สารจากผู้ว่าการธนาคารแห่ง สปป.ลาว

โดย ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( พฤษภาคม 2553)



กลับสู่หน้าหลัก

ในปี 2551 สภาพแวดล้อมเศรษฐกิจของโลกได้เปลี่ยนแปลงอย่างมาก โดยในระยะต้นปี สภาพเศรษฐกิจโลกเผชิญกับปัญหาการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของราคาน้ำมัน ราคาทองคำ ราคาเหล็ก ราคาอาหาร ซึ่งได้ส่งผลให้เกิดภาวะเงินเฟ้อสูงขึ้นในหลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนา ค่าเงินดอลลาร์ สรอ.ได้อ่อนค่าเมื่อเทียบกับเงินสกุลอื่นๆ รวมทั้งสกุลเงินของภูมิภาค จากนั้นเศรษฐกิจโลกก็ได้เผชิญกับปัญหาการขาดสภาพคล่อง เนื่องจากปัญหาสินเชื่อด้อยคุณภาพในสถาบันการเงิน ธนาคารชั้นนำในสหรัฐอเมริกาหลายแห่ง จนนำไปสู่การเกิดวิกฤตการณ์การเงินอยู่ในสหรัฐอเมริกา และขยายไปทั่วโลก วิกฤตการณ์ครั้งนี้ถือว่ารุนแรง ส่งไปทั่วโลก มีการถดถอยของเศรษฐกิจ และการว่างงานในหลายประเทศ ความต้องการสินค้าและบริการของโลก ทั้งของประเทศที่พัฒนาแล้ว และประเทศกำลังพัฒนาลดลงอย่างรวมเร็ว ราคาน้ำมัน ราคาอาหาร ก็ได้ลดลง และค่าเงินดอลลาร์ สรอ.ก็มีการผันผวนอย่างต่อเนื่อง

ท่ามกลางสถานการณ์ดังกล่าว รัฐบาลของประเทศต่างๆ และองค์กรระหว่างประเทศ ได้ร่วมมือกันแก้ไขปัญหาดังกล่าว ด้วยการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจโดยตรง เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้แก่ธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงิน พร้อมกันนั้น ก็ได้ออกมาตรการเพิ่มความเชื่อมั่นของสังคม เช่น ยกระดับการค้ำประกันเงินฝาก การลดอัตราดอกเบี้ยและภาษี เพื่อกระตุ้นการใช้จ่าย เพื่อให้มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

สำหรับ สปป.ลาว ถึงแม้ว่าตลาดการเงินภายในประเทศจะเชื่อมโยงกับตลาดต่างประเทศไม่มาก แต่เศรษฐกิจของ สปป.ลาวได้มีความร่วมมือกับนานาประเทศเพิ่มขึ้น ทำให้ผลกระทบจากวิกฤตการณ์เศรษฐกิจของโลกครั้งนี้ ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ถึงอย่างไรก็ตาม เนื่องจากความมีเสถียรภาพทางด้านการเมือง-สังคมที่มั่นคง รัฐบาลมีมาตรการป้องกันผลกระทบของวิกฤตการณ์ที่สอดคล้องและทันการ รวมถึงการปฏิบัติตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจ-สังคม และมาตรการของรัฐบาลที่ดี ทั้งในระดับประเทศและท้องถิ่น เศรษฐกิจของ สปป.ลาวได้ขยายตัวในระดับร้อยละ 7.9 เศรษฐกิจมหภาคมีเสถียรภาพที่มั่นคง สร้างสภาพแวดล้อมที่ดีสำหรับการลงทุน และพัฒนาประเทศชาติ

จากการปฏิบัติตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจ-สังคม และบรรดามาตรการที่จะบรรเทาผลกระทบวิกฤตการณ์เศรษฐกิจโลกของรัฐบาล ธนาคารแห่ง สปป.ลาวดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายในการควบคุมปริมาณเงินให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ใช้นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัวแบบจัดการ เป็นเครื่องมือสำคัญในการรักษาเสถียรภาพการเงินแห่งชาติ รายละเอียดมีดังนี้

1. อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ระยะสั้น ธนาคารแห่ง สปป.ลาว ได้ลดลง 3 ครั้ง จากร้อยละ 12 ต่อปี มาอยู่ในระดับร้อยละ 7 ต่อปี

2. คงอัตราเงินฝากบังคับร้อยละ 5 สำหรับเงินกีบ และร้อยละ 10 สำหรับเงินตราต่างประเทศ และอนุญาตให้ใช้พันธบัตรเป็นสินทรัพย์สภาพคล่องได้ในอัตราไม่เกินร้อยละ 2

3. พัฒนาการดำเนินนโยบายการเงินผ่านตลาดการเงิน (Open Market Operations)

4. เพิ่มทุนสำรองระหว่างประเทศให้สามารถครอบคลุมการนำเข้าได้มากกว่า 5 เดือน

5. ใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัวแบบจัดการ โดยธนาคารแห่ง สปป.ลาว กำหนดอัตราเงินกีบต่อเงินดอลลาร์ สรอ.แต่ละวัน บรรดาธนาคารพาณิชย์ และบรรดาร้านแลกเปลี่ยนเงินต่างประเทศสามารถกำหนดอัตราซื้อ-ขายของตน บวกลบร้อยละ 0.25 ของอัตราอ้างอิงที่ธนาคารแห่ง สปป.ลาว กำหนด ส่วนต่างระหว่างอัตราซื้อและอัตราขาย สำหรับเงินกีบ/บาท และเงินกีบ/ยูโร ไม่เกินร้อยละ 0.5 สำหรับสกุลอื่นๆ ไม่เกินร้อยละ 2

6. ใช้นโยบายผ่อนคลายระเบียบการซื้อขายเงินตราต่างประเทศ เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนสามารถแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศที่ธนาคาร และร้านแลกเปลี่ยนเงินต่างประเทศได้สะดวกสบายมากขึ้น

7. ปรับปรุงการทำงานของหน่วยงานที่ทำนโยบายการเงินและการคลังให้สอดคล้องกัน ทั้งในระดับประเทศและท้องถิ่น

จากการปฏิบัตินโยบายดังกล่าวในหนึ่งปีที่ผ่านมา เห็นว่าธนาคารแห่ง สปป.ลาวสามารถปฏิบัติภาระบทบาทหน้าที่ของตนได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะการสามารถรักษาเสถียรภาพการเงินแห่งชาติได้อย่างมั่นคง อัตราเงินเฟ้อไม่เกินร้อยละ 10 และต่ำกว่าอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจ (เงินเฟ้อเฉลี่ยปี 2551 อยู่ระดับร้อยละ 7.6) อัตราแลกเปลี่ยนไม่ผันผวน เงินกีบแข็งค่าขึ้น สังคมมีความเชื่อมั่นต่อเงินกีบ และหันมาใช้เงินกีบอย่างเพิ่มขึ้นมาก ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศสามารถครอบคลุมการนำเข้าได้ 5.9 เดือน ระบบธนาคารมีการขยายตัว การบริการด้านการธนาคารได้รับการปรับปรุงพัฒนาสู่ความทันสมัยในปี 2551 ระบบธนาคารสามารถระดมทุนได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.95 เทียบกับปีที่ผ่านมา คิดเป็นร้อยละ 19.78 ของจีดีพี ยอดสินเชื่อเพิ่มขึ้นร้อยละ 82 จากปี 2550 คิดเป็นร้อยละ 12.38 ของจีดีพี ยอดสินเชื่อธนาคาร เทียบกับเงินฝากคิดเป็นอัตราส่วนร้อยละ 58.25 โดยสินเชื่อที่ธนาคารพาณิชย์ได้ปล่อยให้กลุ่มธุรกิจเป้าหมาย ได้แก่ การผลิตอาหาร การผลิตสินค้าเพื่อใช้ทั้งภายในประเทศ และเพื่อการส่งออก รวมถึงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยผลักดันให้มีการพัฒนาเศรษฐกิจสังคม การสร้างงาน เพิ่มรายได้ และแก้ไขความยากจนของประชาชนให้บรรลุเป้าหมายที่รัฐบาลกำหนดไว้

ถึงอย่างไรก็ตาม สภาพเศรษฐกิจของโลกในปี 2552 ยังไม่มีความแน่นอนที่จะฟื้นตัวสู่สภาพปกติ เนื่องจากผลกระทบจากวิกฤตการณ์การเงินที่ผ่านมารุนแรงมาก ซึ่งคงจะใช้เวลานาน และส่งผลกระทบต่อหลายประเทศ ดังนั้นจึงต้องการให้ทุกคนร่วมกันใช้ความรู้ความสามารถ เพื่อให้วิกฤติการณ์ครั้งนี้เป็นโอกาสสำหรับการปรับปรุงโครงสร้างเศรษฐกิจ แห่งชาติ โดยเฉพาะการปรับปรุงระบบธนาคารของ สปป.ลาว ให้มีความมั่นคง เข้มแข็ง เพิ่มความสามารถในการแข่งขันกับนานาประเทศ รักษาเสถียรภาพการเงินให้มั่นคง คุ้มครองอัตราแลกเปลี่ยนให้ไม่ผันผวน ทำให้มีทุนสำรองระหว่างประเทศให้มีปริมาณครอบคลุมการนำเข้าได้มากกว่า 5 เดือน ระบบธนาคารต้องเข้มแข็ง เพื่อเป็นการสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และการลดความยากจนให้บรรลุเป้าหมายที่ประเทศได้กำหนดไว้ต่อไป

ที่มา: รายงานภาวะเศรษฐกิจ สปป.ลาว ปี 2551 โดยธนาคารแห่ง สปป.ลาว (ถอดความโดยธนาคารแห่งประเทศไทย
http://www.bot.or.th/Thai/EconomicConditions/AsianEconomies/Laos/EconData_Laos/DocLib_EcoLao/governor.pdf)


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.