จากการเลือกเอาข้อดีของกรรมการผู้จัดการคนก่อนๆ คอห์ โคมัตสุ กรรมการผู้จัดการใหญ่คนใหม่ของธนาคารสุมิโตโม
กำลังเร่งรัดก้าวไปสู่การตลาดที่สามารถทำกำไรได้มากยิ่งขึ้น
จากการขยายตัวของความนิยมใช้เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ จักรยานยนต์ เหล็ก รถยนต์
เครื่องมือกล และหุ่นยนต์ เครื่องกึ่งสื่อไฟฟ้า ที่ผลิตจากญี่ปุ่น ทำให้เสียงสวดของวงการอุตสาหกรรมตะวันตกที่ว่า
อุตสาหกรรมของตนต้องพังพินาศ และต้องเสียหายอย่างร้ายแรง เนื่องจากการส่งออกของญี่ปุ่นนั้น
ดูเหมือนแทบจะไม่มีวันสิ้นสุด แล้วสินค้าตัวต่อไปของญี่ปุ่นคืออะไรที่จะรุกออกไปอีก
?
ก็การเงินน่ะซี !
นี่คือตัวอะไรที่จะเกิดขึ้นต่อไป !
แต่ก่อนนี้คนญี่ปุ่นซึ่งส่วนใหญ่มักจะเป็นที่รู้จักกันในฐานะเป็นมหาอำนาจอุตสาหกรรมผู้ผลิตสินค้า
แต่ในปัจจุบันนี้ญี่ปุ่นกำลังก้าวขึ้นไปเป็นผู้อำนวยบริการในระดับโลก เมื่ออุตสาหกรรมการผลิตสินค้าของตนต้องตกอยู่ภายใต้การแข่งขันอย่างรุนแรงยิ่งขึ้นของกลุ่มประเทศ
“ญี่ปุ่นใหม่” อย่างเช่นเกาหลีใต้และไต้หวัน
ดังนั้น เพื่อตอบโต้กับแรงกดดันใหม่ๆ โดยสอดคล้องกับโอกาสใหม่ๆ พร้อมกับได้รับความสนับสนุนส่งเสริมจากรัฐบาล
บรรดาธนาคารและบริษัทหลักทรัพย์ของญี่ปุ่นจึงได้เริ่มมองออกไปยังภาคพื้นโพ้นทะเลนอกประเทศญี่ปุ่น
เพื่อความเจริญเติบโตของตนเองในอนาคตเพราะญี่ปุ่นได้มีการค้าอยู่ต่างประเทศมากแล้ว
ฉะนั้นบรรดาสถาบันการเงินเหล่านี้จึงต้องการที่จะเป็นผู้มีบทบาทมากยิ่งขึ้น
บนเวทีระหว่างประเทศในปัจจุบันนี้
และในบรรดาสถาบันการเงินดังกล่าวนั้น ก็ไม่มีสถาบันการเงินใดที่แก่งหล้าและมีความพร้อมเป็นอย่างดี
สำหรับบทบาทก้าวใหม่นี้ เท่ากับธนาคารสุมิโตโม !!
ถึงแม้ว่าสุมิโตโมจะเป็นธนาคารที่อยู่ในอันดับ 3 ในปริมาณเงินฝากรวม และรายได้รวมในบรรดาธนาคารทั้งหลายของญี่ปุ่นก็ตาม
แต่ธนาคารสุมิโตโมก็เป็นธนาคารที่ทำกำไรได้มากที่สุดมาเป็นเวลานาน และที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่า
เป็นธนาคารที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด กล้าได้กล้าเสีย และเป็นผู้มีความคิดใหม่ๆ
เก่งที่สุดของญี่ปุ่น
เกือบ 19% ของรายได้ทั้งหมด และ 25 % ของกำไรทั้งหมดของสุมิโตโม ได้มาจากการดำเนินกิจการต่างประเทศ
มากยิ่งกว่าธนาคารอื่นใดของญี่ปุ่น นอกจากธนาคารแห่งกรุงโตเกียว ซึ่งเป็นธนาคารที่มีความเชี่ยวชาญพิเศษในด้านการแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศ
ปัจจุบันนี้ เจ้าหน้าที่ชั้นสูงของธนาคารสุมิโตโมพูดถึงการทำกำไรจากกิจการในต่างประเทศให้ได้ถึง
40% และกรรมการผู้จัดการใหญ่คนใหม่ของธนาคาร คือ คอห์ โคมัตสุ ก็มิได้ปิดบังความปรารถนาของเขาแต่อย่างใด
ที่จะทำธนาคารสุมิโตโมให้เป็น “ธนาคารซิตี้แบงก์ของญี่ปุ่น” ให้จงได้
หลักฐานที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดในความมุ่งมั่นดังกล่าวนี้ ที่แสดงออกมาเมื่อเร็วๆ
นี้ ก็คือการที่ธนาคารสุมิโตโมได้ซื้อหุ้นในธนาคารกอตธาร์ดของสวิตเซอร์แลนด์
เป็นจำนวนถึง 53% ของหุ้นทั้งหมด จากบริษัทผู้ถือหุ้นบั๊งโค อัมโบรเซียโน
แห่งลักเซมเบิร์ก ที่ประสบปัญหายุ่งยากเป็นมูลค่าถึง 144 ล้านดอลลาร์ เมื่อเดือนมีนาคม
1984 ที่ล่วงมานี้ ทั้งนี้นับเป็นครั้งแรกที่นายทุนผู้สนใจจากญี่ปุ่นได้ซื้อธนาคารของยุโรปไป
ซึ่งวงการธนาคารระหว่างประเทศถือว่าเป็นการรุกทางยุทธศาสตร์การธนาคารครั้งสำคัญ
รอเบิร์ต เบิร์กฮาร์ต รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ของบริษัทดับเบิลยู ไอคาร์ ซันส์แอนด์โก
(โพ้นทะเล) ในกรุงโตเกียว กล่าวว่า “จะเห็นได้ชัดทีเดียวว่า ธนาคารสุมิโตโม
….ซึ่งเป็นธนาคารที่จัดการที่ดีที่สุดในญี่ปุ่น พร้อมทั้งมีพลังทางการเงิน
และกำลังรุกคืบหน้าในด้านประกอบการ เพื่อแข่งกับธนาคารขนาดใหญ่ๆ ของสหรัฐฯ และของยุโรปในตลาดเงินทุนของโลก”
และในรายงานประจำเดือนตุลาคม 1984 ของบริษัทกรีฟซัน แกรนท์ แอนด์โก ซึ่งเป็นบริษัทนายหน้าค้าหุ้นแห่งกรุงลอนดอน
ได้กล่าวต่อไปว่า “เป็นที่แน่นอนว่า ธนาคารสุมิโตโมจะยังคงยืนเด่นอยู่ในหมู่สถาบันการเงินชั้นยอดเยี่ยมที่สุดของญี่ปุ่น
ซึ่งความจริงก็ของโลกด้วย”
แม้จะให้เกียรติกันถึงขนาดนั้นแล้วก็ตาม ก็เป็นที่แน่นอนว่าธนาคารสุมิโตโม
ยังจะต้องเดินทางอีกไกลกว่าจะเข้าทาบรัศมีในด้านบทบาทระหว่างประเทศของธนาคารซิตี้แบงก์
ซึ่งมีสาขาโพ้นทะเลมากกว่า 1,600 แห่ง และเมื่อปีกลายนี้สามารถทำกำไรจากกิจการโพ้นทะเลได้มากมายถึง
62% ของกำไรทั้งหมด
นอกจากซิตี้แบงก์แล้วยังมีธนาคารที่เข้มแข็งอื่นๆ ทั้งของสหรัฐฯ และของยุโรปอีกหลายธนาคาร
ที่ถือว่าเป็นธนาคารระหว่างประเทศที่ใหญ่โตหรูหรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในธุรกิจที่ไม่เกี่ยวกับการให้กู้ยืมเงิน
ที่ใหญ่โตยิ่งกว่าธนาคารสุมิโตโม
ที่ซึ่งสุมิโตโมทำแต้มได้มาก
ธนาคารสุมิโตโมเองก็ใช่ว่าจะอยู่ในระดับถึงขั้นเป็นธนาคารระหว่างประเทศ
ในบรรดาธนาคารของญี่ปุ่นด้วยกัน ตัวอย่างเช่น ในช่วงระยะ 7 เดือนแรกของปี
1984 ธนาคารมิตซูบิชิ ยังได้ออกหนังสือค้ำประกันสัญญาทางการเงินที่เป็นเงินยูโรดอลลาร์
มากกว่าธนาคารสุมิโตโมเสียอีก
สาขาของธนาคารมิตซูบิชิในแคลิฟอร์เนียก็ยังโตกว่าธนาคารสุมิโตโมอันเก่าแก่ในแคลิฟอร์เนีย
และแม้แต่ธนาคารได-อิชิ กังโยะ ก็ยังมีสำนักงานสาขาในต่างประเทศมากกว่า
แต่กระนั้นก็เป็นที่แน่นอนว่า ในด้านรายได้ในต่างประเทศและธุรกิจโดยส่วนรวมแล้วธนาคารสุมิโตโมก็ยังล้ำหน้ากว่าธนาคารอื่นๆ
อยู่
บรรดาบุคคลภายนอกอาจจะพากันสงสัยว่าโคมัตสุ ซึ่งเพิ่งเข้ามาเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่เมื่อเดือนพฤศจิกายน
1983 นี้เองจะมีส่วนในการทำให้ธนาคารสุมิโตโมกลายเป็นธนาคารนำในการก้าวรุดหน้าในด้านกิจการระหว่างประเทศได้หรือไม่
เมื่อเปรียบเทียบกับกรรมการผู้จัดการใหญ่ 2 คนก่อน คือ โชโซ ฮอตตา กับ อิชิโร
อิโซดะ
โคมัตสุยังได้ยอมรับในการให้สัมภาษณ์แก่ “นิตยสารระหว่างประเทศ”
ที่สำนักงานใหญ่ของเขาในกรุงโตเกียวว่า เขาเห็นบทบาทสำคัญของเขาอยู่ที่ การสร้างเสริมพลังให้แก่สินทรัพย์ที่เขาได้รับช่วงมาจากผู้จัดการใหญ่คนก่อนๆ
แต่กระนั้นเขาก็ยังต้องคลำทางเพื่อแสวงหาแบบวิธีของเขาเองในฐานะเป็นแบบอย่างตัวกลางขององค์การ
เขากล่าวว่า “ผมต้องการจะผลักดันผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาของผม ให้ทำในสิ่งที่ดียิ่งขึ้น
แต่ผมไม่กล้าสั่งให้เขาทำอะไรมากไปกว่าผมได้ พวกเขาย่อมจับตามองดูผมจากด้านหลังอยู่เสมอ
ผมไม่ประสงค์จะเสแสร้งแกล้งทำเป็นแบบอย่างที่ยิ่งใหญ่ได้ แต่ผมก็ไม่อาจทำตัวให้ด้อยไปกว่าแบบอย่างที่ดีได้เหมือนกัน”
ผู้ร่วมงานส่วนมากไม่ค่อยถ่อมตัวเกี่ยวกับความสามารถของเขาเลย พนักงานทั่วไปชมโคมัตสุว่า
เป็นคนที่มีความรู้สูง เป็นนักการธนาคารที่มีความคิดใหม่ๆ อยู่เสมอ และชมเชยในความสามารถของเขาที่ซื้อธนาคารกอตธาร์ดเอามาได้
ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาคนหนึ่งชมเขาว่า “เป็นคนเข้มแข็ง”
โคมัตสุเป็นนายทหารเรือนอกราชการ ที่มีประสบการณ์ในกิจการธนาคารระหว่างประเทศเหมือนกัน
โดยเขาเคยเป็นกรรมการอยู่ในคณะกรรมการของธนาคารสุมิโตโม สาขาแคลิฟอร์เนีย มาเป็นเวลาถึง
3 ปี ในตอนกลางทศวรรษ 1960 และเคยดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการจัดการของฝ่ายวางแผนงานระหว่างประเทศของธนาคารสำนักงานใหญ่
ระหว่างปี 1973 ถึง 1976
แต่ภายในธนาคารกันแล้ว โคมัตสุเป็นที่รู้จักดีในฐานะเป็น “มือขวาน”
และ “มือรับงานกู้ภัย” ตามที่พนักงานคนหนึ่งของธนาคารตั้งฉายาให้เมื่อเร็วๆ
นี้ ก็ตัวเขานี่แหละที่ได้รับมอบหมายจาก อิโซดะ อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ในตอนปลายทศวรรษ
1970 ให้ทำการรีดเค้นเอาอะไรทั้งหมดที่หลงเหลืออยู่บ้างของบริษัทอาตากะ
แอนด์โก บริษัทการค้าซึ่งเป็นลูกค้าของธนาคารสุมิโตโม ที่ประสบกับการล้มละลายอย่างน่าตื่นเต้น
จนเป็นต้นเหตุให้ธนาคารสุมิโตโมต้องตัดหนี้สูญเป็นจำนวนมากกว่า 1 พันล้านดอลลาร์
อิโซดะ ผู้ซึ่งนำธนาคารสุมิโตโมกลับคืนสู่ความเป็นธนาคารชั้นยอด ที่ทำกำไรได้งามในญี่ปุ่น
ภายหลังจากกรณีอันฉาวโฉ่ของบริษัทอาตากะ ระหว่างประเทศเมื่อเร็วๆ นี้เองที่เป็นผู้เลือกโคมัตสุขึ้นมาสืบตำแหน่งแทนเขา
เนื่องจากความจำเป็นที่จะต้องตัดทอนรายจ่ายบางประเภท เพราะเหตุที่ธนาคารต้องประสบกับความยุ่งยากบางอย่างจากการให้กู้ยืมเงินแก่ประเทศที่มีปัญหาลำบาก
โคมัตสุจึงจำต้องดึงบังเหียนยับยั้งการให้กู้ยืมต่างประเทศ ซึ่งก่อให้เกิดการเก็งกันว่า
คราวนี้แหละธนาคารสุมิโตโมจะต้องสูญเสียความได้เปรียบทางโพ้นทะเลของตนไปบ้างละ
ซึ่งก็เป็นความจริง โดยในระยะ 6 เดือนแรกของปีการเงินที่สิ้นสุดลงเมื่อ 30
กันยายน 1984 ที่แล้วมา รายได้จากการดำเนินงานระหว่างประเทศของธนาคารได้ตกลงไปถึง
6% แต่โคมัตสุยึดมั่นอยู่กับภาระผูกพันของเขาที่มีอยู่กับธุรกิจโพ้นทะเลที่ไม่มีการให้กู้ยืมเงิน
หากจะมีปัญหาขลุกขลักอะไรบ้างในการก้าวรุดหน้าออกไปสู่วงการระหว่างประเทศของธนาคารสุมิโตโมแล้วละก็
มันก็เป็นแต่เพียงปัญหาชั่วคราวเท่านั้น
ก็อย่างที่นักอุตสาหกรรมตะวันตกได้ประจักษ์ความจริงมาแล้วว่าคนเราอาจถังแตกได้ง่ายๆ
หากประเมินราคาของญี่ปุ่นต่ำไป แล้วธนาคารสุมิโตโมนี้ก็มีลักษณะเหมือนคนผอมอดอยากที่เฝ้าคอยที่อยู่อย่างเอาใจใส่เป็นพิเศษ
ไม่ว่าจะพิจารณาจากด้านไหนๆ ก็ตาม ธนาคารสุมิโตโมนับเป็นธนาคารที่มีประสิทธิภาพมากของญี่ปุ่น
ธนาคารนี้มีอัตราส่วนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่ำมากที่สุดเมื่อเปรียบกับรายได้จากการดำเนินงาน
มีจำนวนเงินให้กู้กับจำนวนเงินฝากคิดถัวเฉลี่ยต่อสาขามากที่สุด นอกจากธนาคารแห่งโตเกียวซึ่งเป็นกรณีพิเศษ
และมีจำนวนเงินกำไรสุทธิและจำนวนเงินฝากคิดถึงเฉลี่ยต่อพนักงาน 1 คนมากที่สุด
เมื่อพิจารณาจากอัตราส่วนประเภทต่างๆ ตามที่กล่าวนี้แล้ว ธนาคารสุมิโตโมยังล้ำหน้าธนาคารที่มีชื่อเสียงเด่นๆ
ของฝ่ายตะวันตก ดังเช่น ธนาคารซิตี้แบงก์ ธนาคารแห่งอเมริกา และธนาคารเชสแมนฮัตตันเสียอีก
ตัวอย่างเช่น ธนาคารสุมิโตโม มีเงินกำไรสุทธิถัวเฉลี่ยต่อพนักงาน 1 คนเป็นเงินถึง
24,526 ดอลลาร์ ซึ่งเมื่อมองดูแล้วเป็นที่ประทับใจยิ่งกว่าตัวเลขถัวเฉลี่ยของซิตี้แบงก์ที่มี
13,491 ดอลลาร์ ธนาคารแห่งอเมริกามี 4,267 ดอลลาร์ และธนาคารเชสแมนฮัตตันมี
11,552 ดอลลาร์
กำเนิดจากโอซากา
บุคคลภายนอกให้เหตุผลถึงความดีเด่นข้อนี้ว่า เนื่องมาจากประสิทธิภาพและความสามารถทำกำไรของธนาคารที่มีบทบาทในฐานะเป็นผู้นำของกลุ่มธุรกิจ
(ไคเรตสุ) ที่ใหญ่ที่สุดในนครโอซากา อันเป็นภูมิภาคที่ได้รับการปรับปรุงใหม่ในญี่ปุ่น
เพื่อให้เป็นเมืองที่ใช้ไหวพริบในทางธุรกิจและปฏิบัติการทางพาณิชย์ที่อาศัยการคำนวณจากอดีตกลุ่มธุรกิจไซบัตสุ
(กลุ่มธุรกิจประสบก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2)
กลุ่มสุมิโตโมได้รับการเชื่อถือว่า เป็นกลุ่มที่เหนียวแน่นมั่นคงมากที่สุด
แนวโน้มดังกล่าวนี้ได้รับการเสริมกำลังขึ้นไปอีกในปี 1977 เมื่อธนาคารสุมิโตโมเล่นเอา
“ธนาคารเป็นเดิมพัน” เพื่อช่วยให้บริษัทการค้าอาตากะรอดพ้นจากการล้มละลาย
ผลที่ติดตามมาจากคราวนั้นก็คือ อิโซดะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ของธนาคารสุมิโตโมในครั้งนั้น
ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานธนาคารในปัจจุบันนี้ ได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษา แมคเคนซี
แอนด์โก มาให้คำแนะนำแก่เขาว่า ควรจะปรับโครงสร้างของธนาคารใหม่ทั้งหมดอย่างไร?
ด้วยการทำตามคำแนะนำของบริษัทแมคเครซี อิโซดะ ได้เปลี่ยนแปลงงานของฝ่ายกำหนดแนวทางปฏิบัติงานในธนาคารสุมิโตโมเสียใหม่
โดยตั้งกลุ่มคณะเจ้าหน้าที่ตรวจการ 3 กลุ่มขึ้นมาแทนที่ ซึ่งประกอบด้วยหน่วยรวม
หน่วยในประเทศ และหน่วยต่างประเทศ โดยในแต่ละหน่วยนี้ยังมีหน่วยย่อยลงไปอีก
แต่เป็นหน่วยที่มีอำนาจมากในการวางแผน และในการบริหารกลุ่มแต่ละกลุ่มดังกล่าวนี้ผู้อำนวยการจัดการอาวุโสเป็นหัวหน้ากลุ่ม
ซึ่งนับว่าเป็นกลุ่มที่มีอำนาจดำเนินงานได้เองมากอยู่ทีเดียว
นอกจากนี้ก็ยังมีการให้กู้ยืมโดยไม่จำกัด และไม่มีคณะกรรมการเงินกู้ เป็นต้น
คณะกรรมการทบทวนเงินกู้ทั่วทั้งธนาคารมีการประชุมกันเพียงปีละ 2 ครั้ง เพื่อรับฟังว่าได้มีการให้กู้ยืมเงินไปอย่างไรบ้าง
อิโซดะ คุยให้ฟังว่า “หัวหน้าหน่วยงานต่างๆ ของเรามีอำนาจมากราวกับว่าเขาเป็นหัวหน้าของอีกธนาคารหนึ่ง”
ครั้งแล้วธนาคารอื่นๆ ของญี่ปุ่นก็ได้เริ่มดำเนินการในแบบเดียวกันนี้ด้วยเหมือนกัน
การเร่งเพิ่มความคล่องตัวและประสิทธิภาพของธนาคารสุมิโตโม พร้อมทั้งการปรับปรุงครั้งใหม่และท่าทีที่จะรุกคืบหน้านี้
เป็นผลจากการเตรียมการที่ได้ดำเนินมานานแล้ว ด้วยการดำเนินกิจการธนาคารโดยใช้เครื่องอิเล็กทรอนิกส์อย่างมีศิลปะ
เมื่อปี 1967 ธนาคารสุมิโตโมเป็นธนาคารแรกของญี่ปุ่นที่สามารถติดต่อเกี่ยวกับบัญชีของลูกค้าได้โดยทางโทรศัพท์
ในปี 1969 สุมิโตโมก็เป็นธนาคารแรกอีกเหมือนกันที่ติดตั้งเครื่องสำหรับลูกค้าเบิกถอนเงิน
(แบบที่เรียกกันว่า “บริการเงินด่วน”) และในปี 1974 ได้จัดตั้งระบบธนาคารอัตโนมัติขึ้นมา
ธนาคารสุมิโตโมได้ใช้จ่ายเงินถึง 33 ล้านดอลลาร์ เพื่อยกระดับระบบธนาคารให้สูงขึ้นตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
จนสามารถทำให้สาขาในประเทศทั้งหมด 216 สาขา สามารถติดต่อบัญชีเงินฝากได้ทางสายพร้อมกับติดตั้งเครื่องฝากและถอนเงินสดอัตโนมัติให้ได้ทุกสาขา
ด้วยเหตุนี้ในระยะ 5 ปีที่แล้วมา ธนาคารจึงสามารถตัดทอนพนักงานลงไปได้ถึง
10% อันเป็นกุญแจดอกสำคัญที่ทำให้ธนาคารมีรายได้สุทธิต่อพนักงาน 1 คน เพิ่มขึ้นถึง
4 เท่าตัวในระยะเดียวกัน
ปัจจุบันนี้ธนาคารกำลังใช้จ่ายเงินอีก 208 ล้านดอลลาร์ เพื่อยกระดับของระบบดังกล่าวให้สูงยิ่งขึ้นไปอีกในปี
1987 ข้างหน้านี้
นอกจากการเตรียมทางด้านอื่นๆ แล้ว ความพร้อมอีกอย่างหนึ่งของธนาคารสุมิโตโมในการเร่งรัดเพื่อก้าวไปสู่กิจการระหว่างประเทศนั้น
ก็ได้แก่ความเอาใจใส่ในเรื่องผลกำไร ทั้งนี้นับว่าเป็นของใหม่ในญี่ปุ่น เพราะว่าบริษัทต่างๆ
ในญี่ปุ่นโดยทั่วไปนั้น เขาถือว่าการดำรงไว้และการปกป้องไว้ซึ่งงานของบริษัทนั้น
เป็นสิ่งสำคัญที่สุดของบริษัท และโดยแท้จริงแล้วการมุ่งเอาแต่กำไรนั้น กระเดียดไปในทางมีรสนิยมต่ำทราม
และค่อนข้างจะเป็นเรื่องที่น่ารังเกียจ อันเป็นแนวทางปฏิบัติในด้านการจัดการในระยะสั้นๆ
ของตะวันตก
อย่างไรก็ดี ธนาคารสุมิโตโม มิได้มีความวิตกกังวลอะไรกับการแสวงหากำไรเท่าใดนัก เพราะเมื่อสิ้นปีการเงิน
31 มีนาคม 1984 ที่แล้วมา ธนาคารทำกำไรสุทธิได้ถึง 338 ล้านดอลลาร์จากรายได้รวมที่มีถึง
7.2 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งนับเป็นกำไรที่น้อยมาก (เพียง 4.7%) ตามมาตรฐานของฝ่ายตะวันตก
แต่ก็ยังมากกว่าธนาคารฟูจิที่โตกว่า แต่มีกำไรเพียง 4.3% ของรายได้
อิโซดะ อธิบายว่า “เราย้ำเรื่องกำไร ก็เพราะเราต้องการเอามันมาเป็นทุนในการสร้างความเติบโตของเราในอนาคต
ความอยากได้กำไรนี้ทำให้เราต้องกล้าเสี่ยง และรู้จักคิดประดิษฐ์สิ่งใหม่ๆ”
ปิเตอร์ เจ.มอร์แกน ที่ปรึกษาผู้หนึ่งประจำบริษัท เค เค ข่าวสารธุรกิจระหว่างประเทศให้ข้อสังเกตว่า
ความสามารถทำกำไรได้มาก จะช่วยให้ธนาคารสุมิโตโมง่ายขึ้น ในการสร้างความเข้มแข็งให้แก่ฐานเงินทุนของตนในการเข้าไปสู่ตลาดเงินทุน
ธุรกิจที่กำลังทรุดตัว
ถ้าหากการขยายธุรกิจโพ้นทะเลอย่างรวดเร็วของตนจะเป็นการเสี่ยงแล้วละก็ ธนาคารสุมิโตโมก็มีทางเลือกได้น้อยมาก
ทั้งนี้เพราะด้วยเหตุผลหลายประการ กล่าวคือ ธุรกิจภายในประเทศของสุมิโตโมกำลังขาดเสน่ห์ดึงดูดจากลูกค้า
ความต้องการเงินกู้ของบริษัทญี่ปุ่นซึ่งโดยถัวเฉลี่ยแล้วเคยอยู่ในระดับสูงตลอดมานั้น
ได้ตกต่ำลงในขณะที่ความเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศได้เฉื่อยช้าลง และในขณะที่หลายบริษัทได้เริ่มเปลี่ยนสภาพจากการเป็นหนี้มาเป็นการถือหุ้น
หรือเปลี่ยนจากผู้รับซื้อตั๋วแลกเงินราคาต่ำ ที่สามารถขึ้นเงินในตลาดยุโรปได้มาเป็นผู้ออกเงินส่วนใหญ่ให้เป็นทุนแก่ธนาคารตามที่ต้องการ
นอกจากนั้น ฐานเงินกองทุนของธนาคารต่างๆ ยังได้ถูกบีบให้แคบลง เนื่องจากรัฐบาลได้ดำเนินนโยบายอนุมัติให้ดำเนินงานระบบออมทรัพย์โดยทางไปรษณีย์
และให้บริษัทหลักทรัพย์สามารถแข่งขันหาเงินฝากได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ตัวอย่างเช่น ปัจจุบันนี้บริษัทหลักทรัพย์สามารถออกบัตรเงินฝาก และตราสารของตลาดการเงินในระยะสั้นๆ
ได้และตั้งแต่ทศวรรษ 1960 มาแล้ว กระทรวงการคลังได้สั่งจำกัดให้ธนาคารต่างๆ
แต่ละธนาคารเปิดสาขาใหม่เพิ่มขึ้นได้เพียงปีละ 1 สาขาเท่านั้น ด้วยเหตุนี้
มร.กรีฟสัน แกรนด์ จึงบอกว่าธนาคารซิตี้แบงก์ สาขาญี่ปุ่น ซึ่งเป็นธนาคารพาณิชย์ที่ใหญ่อันดับที่
13 ของญี่ปุ่น จึงมีส่วนสัดของเงินกองทุนที่ใช้ประโยชน์ได้ ซึ่งธนาคารมีอยู่ได้ลดลงเหลือเพียง
16.50% ในปี 1980 จากเดิมที่เคยมีอยู่ถึง 33.1% ในปี 1955
นอกจากนั้น ซิตี้แบงก์ สาขาญี่ปุ่น ยังถูกกดดันให้ต้องรับผลกำไรต่ำลง ด้วยการทำให้ต้นทุนในการให้กู้ยืมเงินต้องสูงขึ้น
แต่ได้เปิดโอกาสใหม่ให้แสวงหาผลประโยชน์ในระยะยาวได้ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นโครงการเพื่อค่อยๆ
เปลี่ยนแปลงระเบียบการเดิมที่ดำเนินการโดยกระทรวงการคลัง มาตั้งแต่ปี 1982
เป็นต้นมา และโครงการนี้ยังได้รวมไปถึงการกระตุ้นให้มีการแข่งขันในการหาเงินฝาก
การปล่อยให้อัตราดอกเบี้ยเป็นไปอย่างเสรี รวมทั้งการเปิดโอกาสใหม่ๆ ให้แก่สถาบันการเงินต่างประเทศด้วย
ตัวอย่างเช่น สัญญาความตกลงระหว่างสหรัฐฯ กับญี่ปุ่น ที่กระทำกันเมื่อเร็วๆ
นี้ ได้เปิดทางให้ธนาคารต่างประเทศสามารถเข้าไปสู่ตลาดการลงทุนของญี่ปุ่นได้
อันเป็นธุรกิจที่เคยห้ามมิให้ธนาคารซิตี้แบงก์เข้าไปเกี่ยวข้องด้วย แต่มาบัดนี้จำต้องเปิดให้แก่ธนาคารต่างประเทศในเร็วๆ
นี้
แต่ในขณะเดียวกันโอกาสของธนาคารญี่ปุ่นในการกู้ยืมเงินในต่างประเทศ ก็กำลังลดน้อยลง
ธนาคารญี่ปุ่นส่วนมาก รวมทั้งธนาคารสุมิโตโมด้วย ต่างพลาดท่าถูกไฟลวกมือไปตามๆ
กัน เพราะให้กู้ยืมเงินเป็นจำนวนมากแก่ “ประเทศที่มีปัญหา” และได้ถอนตัวออกจากการให้กู้ยืมแบบหน้าใหญ่ใจโตเช่นนั้นแล้ว
และค่าใช้จ่ายในการให้กู้ยืมเงินระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้นนั้น ก็กำลังลดลงโดยกระจายการให้กู้ยืมแก่โครงการต่างๆ
ในต่างประเทศ
โคมัตสุกล่าวว่า “สิ่งที่เราเป็นห่วงอย่างยิ่งก็คือ ธุรกิจการให้กู้ยืมเงินจะถูกบีบให้ได้กำไรน้อยลง
ปัญหาจึงมีว่า เราจะแก้ไขสถานการณ์เช่นนี้ได้อย่างไร?” เขากล่าวว่า
สำหรับธนาคารสุมิโตโมแล้ว เห็นว่ามีวิธีการที่พอจะทำได้อยู่ 2 วิธี คือ วิธีที่
1 ให้เร่งเพิ่มพูนประสิทธิภาพเช่น การใช้เครื่องคอมพิวเตอร์เข้าช่วยให้มากยิ่งขึ้น
และอีกวิธีหนึ่งก็คือ พยายามแสวงหาพื้นที่ปฏิบัติการใหม่ๆ ให้กว้างขวางหลากหลายออกไป
พื้นที่ใหม่ๆ ที่ว่านี้ได้แก่ พื้นที่โพ้นทะเล และการทำธุรกิจที่ช่วยให้
“ได้ค่าธรรมเนียม” ความจริงวิธีการทั้ง 2 นี้ ก็เกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน
กิจการที่ช่วยให้ได้ค่าธรรมเนียมประกอบด้วยธุรกิจประเภทที่มิใช่เป็นการให้กู้ยืมเงินของธนาคาร
เช่น การซื้อขายพันธบัตร และการรับแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ การออกเครดิตการ์ด
การให้เช่าซื้อ หรือจัดขาย การค้ำประกันตราสารต่างๆ เป็นต้น แม้กระทรวงการคลังจะได้ออกกฎกระทรวงมาจำกัดบทบาทของธนาคารที่จะพึงแสดงได้ในธุรกิจแขนงต่างๆ
เหล่านี้ก็ตาม แต่การค่อยๆ ยกเลิกกฎข้อบังคับดังกล่าวจะช่วยเปิดทางให้ทั้งแก่ธนาคารญี่ปุ่น
และธนาคารต่างประเทศสามารถเข้าไปสู่กิจการเหล่านี้ได้ในหลายแขนง เพื่อใช้โอกาสใหม่เหล่านี้ให้เป็นประโยชน์
ธนาคารในเมืองทั้งหลายจะต้องเรียนรู้ธุรกิจใหม่ๆ และสถานที่ที่เหมาะที่สุดแก่การเรียนรู้เช่นนั้น
ก็คือในดินแดนต่างประเทศ
โคมัตสุยอมรับว่า “เพื่อที่จะสามารถทำกำไรในแขนงงานใหม่ๆ ได้ เราก็ต้องเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ
นั้นด้วย นี่ก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่เราซื้อธนาคารกอตธาร์ด” ราว 50% จากผลกำไรของธนาคารนี้
ได้มาจากค่าธรรมเนียมต่างๆ
ธนาคารกอตธาร์ดมีความมั่นคงแข็งแรงเป็นพิเศษในกิจการทรัสต์ การจัดการทรัพย์สินและการค้ำประกันตราสารการเงินต่างๆ
อิชิยา กุมาไก ผู้อำนวยการจัดการอาวุโส ซึ่งรับผิดของกลุ่มกิจการธนาคาระหว่างประเทศของธนาคารสุมิโตโม
กล่าวว่า “เราสามารถเรียนรู้จากเจ้าหน้าที่ในกิจการเหล่านี้ได้ ถึงแม้ธนาคารนี้จะเป็นธนาคารเล็ก
แต่เป็นธนาคารที่มีคุณภาพดีมาก มันจึงสามารถขยายกิจการออกไปอีกได้”
ผู้สังเกตการณ์โดยทั่วไปเห็นพ้องต้องกันว่า การซื้อธนาคารนี้เอาไว้นับว่าฉลาดมาก
จากการที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำ ได้จงใจให้บริษัทของญี่ปุ่นหันไปออกหุ้นกู้โดยนำไปขายในตลาดการเงินของสวิตเซอร์แลนด์กันมากขึ้นในระยะหลังๆ
นี้ ซึ่งนี่หมายความว่า ธนาคารในญี่ปุ่นกำลังสูญเสียธุรกิจของตนไป
นายธนาคารสหรัฐฯ ผู้หนึ่งซึ่งคอยสังเกตติดตามตลาดการเงินระหว่างประเทศ กล่าวว่า
“ผมคิดว่ามูลเหตุจูงใจอย่างหนึ่ง ที่ทำให้ซื้อธนาคารกอตธาร์ดนั้น…ก็เพราะว่า
มันจะช่วยให้เป็นการง่ายยิ่งขึ้นสำหรับธนาคารสุมิโตโมที่จะจัดการกับบริษัทญี่ปุ่นที่ไปออกตราสารการเงินในสวิตเซอร์แลนด์
การจัดการพันธบัตรเงินกู้และหุ้นกู้ เป็นเป้าหมายสำคัญประการหนึ่งของธนาคารต่างๆ
ในโลกนี้”
นายธนาคารในซูริก ผู้หนึ่งกล่าวเสริมว่า “สำหรับธนาคารสุมิโตโมแล้ว
ธนาคารกอตธาร์ดนับว่าเป็นปลาตัวเล็กไป แต่ก็เป็นปลาที่น่าใจที่ควรจะตะครุบเอาไว้ในแนวทางธุรกิจของตน”
ธนาคารสุมิโตโมได้จัดส่งเจ้าหน้าที่ชั้นผู้จัดการ 5 คน ไปประจำอยู่ที่ธนาคารกอตธาร์ดเพื่อเรียนรู้ธุรกิจของธนาคารนี้
กุมาไก ได้บอกว่า 2 คนในจำนวนนี้เป็นผู้จัดการอาวุโส ได้แก่ มิคิโอะ อิชิซากิ
ผู้อำนวยการคนหนึ่งของธนาคารสุมิโตโม ซึ่งจัดเป็นบุคคลอันดับ 2 ในการบริหารของธนาคารกอตธาร์ด
ส่วนอีกคนหนึ่งได้แก่ อาคิโอะ อาสุเกะ ซึ่งเป็นกรรมการรองผู้จัดการฝ่ายบริหารคนหนึ่งในจำนวน
3 คน ที่ทำหน้าที่รองลงมาจากกรรมการผู้จัดการใหญ่ คนที่ 3 คือ ฟราซิสโก โบลกิอานี
ทั้ง 2 ฝ่ายต่างเห็นพ้องต้องกันว่า ธนาคารกอตธาร์ดจำเป็นที่จะต้องบริหารงานโดยคณะเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นตามเดิม
ภายใต้เฟอร์นันโด การ์โซนี ประธานกรรมการโบลกิอานี กล่าวว่า “พวกเรายังคงทำธุรกิจกันตามปกติ
โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไรใหญ่โตนัก”
โบลกิอานี กับ กุมาไก อธิบายว่า เจ้าหน้าที่ญี่ปุ่นที่ธนาคารกอตธาร์ดนี้
ส่วนใหญ่ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางที่ติดต่อกับการดำเนินงานทั่วโลกของธนาคารสุมิโตโม
โดยรายงานความรู้ที่พวกเขาได้รับมาจากธนาคารกอตธาร์ด แล้วนำงานจากสาขาต่างประเทศของธนาคารสุมิโตโม
มาให้แก่ธนาคารกอตธาร์ดเป็นการแลกกัน
ธนาคารสุมิโตโม ไม่เพียงแต่ประกอบกิจการธนาคารกับธนาคารกอตธาร์ดเท่านั้น
แต่ยังจะต้องช่วยให้ธนาคารกอตธาร์ดได้เติบโต และเร่งขยายงานด้านที่ช่วยให้ได้ค่าธรรมเนียมอีกด้วย
กุมาไก บอกว่าธนาคารสุมิโตโมสาขาแคลิฟอร์เนีย ซึ่งมีอายุ 32 ปี ก็ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับทรัสต์อยู่แล้ว
และกำลังมองหาช่องทางเพื่อประกอบธุรกิจการจัดการให้เช่าซื้อ
ส่วนในยุโรป ธนาคารการค้าซึ่งตั้งอยู่ในสวิตเซอร์แลนด์ มีชื่อว่าบริษัทการเงินระหว่างประเทศ
สุมิโตโมก็กำลังทำกิจการเกี่ยวกับการค้ำประกันตราสารการเงิน และการซื้อขายเงินตราต่างประเทศในอัตราลอยตัว
กุมาไกอธิบายว่าบริษัทการเงินระหว่างประเทศ สุมิโตโมนี้เดิมร่วมทุนดำเนินงานกับบริษัทไวน์เวลด์
ซึ่งบัดนี้ได้อยู่ภายใต้การควบคุมของบริษัทสุมิโตโมแล้ว บริษัทการเงินระหว่างประเทศสุมิโตโม
จึงเป็นธนาคารการค้าที่มีธุรกิจคึกคักมาก ซึ่งเป็นสาขาหนึ่งของธนาคารญี่ปุ่น
กุมาไกกล่าวต่อไปว่า “เราคิดว่าเรามีความรู้พอตัวเกี่ยวกับการค้ำประกันตราสารการเงิน
แต่ยังไม่เพียงพอสำหรับการจัดการทรัพย์สิน และกิจการทรัสต์” ด้วยเหตุนี้
ธนาคารกอตธาร์ดจึงยังมีความสำคัญอยู่มาก สุมิโตโมต้องการจะหยุดพักสักระยะหนึ่ง
ก่อนที่จะลงทุนครั้งสำคัญอีก แต่ดูเหมือนอยากจะทำในทางที่อยากจะได้กิจการแบบนั้นอีก
เขากล่าวเสริมว่า “แม้แต่คนในประเทศของเราก็รู้ดีว่า เขาจะสามารถอำนวยบริการให้แก่ลูกค้าในประเทศซึ่งธุรกิจของเขากำลังสัมพันธ์กับต่างประเทศมากยิ่งขึ้น
ได้เป็นอย่างดีก็ต่อเมื่อเขามีความรู้เกี่ยวกับธุรกิจระหว่างประเทศ”
ดุลยภาพที่ดีขึ้น
เจ้าหน้าที่บริหารของธนาคารสุมิโตโมยืนยันว่า เขาไม่ได้ละเลยต่อการให้กู้ยืมเงินแต่อย่างใด?
ตัวอย่างเช่น ในปี 1983 ธนาคารเป็นผู้นำการจัดการในการให้หลายธนาคารร่วมกันออกเงินให้กู้
เป็นจำนวนเงินรวมถึง 18.2 ล้านดอลลาร์ ด้วยเหตุนี้ในการจัดอันดับของสมาพันธ์สมาคมการเงินระหว่างประเทศ
ธนาคารซึ่งเมื่อปี 1980 อยู่ในอันดับที่ 50 เพิ่งจะลดน้อยลงไปบ้างเมื่อเร็วๆ
นี้
รายได้จากกิจการระหว่างประเทศของธนาคารสุมิโตโม ซึ่งในปีการเงิน 1983 มีจำนวนถึง
282 ล้านดอลลาร์ เป็นรายได้ที่ได้มาจากลูกค้าที่มิใช่เป็นคนญี่ปุ่น เพียงไม่ถึง
25% ก็เช่นเดียวกับธนาคารญี่ปุ่นอื่นๆ ทั้งหลาย ได้สร้างธุรกิจโพ้นทะลของตนขึ้นมาก็เพื่อทำบริการให้แก่ลูกค้าในประเทศของตน
ที่ได้ขยายธุรกิจออกไปยังต่างประเทศ แต่โคมัตสุต้องการจะให้มีดุลยภาพที่ดีกว่านั้น
ต่อคำถามที่ว่า ธนาคารสุมิโตโมจะสามารถสนองบริการอะไรให้แก่ลูกค้าโพ้นทะเล
ที่เขาไม่สามารถได้รับจากที่อื่นได้บ้าง? โคมัตสุก็ยกตัวอย่างขึ้นมาตั้งหลายเรื่อง
เป็นต้นว่า ธนาคารของเขาได้ให้เงินกู้แก่สาขาของบริษัทสหรัฐฯ ในอเมริกาใต้
ที่ได้ใช้วงเงินสินเชื่อจากธนาคารในประเทศของตนจนหมดสิ้นแล้ว ในสหรัฐอเมริกาโดยใช้วิธีวิเคราะห์สินเชื่อแบบจัดอันดับให้ได้ถึงขนาดดีเลิศ
(สามเอ) ธนาคารสุมิโตโม จะให้วงเงินสินเชื่อสนับสนุนแก่บริษัทที่ออกตราสารการพาณิชย์
และให้เงินกู้แก่รัฐบาลแห่งรัฐ และเทศบาลท้องถิ่นต่างๆ ที่ต้องการกู้ยืมเงิน
อย่างไรก็ดี ธนาคารสุมิโตโมไม่มีแผนการที่จะขยายงานธนาคารเพื่อการค้าปลีกในสหรัฐฯ
เพราะจะต้องใช้เงินลงทุนเป็นจำนวนมาก และปัจจุบันนี้ก็มีการแข่งขันในประเทศในด้านนี้อยู่แล้วอย่างรุนแรงจากธนาคารซิตี้แบงก์และธนาคารแห่งอเมริกา
โคมัตสุกล่าวว่า “การกระโดดข้ามรั้วขั้นต่อไปที่เราจะต้องกระทำก็คือ
การเข้าไปช่วยพัฒนาธุรกิจขนาดกลางของบริษัทต่างประเทศ ภายในประเทศของเขาเอง”
กุญแจสำคัญที่จะก้าวไปสู่ตลาดเช่นว่านั้นได้ ก็ได้แก่การระดมเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นชั้นดีๆ
เอาไว้ใช้งาน เขาให้ข้อสังเกตว่า ธนาคารสุมิโตโมแห่งแคลิฟอร์เนียกำลังทดลองตั้งหน่วยงานใหม่นี้ขึ้นมา
โดยว่าจ้างเจ้าหน้าที่เงินกู้ในท้องถิ่นขึ้นมาพัฒนาธุรกิจประเภทนี้ รวมทั้งสาขาโพ้นทะเลอื่นๆ
ที่ได้เริ่มต้นขึ้นมาตั้งแต่แรกด้วย โดยมีคนญี่ปุ่นอยู่ที่ยอดสุด กุมาไก
อธิบายว่า “เหตุผลสำคัญก็คือเรื่องภาษา การที่จะบริหารสาขาโพ้นทะเลให้ได้ดี
ท่านจำเป็นจะต้องสื่อความหมายได้เป็นอย่างดีกับสำนักงานใหญ่”
การเอาใจใส่ต่อพนักงานของธนาคารเป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับโคมัตสุทั้งในการดำเนินงานในประเทศและในต่างประเทศ
เขากล่าวย้ำว่า ความลับในการที่จะแข่งขันอย่างประสบความสำเร็จกับธนาคารของสหรัฐฯ และของยุโรป
ก็คือ การมีพนักงานที่มีคุณภาพสูงที่สำนักงานใหญ่ ด้วยเหตุนี้ ธนาคารสุมิโตโมจึงย้ำนักย้ำหนาที่การฝึกอบรม
ซึ่งดูเหมือนจะมากยิ่งกว่าธนาคารญี่ปุ่นอื่นๆ พนักงานธนาคารทุกคนจะต้องเข้าฟังการบรรยายเรื่องต่างๆ
และเข้าชั้นเรียนถัวเฉลี่ยแล้วทุก ปีครึ่ง และงานที่มีลักษณะพิเศษ เช่น งานเกี่ยวกับหลักทรัพย์
ก็จะถูกส่งไปรับการอบรมจากงานในบริษัทหลักทรัพย์กันทีเดียว และเพื่อแลกเปลี่ยนกับธนาคารสุมิโตโมก็รับผู้เข้าฝึกอบรมจากบริษัทหลักทรัพย์ด้วย
ถึงแม้ว่าเจ้าหน้าที่บริการชั้นหัวหน้า มักถือเอาการพูดปลอบใจลูกน้องเป็นคุณสมบัติสำคัญก็ตาม
แต่ก็มีอยู่หลายคนที่เป็นคนพูดจริงทำจริงด้วยเหมือนกันในธนาคารสุมิโตโมก็มีแบบเดียวกันนี้
ตัวอย่างเช่น อิโซดะ ได้เล่าถึงความหลังเมื่อกว่า 25 ปีมาแล้ว ครั้งที่เขายังดำรงตำแหน่งผู้จัดการใหญ่ฝ่ายบุคลากรว่า
ผู้ช่วยของเขาจำชื่อพนักงานผู้ชายของธนาคารได้ทุกคน จำได้จนกระทั่งปีที่เข้ามาทำงานในธนาคาร
ตำแหน่งงาน และรายละเอียดอื่นๆ ทั้งนี้เป็นการแสดงให้เห็นความเอาใจใส่ในหน้าที่การงานอย่างดีมาก
ส่วนอีกด้านหนึ่ง ฮอตตา ซึ่งเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ในครั้งนั้นได้ใช้ระบบที่รุนแรงในการให้รางวัล
และในการทำโทษพนักงานของธนาคาร เช่น ถ้ามีผู้จัดการคนหนึ่งกระทำผิดพลาด เขาจะถูกลดตำแหน่งหรือไม่ก็ไม่ได้รับเลื่อนตำแหน่งอีกเลย
การเข้มงวดกวดขันแบบนี้ เป็นการสร้างภาพลักษณ์ให้เห็นว่า สุมิโตโม เป็นธนาคารที่เคร่งครัดทำให้ผู้ปฏิบัติงานล้วนตกอยู่ในความหวาดกลัว
เมื่ออิโซดะ ได้ขึ้นมาเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ เขาจึงได้ยกเลิกระบบการลงโทษแบบรุนแรงนี้เสีย
เนื่องจากเห็นว่า เป็นระบบที่ทำให้ผู้จัดการมีลักษณะกลายเป็นนักจารีตนิยมไป
และทำให้เป็นห่วงกังวลอยู่กับการคอยป้องกันตัวเองมากเกินไป
ปัจจุบันนี้บรรดาผู้จัดการทั้งหลาย หลังจากได้ทำความผิดพลาดอย่างร้ายแรงมาแล้วจะได้รับโอกาสให้ทำการแก้ตัวได้อีกครั้งหนึ่ง
อิโซดะ ยังคุยต่อไปว่ายิ่งกว่านั้น ชาวธนาคารสุมิโตโมจะได้รับเงินเดือนสูงขึ้น
เมื่อเขาได้รับเลื่อนขั้นขึ้นไปถึงการจัดการในระดับชั้นกลาง ซึ่งมากกว่าเงินเดือนในตำแหน่งเดียวกันของธนาคารอื่นเสียอีก
กำเนิดของธนาคารสุมิโตโมที่เมืองโอซากา ย่อมช่วยอธิบายให้เห็นถึงความเข้มงวดกวดขันในการบริหารงานของฮอตตา
ซึ่งดำเนินมาตั้ง 25 ปี ได้เป็นอย่างดี จนกระทั่งสิ้นสุดลงในปี 1977 เมื่ออิโซดะ
ได้รับเลือกขึ้นมาเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่แทน ภายหลังสงครามโลกครั้งที่
2 กลยุทธ์ระยะยาวของธนาคาร ทำให้จำเป็นที่จะต้องเข้มแข็งในการอยู่รอดในกรุงโตเกียว
เช่นเดียวกับธนาคารอื่นๆ ในกรุงโตเกียว ซึ่งเป็นเหตุผลสำหรับธนาคารใหญ่ๆ
ของญี่ปุ่นทุกธนาคาร นอกจากธนาคาร ซันวะ
การที่ต้องใช้ความพยายามอย่างสูงเช่นนี้ ก็เนื่องมาจากข้อจำกัดอันเข้มงวดกวดขันของกระทรวงการคลังเกี่ยวกับการขออนุญาตเปิดสาขาใหม่
ความมุ่งหมายประการหนึ่งของฮอตตา ก็คือ ต้องการให้ทุกคนทำงานหนักขึ้นเป็นพิเศษและความมุ่งหมายอีกประการหนึ่ง
ก็เพื่อกระตุ้นธุรกิจโพ้นทะเลของธนาคารสุมิโตโม ซึ่งเมื่อก่อนสงครามโลกครั้งที่
2 เป็นเพียงที่ 2 รองจากธนาคารแห่งโตเกียวที่เป็นธนาคารชำนาญพิเศษ ในการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเท่านั้น
ฮิซาโอะ อาโอกิ ผู้อำนวยการจัดการอาวุโสของคณะเจ้าหน้าที่วางแผนกลุ่มที่
1 เท้าความหลังว่า “ทางเลือกเพื่อความเติบโตของเราในตอนนั้นมีอยู่เพียงทางเดียวเท่านั้น
คือ การขยายงานทางโพ้นทะเล” ในระยะ 10 ปีแรก หรือราวๆ นั้น ธนาคารสุมิโตโมมุ่งหน้าอยู่ที่การแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ
และการให้กู้ยืมเงินทางการค้าในการดำเนินธุรกิจระหว่างประเทศ ซึ่งก็เป็นทำนองเดียวกับธนาคารคู่แข่งอื่นๆ
ของญี่ปุ่น แต่แล้วก็เปลี่ยนไปเป็นผู้ให้กู้ยืมเงินระหว่างประเทศ โดยให้กู้ยืมเงินแก่สาขาบริษัทของญี่ปุ่นในต่างประเทศ
ในไม่ช้าการกระทำเช่นนี้ก็กลายเป็นการเข้าทางประตูหลังบ้านเพื่อจะเอาชนะธุรกิจในท้องถิ่นนั้น
และยังทำให้ธนาคารสุมิโตโมต้องคอยระมัดระวังอยู่เสมอ เพื่อไม่ให้ผิดระเบียบข้อบังคับรวมทั้งการทำให้เงินเยนกลายเป็นเงินตราระหว่างประเทศ
อันเป็นการช่วยเปิดโอกาสให้แก่กิจการระหว่างประเทศมากยิ่งขึ้นในระยะไม่กี่ปีที่ล่วงมานี้
หลักปรัชญาอันเดียวกัน
อาโอกิ กล่าวว่า ประโยชน์อีกอย่างหนึ่งก็คือว่า ธนาคารสุมิโตโม เป็นธนาคารหนึ่งในจำนวนธนาคารใหญ่ๆ
ของญี่ปุ่นเพียงไม่กี่ธนาคารที่มิใช่เป็นผลจากการรวมตัวกับธนาคารอื่น ธนาคารนี้จึงสามารถหลีกเลี่ยงความขัดแย้งและความไม่สะดวกในการมีโครงสร้าง
และปรัชญาการจัดการหลายอย่างที่ยังคงมีอยู่ในธนาคารคู่แข่งบางธนาคาร ดังเช่นธนาคาร
ได-อิชิ กังโยะ เป็นต้น อาโอกิ คุยว่า “เจ้าหน้าที่ชั้นสูงของเรา สามารถสั่งงานได้ราวกับว่าเป็นเจ้าของธนาคารเอง
และโชคดีที่กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานของธนาคารของเราหลังสงครามล้วนเป็นคนที่มีความสามารถมากทั้งสิ้น”
เจ้าหน้าที่บริหารชั้นสูงของธนาคารสุมิโตโม ได้ยอมรับอยู่แล้วว่า ความเติบโตจากกิจการระหว่างประเทศเป็นสิ่งที่ธนาคารไม่เคยกระทำมาก่อน
ความเติบโตของรายได้จากกิจการต่างประเทศในปีการเงิน 1983 ค่อนข้างต่ำมาก
ทั้งนี้เนื่องจากการลดลงของธุรกิจการให้กู้ยืมเงินและรายได้จากค่าธรรมเนียมก็ยังต้องพัฒนากันอีกสักระยะหนึ่งก่อน
รายได้จากค่าธรรมเนียมและค่าคอมมิชชั่นของธนาคารแม่ในปี 1983 นั้น มีจำนวนเพียง
2.6% ของรายได้ทั้งหมด อาโอกิ เล่าต่อไปว่า “ในสถานการณ์เศรษฐกิจของโลกอย่างในปัจจุบันนี้
ท่านไม่อาจหวังที่จะพัฒนากิจการระหว่างประเทศให้ได้เร็วๆ ดอก”
แล้วกุมาไก ก็เสริมว่า “ธนาคารที่ถือเงินเยนเป็นหลัก การหวังพึ่งกำไรจากธุรกิจระหว่างประเทศมากเกินไป
จะเป็นธุรกิจที่ไม่ค่อยมีเหตุผล” แต่อาโอกิ ยืนยันว่า ธนาคารได้ตัดสินใจอย่างเด็ดเดี่ยวแล้วที่จะล้ำหน้าธนาคารในเมืองอื่นๆ
ให้ได้ระหว่าง 5 ถึง 15 พันล้านเยน ในด้านรายได้ระหว่างประเทศต่อปี และจะทิ้งช่วงห่างให้ได้มากที่สุดที่จะทำได้
โชโซ ฮอตตา คงจะต้องดีใจเมื่อได้รู้ว่า วิญญาณอย่างเขาที่ “จะเอาอะไรก็ต้องเอาให้ได้”
ยังคงมีชีวิตชีวา และดำรงอยู่ด้วยดีที่ธนาคารสุมิโตโม l