ฝ่าฝนไปชมปราสาทโอต์-เคอนิกสบูรก์

โดย สุภาพิมพ์ ธนะพรพันธุ์
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( พฤษภาคม 2553)



กลับสู่หน้าหลัก

นั่งรถชมวิวจากกอลมาร์ไปยังเมืองต่างๆ ด้านหนึ่งเป็นเทือกเขาโวจส์ (Vosges) อีกด้านหนึ่งเป็น "ป่าดำ" (Black forest) ของเยอรมัน ในภาษาฝรั่งเศสเรียก Foret noire บนเทือกเขาโวจส์ เห็นปราสาทรำไรเป็นระยะๆ เพราะเป็นชัยภูมิเหมาะในการป้องกันประเทศและเฝ้าดูความเคลื่อนไหวของศัตรู

ญาติชาวอัลซาสบอกว่าไม่ควรพลาด ไปชมปราสาทโอต์-เคอนิกสบูรก์ (Haut-Koenigsbourg) หลังจากพลาดมาแล้วครั้งก่อน ว่าพลางจึงขับพาไป มีผู้ประสงค์ ไปห้องสมุดมนุษยศาสตร์ที่เมืองเซเลสตาต์ (Selestat) มากกว่า ซึ่งไม่เป็นปัญหาสำหรับผู้ขับรถ ด้วยว่าปราสาทโอต์-เคอ นิกสบูรก์อยู่บนเขาเหนือเมืองเซเลสตาต์นั่นเอง

ช่วงที่อยู่ที่กอลมาร์นั้น พายุฝนเข้าช่วงกลางคืนทุกคืน พอตกบ่ายสามารถไปเที่ยวตามที่ต่างๆ ได้โดยไม่มีปัญหา หากวัน ที่ไปปราสาทโอต์-เคอนิกสบูรก์นั้น อากาศ เย็นกว่าปกติ แถมครึ้มฟ้าครึ้มฝน นักกีฬาแข่งจักรยาน Tour de France ซึ่งออกสตาร์ทจากเมืองวิตเตล (Vittel) มายังกอลมาร์ต้องสวมเสื้อหนาวที่กันฝนด้วย

บ่ายวันนั้นเพียงขับรถออกจากกอล มาร์ ฝนก็ตกพรู อากาศที่กำลังเย็นสบายเริ่มหนาวขึ้น ทิ้งสมาชิกหนึ่งหน่วยที่เซเลส ตาต์ตามความประสงค์ของเจ้าตัว แล้วรถวนขึ้นเขาเป็นงูเลื้อยกว่าจะถึงยอดอันเป็นที่ตั้งของปราสาท ฝนยังคงตกอย่างต่อเนื่อง ชาวคณะไม่ได้เตรียมตัวเจออากาศหนาวเพราะฝน อุณหภูมิ 11 องศาเกินความคาด หมาย รู้แต่ว่าหนาวแม้จะมีเสื้อแจ็กเก็ต บางๆ สวมทับทีเชิ้ตก็ตาม เดินกางร่มโยกขึ้นเขาไป ผู้คนที่เดินสวนมาหลายคนสวมเสื้อแขนกุดบางๆ ต่างหนาวเหน็บ เดินฝ่าฝนไปถึงตัวปราสาท ซื้อบัตรชมแบบมีมัคคุเทศก์อธิบาย

ปราสาทโอต์-เคอนิกสบูรก์อยู่ห่างจากเซเลสตาต์ 12 กม. สูงจากน้ำทะเล 757 กม. สร้างในศตวรรษที่ 12 โดยเฟรเดริก เดอ โฮเฮนสเตาเฟน (Frederic de Hohenstaufen) และแนวป้องกันบนเขากินบริเวณไปถึงที่ดินของผู้อื่น เช่น วัดของ นักบวชสายแซงต์-เดอนีส์ (Saint-Denis) ซึ่งขอให้กษัตริย์หลุยส์ที่ 7 บีบให้คอนราดที่ 3 แห่งโฮเฮนสเตาเฟน (Conrad III de Hohenstaufen) คืนที่ดินให้โอต์-เคอนิกสบูรก์เป็นเส้นทางการค้าข้าวสาลี ไวน์ เกลือ และแร่เงิน ภายหลังปราสาทโอต์-เคอนิกสบูรก์ตกเป็นของราชวงศ์ฮับสบูรก์ (Habsbourg) ซึ่งยกให้พวกเตียสไตน์ (Tierstein) ในปี 1479 ต่อมาในปี 1462 โอต์-เคอนิกสบูรก์เกิดไฟไหม้ ราชวงศ์เตีย สไตน์จึงสร้างขึ้นใหม่และปรับปรุงระบบป้องกันตนเอง ทำให้สามารถต้านทานการโจมตีของสวีเดนได้ถึง 1 เดือนระหว่างสงคราม 30 ปี

อย่างไรก็ตาม สวีเดนได้ชัยชนะและเผาปราสาทโอต์-เคอนิกสบูรก์

ในปี 1862 โอต์-เคอนิกสบูรก์เป็นอนุสาวรีย์ทางประวัติศาสตร์ (monument historique) และเป็นสมบัติของเมืองเซเลสตาต์ ตามสนธิสัญญาเมืองแฟรงค์เฟิร์ตปี 1871 อัลซาสตกเป็นของเยอรมัน ต่อมา ในปี 1899 เมืองเซเลสตาต์จึงยกปราสาทให้แก่จักรพรรดิวิลเลมที่ 2 แห่งโฮเฮนโซลเลน (Wilhelm II de Hohenzollen) ซึ่งให้บูรณะเป็นการใหญ่ ไว้เป็นสถานที่รับรองมิตรสหาย โดยที่วิลเลมที่ 2 ไม่เคยมาพักเลย

โอต์-เคอนิกสบูรก์มีเนื้อที่ 1.5 เฮกตาร์ บางส่วนสร้างในหิน ปราสาทที่เห็นในปัจจุบันเป็นผลการบูรณะของวิลเลมที่ 2 โดยเฉพาะอย่างยิ่งห้องรับรองที่มีการเขียนภาพบนผนังและเพดาน อักษร W ปรากฏอยู่ทั่วไป บนเพดานเป็นภาพนกอินทรีตัวใหญ่ ที่ปราสาทนำภาพถ่ายของกระบวนการบูรณะ มีการชะลอรถไฟขึ้นไปเพื่อขนส่งวัสดุในการก่อสร้าง

ห้องอาวุธที่มีอาวุธโบราณมากมาย มีรูปแบบและลวดลายสวย บางอันมีหลายหยัก ทำให้นึกวาดภาพว่าแทงเข้าไปในร่างของศัตรูแล้วชักออก รอยหยักคงจะฉีกเนื้อ จนกระจุยกระจาย สุดห้องเป็นเสื้อเกราะ ทำหุ่นคนอยู่ในเสื้อเกราะ หน้าตาขมึงทึง น่ากลัวมาก ห้องล่าสัตว์ที่มีเขาสัตว์ที่ล่าได้ประดับไว้ ที่น่าทึ่งคือเครื่องทำความร้อนที่เป็นเตาพอร์ซเลน มีวางตั้งในห้องต่างๆ นอกจากนั้นยังมีเครื่องเรือนที่สวยมาก

เดินจากปีกหนึ่งไปยังอีกปีกหนึ่งเพื่อขึ้นบันไดไปยังหอคอย ปืนใหญ่ชนิดต่างๆ ตั้งให้ชม มองลงมาเบื้องล่างเห็นเมืองเซเลสตาต์ในม่านฝนและหมอกสีเทา บนหอคอยลมแรงจัดพัดมาพร้อมกับละอองฝน ชาวคณะตัดสินใจเดินย้อนกลับ ทางเก่าแทนที่จะลุยต่อไป สู้ฝนและความหนาวไม่ไหว

หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 สนธิสัญญาแวร์ซายส์กำหนดให้อัลซาสคืนกลับมาเป็นของฝรั่งเศส โอต์-เคอนิกสบูรก์จึงกลับมาเป็นสมบัติของฝรั่งเศส ความสวยงามของปราสาทแห่งนี้ทำให้มีการถ่ายทำภาพยนตร์เรื่อง La grande illsuion ในปี 1936


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.