บล. กิมเอ็ง (ประเทศไทย) บริษัทหลักทรัพย์ในเครือกลุ่มกิมเอ็งจากสิงคโปร์ ที่ครองส่วนแบ่งตลาดซื้อขายหลักทรัพย์ไทยอันดับ
1 ที่ 11.32% ปัจจุบัน พร้อมทำธุรกิจหลักทรัพย์ครบวงจรภายใน 2 ปี รุกธุรกิจวาณิชธนกิจเพิ่ม
รวมถึงซื้อหรือตั้งบลจ.-เข้าตลาดหุ้นไทย เพื่อรองรับการแข่งขันรุนแรงธุรกิจหลักทรัพย์ในไทย
ที่แนวโน้มจะรวมกิจการมากขึ้น
นายมนตรี ศรไพศาล ประธานกรรมการ บล. กิมเอ็ง (ประเทศไทย) กล่าวว่าบริษัทรวมกิจการกับบริษัทหลักทรัพย์หยวนต้า
(ประเทศไทย) ในเครือกลุ่มหยวนต้าจากไต้หวันตั้งแต่ปีก่อน ทำให้บริษัทใหญ่ขึ้นรวมทั้งพร้อมแข่งขันในธุรกิจอย่างดี
บริษัทต้องการจะประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ในไทยครบวงจร
เข้าตลาดหุ้นไทยปลายปีนี้
ช่วงสิ้นปีนี้บริษัทจะระดมทุนจากประชาชนทั่วไป โดยจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์
เพื่อเพิ่มฐานทุนให้แข่งแกร่ง ปัจจุบันทุนจดทะเบียน 2.4 พันล้านบาท เมื่อจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ บริษัทจะมีทุนจดทะเบียนเพิ่มเป็น 3 พันล้านบาท น่าจะเพียงพอต่อการทำธุรกิจในไทยปัจจุบัน
บริษัทมีแผนจะทำธุรกิจบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน โดยอยู่ระหว่างเตรียมการว่าจะซื้อกิจการที่มีอยู่แล้วหรือจะเริ่มต้นใหม่
ซึ่งการทำธุรกิจให้มีศักยภาพต้องใช้เวลาปรับพอสมควร ส่วนการรวมกิจการกับบริษัทอื่น
ขณะนี้ไม่มีแผนจะรวมกับใคร เพราะบริษัทแข็งแกร่งทั้งด้านธุรกิจหลักทรัพย์และวาณิชธนกิจอยู่แล้ว
"บริษัทเป็นโบรกเกอร์ที่เน้นคุณภาพมากกว่าจะเป็นดิสเคานต์โบรกเกอร์ บริษัทมีงานวิจัยที่มีการพัฒนาคุณอย่างต่อเนื่อง
และเป็นที่ยอมรับของนักลงทุน" นายมนตรีกล่าว
อย่างไรก็ตาม การควบรวมกิจการธุรกิจหลักทรัพย์ในไทย คาดว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นแน่นอน
เพราะระบบธุรกิจหลักทรัพย์ มีทั้งโบรกเกอร์ที่มีความสามารถงานธุรกิจหลักทรัพย์
แต่ยังขาดงานวาณิชธนกิจ
การรวมกิจการบล. แอสเซท พลัส (Asset Plus) กับ บล.เอบีเอ็น แอมโร เอเชีย (AST)
จะจุดประกายโบรกเกอร์เล็กในไทยให้รวมตัวกัน ถือเป็นสิ่งที่ดีที่จะพัฒนาธุรกิจหลักทรัพย์ไทย
รุกวาณิชฯเพิ่ม
ปัจจุบันโครงสร้างรายได้หลัก บล.กิมเอ็ง (ประเทศไทย) ได้แก่ รายได้จากนายหน้าค้าหลักทรัพย์
85-90% ของรายได้บริษัทรวมธุรกิจวาณิชธนกิจ 15-10% แต่ช่วงสิ้นปีนี้จะเริ่มเปลี่ยน
แปลงเป็น 80% กับ 20% เนื่องจากช่วงครึ่งปีหลังปีนี้ บริษัทเน้นธุรกิจวาณิชธนกิจเพิ่มขึ้น
โดยบริษัทรับทำหน้าที่ที่ปรึกษาการเงินให้บริษัทเอกชนที่จะจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์
ไทย และเป็นที่ปรึกษาขายหุ้นเพิ่มทุนหรือหุ้นกู้ มูลค่ารวมประมาณ 4-5 พันล้านบาท
มีงานที่ยังไม่ได้ดำเนินการอีกประมาณ 1 หมื่นล้านบาท ได้แก่ เป็นที่ปรึกษาขายหุ้นให้ประชาชนครั้งแรก
(IPO) บริษัทวัสดุก่อสร้าง 2 แห่ง บริษัท ไทยคูณเวิลด์ไวด์ (ประเทศไทย) และบริษัทททบ.5
รวมถึงกลุ่มยานยนต์ ร่วมเป็นที่ปรึกษาขายหุ้นธนาคารนครหลวงไทย เป็นต้น ทำให้บริษัทเชื่อว่ารายได้ส่วนนี้จะเข้าต่อเนื่อง
ทำให้รายได้บริษัทเพิ่มขึ้นมาก
ส่วนธุรกิจหลักทรัพย์บริษัทมีลูกค้าเปิดบัญชีและซื้อขายหุ้นต่อเนื่องประมาณ 1
หมื่นบัญชี บริษัทมีงานวิจัยให้บริการลูกค้า เชื่อว่าจะรักษาลูกค้าบริษัทได้ ส่วนแบ่งตลาดฯ
ที่อยู่อันดับ 1 ปัจจุบันจะรักษาไว้ได้แน่นอน
รวมทั้งสัดส่วนลูกค้าสถาบันต่างประเทศก็เพิ่มขึ้นจากเดิม 10% ของลูกค้าทั้งหมด
เพิ่มเป็น 15-20% ประกอบบริษัทมีสาขา 31 แห่ง และมีแผนจะเปิดเพิ่มอีก ทั้งสาขาปกติและสาขา
ออนไลน์