|
Eco-efficiency (Eco = economic + ecology) การบูรณาการประสิทธิภาพเชิงเศรษฐนิเวศ
โดย
พัชรพิมพ์ เสถบุตร
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( พฤษภาคม 2553)
กลับสู่หน้าหลัก
Eco-efficiency เป็นอุดมการณ์อย่างหนึ่งที่จะเสริมสร้างสังคมโลกให้อยู่เย็นเป็นสุข โดยมีสิ่งแวดล้อมที่ดีและมีการเติบโตทางเศรษฐกิจต่อไปได้เรื่อยๆ เช่นเดียวกับการพัฒนาที่ยั่งยืน (sustainable development) และเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งในทางปฏิบัติจะเป็นไปได้ขนาดไหนนั้น ยังเป็นแต่แนวทางที่พยายามทำกันอยู่
Eco-efficiency คือแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพของกระบวนการผลิต โดยการลดการใช้ทรัพยากร ลดการสูญเสีย ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ในขณะที่ยังคงรักษาคุณภาพของผลิตภัณฑ์และตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคมิให้ลดน้อยถอยลง
แนวทางของ Eco-efficiency ที่ต้องการสนองความต้องการของผู้บริโภค แต่รักษาความคงอยู่ของทรัพยากรธรรมชาติ ไว้ให้ได้ มีวิถีทางที่ทำกันไปบ้างแล้ว ได้แก่ การ recycle ผลิตภัณฑ์ที่ใช้แล้ว เปลี่ยน มาใช้สารเคมีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การพัฒนารถ hybrid เพื่อลดการใช้น้ำมัน ต่อไปก็คงมีอะไรใหม่ๆ เข้ามาอีก โดยต้องอาศัยการพัฒนาเทคโนโลยี อีกหนทางหนึ่ง คือการเพิ่มศักยภาพในการบริหารจัดการที่ดี
สำหรับประเทศไทยอาจต้องยอมรับ ว่าศักยภาพในการพัฒนาเทคโนโลยีชั้นสูงของเรายังอยู่ในขอบเขตจำกัด ต้องใช้เวลาเสริมสร้างกันอีกมิใช่น้อย ในระหว่างนี้ เราจึงควรหันมาสร้างเทคโนโลยีของเราบนพื้นฐานของภูมิปัญญาในบ้านเมืองของเรา ซึ่งก่อนอื่นเราจะต้องปรับปรุงการบริหาร จัดการ รวมทั้งการจัดเก็บวิเคราะห์ข้อมูลให้ดี เพื่อที่เราจะได้รู้ปัญหาและหาทางเพิ่มประสิทธิภาพได้อย่างเหมาะสม
เมื่อเร็วๆ นี้ กรมโรงงานอุตสาหกรรมได้จัดสัมมนา MIS for SMI ซึ่งมีความหมายถึง การใช้ระบบสารสนเทศมาช่วยในการจัดการกระบวนการผลิตของโรงงานขนาดย่อม (ระบบสารสนเทศในที่นี้หมายรวมถึงการเก็บ วิเคราะห์ และรายงานข้อมูลการผลิตในโรงงานอย่างเป็นระบบ) ทั้งนี้โดยมีจุดมุ่งหมายหลักเพื่อเพิ่มขีดความสามารถหรือเพิ่มประสิทธิภาพ ทั้งในด้านต้นทุน (หรือด้าน economic) และการใช้ทรัพยากร วัตถุดิบ เชื้อเพลิง (หรือด้าน ecology) อย่างสมดุล
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา กรมโรงงานฯ ซึ่งเป็นหน่วยงานควบคุมที่คอยจับจ้องตรวจสอบ บังคับใช้กฎหมายทางด้านมลพิษกับโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ มาโดยตลอด ได้หันเหกลยุทธ์จากการไล่ตรวจจับมาเป็นชักชวนและจูงใจ (เพื่อผลประโยชน์ระยะยาวและมาตรการสิทธิพิเศษจากรัฐ) ให้สถานประกอบการเข้าร่วมด้วยความสมัคร ใจในแนวทางของการป้องกันมลพิษ (pollution prevention) อันเป็นความสมัครใจ แทนที่จะเป็นการกำจัด/บำบัดมลพิษ (pollution control) ซึ่งเป็นการถูกบังคับตามกฎหมาย ต้องขอโทษที่ใช้คำภาษาอังกฤษฟุ่มเฟือย และศัพท์แสงเหล่านี้อาจจะฟังดูสับสนเล็กน้อย แต่! แต่ละคำมีนัยสำคัญซ่อนอยู่มิใช่น้อย ต้องยอมรับว่า เรื่องของการจัดการ บ้านเรายังอ่อนอยู่มาก เราจึงจำเป็นต้องเสริมสร้างขีดความสามารถ ด้านนี้ให้สูงขึ้น
MIS เป็นส่วนหนึ่งของการบริหารจัดการระบบข้อมูลที่ดี หมายถึงการรู้ปัญหา การลดของเสีย เพิ่มผลกำไร แล้วยังช่วยเพิ่มภาพลักษณ์ เพิ่มความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจอีกโสตหนึ่งด้วย บางคนอาจจะแย้งว่า ระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม เป็นเรื่องที่หลายบริษัทใหญ่ๆ ทำกันมานานแล้ว ตามระบบมาตรฐานสากล ISO 14000 ซึ่งมีผู้ได้ตราได้มาตรฐานมาใช้โฆษณากันอย่างอึกทึกคึกโครม ใช่แล้ว! MIS เป็นส่วนหนึ่งของระบบ Energy Management System (EMS) ของมาตรฐาน ISO 14000 แต่การลงทุนเต็มรูปแบบให้ได้มาตรฐานนั้น เป็นเรื่องค่อนข้างยุ่งยาก ลงทุนสูง ซึ่งบริษัทใหญ่สามารถทำได้ แต่สำหรับโรงงานขนาดย่อมต้องคิด หนัก คุ้มหรือไม่
กรมโรงงานฯ จึงพยายามชี้ให้เห็นว่า แค่การปฏิบัติด้วยกระบวนการ MIS ก็สามารถนำไปสู่การเพิ่มประสิทธิภาพได้ และการใช้ MIS เพื่อเพิ่ม Eco-efficiency ก็ทำได้จริงโดยไม่ยากนัก นอกจากนั้นยังเป็นการเริ่มต้นวางรากฐานไปสู่ระบบจัดการ EMS ที่สมบูรณ์ได้อีกต่อหนึ่ง ถึงจะไม่ทำถึงขั้น ISO ก็ยังได้ประโยชน์กับโรงงานเป็นอเนกอนันต์ เพราะทำให้ได้รู้ปัญหาจุดบกพร่องว่าอยู่ที่ใด ตลอดจนรู้ความเป็นมาและเป็นไปที่เกิดขึ้นในกระบวนการ เพื่อผู้บริหารจะได้ตัดสินใจได้ตรงประเด็น กรมโรงงานฯ ได้แสดงให้เห็นจริงด้วยการสาธิต ในโรงงานต้นแบบของอุตสาหกรรมน้ำยางข้นและอุตสาหกรรมสีข้าวนึ่ง แนวทางหลัก จะเป็นการจัดเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลในกระบวนการผลิต โดยมีการวางระบบให้เหมาะสม ซึ่งกรมโรงงานฯ ได้จัดผู้เชี่ยว ชาญไว้ให้คำปรึกษา
คราวนี้! เรามามองกันในแง่ของสังคมและผู้บริโภคกันบ้าง
เท่าที่ผ่านมา ถึงแม้จะไม่มีความรู้ มากนักในด้านเศรษฐศาสตร์หรือสิ่งแวดล้อม ก็อาจเห็นได้โดยง่ายว่า การประกอบการหลายๆ อย่างของเมืองไทยมีเป้าหมายเพื่อให้เกิดผลกำไรได้มากที่สุดและเร็วที่สุด โดยโฆษณาเร้าแรงจูงใจให้มากที่สุด ฉะนั้น การผลิตที่ทำๆ กันอยู่โดยทั่วไปจึงไม่ได้คำนึงถึงประสิทธิภาพกันมากนัก แต่ให้ความสนใจต่อการตลาดและการบรรจุหีบห่อเป็นสำคัญ ซึ่งผู้บริโภคเองก็สนองตอบต่อผลิตภัณฑ์ที่สวยงามเหล่านี้เรื่อยมา
เพิ่งมาไม่กี่ปีมานี้ที่ผู้คนเริ่มตระหนัก มากขึ้นถึงพิษภัยจากมลพิษ ภาวะโลกร้อน และความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ น้ำมันและวัตถุดิบเริ่มหายาก กฎหมายสิ่งแวดล้อมเข้มงวดขึ้น จึงเริ่มมีกระแสในเรื่องกรีนค่อยๆ เข้ามา ผู้ผลิตก็ต้องปรับตัวตามการสร้าง Eco-efficiency จึงย่อม ก่อให้เกิดผลดีต่อผู้ผลิตมากขึ้นๆ สำหรับ SME การปฏิบัติด้วย MIS จึงเป็นเครื่องมือที่เสริมสร้างศักยภาพอย่างค่อยเป็นค่อยไป ที่จะนำไปสู่การจัดการที่ดีและการเพิ่มประสิทธิภาพได้
อีกวิถีทางหนึ่งที่จะต้องทำควบคู่กันไป คือ สร้างสำนึกของความพอเพียง ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงของพระเจ้าอยู่หัว แต่ตีความให้อยู่ในบริบทของเศรษฐกิจ มิใช่เกษตรกรรม การตีความอาจจะต้องอาศัยมโนทัศน์ของผู้เชี่ยวชาญ เนื่องจากความรู้ทางเศรษฐศาสตร์ของผู้เขียนอยู่ในขั้นพื้นฐานเท่านั้น จึงขออัญเชิญความรู้ความเห็นของนักเศรษฐศาสตร์ที่ลุ่มลึก อย่างเช่น ดร.วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร ที่เขียนไว้ในหนังสือ ถอดรหัสเศรษฐศาสตร์ เพื่อเข้าใจเศรษฐกิจ มาเป็นสังเขป เพื่อเพิ่มสาระให้กับบทความนี้ ดังนี้
"การบริหารนโยบายเศรษฐกิจในประเทศไทยอยู่ภายใต้ความสับสนในแนวความคิด และความเข้าใจพื้นฐานของสภาพความเป็นจริงมาเป็นเวลานาน ซึ่งก่อให้เกิดความวิตกกังวลต่อความมั่นคงและสันติสุขของสังคมไทยในอนาคต ดังนั้นการนำเสนอแนวคิดใหม่ในทางเศรษฐกิจอันจะยังประโยชน์และสันติสุขที่ ยั่งยืนมาสู่สังคมไทย จึงเกิดขึ้นในเวลาอันเหมาะสม ซึ่งบัดนี้ได้รู้จักกันว่า "เศรษฐกิจพอเพียง" อันเป็นพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ได้พระราชทานมาเป็นระยะๆ ต่อเนื่องกันนานปี พร้อมกับการสาธิตความเป็นไปได้ในโครงการต่างๆ "เศรษฐกิจพอเพียง" เป็นแบบจำลองทางเศรษฐกิจ แนวพระพุทธศาสนา ซึ่งอิงธรรมะทางพุทธที่สำคัญ 3 ประการคือ
ตนแลเป็นที่พึ่งแห่งตน
ความรู้จักประมาณยังประโยชน์ให้สำเร็จทุกเมื่อ
ความไม่ประมาทเป็นทางไม่ตาย
"เศรษฐกิจพอเพียง" เป็นแบบจำลองทางเศรษฐกิจ ที่อธิบายรูปแบบและแนวคิดการบริหารนโยบายเศรษฐกิจและสังคมที่เหมาะสมสำหรับ ประเทศซึ่งยังมีขีดความสามารถในการพึ่งตนเองทางเทคโนโลยีในระดับต่ำ ที่เรียกว่าประเทศ
"กำลังพัฒนา" โดยมุ่งที่จะรักษาความมั่นคงและสันติสุขในสังคม อีกทั้งสร้างสมดุลทางเศรษฐกิจให้ราษฎรในพื้นที่ชนบทมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ตามควรแก่อัตภาพ โดยประกอบด้วยสาระสำคัญรวมทั้งสิ้น 5 ประการ
1. พยายามพึ่งตนเองในการผลิตตามขีดความสามารถทางเทคโนโลยีที่มีอยู่ โดยให้การพึ่งพาต่างประเทศอยู่ในขอบเขต อันสมควร
2. ให้เศรษฐกิจของประเทศในภาพรวมมีแนวโน้มในการเติบโตขยายตัว อย่างค่อยเป็นค่อยไป ตามขีดความสามารถ ในการพึ่งตนเองทางเทคโนโลยี โดยดำเนิน กิจการทางเศรษฐกิจด้วยความรอบคอบ ไม่ประมาท
3. ให้รู้จักประมาณตนในการบริโภค โดยไม่ใช้จ่ายเกินรายได้ และรู้จักมัธยัสถ์และอดออม โดยยึดหลักการพอมีพอกิน ไม่ฟุ่มเฟือย
4. พยายามปรับปรุงและพัฒนาเทคโนโลยีที่มีอยู่ทั้งในด้านการผลิต การจัดการ และการตลาด ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด อีกทั้งพิจารณาความเหมาะสมในการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า เพื่อเพิ่ม ขีดความสามารถให้ "มูลค่าเพิ่ม" ที่เกิดจากการผลิตสูงขึ้น
5. ในกรณีที่เป็นไปได้ ราษฎรในพื้นที่ชนบทอาจรวมกลุ่มในลักษณะของ "สหกรณ์อเนกประสงค์" ซึ่งสมาชิกร่วมกันผลิต ร่วมกันจำหน่าย และร่วมกันดูแลสวัสดิการและชีวิตความเป็นอยู่ให้มั่นคง ปลอดภัย และมีสันติสุข
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|