The Plight of Keiretsu

โดย ดร.นิรัญชา ลิ่วเฉลิมวงศ์
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( พฤษภาคม 2553)



กลับสู่หน้าหลัก

ช่วงหนึ่งเดือนที่ผ่านมานี้เมื่อมีโอกาสได้ทักทายพูดคุยกับใครก็ตามเกี่ยวกับกิจกรรมในช่วงวันหยุดสงกรานต์ ร้อยละเจ็ดสิบจะบอกว่ากำลังเตรียมตัวไปเที่ยวประเทศญี่ปุ่น ทำให้ผู้เขียนรู้สึกได้ว่าประเทศที่มีความแตกต่างอย่างลงตัวแห่งนี้ยังคงความมีเสน่ห์ ดึงดูดใจให้คนไทย (ยุคก่อนเจเนอเรชั่น Y เสียเป็นส่วนใหญ่) ไปเยือนครั้งแล้วครั้งเล่า

ถึงแม้ว่าชาวไทยจะถูกกระหน่ำอย่าง หนักหน่วงด้วยกระแสเกาหลีฟีเวอร์ตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา ผู้เขียนเองก็เลือกที่จะเดินทางไปเที่ยวญี่ปุ่นกับเขาบ้างเป็นครั้งแรก ในชีวิต หลังจากที่เฝ้ารอมานานตั้งแต่มีโอกาสได้รู้จักกับซานริโอและลุงหนวดมาริโอ ซึ่งเป็นตัวละครหลักในเกมคู่บุญของเครื่องนินเทนโดรุ่นแรก จนถึงวันนี้ที่ลุงหนวดผู้ดำรงชีพด้วยการรับประทานเห็ดของเราตกกระป๋องเป็น ที่เรียบร้อยแล้วในหมู่วัยกระเตาะของไทย เพราะโดนมาริโอ เมาเร่อ มาแรงแซงโค้ง

เกริ่นกันมาเสียยาว ท่านผู้อ่านอาจเริ่มสงสัยว่า แล้วคอลัมน์นี้ไปเกี่ยวอะไรกับมาริโอ หรือ hello kitty! แน่นอนว่าไม่เกี่ยว ค่ะ แต่ที่ต้องสาธยายมายืดยาวนั้นเนื่องจากความเรืองอำนาจทั้งในแง่เศรษฐกิจและ วัฒนธรรมของญี่ปุ่นนั้น เริ่มจะเป็นเพียงแค่ความทรงจำของผู้เขียนในวัยเด็ก รวมถึงเป็นกรณีศึกษาที่ถกเถียงกันอย่างกว้างขวางในหมู่นักวิชาการ ถึงก้าวที่ผิดพลาดที่ทำให้รัฐบาลของประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ อันดับสองของโลก ต้องเผชิญกับสภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำและถดถอยอย่างเป็นกิจวัตรแทบจะตลอดช่วง สองทศวรรษที่ผ่านมา ราวกับคนไข้ที่เผชิญกับโรคซึ่งไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ต้องวิ่งเข้าออกห้องไอซียูเป็นประจำ

เป็นที่ประจักษ์ชัดว่าการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจแดนซามูไร เป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ จากประเทศเกษตรกรรมอันกว้างใหญ่เป็นผู้ส่งออกเหล็ก และรถยนต์อันดับหนึ่งของโลกเพียงแค่ภายในสองทศวรรษ (1953-1973) ความสำเร็จดังกล่าวทำให้ประเทศต่างๆ ทั่วโลกให้ความสนใจถึงองค์ประกอบที่เป็นส่วนผลักดันให้หมู่เกาะเล็กๆ ในมหาสมุทรแปซิฟิกแห่งนี้ ก้าวขึ้นมาเป็นประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจได้ภายในไม่ถึงหนึ่งชั่วคน ประเด็นถกเถียงเกี่ยวกับญี่ปุ่นจึงมักเกี่ยวข้องกับวิชาเศรษฐศาสตร์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยมีปัจจัยสำคัญที่ต้องคำนึงถึง คือลักษณะการกำกับดูแลและการให้ความช่วยเหลือทางการเงินภายในกลุ่มพันธมิตรธุรกิจ ซึ่งจัดตั้งโดยมีธนาคารเป็นแกน อันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของระบบการเงินของญี่ปุ่น พูดง่ายๆ ว่า ระบบ CG ของญี่ปุ่นมีความเป็นเอกลักษณ์ และมีความแตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากประเทศในซีกโลกตะวันตก โดยเฉพาะมหาอำนาจอย่างอังกฤษและอเมริกา

แวดวงวิชาการมักถกเถียงเรื่อง CG ของบริษัทญี่ปุ่น (เจแปน อิงค์) โดยเริ่มต้นปักหมุดที่สงครามโลกครั้งที่สอง เนื่องจากเป็นจุดเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของระบบเศรษฐกิจญี่ปุ่น อย่างไรก็ดี ผู้เขียนเห็นว่า CG ของเจแปน อิงค์ ช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่สองก็มีความเกี่ยวโยงกับวิวัฒนาการของเรื่องดังกล่าวอย่างลึกซึ้ง จึงเห็นสมควรที่จะเล่าสู่กันฟังโดยสังเขป

ก่อนที่สงครามโลกครั้งที่สองจะอุบัติ ขึ้น กลุ่มธุรกิจที่มีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อระบบ เศรษฐกิจ และสังคมของญี่ปุ่นในขณะนั้น ได้แก่ มิตซูบิชิ (Mitsubishi) มิตซุย (Mitsui) ซูมิโตโม (Sumitomo) และยาซึดะ (Yasuda) ทั้งสี่เป็นบริษัทครอบครัวที่จัดตั้งขึ้นเพื่อลงทุน (Holding company) ในทุกอุตสาหกรรมหลักของญี่ปุ่น โดยมีธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่เป็นท่อน้ำเลี้ยง การถือหุ้นภายในกลุ่มจะมีทั้งลักษณะที่เป็นแนวดิ่ง และแนวราบ หรือเรียกกันง่ายๆ ว่าการถือหุ้นแบบพีระมิด (pyramid) คำจำกัดความเป็นภาษาญี่ปุ่นสำหรับกลุ่มธุรกิจที่มีลักษณะดังกล่าวคือ Zaibatsu

ภายหลังจากที่ญี่ปุ่นพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่สอง ระบบเศรษฐกิจของญี่ปุ่นเองก็ไม่ต่างไปจากเมืองกรุงโตเกียวหรือฮิโรชิมาที่มี ความจำเป็นต้องได้รับการบูรณะครั้งใหญ่ ประเทศผู้ชนะสงครามอย่างอเมริกาเล็งเห็นตั้งแต่ต้นแล้วว่า หากต้องการครอบงำ (เพื่อพัฒนา?) ระบบเศรษฐกิจของ ญี่ปุ่น Zaibatsu จะต้องถูกสลายเพื่อมิให้กลุ่มธุรกิจเหล่านี้แข็งข้อกับนโยบายและการฟื้นฟู เศรษฐกิจตามแนวทางของตน การดำเนินการสลายกลุ่ม Zaibatsu เป็นผลให้หุ้นเจแปน อิงค์ถูกกระจายให้กับนักลงทุนรายย่อยในตลาดหุ้นของญี่ปุ่นเพิ่มมากขึ้นอย่าง มีนัยสำคัญในช่วงต้นทศวรรษ 1950's

อย่างไรก็ดี อเมริกาต้องตื่นจากความฝันก่อนเวลาอันควร เนื่องจากเศรษฐกิจแดนปลาดิบที่ยังไม่ฟื้นตัว ส่งผลให้นักลงทุน รายย่อยไม่เชื่อมั่นในศักยภาพของหุ้นที่ตนเองถืออยู่ จึงเลือกที่จะเอาเงินสดไปใส่ตุ่มฝังดินหรือฝากไว้กับธนาคาร หุ้นที่ได้รับจัดสรรจึงถูกทยอยขายภายหลังจากที่ตลาดหุ้นญี่ปุ่นกลับมาเปิดทำ การใหม่ได้ไม่นาน นอกจากนี้ยังเกิดการถือหุ้นไขว้ไปมาในเจแปน อิงค์ ระหว่างพันธมิตรธุรกิจ เจ้าของกิจการครอบครัว และผู้ถือหุ้นบางส่วนที่ยังคงเชื่อมั่นในบริษัทที่ตนถืออยู่ และไม่ต้องการให้มีมือดีมาฉวยโอกาสเข้าซื้อหุ้นที่ราคาต่ำเกือบติดดินเพื่อ ครอบงำกิจการโดยที่ตนไม่เต็มใจ (hostile takeover)

ความขัดแย้งทางอุดมการณ์ระหว่างประเทศผู้ชนะสงคราม (สงครามเย็น) ก่อตัวขึ้นทันทีภายหลังจากสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง เป็นปัจจัยสำคัญให้อเมริกาล้มเลิกความตั้งใจที่จะปรับเปลี่ยน CG ของ เจแปน อิงค์ ในทางตรงข้าม อเมริกากลับมีนโยบายที่จะสร้างให้ญี่ปุ่นเป็นกำลังสำคัญ เพื่อร่วมรบกับตนในสงครามเกาหลี จึงอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบธนาคารของญี่ปุ่น นโยบายดังกล่าวทำให้ธนาคารพาณิชย์ของญี่ปุ่นมีสภาพคล่องเหลือเฟือที่จะปล่อย กู้ให้กับกลุ่มบริษัทในเครือ และยังสามารถเข้าไป เป็นผู้ถือหุ้นบางส่วนในบริษัทดังกล่าวอีกด้วย โครงสร้างการถือหุ้นและการลงทุนดังกล่าวเป็นที่รู้จักกันในนาม Keiretsu

ลักษณะที่โดดเด่นอีกประการของ Keiretsu คือมีการถือหุ้นไขว้กันไปมาระหว่างสมาชิกในกลุ่ม สิ่งนี้เปรียบเสมือนฉนวนกั้นแรงกดดันทางการเงินระยะสั้น เนื่องจากทำให้การจัดการส่วนใหญ่เป็นอิสระจากผู้ถือหุ้นภายนอก อีกทั้งยังทำให้บริษัทสมาชิกไม่ต้องกังวลเรื่องราคาหุ้นหรือความเชื่อมั่น ของตลาดมากนัก บริษัทในกลุ่มสามารถพุ่งเป้าหมายไปที่การลงทุนที่ยั่งยืนในระยะยาวได้ โดยรู้ดีว่าธนาคารที่เป็นแกนพร้อมจะปล่อยสินเชื่อให้กับพวกเขา ในยามที่ต้องการ

นักวิชาการชาวญี่ปุ่นและชาวตะวันตกผู้ซึ่งศรัทธาอย่างแรงกล้าในระบบ CG แบบ Keiretsu กล่าวว่า Keiretsu ทำให้การไหลเวียนของข้อมูล (ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งในระบบ CG) ระหว่างธนาคารแกน และบริษัทในเครือเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และยังลงความเห็นว่าระบบ Keiretsu มีประสิทธิภาพเหนือกว่าระบบ CG ของประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ

อย่างไรก็ดี การปล่อยกู้โดยธนาคารแกนอันขาดกลไกการควบคุมด้านอื่นๆ ที่มีประสิทธิภาพ ก่อให้เกิดการนำเงินกู้ไปเก็งกำไรซึ่งไม่ก่อให้เกิดผลผลิต เช่นการเก็งกำไรในราคาที่ดินของประเทศญี่ปุ่น (ใครจะคาดคิดว่าที่ดินเขตพระราชวังของพระจักรพรรดิญี่ปุ่นซึ่งไม่ได้กว้างใหญ่ไพศาลมากนัก จะมีราคาสูงกว่าที่ดินของรัฐแคลิฟอร์เนียทั้งหมดรวมกัน!!)

เมื่อการเก็งกำไรจบลงด้วยสภาวะฟองสบู่แตก ต่อเนื่องด้วยสภาวะเงินฝืดอย่างยาวนาน Keiretsu จึงเป็นประเด็นถกเถียงกันอีกครั้งในเชิงวิชาการ โดยมีการชี้ให้เห็นว่าอำนาจของธนาคารแกนที่มากเกินไปก่อให้เกิดการแทรกแซง การบริหารงานของ บริษัทในเครือ อันเนื่องมาจากความต้องการที่ไม่ตรงกัน

ในฐานะเจ้าหนี้ ธนาคารย่อมไม่ต้องการให้ลูกหนี้ของตนลงทุนในธุรกิจที่เสี่ยงสูง ถึงแม้ผลตอบแทนดีมากๆ เนื่องจากผลตอบ แทนก้อนนั้นจะเข้ากระเป๋าลูกหนี้เท่านั้น ส่วน ธนาคารจะไม่ได้รับผลตอบแทนเพิ่มเติมนอกเหนือจากดอกเบี้ยที่ตกลงกันตั้งแต่แรกเท่านั้น ในทางกลับกัน หากลูกหนี้ล้มละลาย จากการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูงนั้น ธนาคารอาจไม่ได้รับแม้กระทั่งดอกเบี้ย และต้องแบกภาระหนี้สูญด้วย

การแทรกแซงการลงทุนโดยธนาคาร แกนในลักษณะนี้ อาจเป็นอุปสรรคต่องานวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ของบริษัทในเครือ และอาจนำมาซึ่งการสูญเสียความสามารถในการแข่งขันในเวทีการค้าโลกได้

จากบทเรียนที่แสนสาหัส รัฐบาลญี่ปุ่นมีความพยายามที่จะผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของระบบ CG ในประเทศญี่ปุ่น กลไกในการควบคุมต่างๆ ของทางตะวันตกที่เคยถูกมองข้าม เช่นการครอบงำกิจการ การให้หุ้นเป็นสิ่งจูงใจและตอบแทนผู้บริหาร ถูกนำมาประยุกต์ใช้เพื่อปรับโฉมให้เจแปน อิงค์ กลับมาเป็นหัวรถจักรในการนำพาเศรษฐกิจญี่ปุ่นเข้าสู่ยุคเรือง อำนาจอีกครั้ง

โดยส่วนตัวแล้ว ผู้เขียนเห็นว่าระบบ Keiretsu มีทั้งคุณและโทษ ในยามที่เศรษฐกิจตกต่ำเพราะพิษจากสงคราม Keiretsu ทำให้เจแปน อิงค์ หลายๆ บริษัทสามารถยืนหยัดและพัฒนาจนเป็นบริษัทชั้นนำของโลกได้ภายในไม่ถึงครึ่งศตวรรษ หากไม่มี Keiretsu ผู้เขียนอาจไม่มีโอกาสรู้จักลุงหนวดมาริโอเลือดซามูไร แต่หากเพียงรัฐบาลปลาดิบนำกลไกการควบคุมอื่นๆ มาประยุกต์ใช้เพื่อคานอำนาจของ Keiretsu ชะลอความร้อนแรงของเศรษฐกิจ ในขณะที่ชาวญี่ปุ่นกำลังเคลิบเคลิ้มไปกับการเติบโตอย่างก้าวกระโดด อันก่อให้เกิดการเก็งกำไรอสังหาริมทรัพย์ ลุงหนวดมาริโอคงยังดังค้างฟ้าในเมืองไทยไม่แพ้มาริโอ เมาเร่ออย่างแน่นอน


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.