ชิ้นส่วนยานยนต์พุ่งมาร์จิ้นโต


ASTVผู้จัดการรายวัน(12 พฤษภาคม 2553)



กลับสู่หน้าหลัก

นายพลศักดิ์ เลิศพุฒิภิญโญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สตาร์ส ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ SMT แจ้งงบการเงินไตรมาสแรกปี 53 ว่าบริษัทมีกำไรสุทธิ 10.25 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 410% สูงสุดเป็นประวัติการของบริษัท จากกำไรสุทธิ 19.54 ล้านบาทในไตรมาส 1 ปี 52 ขณะรายได้รวมเติบโตเพิ่มขึ้น 69% เป็น 3,689 ล้านบาท จากรายได้รวม 2,181 ล้านบาทในช่วงเดียวกันของปี 52

เนื่องจากงวดนี้บริษัทฯมีอัตรากำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้น 37.28 ล้านบาท จากยอดขายที่สูงขึ้น 68% ซึ่งเป็นในส่วนของ MMA Hard Disk เป็นสำคัญ ประกอบกับบริษัทฯมีโครงสร้างรายได้ (Product Mix) ในผลิตภัณฑ์ที่มีอัตรากำไรขั้นต้นสูงมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ด้าน IC Packaging อีกทั้งมีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน ขณะปี 52 ขาดทุนอันเป็นผลจากความผันผวนของค่าเงิน

" เราภูมิใจที่สามารถสร้างผลกำไรสุทธิให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง 3 ไตรมาสติดต่อกันโดยการที่กำไรสุทธิไตรมาสนี้เพิ่มขึ้นกว่า 410% และยังสามารถเพิ่มอัตรากำไรสุทธิ (Net Margin) ได้ถึง 311% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว เป็นการยืนยันว่ากลยุทธ์ Hi-Tech Hi-Growth Hi Profits ของบริษัทประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี และยิ่งขณะนี้อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์โลกได้กลับเข้าสู่ช่วงเติบโตรอบใหม่ และคาดว่าจะขยายตัวติดต่อกัน 4-5 ปี

ดังนั้น บริษัทได้ปรับเพิ่มเป้าหมายผลประกอบการสำหรับปี 53 นี้ เพิ่มขึ้นสูงกว่าเดิมจากที่คาดว่าจะเติบโต 40% เป็นเติบโตกว่า 60% จากปี 52 เนื่องจากทั้งรายได้รวมและกำไรสุทธิมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าและต่อเนื่อง จากผลิตภัณฑ์ทั้ง 2 กลุ่มคือ ชิ้นส่วนไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (MMA หรือ Microelectronics Module Assembly ) และไอซีชิพหรือแผงวงจรไฟฟ้ารวม (IC หรือ Integrated Circuit) โดยมีผลิตภัณฑ์หลักที่เติบโตสูงสุดคือระบบทัช สกรีนสำหรับสมาร์ทโฟน 2. เซ็นเซอร์อัจฉริยะวัดระดับลมยาง TPMS หรือ Tire Pressure Monitoring System 3. ชิ้นส่วนฮาร์ดดิสค์ขนาด 3.5 ซึ่ง SMT จะได้รับประโยชน์โดยตรงเพราะเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนระดับ Prime Source ให้กับทั้ง 3 ผลิตภัณฑ์โดยลูกค้าหลักของบริษัทฯ เป็นแบรนด์ผู้นำอันดับ 1 ของโลก และ แบรนด์ระดับโลกอื่น ๆ อีกหลายแบรนด์ที่มียอดขายเติบโตอย่างสูงและต่อเนื่องทั่วโลก แม้แต่เอเซียก็เช่นกัน

โดย SMT ได้ขยายกำลังการผลิตทั้ง สายงานไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (MMA) และวงจรไฟฟ้ารวม (IC) เป็นครั้งที่ 2 ในปีนี้เป็น 100 ล้านชิ้นต่อปี และ 1,200 ล้านชิ้นต่อปีตามลำดับ หรือเพิ่มขึ้นกว่า 30.% และ 70% จากปีที่แล้ว ด้วยงบลงทุนทั้งหมดกว่า 400 ล้านบาทปีนี้ เพื่อรองรับความต้องการของลูกค้า และบริษัทฯได้เริ่มผลิตชิ้นส่วนระดับอุตสาหกรรม (Mass Production) สำหรับลูกค้าสมาร์ทโฟนระดับโลกรายใหม่แบรนด์ญี่ปุ่น-ยุโรป หลังจากประสบผลสำเร็จจากผลิตขั้นต้นไปแล้ว ซึ่งในตลาดโลกขณะนี้มีความต้องการสมาร์ทโฟนทั่วโลกเพิ่มขึ้นอย่างสูงและต่อเนื่อง

พร้อมกันนี้ ยังแจ้งมติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นเมื่อ 29 เมษายน 53 ว่าที่ประชุมได้มีมติอนุมัติออกและเสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิ ( วอร์แรนต์ ) ที่จะซื้อหุ้นสามัญของบริษัทฯ ให้แก่กรรมการและพนักงานของบริษัทฯ ตามโครงการ ESOP 7,500,000 หน่วย อายุ 4 ปี กำหนดราคาแปลงสภาพหุ้นละ 4.50 บาท


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.