สภาธุรกิจไทย-พม่า จังหวะการจัดตั้งที่ “เหมาะเจาะ”


นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( พฤษภาคม 2553)



กลับสู่หน้าหลัก

ไทยกับพม่ามีประวัติศาสตร์ร่วมกันมายาวนาน แต่ด้วยความที่พม่าปิดประเทศทำให้ความคุ้นเคยของคนไทยส่วนใหญ่ต่อพม่าค่อยๆ เลือนหายไป แต่ในความเป็นจริงแล้ว ความสัมพันธ์ไทยกับพม่าในเชิงเศรษฐกิจยังคงมีอยู่ต่อกันอย่างเหนียวแน่น อีกทั้งพม่าซึ่งได้ชื่อว่าเคยรบแพ้ชนะกับไทยมาหลายครั้ง กลับเป็นประเทศที่มีความรู้สึกดีๆ กับคนไทยมากกว่าเพื่อนบ้านฝั่งลาวและเขมร ซึ่งมีประวัติศาสตร์ในยุคหลังๆ สะกิดใจกันมากกว่าเสียอีก

การค้าระหว่างพม่ากับไทยมีมูลค่าเฉลี่ยปีหนึ่งๆ ไม่ต่ำกว่า 6-7 หมื่นล้านบาท มาอย่างต่อเนื่อง แม้จะไม่มีการตั้งหน่วยกลางเพื่อสานความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างสองฝ่ายอย่างจริงจัง แต่เมื่อสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย แตกลูกเปิด สภาธุรกิจไทย-พม่า (Thai-Myanmar Business Council) ขึ้นเมื่อต้นปี 2553 นี้ ตัวเลขที่ว่านี้ก็ถูกวางแผนกระตุ้นการเติบโต เพิ่มเป็นกว่า 8 หมื่นล้านบาท

"พม่าเป็นประเทศที่ศักยภาพ มีการค้ากับไทยในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านเป็นอันดับสองรองจากมาเลเซีย ตัวเลขการค้าปี 2551 มูลค่า 7 หมื่นล้าน 80-90% เป็นการค้าชายแดน ปีหนึ่งมูลค่าการค้าเพิ่ม 10% อยู่แล้วแต่มีเมื่อมีหน่วยงานดูแล เราคาดว่ามูลค่าการค้าน่าจะเพิ่มได้ถึง 20% ในปีนี้" ธนิต โสรัตน์ ประธานสภาธุรกิจไทย-พม่าคนแรกที่ได้รับการแต่งตั้งพร้อมกับการเปิดตัวสภาธุรกิจไทย-พม่า กล่าวกับ ผู้จัดการ 360 ํ

เขาชี้ให้เห็นสภาพทางประชากรของกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านที่มีต่อการค้าว่า หากพิจารณาความสำคัญจากประชากร พม่าเป็นประเทศที่มีประชากร 58 ล้านคน เป็นอันดับสองรองจากอินโดนีเซียและไทย นับถือศาสนาพุทธเหมือนกัน โดยทั่วไปคนพม่ามีทัศนคติที่ดีต่อคนไทย

"คนพม่าชอบคนไทย ชอบตั้งแต่เรื่องการเมืองถึงตัวชาวบ้าน แล้วเราก็มีแรงงานพม่าถึง 1.7 ล้านคนในประเทศ 10 ปีมีพม่าหมุนเวียน 10 กว่าล้านคน"

คนกลุ่มนี้ถือเป็นตลาดที่สำคัญของ สินค้าไทย เพราะเมื่ออยู่เมืองไทยก็เคยชินกับการใช้ของไทย สบู่ ผงซักฟอก แชมพู ไปจนถึงสินค้าบริโภคต่างๆ แม้แต่ของขบเคี้ยว จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกที่สินค้าไทย จะเข้าไปครองตลาดในพม่ามากกว่า 60-70% ในปัจจุบัน

ที่ผ่านมาไทยและพม่าต่างปล่อยให้มูลค่าทางการค้าที่เกิดขึ้นเป็นไปโดย กลไกธรรมชาติ ดังนั้นเพื่อผลักดันให้พม่ากลายเป็นอีกตลาดที่สำคัญมั่นคงของธุรกิจไทย จึงมีการดึงเอาผู้เชี่ยวชาญธุรกิจระหว่างสองประเทศนี้ก่อตั้งขึ้นเป็นสภา ธุรกิจไทย-พม่า

สภาธุรกิจไทย-พม่าเปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2553 โดยมีอลงกรณ์ พลบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานในพิธีเปิด โดยก่อนหน้านั้นสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยซึ่งถือเป็นแม่งาน ได้รับความเห็นชอบให้จัดตั้งสภาธุรกิจไทย-พม่าขึ้นด้วยความเห็นชอบจากคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน (กกร.) 3 สถาบัน ได้แก่ สภา อุตสาหกรรมแห่งประเทศ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย

บทบาทของสภาธุรกิจไทย-พม่า จะเป็นหน่วยงานกลางเพื่อความร่วมมือ ระหว่างภาคเอกชนของไทยและพม่า ตั้งแต่เรื่องการส่งเสริมและสนับสนุนความร่วมมือด้านเศรษฐกิจระหว่างนัก ธุรกิจไทยและพม่า ทั้งในระดับนโยบายและระดับปฏิบัติ อำนวยความสะดวกในการติดต่อธุรกิจระหว่างทั้งสองประเทศ เป็นศูนย์กลางแลกเปลี่ยนความคิดและผลักดันไปจนสู่การดำเนิน งานอย่างเป็นรูปธรรมทางธุรกิจ พร้อมสนับสนุนซึ่งกันและกันระหว่างสมาชิก นักธุรกิจทั้งสองประเทศ เป็นหน่วยงานร่วมพิจารณาเสนอระเบียบการค้าต่างๆ เป็นส่วนหนึ่งของการเผยแพร่ด้านวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว ด้าน ทรัพยากรมนุษย์ รวมทั้งกระบวนการวิจัยพัฒนาด้านวิชาการเพื่อเผยแพร่ข้อมูลแก่กลุ่มสมาชิก

จากพันธกิจของสภาฯ ที่จัดตั้ง ขึ้นนี้ ไม่ใช่ฝ่ายไทยฝ่ายเดียวเท่านั้นที่มองประโยชน์จากการค้าที่เพิ่มขึ้นของ พม่า แต่พม่าก็เล็งเห็นประโยชน์จากความร่วมมืออย่างจริงจังนี้ด้วย

ปัจจุบันพม่าถือได้ว่าเป็นแหล่งทรัพยากรของไทย สินค้าธรรมชาติหลายชนิด ทั้ง น้ำมัน โครงการปั่นกระแสไฟฟ้าจากเขื่อนในแม่น้ำสาละวิน ที่ป้อนกระแสไฟฟ้าถึงหนึ่งในสามของการใช้ไฟในไทย และใหญ่กว่าเขื่อนน้ำเทินของลาว ทุกอย่างล้วนเป็นส่วนของการเติบโตด้านรายได้ของพม่า การร่วมมือกับไทยจัดตั้งสภาธุรกิจไทย-พม่าก็น่าจะมีผลประโยชน์ต่อการค้าพม่าได้ดีกว่าปล่อยให้เติบโตแบบไร้หลักการ

"เราคุยกันมาเกือบ 10 ปีแล้ว ไม่ใช่เพิ่งเกิด แต่พม่าระวังเลยตั้งยาก จนได้โอกาส ไปเสนออีกครั้งในที่ประชุมตอนที่ท่านอลงกรณ์ (พลบุตร) ไปประชุมกับ รมต.พาณิชย์พม่า ที่เนปิดอ ก็เห็นว่าเรื่องนี้มีประโยชน์จึงให้เอกชนคุยกัน นักธุรกิจพม่าแต่ละคนตัวจริงหมด แต่ละคนโทรถึงรัฐบาลได้โดยตรง ทางกระทรวงพาณิชย์ก็ให้กรมเจรจาการค้ามาเป็นโค้ช ทางกระทรวงต่างประเทศก็ส่งผู้แทนมาร่วม ทางทูตพม่าก็มา จนจัดตั้งสภาฯ ขึ้นมาสำเร็จ" ธนิตกล่าว

ขณะที่สภาธุรกิจไทย-พม่า มีที่ตั้งเป็นส่วนหนึ่งอยู่ในสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศ ไทย แม้กระทั่งบุคลากรก็ยังเหมือนยืมตัวมา เช่นเดียวกับธนิต ซึ่งเขาก็มีตำแหน่งเป็นรองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยอยู่ด้วยในขณะ นั้น ได้รับเลือกให้มาเป็นประธานสภาธุรกิจไทย-พม่าควบคู่กันไปอีกตำแหน่ง เพราะมีความคุ้นเคยกับการค้าในประเทศนี้เป็นอย่างดี

ในทางกลับกัน สภาธุรกิจพม่า-ไทย ในประเทศพม่า แม้ก่อนจะตั้งได้นั้นยากเย็น แต่เมื่อตั้งแล้วก็เรียกว่าพร้อมทุกด้าน

"ของเขาออฟฟิศเป็นตึก 10 ชั้น หลังเบ้อเริ่ม ใหญ่จริงๆ ตั้งอยู่ในร่างกุ้ง แต่เปลี่ยนจากสภาพเป็นพม่าไทยบิสซิเนส ฟอรั่ม เป็นการตั้งคู่ขนานกันไปนักธุรกิจจะสะท้อนกันง่าย แต่นักธุรกิจกับนักการเมืองต้องไปด้วยกัน"

เพียงปีแรกที่จัดตั้งสภาธุรกิจไทย-พม่า สภาฯ มีสมาชิกร่วมร้อยราย ประกอบด้วยสมาคมใหญ่ๆ อย่างสมาคมอัญมณี สมาคมเครื่องกลเกษตร สมาคมอาหารสำเร็จรูป รวมทั้งธนาคารใหญ่ ทั้งธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM) ปัจจุบันสภาฯ ดำเนินการจัดทำคู่มือผ่านเว็บไซต์ 3 ภาษาเพื่อเป็นเครื่องมือในการจับคู่ธุรกิจได้ง่ายขึ้น กำหนดจัดการประชุม ร่วมกันทุกสองเดือน มีโปรแกรมดูงานท่องเที่ยว รวมทั้งดูแลกันในเชิงวัฒนธรรม

ส่วนกลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมที่เป็นเป้าหมายหลักที่พม่าต้องการ ได้แก่ พวกเครื่องกลเกษตร อาหารสำเร็จรูป โลจิสติกส์ อัญมณี ซึ่งอย่างหลังนี้พม่าถือเป็นแหล่งวัตถุดิบชั้นดี

"เดี๋ยวนี้ที่เนปิดอ เขาหวังจะจัดงานจิวเวลลี่แฟร์แข่งกับไทยด้วย เราก็จะไปจับคู่ธุรกิจกัน เพราะคาดว่าหลังจากมีสภาธุรกิจไทย-พม่า ก็น่าจะเป็นเครื่องมือที่ดีของนักธุรกิจไทย"

ธนิตตั้งข้อสังเกตให้เห็นว่า จากจุดเล็กๆ อย่างงานจิวเวลลี่แฟร์นี้ เป็นเพียงเรื่องเดียวที่จะเตือนให้นักธุรกิจไทยต้องตื่นตัวมากกว่านี้

"พม่าโตเร็วมาก ตอนนี้ต่างชาติเข้าพม่าหมด เกาหลี มาเลเซีย สิงคโปร์ ดูจากเมืองเนปิดอก็รู้ พม่าเนรมิตผังเมือง วางสัดส่วนชัดเจน ถ้าช้ากว่านี้เราจะเสียเปรียบ และเราก็ต้องคบกับเขาอย่างจริงใจ อะไรที่ช่วยเหลือกันได้ต้องช่วย โดยเฉพาะ การอำนวยความสะดวกด้านการค้า เพราะการค้ากับพม่า สินค้าหลายรายการเป็นของต้องห้ามหมด โค้กก็ไม่ได้ รองเท้าแตะก็เป็นยุทธปัจจัย รถยนต์ก็เป็นของต้องห้าม"

ข้อดีของไทยจากการเติบโตของพม่า จึงไม่เพียงมูลค่าการค้าที่เพิ่มขึ้น แต่ยังได้ประโยชน์จากการเมืองที่จะเชื่อมเข้าสู่พม่า โดยเฉพาะในแง่ของการท่องเที่ยว เมื่อพม่าเปิดเมืองมากกว่านี้ รวมทั้งประโยชน์ด้านการลงทุนของไทยที่สามารถ ใช้พม่าเป็นฐานการผลิต และแหล่งแรงงาน ราคาถูก ที่เป็นปัจจัยสำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมที่เน้นการใช้แรงงานจำนวนมาก เพื่อให้สินค้าไทยทำราคาแข่งกับเพื่อนบ้านอย่างจีนและเวียดนามได้

ธนิตยกตัวอย่างความสำเร็จของการค้าชายแดนไทย-พม่า กรณีพื้นที่แม่สอด ซึ่งหลังจากมีสะพานมิตรภาพเกิดขึ้น ทำให้ไทยและพม่าต่างได้ประโยชน์จากพื้นที่การค้า โดยไทยสามารถเข้าไปใช้พื้นที่สร้างคลังสินค้าหลายแห่งแถวแม่สอด เพื่อส่งเป็นคาราวานไปยังพื้นที่ต่างๆ ภายในประเทศพม่า

จากจุดเล็กๆ ของตัวอย่างที่ยกมา สะท้อนให้เห็นถึงการพัฒนาเส้นทางการค้าที่จะเป็นจุดเปลี่ยนของระบบ โลจิสติกส์ในภูมิภาคได้อีกเส้นทางหนึ่ง นั่นคือการที่พม่ามีแผนพัฒนาท่าเรือน้ำลึกที่เมืองทวาย โครงการมูลค่าแสนล้านบาท ได้รับทุนสนับสนุนการดำเนินงานแล้วจาก JICA ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งจุดนี้หากไทยไม่เข้าไปร่วม ศึกษา หรือเตรียมการ ก็อาจจะขาดการวาง ระบบที่เชื่อมต่อการค้ากับพม่าและประเทศ อื่นๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เส้นทางเชื่อมระหว่างไทยกับพม่าเดิมมีเส้นทาง East West Ecocnomic Corridor (EWEC) ที่เชื่อมตั้งแต่ดงฮาของประเทศเวียดนามผ่านลาว เข้าจังหวัดพิษณุโลกของไทย ทะลุไปอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ออกเมืองเมียวดีของพม่า แม้จะเป็นถนนที่พาดผ่านหลายประเทศแต่ East West Corridor ก็เป็นแค่ Door-to-door ที่มีความสำคัญน้อยกว่าเมืองที่เป็นยุทธศาสตร์ที่จะเป็น land bridge อย่างทวาย

"โลจิสติกส์ด้านล่างที่พม่ามองไว้ เป็น land bridge ที่ไม่ใช่ขนแค่ในอาเซียน แต่สามารถส่งสินค้าออกไปประเทศที่สามได้เลยโดยไม่ต้องผ่านมะละกา"

ท่าเรือน้ำลึกที่ทวายของพม่า ปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้างโดยผู้รับเหมาไทย เป็นท่าเรือที่เชื่อกันว่าจะมีความสำคัญอย่างมากในอีกไม่เกิน 10 ปีข้างหน้า เมื่อการใช้งานท่าเรือที่มีอยู่เดิมในละแวกนี้คับคั่งเกินไป เพราะเท่าที่เป็นอยู่ปัจจุบัน ท่าเรือแหลมฉบังเองก็ต้องจองคิววิ่งเรือถึงสิบวัน บางลำต้องรอถึง 2 สัปดาห์กว่าจะได้วิ่ง เพราะการจราจรคับคั่ง เพราะสำหรับเรือนั้นแค่เห็นกันห่างแค่ร้อยเมตรก็ถือว่าอันตรายแล้ว

พม่าไม่ได้ให้ความสำคัญกับ East West Corridor ซึ่งมีปลายทางออกทะเลที่ท่าเรือเมาะละแหม่งเท่าไรนัก เพราะเส้นทางที่แม้พม่าจะเป็นผู้ขีดไว้เอง แต่พื้นที่ปลายทางเมาะละแหม่งก็ไม่เหมาะที่จะพัฒนาเป็นท่าเรือน้ำลึก จึงหันไปให้ความสำคัญกับการสร้างท่าเรือน้ำลึกที่ทวาย ซึ่งปัจจุบันแม้จะเริ่มดำเนินการก่อสร้างแล้ว แต่ก็ยังไปไม่ได้ไกลเพราะติดทั้งปัญหากองโจรของกลุ่มกะเหรี่ยง และเงินทุนที่สนับสนุนผ่าน ADB ก็ผิดกรอบการปฏิบัติงาน ทำให้โครงการดังกล่าวชะงักไป

หากท่าเรือน้ำลึกทวายเปิดดำเนินงาน เส้นทางการค้านี้จะเชื่อมเข้าไทยทางจังหวัดกาญจนบุรี บริเวณบ้านน้ำพุร้อน ซึ่งจะทำให้บริเวณนี้มีสภาพคล้ายกับพื้นที่บริเวณแม่สอดของจังหวัดตาก แต่ระยะทาง ขนส่งสินค้าจากพื้นที่ไปแหลมฉบังวิ่งไปกลับจะมีระยะทางไม่เกิน 400 กิโลเมตร ซึ่งได้เปรียบแม่สอดซึ่งวิ่งไปกลับรวมเป็น 1,000 กิโลเมตร

จากกาญจนบุรีข้ามเข้าสู่พม่า ปัจจุบันมีเส้นทางตามแนวต้นสนเก่าสมัยอังกฤษปกครองพม่าที่สามารถพัฒนาและขยายเป็นถนนหลักได้ วิ่งผ่านเมืองตองสา ไปเมืองทวายของพม่า คิดเป็นระยะทางเพียง 160 กิโลเมตร เส้นทางนี้ปัจจุบันยังเป็นเส้นทางการค้าเล็กๆ ของกลุ่มผู้ค้าหินประดับ ต้นไม้ กล้วยไม้ป่า สาหร่าย ในสวนจตุจักร ที่ขี่มอเตอร์ไซค์วิ่งล่องขนสินค้าเข้ามาค้าขายอยู่เป็นประจำ

"พม่าอาจจะพัฒนาทีหลัง แต่เขาโตเร็ว และเรียนลัดได้ จากเราที่ใช้เวลายี่สิบสามสิบปี ผ่านกระบวนการมาเยอะ แต่อย่างพม่าจะข้ามขั้น เพราะเขาจะมีทุนต่างชาติมากมายหลั่งไหลเข้ามาหลังเปิดประเทศ"

แผนงานพม่ายิ่งใหญ่ บางเรื่องอาจ จะติดขัดบ้าง แต่สำหรับการดำเนินงานของ ฝั่งไทย ธนิตเล่าว่า

"ฝั่งไทยเราก็ยังพัฒนาต่อที่เมียวดี มีโครงการจะสร้างสะพานแห่งที่สองกับส่วนที่สร้างไปแล้ว 16 กิโลเมตร ก็จะสร้าง ต่ออีก 36 กิโลเมตรไปจนถึงกอกาเรก ส่วนพม่าก็สร้างเป็น Free Zone เป็นเขตส่งออกขนาดใหญ่ มีศูนย์กระจายสินค้า พื้นที่มีคนเช่าซื้อเต็มแล้ว

ตรงนี้ก็น่าจะเป็นฐานการผลิตมาขายไทยมากกว่าส่งออก ไทยเราเข้าไปพัฒนามากจนเมืองเมียวดีกลายเป็นเมืองใหญ่ ใหญ่กว่าแม่สอดด้วยซ้ำ"

การดำเนินงานตามแผนพัฒนาการค้าร่วมระหว่างสองประเทศ เทียบกันระหว่างไทยกับพม่า ไทยอาจจะถือเป็นพี่ได้เต็มปากในฐานะประเทศที่พัฒนาเศรษฐกิจมาก่อน ซึ่งการจะเป็นพี่ใหญ่นั้น โดยเฉพาะการเป็นพี่ใหญ่ในภูมิภาคอาเซียน ที่จะเริ่มต้นขึ้นในปี 2020 ด้วยแล้ว ต้องเปิดใจกว้างและพร้อมที่จะตั้งรับและรุกให้เกิดประสิทธิผลสูงสุด


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.