|
เวียดนาม เป้าหมายของบริษัทที่อยากย้ายฐานการผลิตจากจีน
โดย
เจษฎี ศิริพิพัฒน์
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( พฤษภาคม 2553)
กลับสู่หน้าหลัก
เสถียรภาพทางการเมืองและเศรษฐกิจช่วยให้เวียดนามกลายเป็นที่หมายดึงดูดความสนใจของสถานประกอบการต่างๆ ให้อยากย้ายฐานการผลิตออกจากจีน
เมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา สำนักข่าว Bloomberg ออกรายงานโดยอ้างข้อมูลของสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ ASEAN ว่าในปี 2551 เงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) เข้าสู่เวียดนามเพิ่มขึ้นถึง 13.5% จากยอดรวม FDI ของ ASEAN เพิ่มขึ้นมากจากอัตรา 4.4% ของ 2 ปีก่อนหน้านั้น
Daniel Ten Kate ตัวแทนของ Bloomberg ให้ความเห็นว่าการดึงดูดความสนใจดังกล่าว อาจกำลังเพิ่มสูงขึ้นตามการสำรวจของหอการค้าสหรัฐอเมริกาที่เซี่ยงไฮ้เมื่อเดือนธันวาคม 2552
ผลการสำรวจแสดงให้เห็นเวียดนามเป็นที่หมายปองของบริษัทต่างๆ ที่กำลังอยากย้ายฐานการผลิตออกจากจีน ซึ่งเป็นประเทศรับการลงทุนต่างประเทศมากที่สุด ในเอเชีย
การสำรวจของหอการค้าสหรัฐฯ กับบริษัทต่างประเทศในจีน 202 บริษัท แสดง ให้เห็นจำนวนบริษัทต่างประเทศมีแผนย้ายโรงงานลึกเข้าไปภายในประเทศ หรือย้ายไปยังประเทศอื่น ได้เพิ่มขึ้น 2 เท่าในปีที่ผ่านมา เพราะปัญหาค่าใช้จ่ายด้านการผลิต
ในบทรายงานได้อ้างคำพูดของ James Lockett ทนายความคนหนึ่งของบริษัท Baker & McKenzie ซึ่งทำงานอยู่ในนครฮานอย ที่กล่าวว่าปัจจุบันกำลังมีหลายบริษัทพิจารณาถึงการก่อตั้งสถานประกอบการผลิต ในประเทศในกลุ่ม ASEAN และในผลิตภัณฑ์หลายชนิด เวียดนามก็มีปัจจัยดึงดูดอย่างยิ่งต่อบริษัทเหล่านั้น
ถึงแม้เวียดนามเป็นประเทศมีพรรคการเมืองพรรคเดียว เมื่อเร็วๆ นี้ผู้รับผิดชอบได้จำคุกนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยหลายคน จนต้องประสบกับการตำหนิจากองค์การต่างๆ เช่น Human Rights Watch ก็ตาม บางคนก็ให้ความเห็นว่าเวียดนามเป็นแบบอย่างของเสถียรภาพ
พวกเขาเปรียบเทียบเวียดนามกับไทย ประเทศซึ่งมีม็อบขัดขวางตามถนนหนทางในการประท้วงต่างๆ ซึ่งบางครั้งก็มีความรุนแรง
Rodolfo Severino อดีตเลขาธิการ ASEAN ให้ความเห็นว่าสำนักข่าว Bloomberg รู้ว่าเวียดนามมีเสถียรภาพทางการเมือง และถ้าเป็นนักลงทุนเขาจะเลือกเวียดนาม
อย่างไรก็ตาม หลังจากผลสำรวจดังกล่าวได้เผยแพร่ออกมา Robert Hormats รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ ซึ่งรับผิดชอบด้านเศรษฐกิจ พลังงานและเกษตรกรรม ได้ออก มาแจ้งเตือนในโอกาสที่ได้แวะมาเยือนเวียดนามว่า ความสนใจเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน อาจทำให้เสียหายทางการค้าระหว่างสองประเทศ
Hormats กล่าวกับสื่อมวลชนเมื่อวันจันทร์ 12 เมษายน ภายหลังการพบปะกับนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยการค้าต่างประเทศที่นครฮานอย
สำนักข่าวต่างประเทศอ้างคำพูดของ Hormats ที่กล่าวกับสื่อมวลชนว่าเขามีความห่วงใยเกี่ยวกับ "ปัญหาสิทธิมนุษยชนในเวียดนาม"
"บางคนที่สภาล่างสหรัฐฯ และไม่เพียงที่นั่น วิตกกังวลเกี่ยวกับปัญหาสิทธิมนุษยชน แรงงาน (ในเวียดนาม) และถ้าไม่มีการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ ผมคิดว่าจะก่อผลกระทบต่อความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างสองประเทศ"
Hormats บอกว่า "บางคนในสหรัฐฯ กล่าวว่านี่เป็นหัวข้อสำคัญ และเหตุนั้นมันอาจจะกระทบต่อความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับเวียดนามยาวนาน แต่ผมไม่กล้าพูดล่วงหน้าว่าจะเป็นอย่างไร"
อย่างไรก็ดี เขาได้เน้นย้ำว่าไม่อยาก ทำให้เกิดความตึงเครียดในเรื่องสิทธิมนุษย์
"การวิจารณ์ไม่ได้หมายความว่าพวกผมอยากโต้เถียง หรือวิจารณ์มุ่งหมาย สร้างความตึงเครียดเพิ่มขึ้น"
ปีที่แล้วสหรัฐฯ กลายเป็นนักลงทุนต่างประเทศที่ลงทุนมากที่สุดในเวียดนาม และเป็นตลาดส่งออกใหญ่ที่สุดของสถานประกอบการภายในประเทศเวียดนาม
หนังสือพิมพ์เวียดนามเมื่อเขียนเกี่ยวกับการเยือนของ Robert Hormats เพียงบอกว่า "สหรัฐฯ อยากส่งเสริมความสัมพันธ์กับเวียดนาม" เพื่อสองฝ่ายอาจจะกลายเป็น "หุ้นส่วนที่แท้จริง" หนังสือพิมพ์ภายในประเทศก็บอกว่า Hormats "แสดงความเชื่อมั่นว่านับวันเวียดนามจะยกระดับฐานะตนเองมากขึ้นในภูมิภาคและ บนสนามสากล"
ในเวลาใกล้เคียงกัน วิทยุเสียงอเมริกา ภาคภาษาเวียดนาม มีรายงานว่าเหงียน เติ๊น หยุง นายกรัฐมนตรีเวียดนามให้คำมั่นกับบรรดานักธุรกิจอเมริกันว่าเขาจะพยายามปรับปรุงสภาพแวดล้อม การลงทุน ในขณะที่ยอมรับว่าหย่อนความสนใจปัญหาโครงสร้างพื้นฐานในเวียดนาม
ตามข่าวจากสำนักข่าวฝรั่งเศส เหงียน เติ๊น หยุงให้คำมั่นเช่นนั้นที่กรุงวอชิงตันในวันพุธที่ 14 เมษายน หนึ่งวันหลังจากเข้าประชุมสุดยอดนิวเคลียร์ที่สหรัฐอเมริกา
ทัศนะในการประชุมกับแกนนำธุรกิจชั้นนำของสหรัฐฯ ผู้นำรัฐบาลในฮานอยบอกว่า เวียดนามตั้งใจให้บรรลุเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจ 6.5% ในปีนี้ ขณะที่พยายามสกัดกั้นภัยเงินเฟ้อ
เหงียน เติ๊น หยุงกล่าวว่ารัฐบาลเวียดนามเข้าใจอุปสรรคในสภาพแวดล้อมการลงทุน โดยเฉพาะปัญหาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ถนนหนทาง ท่าเรือ และพลังงาน เขาให้ความเห็นว่าเวียดนามต้องพยายาม อย่างมากเพื่อฝึกอบรมบรรดาผู้จัดการและกองกำลังแรงงาน รวมทั้งพยายามกำจัดการบริหารแบบราชการ "ผมรับฟังความเห็นต่างๆ เสมอ พยายามปรับปรุงสภาพแวดล้อมทางธุรกิจและการลงทุนในเวียดนาม"
สหรัฐฯ และเวียดนามเพิ่มความร่วมมือกันตั้งแต่ความสัมพันธ์เข้าสู่ปกติเมื่อปี 2548 เวลานี้ อดีตศัตรูสองประเทศนี้ กำลังเจรจาเกี่ยวกับข้อตกลงการลงทุนฉบับหนึ่ง พร้อมด้วยข้อตกลงการค้าเสรีผ่าน มหาสมุทรแปซิฟิกอีกฉบับหนึ่ง
การพบปะกันระหว่างนายกรัฐมนตรี เหงียน เติ๊น หยุง และบรรดาแกนนำธุรกิจ อเมริกันมีขึ้นที่โรงแรม Mayflower ในขณะที่ชาวเวียดนามหลายคนถือธงชาติสาธารณรัฐเวียดนามชุมนุมต่อต้านอยู่ด้านนอก
แองเจลินา โด๋ สังกัดพรรคเหวียต เติน (เวียดนามใหม่) ที่แคลิฟอร์เนีย บอกกับผู้สื่อข่าว AFP ว่า "พวกฉันมาที่นี่เพื่อเรียกร้องให้เวียดนามคืนเสรีภาพให้นักโทษการเมืองทุกคนและให้เคารพสิทธิมนุษยชน"
เธอกล่าวเพิ่มเติมว่าสหรัฐฯ ไม่ควร ให้สิทธิพิเศษทางการค้าแก่เวียดนาม
รายงานข่าวจากหนังสือพิมพ์คนเวียดนามในแคลิฟอร์เนีย บอกว่าการชุมนุมต่อต้านของชาวเวียดนามประมาณ 500 คน ได้ทำให้เหงียน เติ๊น หยุง ต้องเข้าโรงแรม Mayflower ทางประตูหลังของโรงแรม
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|