|
iAd: การกลับมาของบิ๊กบราเธอร์
โดย
ธวัชชัย อนุพงศ์อนันต์
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( พฤษภาคม 2553)
กลับสู่หน้าหลัก
แอปเปิลเพิ่งประกาศของเล่นใหม่ๆ บนไอโฟน (iPhone) ของพวกเขา โดยหนึ่งในของเล่นใหม่คือ iAd ซึ่งยังดูไม่ออกว่าจะไปรอดหรือไม่กันแน่ ที่สำคัญ iAd คือการกลับมาของบิ๊กบราเธอร์ เพราะชีวิตของผู้ใช้ไอโฟนจะไม่เป็นส่วนตัวอีกต่อไป
เมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา สตีฟ จ็อบส์ ขึ้นเวทีประกาศเปิดตัวความสามารถ ทางด้าน multitasking ที่มาพร้อมกับระบบปฏิบัติการ (Operating System-OS) เวอร์ชั่น 4.0 ของไอโฟน ความสามารถทางด้าน multitasking คือ ความสามารถในการรันแอพ (app) พร้อมๆ กันหลายตัวบนไอโฟนโดยสามารถรันเป็นแบ็กกราวน์ ซึ่งหมายถึงเราสามารถเอาผลของการรันนี้ไปใช้ในแอพต่างๆ ที่จะพัฒนาขึ้นมาใช้กับข้อมูลที่ได้จากการรันนี้ บริการที่มาพร้อมกับ multitasking นี้มีทั้งหมด 7 บริการด้วยกัน ได้แก่
1. Background audio streaming เป็นฟังก์ชันที่ช่วยให้สามารถเล่นเพลงเป็นแบ็กกราวน์ได้
2. Voice over IP (VoIP) ช่วยให้โปรแกรมอย่าง Skype สามารถรับสายที่เข้ามาได้แม้ไอโฟนจะถูกล็อกอยู่ก็ตาม
3. Background location เป็นฟังก์ชันที่ทำให้รู้ว่าผู้ใช้ไอโฟนอยู่ที่ไหน อย่างไรก็ตาม ผู้ใช้งานสามารถเลือกให้ทำงานหรือไม่ก็ได้
4. Push notifications เป็นฟังก์ชัน ที่ช่วยให้สามารถส่งข้อความข่าวใดๆ เข้าหาเครื่องไอโฟนได้
5. Local notifications จะคล้ายกับ Push notifications โดยไม่ต้องอาศัยเซิร์ฟเวอร์ แต่จะใช้ตัวเครื่องไอโฟนเอง
6. Task completion ช่วยให้แอพสามารถทำงานได้ต่อเนื่องแม้จะเปลี่ยนไปใช้งานอื่นแล้วก็ตาม เช่น สามารถดาวน์โหลดรูปผ่าน Flickr ได้จนเสร็จขณะที่เปลี่ยนไปใช้แอพอื่นไปด้วย
7. ast app switching ช่วยให้แอพต่างๆ สามารถเก็บสถานะของการใช้งานไว้โดยไม่ต้องใช้ทรัพยากรของเครื่องเมื่อเราเปลี่ยนไปใช้แอพอื่น กล่าวคือเป็นการใช้งานหลายๆ อย่างโดยไม่เสียทรัพยากรของเครื่องไปโดยเปล่าประโยชน์
แม้ว่า multitasking จะเป็นก้าวใหม่ที่สำคัญยิ่งของไอโฟน แต่นักวิเคราะห์ หลายๆ รายก็มองว่ายังไม่ใช่การทำงานแบบ multitasking ที่แท้จริงเพราะแอพต่างๆ ยังไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพเมื่อต้องทำงานแบบแบ็กกราวด์ แต่อาจกล่าวว่าเป็น multitasking ที่ฉลาดขึ้นได้ นอกจากนี้ฟังก์ชัน Fast app switching ยังช่วยให้ดูเหมือนว่าแอพทำงาน แบบแบ็กกราวน์อยู่ตลอดเวลา ซึ่งทำให้ผู้ใช้งานบางคนอาจจะไม่สามารถสังเกตเห็นถึงศักยภาพของ multitasking ที่หดหายไป เรียกได้ว่าเนียนมากขึ้นนั่นเอง
อย่างไรก็ตาม multitasking สามารถใช้งานได้กับไอโฟนรุ่น 3GS, iPod Touch รุ่น Gen 3 และ iPad เท่านั้น ส่วน ไอโฟนและ iPod Touch รุ่นแรกๆ ไม่สามารถสนับสนุนฟังก์ชันนี้ได้เพราะไม่มีฮาร์ดแวร์มาช่วยในการทำงาน
ถ้าเราเคยดูหนังฮอลลีวูดเรื่อง Minority Report เราน่าจะพอจำได้ถึงเทคโนโลยีที่ทันสมัยอันหนึ่งในหนังเรื่องนั้น คือ Personalized advertising หรือโฆษณาส่วนตัว ซึ่งแอปเปิลก็ดูเหมือนจะนำเราเข้าใกล้เทคโนโลยีนั้นโดยการสร้างโฆษณาส่วนตัว ให้กับลูกค้าโทรศัพท์มือถือแต่ละรายของพวกเขาได้แล้ว โดยแพลทฟอร์มของ iAd จะทำให้บริษัทที่ทำการโฆษณาผ่านไอโฟนสามารถเช็กได้ว่าคนใช้เครื่องไอโฟนอยู่ ที่ไหนกันบ้าง และจัดหาโฆษณาที่เหมาะสมกับสถานที่นั้นๆ ให้กับลูกค้าของพวกเขา ซึ่งคุณสมบัติใหม่นี้ของไอโฟนน่าจะสามารถดึงดูดความสนใจให้กับบริษัทที่จะลง โฆษณาได้เป็นจำนวนมาก ภายในสิ้นปีนี้
อย่างไรก็ตาม ประเด็นใหม่ที่ถูกยกขึ้นมาถกเถียงกันก็คือ การรู้ถึงที่อยู่ของผู้ใช้แบบเรียลไทม์นี้จะเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของ คนนั้นหรือเปล่า
ผู้ใช้ไอโฟนสามารถเลือกได้ว่า พวกเขาจะยอมให้แต่ละแอพสามารถใช้ตำแหน่ง ที่อยู่ของพวกเขาเอาไปใช้ประโยชน์ทางการค้าหรือเปล่า ซึ่งเทคโนโลยีใหม่ที่พัฒนาขึ้นนี้จะทำให้นักพัฒนาแอพสามารถพัฒนาได้หลากหลายมากขึ้น แอปเปิลก็ยังคงให้สิทธิ์ผู้ใช้ในการเลือกว่าจะให้แอพไหนสามารถเก็บข้อมูลที่อยู่ของพวกเขาได้ ณ เวลาหนึ่งๆ โดยแสดงเป็น dashboard ให้เลือก นอกจากนี้ ขณะที่เราเปิดแอพขึ้นมาและให้แอพนั้นสามารถติดตามที่อยู่ของ ผู้ใช้ได้นั้น ก็จะมีลูกศรเล็กๆ แสดงขึ้นบนหน้าจอทางมุมบนขวาเพื่อบอกว่าเราถูกติดตามเก็บข้อมูลที่อยู่ของเราอยู่
นั่นหมายความว่า ถ้าผู้ใช้ไอโฟนล็อกอินเข้า Facebook ผ่านหน้าจอและยังคงล็อกค้างทิ้งไว้ ทำให้ยังคงอัพเดตการเปลี่ยนแปลงหรือรับข้อความใหม่ๆ บน Facebook ขณะเดินทางไปโน่นมานี่ Facebook ก็จะสามารถติดตามการเดินทางไปไหนมาไหนของผู้ใช้คนนั้นได้ในทุกๆ ก้าวเดิน ซึ่งข้อมูลที่ว่าผู้ใช้ไปไหนมาไหนบ้างในขณะที่ล็อกอินหรือใช้งานแอพพลิเค ชั่นใดๆ บ้างนั้นเป็นข้อมูลที่มีค่ามหาศาล สำหรับนักโฆษณา โดยทำให้พวกเขาสามารถพัฒนาแอพรวมถึงนำเอาข้อมูลนี้ไปใช้งานได้ตรงจุดประสงค์ และกลุ่มเป้าหมายของพวกเขาได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
นั่นจึงเป็นเรื่องที่ไม่ไกลเกินฝันและน่าจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ที่เราจะได้เห็นผู้ใช้มือถือจะได้รับโฆษณารวมถึงข้อเสนอพิเศษใดๆ สำหรับแต่ละร้านค้า, ร้าน อาหาร หรือบริการใดๆ ที่พวกเขาเดินผ่าน ไปมาในแต่ละวัน
ดังนั้น การวิเคราะห์ทางการตลาดจะชัดเจนยิ่งขึ้น อย่างเช่น แมคโดนัลด์จะสามารถเช็กว่าถ้าเขาส่งโฆษณาไปยังผู้ใช้ไอโฟน 10,000 คนในเมืองใดเมืองหนึ่ง คน เหล่านี้จะมาทานอาหารที่ร้านสักกี่เปอร์เซ็นต์ โดยสามารถวิเคราะห์ข้อมูล ณ เวลาหนึ่ง หรือช่วงระยะเวลาใดๆ เช่น ช่วงเวลาสาม เดือนได้อย่างละเอียด ซึ่งข้อมูลสองแบบนี้ให้ความสำคัญกับสถานที่ที่ผู้ใช้อยู่ ณ ปัจจุบันกับข้อมูลย้อนหลังในช่วงเวลาใดๆ มีความแตกต่าง กัน ยกตัวอย่างเช่น สตาร์บัคส์อาจจะส่งคูปองลดราคากาแฟให้ผู้ใช้ไอโฟนทันทีที่เดินไปใกล้ๆ ร้านสตาร์บัคส์สาขานั้นๆ ขณะเดียวกัน สตาร์บัคส์อาจจะส่งคูปองลดราคาสินค้าใดสินค้าหนึ่งให้ผู้ใช้ไอโฟนเป็นประจำ ทุกสัปดาห์หรือทุกเดือนถ้าสตาร์บัคส์รู้ถึงพฤติกรรมการใช้ชีวิตของเรา เช่น รู้ว่าเราไปร้านกาแฟทุกวันเวลาบ่ายสามโมง ก็จะส่งให้ก่อนเวลานั้นเล็กน้อย ตัวเลขข้อมูลเหล่านี้ถือว่าเป็นตัวเลขที่สามารถวัดผลได้ชัดเจนกว่าการซื้อ โฆษณา ทางโทรทัศน์ 30 วินาที ซึ่งยากมากที่จะวัด ผลว่าจะมีคนมาทานอาหารที่ร้านเพราะผลจากปัจจัยเรื่องโฆษณานี้มากน้อยแค่ไหน
นี่คือข้อมูลเชิงลึกที่เหล่าธุรกิจต่างๆ ล้วนเฝ้าฝันหามานาน ปัจจุบันก็พอมีแอพ หลายๆ ตัวที่มีการนำความสามารถในการบอกที่อยู่ของผู้ใช้งานไอโฟนไปสร้างเป็นบริการต่างๆ หลายอย่างแล้ว ไม่ว่าจะเป็น Foursquare หรือ Loopt ที่มีบริการตามหาเพื่อน, บริการแจ้งว่ามีเพื่อนของผู้ใช้ไอโฟนอยู่ใกล้ๆ, ค้นหาที่เที่ยว, รับสิทธิ์พิเศษต่างๆ, ทดลองทำกิจกรรมใหม่ๆ จากพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันและการเดินทางไปที่ต่างๆ นอกจากนี้ยังมีข้อมูลวิเคราะห์ที่ Foursquare สร้างขึ้นจากความสามารถใหม่ๆ ของไอโฟน ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ที่ผู้ใช้ไอโฟนนิยมไปกัน หรือโรงแรม ที่เป็นที่นิยม เป็นต้น
จ็อบส์ยังไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับ iAd มากมายนักในเวลานี้ รวมถึง ไม่ได้เจาะลึกว่า iAd จะเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายอย่างไรบ้าง เช่นเดียวกับที่ยังไม่ได้บอกว่าจะให้ความสำคัญกับสถานที่ ณ ปัจจุบันหรือประวัติพฤติกรรมการใช้ชีวิตของผู้ใช้ไอโฟนกันแน่ เมื่อมองถึงกิจกรรมของบริษัท Quattro Wireless ซึ่งเป็นบริษัทที่แอปเปิลเข้าซื้อเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมาและร่วมพัฒนา iAd ขึ้นมานั้น ทำให้เราพอจะมองเห็นว่าแอปเปิลคงจะเน้นถึงรูปแบบของสื่อที่จะใช้ในการโฆษณา (ไม่ว่าจะเป็นแอพ, วิดีโอ หรือ SMS), ข้อมูล ด้านประชากรศาสตร์ (เช่น อายุ, เพศ, ศาสนา), และข้อมูลที่อยู่ปัจจุบันและเวลา เป็นต้น
เช่นเดียวกับที่ Facebook ต้องการจะให้ผู้ใช้ไอโฟนรันแอพของพวกเขาเป็นแบ็คกราวน์อยู่ตลอดเวลา ก็หมายถึงการสร้างช่องทางการโฆษณาอีกมากมายผ่านแอพของพวกเขานั่นเอง
อาจกล่าวได้ว่า iAd เป็นการก้าวเข้าสู่พื้นที่อาณาจักรของวงการโฆษณาอย่างเต็มตัวของแอปเปิล โดยแอปเปิล คาดหมายว่าพวกเขา จะสามารถสร้างสรรค์ โฆษณากว่าหนึ่งพันล้านชิ้นต่อวันเมื่อบริการนี้จะเปิดตัวใช้งานได้อย่างเต็ม ตัวเร็วๆ นี้
อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญทางด้านระบบรักษาความปลอดภัยได้ออกมาเตือนผู้ใช้ไอโฟนว่าให้ระวังการปล่อยให้แอพพลิเคชั่นต่างๆ เอาข้อมูลเรื่องที่อยู่ปัจจุบันของเราไปใช้ ซึ่งจะเสี่ยงต่อการถูกนำไปใช้เชิงอาชญากรรม เช่น ทำให้รู้ว่าเราออกจากบ้านเวลาไหนบ้าง และอาจจะถูกขโมยขึ้นได้
นอกจากนี้ ในสหรัฐอเมริกาก็ยังไม่มีกฎหมายที่ชัดเจนว่าผู้ให้บริการโทรศัพท์ เคลื่อนที่รวมถึงบริการแบบออนไลน์จะต้องส่งข้อมูลเกี่ยวกับประวัติที่อยู่ ของผู้ใช้งานให้กับทางการ แต่ก็มีความพยายามของ หลายๆ บริษัทรวมถึงยักษ์ใหญ่อย่างกูเกิ้ล และไมโครซอฟท์ที่ต้องการมีข้อกำหนด เรื่องนี้เขียนไว้ในตัวบทกฎหมายอย่างชัดเจน
iAd กำลังจะเข้ามามีส่วนร่วมกับการใช้ชีวิตประจำวันของพวกเรา รวมถึงจะมีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้ชีวิตประจำวันของเราในอนาคต อย่างแน่นอน บางทีเราอาจจะถูกจูงไปทำโน่นทำนี่แบบเนียนๆ โดยที่เราเต็มใจอย่าง เนียนๆ
หรือเรากำลังจะสูญเสียตัวตนของเราไปในที่สุด
อ่านเพิ่มเติม:
1. "Introducing the iAd: Now Apple can target iPhone users with specific ads depending on their location", April 10, 2010, http://www.dailymail.co.uk/science- tech/article-1265005/Introducing-iAd- Now-Apple-target-iPhone-users- specific-ads-depending-location.html
2. Cutler, K. M. (2010), "Always-on iPhone apps raise new promises, perils for location privacy," April 8, 2010, http:/mobile.venturebeat.com/2010/ 04/08/iphone-multitasking-location/
3. Hardawar, D. (2010), "Apple announces iPhone multitasking in OS 4.0," April 8, 2010, http://mobile.venturebeat.com/ 2010/04/08/apple-announces- iphone-multitasking-in-os-4-0/
4. Manjoo, F. (2010), "You're Getting More Ads, and You're Gonna Like It,' http://www.slate.com/id/ 2250234/
5. Manjoo, F. (2010), "That New iPhone Looks... Just Like the Old iPhone," http://www.slate.com/id/2251322/ pagenum/all/#p2
6. http://foursquare.com/
7. http://www.loopt.com/
8. "Tom's Toys,' http://www.guardian.co.uk/film/ 2002/jul/22/features.neilmcintosh
9. Chen, B. X. (2008), "Six Real Gadgets Minority Report Predicted Correctly," http://www.wired.com/gadgetlab/ 2008/11/four-future-gad/
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|