“มนต์เสน่ห์” แห่งเมือง “เหน่อ”

โดย ธนิต วิจิตรพันธุ์
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( พฤษภาคม 2553)



กลับสู่หน้าหลัก

การสืบสานขนบธรรมเนียมประเพณีวัฒนธรรม วิถีชีวิตชุมชนของชาวสุพรรณบุรีที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาตั้งแต่อดีต ทำให้ผู้คนถิ่นอื่นมีโอกาสได้มาศึกษาประวัติศาสตร์ชุมชน ได้สัมผัสความเรียบง่ายแบบสบาย ทำให้รู้สึกอบอุ่น มาเยือนแล้วจากไปด้วยความผูกพัน อยากกลับมาเยือนอีกเสมอ

การไปไหนมาไหนในแต่ละครั้ง ช่างแสนลำบากยากเย็นแสนเข็ญ

วันสุกดิบต้องมีการเตรียมเสื้อผ้าหน้าผมข้าวของเครื่องใช้โดยเฉพาะสำหรับคุณผู้หญิง พร้อมสิ่งสารพันที่จำเป็น

เตรียมน้ำ อาหารการกินที่สะดวกและง่ายๆ เนื้อหมักซีอิ๊ว ใส่น้ำตาลปี๊บพร้อมเครื่องเทศตากแดดไว้ทอดเป็นเนื้อสวรรค์ หมูหวาน ไข่พะโล้หมูสามชั้นไว้คอยท่า

ตื่นแต่เช้าในวันที่จะต้องออกเดินทาง หุงข้าวสวย นึ่งข้าวเหนียวใส่ปิ่นโตเพื่อไว้ทานระหว่างทาง เพราะร้านอาหารไม่มีให้เลือกมากมาย เพื่อความสะดวกถูกสุขลักษณะ ข้อสำคัญประหยัด ถนนหนทางไม่สะดวกง่ายดาย ไม่มีปั๊มน้ำมันให้พักผ่อนอิริยาบถ ห้องน้ำ ห้องส้วม ล้างหน้าล้างตา ของเบาของหนักเครื่องดื่มนานาชนิดหลากรสให้รองท้อง แม้กระทั่งการบริการนวดคลายเส้นคลายเครียด ไม่มีให้เห็นเช่นปัจจุบัน

ยิ่งถ้าต้องอาศัยรถยนต์ประจำทางด้วยแล้ว ต้องเสียเวลาเป็นครึ่งค่อนวันกว่าจะถึงจุดหมายปลายทาง ไม่มีถนนสายเอเชียตัดผ่าน วงแหวนหรือสายอ้อมเมือง เพื่อย่นระยะทางและเวลาการเดินทางให้สั้นลง ซ้ำยังมีตารางเวลารถออกวันละไม่กี่เที่ยว หมดแล้วหมดเลย ถ้าตกรถต้องรอวันใหม่

รถประจำทางที่แล่นจะจอดรับผู้โดยสารตลอดทางที่วิ่งผ่าน หรือที่เราเรียกว่ารถหวานเย็นนั่นเอง

สำหรับจังหวัดที่เรากำลังจะพาท่านได้ไปสัมผัสความรู้สึกในแง่มุมต่างๆ ในครั้งนี้ ไม่ว่าจะอยู่ในส่วนไหนมุมไหนของกรุงเทพฯ มีความสะดวกในการเดินทางจริงๆ เมื่อเดินทางใกล้เข้าเขตตัวเมือง ด้วยแล้ว ยิ่งตื่นตาอลังการอิจฉาชาวเมืองอันมีถนนกว้างขวาง ไฟฟ้า ส่องสว่าง สะอาดตาประดับพรรณไม้ให้ร่มรื่น

ทั้งนี้ เพราะผู้แทนราษฎรของพวกเขาที่เลือกตั้งเข้าไปได้ทำหน้าที่ดูแลเอาใจใส่ ร่วมมือในการพัฒนาจังหวัดสร้างความเจริญทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และการรักษาวัฒนธรรมอันดีงามของท้องถิ่นไว้คงอยู่และเหนียวแน่น ทำให้ทุกคนมีความสุข อยู่ดีกินดี

เมืองโบราณที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 3,500 ปี สันนิษฐานจากการพบหลักฐานทางโบราณคดี โบราณวัตถุที่ขุดพบมีทั้งยุคหินใหม่ ยุคสัมฤทธิ์ ยุคเหล็ก สืบทอดวัฒนธรรมต่อเนื่องตั้งแต่สมัยสุวรรณภูมิ เมืองพันธุมบุรีหรือทวาราวดีศรีสุพรรณภูมิ

เมื่อพระเจ้ากาแตขึ้นครองราชย์ได้ย้ายเมืองมาอยู่ทางฝั่งขวาของแม่น้ำท่าจีน ทรงสร้างวัดสนามชัยและบูรณะวัดป่าเลไลยก์ ทรงชักชวนข้าราชการออกบวชจำนวน 2,000 คน จึงเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า "สองพันบุรี" พระเจ้าอู่ทองทรงย้ายเมืองไปอยู่ทางทิศตะวันตกของแม่น้ำท่าจีน และมีชื่อใหม่ว่า "อู่ทอง"

สมัยขุนหลวงพะงั่ว เปลี่ยนชื่อเป็น "สุพรรณบุรี" ในที่สุด

เมืองนี้ยังเป็นเมืองตำนานวรรณคดีอันลือลั่นที่คนไทยทุกคนรู้จักกันเป็นอย่างดี

เมื่อเหยียบย่างเมืองนี้ไม่ว่าจะไปทางไหน จนได้สัมผัสกลิ่นอายบรรยากาศเหมือนว่ากำลังโลดเล่นอยู่ในยุคสมัยหนึ่งในท้อง เรื่องของวรรณกรรม "ขุนช้างขุนแผน"

ไม่ว่าจะเป็นชื่อถนนในเมือง นางพิม ขุนไกร พระพันวษา หลวงทรงพล ม้าสีหมอก ชื่อวัด วัดแค วัดป่าเลไลยก์ ชื่อตำบล บ้านรั้วใหญ่ ท่าสิบเบี้ย อำเภอศรีประจันต์ หรืออำเภออู่ทอง

การเดินทางไปจังหวัดสุพรรณบุรีสะดวกสบายเป็นอย่างมากไปได้มากมายหลายเส้นทาง ไม่ว่าจะขับรถยนต์ส่วนตัวหรือนั่งรถยนต์ประจำทาง ขอบอกว่าสะดวกมากจริงๆ

จากกรุงเทพฯ ผ่านบาง บัวทอง นนทบุรี ไปยังจังหวัดสุพรรณบุรี ระยะทางเพียง 107 กิโลเมตรเท่านั้น

ผ่านลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี ไปถึงตัวเมืองสุพรรณบุรีด้วยระยะทาง 115 กิโลเมตร

ผ่านไปทางจังหวัดอยุธยา ระยะทาง 132 กิโลเมตร

ไปแบบชิลชิล สบายสบาย มีเวลาเหลือเฟือไปทางจังหวัดสิงห์บุรี ผ่านอำเภอเดิมบางนางบวช เข้าไปจนถึงตัวเมืองสุพรรณบุรี จะมีระยะทาง 220 กิโลเมตร

ไปทางอ่างทองและเข้าสุพรรณบุรี จะมีระยะทาง 150 กิโลเมตร

หรือถ้าบ้านอยู่ทางฝั่งธนบุรี จะมีเส้นนครปฐม กำแพงแสนไปสุพรรณบุรีจะมีระยะทาง 164 กิโลเมตร

สุพรรณบุรีสมบูรณ์ไปด้วยพืชผลทางการเกษตร วัดวาอาราม แห่งประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ศิลปิน บุคคลสำคัญ เช่น แจ้ง คล้ายสีทอง, สุรพล สมบัติเจริญ, สังข์ทอง สีใส, สายัณห์ สัญญา, ก้าน แก้วสุพรรณ, เสรี รุ่งสว่าง, ยืนยง โอภากุล, วาณิช จรุงกิจอนันต์ หรือแม้แต่อดีตนายกรัฐมนตรี บรรหาร ศิลปอาชา หรือคนบันเทิงอย่างแดน วรเวช ดานุวงค์ ขาร็อก อาทิ ตูน บอดี้แสลม วราห์ คงมาลัย, ศักดา พัทธสีมาแห่งวงอินคา

เพลงพื้นบ้าน เพลงลูกทุ่ง ที่ทำให้เกิดนักร้องลูกทุ่งที่มีชื่อเสียงมากมาย แม่เพลงอย่างขวัญจิตร์ ศรีประจันต์ พ่อเพลงอย่างไวพจน์ เพชรสุพรรณ ราชินีเพลงลูกทุ่ง พุ่มพวง ดวงจันทร์ พร้อมสถานที่ท่องเที่ยวย้อนยุค ตลาดร้อยปีสามชุก ตลาดบางลี่ หรือชาวบ้านเรียกขานกันว่า ตลาดสองฤดู คือน้ำท่วมและน้ำไม่ท่วม เพราะอยู่ติดแม่น้ำ อาหารการกิน ปลาม้าที่หายากราคาค่อนข้างแพง เพราะใกล้สูญพันธุ์เต็มที หรือขนมสาลี่อันลือชื่อ

เจดีย์ยุทธหัตถี โดยที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงทำ ยุทธหัตถีที่มีชัยชนะต่อพระมหาอุปราชา เมื่อวันจันทร์เดือนยี่ แรม 2 ค่ำ ตรงกับวันที่ 25 มกราคม 2135 ณ ตำบลดอนเจดีย์ หรือตำบลท่าคอยในอดีต โดยทรงรับสั่งให้สร้างเจดีย์ขึ้น

องค์เจดีย์ยุทธหัตถีนี้ถูกค้นพบเมื่อ พ.ศ.2456 โดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงรับสั่งให้พระทวีประชาชน (อี้ กรรณสูตร) เจ้าเมืองสุพรรณบุรีในขณะนั้น ค้นพบซากเจดีย์เก่าซึ่งเชื่อได้ว่าเป็นเจดีย์ยุทธหัตถี

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้เสด็จไปทรงประกอบพิธีบวงสรวงสมโภชเมื่อ 28 มกราคม 2456 องค์เจดีย์เหลือซากแต่เพียงฐานสี่เหลี่ยมกว้างด้านละ 19.50 เมตร สูงจากพื้นดินถึงส่วนชำรุด 6.50 เมตร จึงทรงโปรดเกล้าฯ บูรณะ และทรงเลือกแบบเจดีย์ยุทธหัตถีที่พ่อขุนรามคำแหงมหาราชชนช้างชนะขุนสามชน เจ้าเมืองฉอดซึ่งตั้งอยู่ที่จังหวัดตาก แต่เนื่องจากฐานะการเงินของประเทศในขณะนั้นกำลังวิกฤติเป็นอย่างมาก การบูรณะเจดีย์จึงไม่ได้มีการดำเนินการตามพระราชประสงค์

จนกระทั่งจอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ได้มีการดำเนินการก่อสร้างเมื่อปี 2495 โดยแบบเจดีย์ให้เป็นทรงลังกา ตามแบบเจดีย์ใหญ่วัดชัยมงคล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพราะสันนิษฐานว่าเจดีย์วัดใหญ่ชัยมงคลนี้ สมเด็จพระนเรศวรมหาราชได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งชัยชนะในครั้งนั้น

ปัจจุบันในวันที่ 25 มกราคมของทุกปี ณ บริเวณพระบรมราชานุสรณ์ดอนเจดีย์ จะมีการประกอบพิธีบวงสรวง เนื่องในวันกองทัพไทย และช่วงในปลายเดือนมกราคม จังหวัดสุพรรณบุรี กำหนดให้มีงานสมโภชอนุสรณ์ดอนเจดีย์ขึ้น เพื่อเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช

เมื่อมาเมืองสุพรรณบุรี ถ้าไม่พูดถึงวัดบ้านกร่างคงจะเป็นไปไม่ได้ วัดบ้านกร่างนี้ตั้งอยู่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำท่าจีน อำเภอศรีประจันต์ เป็นวัดโบราณครั้งสมัยกรุงศรีอยุธยา อันเป็นแหล่งกำเนิดพระขุนแผน

พระขุนแผน กรุวัดบ้านกร่าง เมื่อพิจารณาจากความงดงามของพุทธศิลปะที่โดดเด่น โดยมีศิลปะที่อ่อนช้อย มีเอกลักษณ์ ในจำนวนพระขุนแผนกรุวัดกร่างนี้ มีอยู่พิมพ์หนึ่งคือพระขุนแผนพิมพ์ห้าเหลี่ยมอกใหญ่ มีลักษณะและศิลปะเหมือนกับ "พระขุนแผนเคลือบ" ที่แตกออกมาจากเจดีย์วัดใหญ่ชัยมงคล จังหวัดพระนครศรี อยุธยา ซึ่งจากบันทึกพงศาวดารว่าสมเด็จพระนเรศวรมหาราช โปรดฯ ให้สร้างเจดีย์องค์นี้ขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2135 เพื่อเฉลิมพระเกียรติแห่งชัยชนะในการทำยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชาแห่งประเทศพม่า

"พระเจดีย์ชัยมงคล" ชาวบ้านเรียก "เจดีย์ใหญ่" เพราะเป็นเจดีย์ที่ใหญ่ที่สุดในอยุธยา ประเพณีแต่โบราณเมื่อสร้างพระเจดีย์แล้วจะสร้างพระพิมพ์เพื่อบรรจุไว้ด้วย เป็นการสืบทอดพระพุทธศาสนา ซึ่งได้กุศลแรง

ในบรรดาพระเครื่องชั้นนำของเมืองสุพรรณฯ พระขุนแผนมีชื่อรวมอยู่ในพระกรุยอดนิยม มีความงดงามของพุทธศิลปะ โดดเด่น มีพุทธคุณ เมตตา มหานิยม อยู่ยงคงกระพันความศักดิ์สิทธิ์ มีไว้ติดตัวป้องกันอุบัติภัยต่างๆ คุณวิเศษแคล้วคลาด ตลอดจนในเรื่องของมหาเสน่ห์ ชื่อพระขุนแผน เป็นการเรียกชื่อพระของคนในสมัยหลังๆ สำหรับ สมัยโบราณการสร้างพระพิมพ์นั้นไม่มีการตั้งชื่อ

พระกรุบ้านกร่างมีจำนวน 84,000 องค์ ตามคติการสร้างแยกพิมพ์ต่างๆ ตามความแตกต่างพุทธลักษณะกว่า 300 พิมพ์ บางแบบเรียกว่าพระขุนแผน เช่น พิมพ์ห้าเหลี่ยมอกใหญ่ พิมพ์ห้าเหลี่ยมอกเล็ก พิมพ์ทรงพลใหญ่ พิมพ์ทรงพลเล็ก พิมพ์พระประธาน พิมพ์เถาวัลย์เลื้อย พิมพ์แขนอ่อน พระพลายเดี่ยว พระพลายคู่

แต่ละพิมพ์ยังแบ่งแยกออกไปอีกหลายๆ พิมพ์ เช่น พระคู่หน้าพักตร์ หน้ามงคล หน้าฤาษี หน้าเทวดา พิมพ์ก้างปลา พลายเดี่ยวพิมพ์ชะลูด และอีกมากมาย

ความคล้ายคลึงของพุทธศิลปะของพระขุนแผนกรุวัดบ้านกร่าง กับพระขุนแผนเคลือบกรุวัดใหญ่ชัยมงคล โดยเฉพาะพิมพ์ห้าเหลี่ยมอกใหญ่ มีความแตกต่างกันน้อยมาก เส้นสายลวดลาย การแกะแม่พิมพ์ คงเป็นช่างที่แกะในสมัยนั้น คณะเดียวกัน สกุล ช่างสำนักเดียวกัน อายุการสร้างไม่แตกต่าง กัน แกะในคราวเดียวหรือพิมพ์ในคราวเดียวกัน แต่ได้มีการแยกบรรจุเจดีย์ต่างกัน จึงสันนิษฐานได้ว่าพระขุนแผนกรุวัดบ้านกร่างอายุเมื่อ 400 ปีมาแล้ว หรือในรัชสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช

พระกรุบ้านกร่าง เมื่อปี พ.ศ.2447 พระเครื่องกรุวัดบ้านกร่างแตกกรุจากเจดีย์หลังพระวิหารเก่าในบริเวณวัด เมื่อกรุแตก คนสุพรรณบุรียุคนั้นเรียกกันว่า "พระวัดบ้านกร่างเดี่ยว" "พระบ้านกร่างคู่" พระพลายเดี่ยว พระพลายคู่ พระพลายลูกขุนแผน เชื่อกันว่าเพื่อต้องการให้สอดคล้องกลมกลืนกับวรรณกรรมเรื่องขุนช้างขุนแผน อันเป็นถิ่นกำเนิดในสมัยโบราณ

พระกรุบ้านกร่าง โดยทั่วไปนั้นเป็นพระเนื้อเดียวกัน เนื้อดินผสมว่านและเกสรดอกไม้หลากหลายชนิด มีทั้งเนื้อหยาบและละเอียด แต่ส่วนใหญ่จะเป็นเนื้อหยาบที่มีส่วนผสมของกรวดทราย มาก มีทั้งสีแดง สีพิกุล สีเขียว แสดดำ ตามความอ่อนแก่ของความร้อนในการเผา และสิ่งที่ขาดไม่ได้ คือต้องมีว่านดอกมะขาม มีแร่ทรายเงิน แร่ทรายทอง และ "รอยหว่านหลุด" อยู่ด้วยทุกองค์ รอยหว่านหลุดนี้ถือว่าเป็นเอกลักษณะของเนื้อพระกรุวัดบ้านกร่าง ที่ต้องใช้ในการพิจารณา

รอยหว่านหลุดเป็นร่องเล็กๆ ไม่แน่นอน รูปแท่ง สามเหลี่ยม สี่เหลี่ยม ร่องลึก หรือตื้นก็ได้

พระกรุวัดบ้านกร่าง ยังมีผิวสะอาดเนื่องจากกรุพระอยู่ในสภาพดีไม่มีน้ำท่วมขัง จมดิน จะไม่มีคราบขี้กรุเกาะติดหนา จะเห็นเพียงฝ้ากรุบางๆ ฉาบติดอยู่ หากผ่านการใช้หรือสัมผัส จะเหลือผิวฝ้ากรุตามซอกองค์พระ

ปัจจุบันวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวชนบท โดยเฉพาะในเรื่องการเกษตร ได้ใช้เครื่องจักรแทนแรงงานคน เช่น ในเรื่องการทำไร่ไถนา ใช้รถไถแทนแรงงานสัตว์

"ควาย" หรือกระบือนั่นเอง ทำให้วิถีชีวิตพื้นบ้านภูมิปัญญาของคนโบราณได้ถูกลืมเลือนไป ทำให้เป็นที่วิตกว่าในอนาคตจะไม่มีให้เด็กรุ่นหลังได้เห็น

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี จึงทรงดำริให้จัดตั้งโรงเรียนเกี่ยวกับการใช้ควายและแรงคน ในการไถนาเกี่ยวข้าวที่จังหวัดสระแก้วขึ้น เพื่อการอนุรักษ์วิถีชีวิตพื้นบ้านให้คงอยู่ต่อไป และเป็นการลดต้นทุนการผลิตในการทำนา ซึ่งในปัจจุบันน้ำมันที่ใช้เป็นพลังงานมีแนวโน้มในเรื่องของราคาที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ควายไทยนั้นมีขนาดใหญ่กว่าวัวประมาณ 2 เท่า มีลำตัวกว้าง ใหญ่ และลึก มีท้องกางโต ท้องย้อย บั้นท้ายลาด ขายาว กระดูกใหญ่ หัวมีขนาดเล็กเมื่อเทียบขนาดตัว มีเขายาวโค้งงองุ้มเข้าหากันไปทางด้านหลัง แต่รูปร่างแบน ปลายเขาเรียวแหลม มี 2 สี ควายสีเทาหรือดำ และควายเผือกสีขาว

ควายตัวผู้โตเต็มที่น้ำหนักเฉลี่ย 600-650 กิโลกรัม สำหรับตัวเมียน้ำหนักจะอยู่ที่ 400-500 กิโลกรัม ลูกควายแรกเกิดจะมีน้ำหนักประมาณ 25-35 กิโลกรัม แม่ควายให้นมพอเลี้ยงลูก มีไขมันสูงประมาณ 7-9% ซึ่งสูงกว่านมวัว (3-5%) ลูกควายจะดูดนม ไปจนกว่าแม่จะหยุดให้นม ต่อจากนั้นลูกควายก็จะรู้จักเล็มหญ้ากินเอง ควายสาวมีอายุในการผสมพันธุ์ตั้งแต่ 2-3 ปีขึ้นไป

ควายตัวเมียให้ลูกควายตัวแรกเมื่ออายุ 4-5 ปี ซึ่งอาจจะสามารถให้ลูกได้ถึง 10 ตัวในช่วงชีวิต ลูกจะแข็งแรงที่สุดช่วงแม่ควายอายุระหว่าง 8-9 ปี แม่ควายที่ได้รับการเลี้ยงดูและรับอาหารที่ดี อาจให้ลูกปีละตัวทีเดียว โดยทั่วไปจะให้ลูก 2 ตัวใน 3 ปี

แม่ควายจะตกไข่ แสดงอาการสัดครั้งหนึ่งในรอบ 22 วัน เมื่อผสมพันธุ์ในระยะนี้ แม่ควายจะตั้งท้อง อุ้มท้องนาน 10 เดือน ช่วงการตกลูก 1 ตัว อาจกินเวลาถึง 1 ปีครึ่งขึ้นไป

ควายที่ถูกฆ่าและชำแหละเรียบร้อย น้ำหนักซากประมาณ เกือบ 50% ก่อนฆ่า เนื้อควายที่มีกล้าม ค่อนข้างใหญ่ หยาบกว่าเนื้อวัว เนื้อควายมีสีคล้ำกว่าเนื้อวัว แต่คุณภาพของเนื้อจะไม่แตก ต่างกัน หากได้รับการเลี้ยงดูเหมือนๆ กัน

ควายมีต่อมเหงื่อน้อยกว่าวัว จึงถ่ายเทความร้อนออกจากร่างกายได้ไม่ดีเท่าวัว เวลาอากาศร้อน ชอบนอนแช่ปลักโคลน เพื่อการคลายความร้อนของร่างกาย ถ้าโดนอากาศร้อนนานๆ อารมณ์จะหงุดหงิด เปลี่ยว และดุร้าย

โดยทั่วไปควายเป็นสัตว์ที่เชื่องและเชื่อฟัง ฝึกใช้งานได้ง่าย

ควายงานจะเริ่มใช้งานเมื่ออายุ 3 ปีขึ้นไป เป็นควายที่ตอนแล้ว ช่วงอายุการทำงานนาน 12-14 ปี ควาย 1 ตัว จะไถนาได้วันละครึ่งไร่ คือเฉลี่ยปีละ 10 ไร่ ตลอดฤดูการทำงานของมัน คือฤดูทำนา ช่วงมิถุนายนถึงสิงหาคม

หมู่บ้านอนุรักษ์ควายไทยของจังหวัดสุพรรณบุรี ตั้งอยู่ริมทางหลวงหมายเลข 340 (สุพรรณบุรี-ชัยนาท) ระหว่างหลักกิโลเมตรที่ 115-116 เป็นสถานที่รวบรวมวิถีชีวิตแบบพื้นบ้านภาคกลางมีพื้นที่กว่า 100 ไร่

โดยแบ่งเป็นส่วนต่างๆ เพื่อแสดงวิถีชีวิตความเป็นอยู่อย่าง เรียบง่าย หมู่บ้านชาวนา บ้านเรือนไทยภาคกลาง มีลานนวดข้าว คอกควาย ลานแสดงของควาย โครงการเกษตรทฤษฎีใหม่

การดำเนินชีวิตแบบสังคมชนบทในอดีต ให้เห็นความสำคัญของชาวนาไทย

สุพรรณบุรีมีความอุดมสมบูรณ์โดยเฉพาะห้วยหนองคลอง บึง แหล่งน้ำธรรมชาติ เช่น

บึงฉวากเป็นบึงน้ำธรรมชาติขนาดใหญ่ มีพื้นที่ประมาณ 2,700 ไร่ ห่างจากตัวเมืองสุพรรณบุรีประมาณ 64 กิโลเมตร มีพื้นที่ติดต่อกับอำเภอหันคา จังหวัดชัยนาท และอำเภอเดิมบาง นางบวช จ.สุพรรณบุรี พ.ศ.2526 บึงฉวากได้รับประกาศให้เป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่า

เมื่อ พ.ศ.2541 ได้รับการจัดให้เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับชาติ ตามอนุสัญญาแรมซาร์ที่ประเทศไทยเข้าร่วมเป็นภาคี เนื่องจากความหลากหลายของพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์ที่มีอยู่ในบึง ลักษณะที่เรียกว่าเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ คือพื้นที่ลุ่ม พื้นที่ราบลุ่ม พื้นที่ลุ่มน้ำแฉะ ฉ่ำน้ำ มีน้ำท่วม น้ำขัง พื้นที่เป็นแหล่งน้ำ ที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ หรือมนุษย์สร้างขึ้น ทั้งแหล่งน้ำนิ่งน้ำไหล แหล่งน้ำจืด น้ำกร่อย หรือน้ำเค็ม รวมไปถึงแหล่งน้ำนิ่งชายฝั่งทะเล และทะเลในบริเวณซึ่งเป็นน้ำลดต่ำสุดน้ำลึกไม่เกิน 6 เมตร ซึ่งบึงฉวากเป็นบึงน้ำจืดที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ มีความลึกเฉลี่ย 1-3 เมตร

ริมบึงฉวาก บรรยากาศร่มรื่น มีศาลาสำหรับเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจสำหรับประชาชน เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัดสุพรรณบุรี

สถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำบึงฉวากเฉลิมพระเกียรติ รวบรวมพันธุ์ปลาน้ำจืด พันธุ์ปลาสวยงามและหายาก

อาคารแสดงพันธุ์ปลาน้ำจืดน้ำเค็ม ทั้งพันธุ์ปลาไทยและต่างประเทศมากมาย ปลาบึก ปลากระโห้ ปลาม้า ปลากราย ปลาเสือดาว

อาคารแสดงสัตว์น้ำที่ประกอบไปด้วยตู้ปลาขนาดใหญ่สวยงาม และมีอุโมงค์ความยาวกว่า 8.5 เมตร ทำให้ได้บรรยากาศ เหมือนกับอยู่ใกล้สัตว์น้ำเหล่านี้

บ่อจระเข้น้ำจืด จำลองให้มีสภาพใกล้เคียงกับธรรมชาติมากที่สุด ใช้พื้นที่ประมาณ 6 ไร่ มีจระเข้ น้ำจืดพันธุ์ไทย ได้เห็นความเป็นอยู่แบบธรรมชาติของเหล่าจระเข้นี้

ในส่วนของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช มีศูนย์พัฒนาการจัดการสัตว์ป่าบึงฉวาก สร้างขึ้นเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวโรกาสทรงครองราชย์เป็นปีที่ 50 ประกอบไปด้วยอาคารศูนย์บริการนักท่องเที่ยว จัดนิทรรศการให้ความรู้เกี่ยวกับการเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าชนิดต่างๆ การดูนก สภาพทางภูมิศาสตร์ กรงเลี้ยงนกขนาดใหญ่ 45 ชนิด นกกาบบัว ไก่ฟ้าพญาลอ ไก่ฟ้าสีทอง ซึ่งว่ากันว่าเป็นไก่ฟ้าที่มีความสวยงามที่สุดในโลก กรงเสือ และสิงโต ลักษณะภายในตกแต่งเป็นถ้ำ และเป็นหินให้ดูคล้ายสภาพธรรมชาติ ซึ่งเป็นกรงเลี้ยงสัตว์ป่าตระกูลแมว สิงโต เสือโคร่ง เสือดาว เสือลายเมฆ แมวดาว นอกจากนั้นยังมีกรงสัตว์ป่าหายากอีกหลายประเภท นกน้ำ นกยูง ม้าลาย อูฐ นกกระจอกเทศ

อุทยานผักพื้นบ้านเพื่อการยังชีพ เพื่อสร้างจิตสำนึกให้ประชาชนเห็นคุณค่า อนุรักษ์ผักพื้นบ้าน โดยการรวบรวมผักพื้นบ้านจากทุกภาคของประเทศกว่า 500 ชนิด มีทั้งพืชสมุนไพรไม้ล้มลุก ไม้เลื้อย ไม้ยืนต้น เช่น น้ำเต้าสี่เหลี่ยม บวบหอมขนาดใหญ่

เมื่อมาเยือนจังหวัดสุพรรณบุรีทั้งที ไม่พลาดที่จะมาเที่ยวชมชุมชนตลาดริมน้ำท่าจีน ตลาดข้าวที่สำคัญในอดีตและชิมอาหาร อร่อยที่ตลาดร้อยปี

ตลาดสามชุกเป็นชุมชนชาวจีนเก่าแก่ที่ยังคงมีสภาพบ้านเรือนห้องแถวไม้แบบดั้งเดิม ร้านขายของ ขายยา ร้านกาแฟท่าเรือส่ง ทุกวันนี้ลูกๆ ยังใช้สูตรการคั่วและชงกาแฟของเตี่ย ซึ่งเป็นแบบดั้งเดิม

ร้านถ่ายรูปที่ยังใช้กรรมวิธีกล้องแบบโบราณเก่าแก่ พร้อมเครื่องแต่งกายชุดย้อนยุคไว้ให้สวมใส่ มีบริการส่งภาพถึงบ้านภายหลังอีกด้วย สิ่งที่น่าสนใจคืออาคารบ้านพิพิธภัณฑ์ ซึ่งเป็นแหล่งรวบรวมภาพแบบวิถีชีวิตผู้คนสมัยก่อน บ้านขุนจำนง จีนารักษ์ ของชุมชนแห่งนี้

เพลิดเพลินกับเกี๊ยว บะหมี่ ข้าวห่อใบบัว อาหารพื้นเมือง ขนมไทยๆ ไว้ให้ลิ้มรสมากมาย ยามบ่ายคล้อยหน้าตลาดจะมีชาวบ้านนำผัก ผลไม้ ปลาน้ำจืด ปลาสลิด ช่อนทำเค็มมาจำหน่าย อีกด้วย

เมื่อมาเยือนสุพรรณบุรีจะเห็นขนมไทยหลายชนิดวางขายให้นักท่องเที่ยวซื้อเป็นของฝากกลับบ้านมากมาย โดยเฉพาะขนมสาลี่ รสชาติดั้งเดิมและรสชาติสมุนไพรให้ได้ชิมหลากรสด้วยความอร่อย ผู้บริโภคจะรู้สึกสะอาดปลอดภัยด้วยส่วนผสมแป้งสาลี่ น้ำตาลทราย ไข่เป็ด สีผสมอาหารกลิ่นต่างๆ กลิ่นใบเตย กลิ่นดอกอัญชัญ กลิ่นกระชายโรยหน้าด้วยลูกเกด เมื่อผสมตามขั้นตอน เทใส่ถาดนึ่งประมาณ 15 นาที หรือกว่านั้นตามความหนา เมื่อสุกดี สั่งยกลง ได้ขนมสาลี่ยอดนิยมตามต้องการ

เมื่อมาแล้วต้องไม่ลืมไปปีนป่ายหอคอยบรรหาร-แจ่มใส เป็นหอคอยชมวิวมองเห็นโดดเด่นอยู่กลางเมือง

วัดป่าเลไลยก์เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหารเป็นวัดเก่าแก่ หน้าบันของวิหารมีเครื่องหมายพระมหามงกุฎระหว่างฉัตรคู่

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จและทรงค้นพบสมัยยังทรงผนวช เมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์จึงทรงปฏิสังขรณ์ สันนิษฐานว่าเป็นวัดที่สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยที่สุพรรณบุรีมีความรุ่งเรือง

พงศาวดารเหนือกล่าวว่าพระเจ้ากาแตทรงให้มอญน้อยมาบูรณะวัดป่าเลไลยก์ ภายหลัง พ.ศ.1724 ประชาชนนิยมมานมัสการหลวงพ่อโต พระพุทธรูปปางป่าเลไลยก์ ศิลปะสมัยอู่ทองสุพรรณภูมิลักษณะประทับนั่งห้อยพระบาท พระหัตถ์ซ้ายและขวาวางคว่ำ และหงายบนพระชานุ

หลวงพ่อโตเดิมคงเป็นพระพุทธรูปปางปฐมเทศนาสร้างไว้กลางแจ้ง ภายในองค์พระพุทธรูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่ได้มาจากพระมหาเถระไลยลาย จำนวน 36 องค์

ตรงข้ามพระวิหารจะมีร้านขายสินค้าของที่ระลึก กระจับ ซึ่งสมัยเด็กๆ นิยมนำเขามาขวิดกัน พุทรา มะขามเทศ โดยเฉพาะ ปลาย่าง ปลาช่อน ปลาสลิดแดดเดียวที่มีตัวขนาดพอดีหาซื้อในบริเวณนี้

ด้านหลังวัดมีเรือนไทยไม้สักหลังใหญ่ตามบทพรรณนาเรือนอันกว้างขวางของขุนช้าง "คุ้มขุนช้าง" ตามวรรณคดีขุนช้างขุนแผนให้ได้ชมอีกด้วย

วัดแคเป็นวัดเก่าแก่ ภายในวัดมีต้นมะขามขนาดใหญ่ มีอายุ 1,000 ปี เชื่อกันว่าขุนแผนได้เรียนวิชาเสกใบมะขามให้เป็นตัวต่อตัวแตนกับท่านอาจารย์ คงในการโจมตีข้าศึกจากต้น มะขามนี้ โบราณวัตถุของวัดนี้ คือพระพุทธบาทสี่รอย พระพุทธรูปปางมารวิชัยขัดสมาธิ ศิลปะรัตนโกสินทร์ จีวรและอังสะเป็นลายดอกพิกุล ประดิษฐานอยู่ในพระวิหารหน้าพระประธาน

วัดพระลอย สาเหตุที่สร้างวัดนี้จากการที่พระพุทธรูปปางนาคปรกเนื้อหินทรายขาวลอยมาตามแม่น้ำท่าจีน จึงมีพิธีอาราธนาขึ้นจากน้ำ สันนิษฐานว่าเป็นพระพุทธรูปสมัยลพบุรี

วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ถนนสมภารคง ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำท่าจีน ศูนย์กลางของเมืองสุพรรณภูมิ มีอายุกว่า 600 ปี ปรางค์องค์พระปฐมเป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ แต่ถูกลักลอบ ขุดค้นหาทรัพย์สินจนทรุดโทรม กรุในองค์พระปรางค์นี้คือต้นกำเนิด พระพิมพ์ผงสุพรรณบุรีที่โด่งดังเป็นหนึ่งใน "เบญจภาคี"

พระเครื่องยอดนิยมคือพระสมเด็จนางพญาของพระพุทธา จารย์ (โต) วัดระฆังโฆสิตาราม พระสมเด็จนางพญา จ.พิษณุโลก พระทุ่งเศรษฐี จังหวัดกำแพงเพชร พระรอดจังหวัดลำพูน และพระผงจังหวัดสุพรรณบุรี

นักโบราณคดีเห็นว่าปรางค์องค์นี้น่าจะเป็นศิลปะการก่อสร้างสมัยอู่ทองสุพรรณภูมิ การก่อสร้างโดยการก่ออิฐไม่ถือปูนซึ่งเป็นวิธีการก่อสร้างแบบเก่าแก่ก่อนสมัยอยุธยา

นอกจากนี้ยังมีวัดให้เหล่าพุทธศาสนิกชนได้ไปเคารพกราบไหว้เพื่อเป็นสิริมงคลต่อชีวิตตัวเองและครอบครัวอีกมากมาย เช่น วัดพระนอน วัดหน่อพุทธางกูร วัดพร้าว เป็นต้น

เมื่อได้ยินสำเนียงเหน่อ สำเนียงความจริงใจ ความเป็นไทยของชาวสุพรรณบุรีแล้ว ทำให้นึกถึงเพลงพื้นบ้านของจังหวัดสุพรรณบุรี อันเป็นวัฒนธรรมที่เป็นมรดกตกทอดมาถึงคนรุ่นปัจจุบัน

เพลงพื้นบ้าน หมายถึงเพลงของคนที่อยู่ในสังคมชนบท มีเครื่องดนตรีที่ทำขึ้นมาใช้บรรเลงเอง สืบทอดกันแบบปากต่อปาก ไม่เป็นลายลักษณ์อักษร เป็นการละเล่นเพื่อความสนุกสนาน ผ่อนคลายจากการเหน็ดเหนื่อยที่ออกไปทำไร่ไถนา หรือเพื่อการแสดงออกในเรื่องความรักของหนุ่มสาว พิธีกรรมการเห่กล่อม โดยใช้ภาษาถิ่นในท่วงทำนอง ท่าทางการร้อง และเครื่องดนตรีอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่นนั้นๆ ลักษณะของเพลงพื้นบ้านจะมีถ้อยคำที่เรียบง่าย เน้นความสนุกสนาน เนื้อความจะเป็นคำบอกจากพ่อเพลงแม่เพลง ชายเกี้ยวหญิง หญิงตอบ ร้องแก้ด้วยปฏิภาณไหวพริบ ทำให้เกิดความสนุกด้วยกันทุกฝ่าย

เพลงพื้นบ้านของสุพรรณบุรีมีหลากหลาย นิยมเล่นในเทศกาลต่างๆ ขึ้นปีใหม่ กฐิน ผ้าป่า เกี่ยวข้าว

จำพวกเพลงฉ่อย ปรบไก่ เพลงเรือ เพลงอีแซว

เพลงฉ่อยเป็นการละเล่นพื้นเมืองประเภทหนึ่งของจังหวัด สุพรรณบุรี โดยประเพณีแล้วจะเริ่มด้วยการไหว้ครู ทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิง จะออกมาร้องไหว้คุณพระศรีรัตนตรัย คุณครูบาอาจารย์ คุณบิดามารดาเสียก่อน เมื่อจบแล้วปี่พาทย์จะบรรเลงเพลงสาธุการจบแล้ว พ่อเพลงก็จะร้องเป็นการเบิกโรง "ฉะหน้าโรง" ผู้ชายจะร้องเชิญชวนจนฝ่ายหญิงออกมาร่วมร้องด้วย แล้วก็เกี้ยวพาราสี ด้วยคำที่มีความหมายสองแง่สองง่าม การร้องตอนนี้เรียกว่าประ น่าจะย่อมาจากคำว่าประคารม เป็นตอนที่ผู้ชมชอบฟังกันมาก เพราะได้เห็นความสามารถของฝ่ายชายและหญิงใช้ปฏิภาณร้องแก้กัน

การเล่นเพลงฉ่อย จะมีการปรบมือให้จังหวะ เพลงจะต้องจบลงด้วยเสียงสระโอทุกคำกลอนเช่นกัน แต่เมื่อถึงบทเกี้ยว เพลงจะคล้ายเพลงเรือ สำหรับลูกคู่ นอกจากจะปรบมือให้จังหวะแล้วก็จะต้องร้องรับตอนจบว่า "ชา เอ๋ ฉา ชา หน่อย แม่ เอย"

สำหรับแม่เพลงฉ่อยจะขึ้นบทใหม่ทุกครั้งต้องขึ้นว่า "โอง โวง โว โชะ ละ โอ่ โง๋ง โง๋ย"

เพลงอีแซวเป็นเพลงพื้นบ้านที่เป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดสุพรรณบุรี เพลงอีแซวเนื้อร้องและทำนองเพลงมีแบบของตัวเอง มีการยืมเนื้อเพลงจากเพลงฉ่อยทางอ่างทองมาร้องเป็นเรื่องยาวขึ้น เหตุที่เรียกเพลงอีแซวสันนิษฐานว่าเพราะยืนร้องแซวกันทั้งคืน เพลง อีแซวมีจังหวะกระชั้นเร็วกว่าเพลงฉ่อยหนึ่งเท่า คนร้องจึงต้องจำเพลงหลักให้แม่น และมีปฏิภาณว่องไว มิฉะนั้นจะร้องไม่ทัน

การร้องเพลงอีแซว เริ่มจากบทไหว้ครู ทั้งชายและหญิง ฝ่ายชายเป็นผู้ริเริ่มเรียกว่าปลอบ ฝ่ายหญิงก็จะว่าบทรับแขก แล้วฝ่ายชายก็จะวกเข้าหาบทเกี้ยว ฝ่ายหญิงรับด้วยบทเล่นตัว ฝ่ายชายจะว่าบทออด ฝ่ายหญิงจะตอบด้วยบทเสียแค่นไม่ได้ คือรับรัก จากนั้นฝ่ายหญิงจะขึ้นบทเกี้ยวให้มาสู่ขอ ฝ่ายชายมักอ้างขอพาหนี พอหนีตามกันไปก็จะมาถึงบทชมนกชมไม้ ซึ่งบทนี้มักจะเป็นบทถามตอบกันระหว่างหญิงกับชาย ซึ่งให้ความรู้แก่ผู้ชมผู้ฟังมาก

มีแนวทางเล่นอีกแนวหนึ่งเรียกว่าชิงชู้ เป็นลักษณะของหนึ่งหญิงสองชาย กับตีหมากผัว เป็นลักษณะหนึ่งชายสองหญิง เป็นการแสดงบททะเลาะกันตามสภาพชีวิตจริง ผู้ว่าเพลงจะสอดแทรกมุกต่างๆ ลงไว้ในบทร้อง มีข้อความเสียดสี กินใจ สั่งสอน รวมทั้งบทตลกผสมกันไป สุดท้ายเป็นบทขอขมา จากนั้นจะเป็นการให้พรซึ่งกันและกันทั้งเจ้าภาพและผู้ฟัง ก่อนที่จะแยกย้ายกันไป

เพลงปรบไก่เป็นการละเล่นพื้นเมืองมาแต่โบราณ สันนิษฐาน ว่าจะเก่าแก่กว่าเพลงพื้นบ้านประเภทอื่นๆ ของภาคกลาง ผู้เล่นร้องโต้ตอบกันโดยยืนเป็นวงกลม สามารถเล่นเป็นเรื่องได้ เช่นเรื่องขุนช้างขุนแผน ในสมัยโบราณคงถือว่ามีหลักเกณฑ์ดี จนนักปราชญ์ทางดุริยางคศิลป์ได้นำคำรับลูกคู่ของเพลงปรบไก่มาแปลงเป็นวิธตะโพน ที่เรียกว่าหน้าทับปรบไก่ ซึ่งต่อมาภายหลังได้ถอดออกมาเป็นวิธีตีเครื่องหนังอื่นๆ อีกหลายอย่าง และหน้าทับปรบไก่ นี้ก็เป็นหน้าทับสำคัญของการบรรเลงดนตรีไทยอย่างหนึ่ง คำรับลูกคู่ที่แปลงมาเป็นหน้าทับตะโพน

วิธีเล่นเพลงปรบไก่ จะมีผู้หญิงผู้ชายมาว่าแก้กัน เป็นเชิงเกี้ยวพาราสีบ้าง ลักหาพาหนีบ้าง หึงหวงบ้าง แล้วแต่จะร้องกันไป

เพลงเรือเป็นเพลงพื้นบ้านของชาวไทยภาคกลางที่อยู่ตามริมลำน้ำ เช่น สุพรรณบุรี อ่างทอง อยุธยา ฯลฯ นิยมเล่นกัน ในหน้านาประมาณเดือน 11-12 อุปกรณ์ในการเล่นเพลงเรือ คือเรือของพ่อเพลงลำหนึ่ง และเรือของแม่เพลงลำหนึ่ง เครื่องดนตรีมีกรับธรรมดาหรือกรับพวง และฉิ่ง ถ้าเล่นกลางคืนจะต้องมีตะเกียง ไว้กลางลำเรือ เนื้อร้องทั้งสองฝ่ายมาพบกัน พ่อเพลงก็จะพายเรือเข้าไปเทียบเกาะเรือแม่เพลงไว้ แม่เพลงเริ่มด้วยเพลงปลอบ หรือเพลงเกริ่น บางคณะจะเริ่มด้วยบทไหว้ครูก่อน จากนั้นแม่เพลงก็จะร้องประโต้ตอบ เรียกว่าบทประ แล้วต่อด้วยชุดลักหาพาหนี หรือนัดหมายสู่ขอ แล้วต่อด้วยเพลงชุดชิงชู้ และเพลงตีหมากผัว เมื่อเลิกก็จะมีเพลงจาก แสดงความอาลัยอาวรณ์

นอกจากเพลงพื้นเมืองที่กล่าวมาแล้ว ยังมีเพลงพื้นบ้านอีกมากมาย เช่น เพลงพวงมาลัย นิยมเล่นในงานบวชนาค ลอยกระทง ทอดกฐิน ซึ่งแต่เดิมมักจะร้องเล่นในการละเล่นกีฬาพื้นเมือง คือการเล่นลูกช่วง

การแหล่ คือการขับลำนำเป็นทำนองเพลง ที่มาของการแหล่ มาจากการเทศน์นั่นเอง หรือแหล่ทำขวัญนาค แหล่กลอนแปดหรือแหล่แบบด้นสด

เพลงยั่ว เพลงร้องโต้ตอบยั่วให้รำ โดยการใช้มือตบ นิยม เล่นในงานสงกรานต์

การละเล่นเหล่านี้ ทำให้ชาวจังหวัดสุพรรณบุรีภาคภูมิใจ ที่มีศิลปินแห่งชาติสาขาเหล่านี้มากมายหลายคน

นอกจากเพลงพื้นบ้านต่างๆ มากมายแล้ว ขนบธรรมเนียมประเพณียังเป็นสิ่งที่สืบต่อกันมาแต่โบราณ เช่น

งานนมัสการหลวงพ่อโต ทำบุญตักบาตรเทโว ในเทศกาลออกพรรษา ประเพณีไหว้พระแข (ไหว้พระจันทร์) ของคนไทยเชื้อสายเขมร ที่ตำบลบ้านโพธิ์และตลิ่งชัน งานทิ้งกระจาดพิธีกรรมของชาวพุทธลัทธิมหายาน มีการจัดขบวนแห่ที่สวยงาม เชิดสิงโต มังกร ขบวนธงทิว ชุดฟ้อนรำกลองยาว ล่อโก๊ว ขบวนหาบสิ่งของ เพื่อไปอัญเชิญเจ้าพ่อหลักเมือง มีการแสดงมหรสพ "งิ้ว"

ทุกจังหวัดจะมีไม้มงคลพระราชทานประจำจังหวัด เช่น

กรุงเทพมหานคร ต้นไม้มงคลคือไทรย้อยใบแหลม

สมุทรสงคราม "จิกทะเล"

สิงห์บุรี "มะกล่ำต้น"

ลำปาง "ต้นขะจาว" และ

ทองกวาว จะเป็นต้นไม้ประจำจังหวัดเชียงใหม่

สำหรับจังหวัดสุพรรณบุรี พันธุ์ไม้พระราชทานเพื่อปลูกเป็นมงคลประจำจังหวัด คือ "มะเกลือ"

เป็นไม้ยืนต้น สูง 10-30 เมตร ลำต้นตรงเป็นพุ่มทึบ กิ่งอ่อน มีขนนุ่ม ใบเดี่ยวเรียงสลับ แผ่นใบรูปไข่ กว้าง 1-4 ซม. ยาว 4-6 ซม. ใบแห้งสีดำ

เริ่มมีดอกตั้งแต่เดือนมกราคม และมีมากที่สุดในเดือนกันยายน ดอกเล็กสีขาวหรือขาวอมเหลือง เป็นช่อสั้นๆ ตามง่ามใบ

ผลกลมเกลี้ยง เส้นผ่าศูนย์กลาง 2 ซม. ถ้าแก่จัดผลจะออกสีดำ มีกลับจุกที่ขั้ว 4 กลีบ ออกผลในระหว่างเดือนพฤษภาคม-ธันวาคม

เนื้อไม้กระพี้จะออกสีขาว ทิ้งไว้นานจะออกสีดำ แก่นสีดำ ว่ากันว่าไม้มะเกลือ เป็นไม้ที่มีน้ำหนักมากที่สุด มีความแข็งแรงทนทาน เหมาะกับการนำมาทำเครื่องเรือน เครื่องดนตรี ผลใช้ประโยชน์ในการนำไปย้อมผ้า เปลือกใช้เป็นยากันบูด

รากฝนผสมกับน้ำซาวข้าวดื่มแก้อาเจียนหน้ามืดเป็นลม ผู้เฒ่าผู้แก่สมัยโบราณ นำผลมะเกลือสดคั้นเอาแต่น้ำนำมาผสมกับกะทิคั้นสดให้ลูกหลานดื่มก่อนมื้ออาหารเพื่อขับพยาธิปากขอ พยาธิตัวตืด

การสืบสานขนบธรรมเนียมประเพณีวัฒนธรรม วิถีชีวิตชุมชนที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาตั้งแต่อดีต ทำให้ผู้คนถิ่นอื่นมีโอกาสได้ มาศึกษาประวัติศาสตร์ชุมชน ได้สัมผัสความเรียบง่ายแบบสบาย ทำให้รู้สึกอบอุ่น มาเยือนแล้วจากไปด้วยความผูกพัน อยากกลับมาเยือนอีกเสมอ

นี่แหละ คือเสน่ห์ "เหน่อ" ของสุพรรณบุรีเขาล่ะ


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.