมาะสมที่สุดในการรับหน้าที่นี้ เพราะบทบาทของรัฐมนตรีต่างประเทศที่ตัวเองเล่นมานาน และจากการที่เคยเป็นข้าราชการประจำมาตลอดทำให้ภาระของการออกงานในประเทศก็ดูสมศักดิ์ศรี

อีกประการหนึ่งโดยบุคลิกของ พล.อ.อ.สิทธิ เศวตศิลา นั้นก็เป็นบุคลิกที่น่ารักและมีลักษณะของผู้ใหญ่ที่น่านับถือทั้งการพูดการจาและการมีมนุษยสัมพันธ์ l



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.