เส้นทางฝันอันดามัน-อินโดจีน


นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( พฤษภาคม 2553)



กลับสู่หน้าหลัก

ระหว่างวันที่ 20-26 ตุลาคม 2552 หอการค้าจังหวัดตาก ร่วมกับชมรมผู้ประกอบการอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวมุกดาหาร จัดคณะสำรวจเส้นทางตามแนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (EWEC) จาก อ.แม่สอด-มุกดาหาร-สะหวันนะเขต (สปป.ลาว)-เมืองวินห์/ฮานอย (เวียดนาม) สิ้นสุดที่เมืองหนานหนิง เมืองเอกของมณฑลกว่างสีของจีน

การเดินทางของคณะหอการค้าจังหวัดตากเริ่มต้นจากสุดชายแดนประจิมที่ริมเมย มุ่งหน้าไปตามทางหลวงพิเศษหมายเลข 12 ผ่านสุโขทัย พิษณุโลก ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มุกดาหาร ระยะทางรวม 780 กม.

ก่อนเข้าร่วมกับคณะของชมรมผู้ประกอบการอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวมุกดาหาร นำโดยอาชว์ ตั้งประกิจ ประธานชมรมฯ หนึ่งในผู้ริเริ่มก่อตั้งเครือข่ายธุรกิจท่องเที่ยวภาคอีสาน ข้ามสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 2 ผ่านด่านมุกดาหาร-สะหวันนะเขต ผ่านเส้นทางหมายเลข 9 เข้าสู่เส้นทางหมายเลข 8 ที่ทางแยกหลักซาวผ่านภูแสนหน่อ-ภูเจื่องเซิน-ภูผาม่าน ที่เปรียบเหมือนม่านกั้นระหว่าง สปป.ลาว กับเวียดนาม ก่อนที่จะมุ่งเข้าสู่ด่านชายแดนน้ำพาว (สปป.ลาว)-เก่าแจว (เวียดนาม) จังหวัดฮาติงห์

พ้นพรมแดน สปป.ลาว ระหว่างที่รอทำพิธีตรวจคนเข้าเมืองที่ด่านเก่าแจว คนที่เดินทางผ่านไป-มาระหว่างลาว-เวียดนาม ด้านนี้จะสัมผัสได้ทันทีถึงสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง จากที่ค่อนข้างร้อนระอุในลาว กลับเย็นยะเยือกทันที พร้อมกับภาพที่พบเห็นได้เป็นประจำ คือรถบรรทุกสุนัขหลากสี-หลายพันธุ์ นำเข้าจากภาคอีสานของไทย มีจุดหมายปลายทางที่เวียดนาม และจีน

ก่อนมุ่งหน้าไปตามเส้นทางสายประวัติศาสตร์สงครามเวียดนาม บรรจบทางหลวงหมายเลข 1 ของเวียดนาม เข้าสู่เมืองวินห์ บ้านเกิดของโฮจิมินห์ หรือ "ลุงโฮ" ด้วยระยะทางประมาณ 110 กม.

Dang Ngoc Ninh อดีตผู้สื่อข่าวเสียงเวียดนามวัย 68 ปี ผู้ที่เติบโตในเมืองไทย จนได้ชื่อ "นิล ศรีสมบูรณ์" ก่อนย้ายกลับเวียดนาม ผันตัวเองมาเป็นไกด์ภาษากัมพูชา-ไทย ในเวียดนาม คอยทำหน้าที่บอกเล่าวิถีของเวียดนาม แผ่นดินที่เคยอยู่ใต้การปกครองของจีนมา 2,000 กว่าปี ก่อนเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 ถูกญี่ปุ่นปกครองอีก 3 ปี เมื่อประกาศเอกราชได้ไม่นานก็ต้องสู้รบกับฝรั่งเศส ต่อเนื่องจนถึงสงครามเวียดนาม และเพิ่งเป็นตัวของตัวเองมาได้ 36 ปี

'เวียดนาม" 1 ในสมาชิกอาเซียนที่นับรัสเซียเป็นพี่ใหญ่, จีนเป็นพี่รอง, ลาว-กัมพูชาเป็นน้อง ใช้ช่วงเวลา 3 ทศวรรษ เร่งรัดพัฒนาตนเองจนเติบโตอย่างรวดเร็ว

โดย 10 ปีแรก ถือเป็นช่วงปิดประตูประเทศ จัดระบบภายในตั้งแต่การจัดสรรที่ดิน โดยมอบพื้นที่ให้ 50 ตร.ม.ต่อครอบครัวขนาด 3 คน, 60-70 ตร.ม.ต่อครอบครัว 4 คน ไม่รวมที่ทำกิน ซึ่งสะท้อนให้เห็นจากรูปแบบบ้านเรือนของเวียดนามที่สร้างเป็นล็อกหน้ากว้าง ไม่เกิน 15 เมตร ยาว 20 เมตร

ยุค 2 เป็นการเปิดประตูรับการลงทุนจากภายนอก ซึ่งไทยนับเป็นประเทศแรกที่เข้าไปลงทุนในเวียดนาม และก็ "เจ๊ง" เป็นชาติแรกเช่นกัน

ยุคที่ 3 เวียดนามเปิดให้นักลงทุนทดลองดำเนินการก่อน 3 ปี ถ้าอยู่ได้ค่อยมาคุยกันว่า "คนละเท่าไหร่" เรียกระบบนี้ว่า "ระบบลุงโฮ" เพื่อแก้ปัญหาการขาดทุนของโครงการลงทุนจากต่างประเทศ ทำให้ระยะที่ผ่านมามีกลุ่มทุนจากญี่ปุ่น เกาหลี จีน ไต้หวัน สิงคโปร์ ไทย ฯลฯ โดยใช้แรงงานเวียดนามเป็นหลัก

เมืองวินห์วันนี้...ยังเป็นเมืองผ่าน ตามทางหลวงเวียดนามหมายเลข 1 ที่จะขึ้นเหนือสู่ฮานอย (300 กม.) หรือลงใต้สู่เว้ ดานัง โฮจิมินห์ ฯลฯ ที่ยังคงบรรยากาศวิถีแห่งเวียดนามแตกต่างจาก (อดีต) เวียดนามใต้ ซึ่งเต็มไปด้วยโลกทุนนิยมอย่างมากนั้น กำลังพัฒนาโครงการพื้นที่ฐานอย่างต่อเนื่อง ระหว่างเส้นทางสู่ฮานอย มีแหล่งท่องเที่ยวที่ขึ้นชื่ออยู่ในเขต "มินห์วินห์" ที่มี "ฮาลองบก" (Tam Coc) ที่มีเรือกระจาดบริการนำนักท่องเที่ยวเที่ยวล่องไปตามแม่น้ำโด่งลู่

ก่อนมุ่งเข้าฮานอย เมืองหลวงของเวียดนาม ตามทางหลวงเอเชีย หมายเลข 1 ที่บางช่วงเป็นไฮเวย์ ประดับด้วยวิถีชีวิตคนในท้องถิ่นตลอด 2 ข้างทาง ที่มีการทำนาตลอดปีทั้ง 2 ฝั่งถนน (ปีละ 4 ครั้ง) ใช้ไหล่ทางเป็นลานตากข้าว จนผลักดันให้เวียดนามเป็นประเทศที่ผลิตข้าวอันดับต้นๆ ของโลก ตลอดจนบรรดา "หลานลุงโฮ" หรือเด็กนักเรียนเวียดนามที่ปั่นจักรยานไปกลับระหว่างบ้าน-โรงเรียน ซึ่งหลายคนมี "ผ้าพันคอสีแดง" พันรอบคออยู่ แสดงความเป็น "เด็กดี" จนได้รับการเชิดชูเป็นหลานลุงโฮ

จากฮานอย เมื่อเดินทางขึ้นเหนือไปตามเส้นทางหมายเลข 10 ของเวียดนาม ด้วยระยะทางประมาณ 180 กม. ก็จะถึงด่านพรมแดน "ล่างเซิน" เขตเศรษฐกิจพิเศษด่งดัง-ล่างเซิน (ตรงข้ามกับด่านถาวรโหย่วอี้กวาน มณฑลกว่างสี) ที่เป็นเส้นทางคู่ขนานไปกับทางรถไฟจีน-เวียดนาม

แม้ว่าด่านล่างเซิน (เวียดนาม)-โหย่วอี้กวาน (จีน) จะเป็นด่านการค้าที่มีมูลค่าการค้ามหาศาล ตลอดจนมีเส้นทางรถยนต์-รถไฟที่เชื่อมต่อกัน

ขณะที่จีนทุ่มงบประมาณพัฒนาทางด่วน 4 เลนเชื่อมต่อไปถึงหนานหนิง เมืองเอกของกว่างสี ต่อเนื่องไปถึงคุนหมิง มณฑลหยุนหนัน ตั้งแต่ปี 2003 แล้วก็ตามที่ "ล่างเซิน" กลับสะท้อนให้เห็นแรงต่อต้านลึกๆ ของเวียดนามที่มีต่อจีนอยู่ไม่น้อย

สังเกตได้จากวิถีชีวิต อาคารบ้านเรือน ฯลฯ ในหัวเมืองชายแดนแห่งนี้ที่ในฝั่งของเวียดนาม จะคงไว้ซึ่งวิถีเวียดนามอย่างเต็มเปี่ยม ทั้งอาหารการกิน การดำรงชีวิต ฯลฯ

ต่างจากหัวเมืองชายแดนประเทศอื่นๆ ที่ติดกับจีน ไม่ว่าจะเป็นพม่า ลาว หรือแม้แต่หัวเมืองชายแดนไทยในภาคเหนือที่แม้ไม่มีพรมแดนติดกับจีน แต่ได้รับอิทธิพลจากพ่อค้าจีนแผ่ทะลักเข้ามาอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม ล่างเซินก็ถือเป็นประตูเข้าสู่กว่างสีของจีนที่น่าจับตาเช่นเดียวกับหยุนหนัน

โดยปีที่ผ่านมา ภาคธุรกิจในพื้นที่มุกดาหาร และกระทรวงคมนาคมของไทย ทำพิธีเปิดเส้นทางรถบรรทุกเพื่อขนส่งสินค้าผ่านแดนระหว่างประเทศ โดยไม่ต้องเปลี่ยนถ่ายสินค้า ลดต้นทุนขนส่งผ่านด่านมุกดาหาร-สะหวันนะเขต-ลาวบาว ภายใต้โควตารถบรรทุกประเทศละ 400 คัน

อาชว์บอกว่า ที่ผ่านมามีการขนส่งผลไม้จากไทยผ่านเส้นทางสายนี้เข้าเวียดนามตามเส้นทางหมายเลข 9 รวมถึงเข้าจีนทางกว่างสี ผ่านเส้นทางหมายเลข 8-ฮานอย-ล่างเซิน-หนานหนิงด้วย โดยใช้เวลาเพียง 2 วันเท่านั้น มีต้นทุนค่าขนส่งต่ำกว่าทางทะเล ก่อนที่จะใช้หนานหนิงเป็นจุดกระจายสินค้าไปยังมณฑลอื่นๆ ของจีน

ผลไม้ไทยถูกขนส่งผ่านเส้นทางหมายเลข 8 ขึ้นสู่เวียดนามตอนเหนือ และจีน มากกว่า 10,000 ตัน ทั้งลำไย มังคุด มะม่วง ทุเรียน ฯลฯ

แน่นอนว่า เส้นทางสายนี้ยังจะได้รับการพัฒนาให้มีศักยภาพยิ่งขึ้นในอนาคต

ถือเป็นระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตกอย่างแท้จริง หากพม่ามีการเปลี่ยนแปลง เปิดประตูสู่โลกภายนอกภายใต้โครงข่ายที่สามารถเชื่อมเข้าสู่บังกลาเทศ อินเดีย และยุโรป


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.