|
“แม่สอด” กำลังเปลี่ยนแปลง
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( พฤษภาคม 2553)
กลับสู่หน้าหลัก
กว่า 1 ปีที่ผ่านมา ผู้จัดการ 360 ํ ได้เขียนถึงพื้นที่ชายแดนตะวันตกของไทย ทั้งแม่สอด-เมียวดี ที่อดีตเป็นแนวรบสำคัญในมิติความมั่นคงแห่งรัฐ อย่างมีนัยสำคัญมาแล้วถึง 2 ครั้ง
(รายละเอียดอ่านเรื่อง "East-West Corridor ประตูฝั่งตะวันตกที่รอการเปิด" นิตยสารผู้จัดการ ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2551 และเรื่อง "มิงกลาบา: เมียวดี" นิตยสารผู้จัดการ 360 ํ ฉบับเดือนพฤษภาคม 2552 หรือใน www.gotomanager.com)
แต่นับจากนี้ไป "แม่สอด-เมียวดี" กำลังทวีบทบาทมากขึ้นไปอีก ในฐานะพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญของเส้นทางการค้าทั้งของภูมิภาคนี้และของโลกใน อนาคต
บรรพต ก่อเกียรติเจริญ ประธานหอการค้าจังหวัดตาก บอกว่าเมื่อปลายปี 2552 ในรายการสินค้านำเข้าจากพม่าผ่านด่านศุลกากรแม่สอด ปรากฏรายการนำเข้าสินค้าที่น่าสนใจเกิดขึ้น 2 รายการ ได้แก่ การนำเข้าเสื้อเชิ้ตชายในเดือนกันยายน และการนำเข้าสูทสุภาพบุรุษในเดือนตุลาคม
จากเดิม สินค้าที่นำเข้าจากพม่าผ่านด่านศุลกากรแม่สอด จะเป็นทรัพยากรภายในประเทศพม่าเป็นหลัก รวมถึงอาหารทะเล
ที่สำคัญ สินค้าทั้ง 2 รายการติด 1-10 รายการนำเข้าสูงสุด
สินค้าทั้งหมดถูกขนส่งมาจากโรงงานของผู้ประกอบการชาวญี่ปุ่นที่เข้าไปลงทุนในกรุงร่างกุ้งของพม่า นำเข้าไทยผ่านทางเมียวดี ก่อนจะส่งไปลงเรือที่ท่าเรือแหลมฉบัง หรือดานัง เพื่อส่งต่อไปยังเมืองนาโกยา ประเทศญี่ปุ่น
ก่อนหน้านี้ สินค้าญี่ปุ่นที่ผลิตในพม่า จะถูกขนส่งจากท่าเรือของพม่าไปยังนาโกยาโดยผ่านช่องแคบมะละกา ซึ่งต้องใช้เวลานานกว่า 3 สัปดาห์ แต่เมื่อเปลี่ยนมาเป็นขนส่งทางบกผ่านทางเมียวดี-แม่สอด เพื่อไปลงเรือที่แหลมฉบัง หรือดานัง สามารถใช้เวลาลดลงถึง 1 ใน 3 หรือเหลือเพียง 2 สัปดาห์เท่านั้น
"การนำเข้าสินค้าจากพม่าที่ไม่เคยโผล่ให้เห็น 2 รายการนี้ น่าจับตา" บรรพตย้ำ
ยังมีความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจเกิดขึ้นอีกในราวปลายเดือนมกราคม 2553 ประธาน JETRO ของญี่ปุ่น มาพบกับบรรพตและเข้าสัมภาษณ์ มะ ติน ติน หรือติน ติน เมี๊ยะ ประธานหอการค้าเมียวดี เกี่ยวกับแนวโน้มการค้าการลงทุนในพื้นที่ชายแดนตะวันตกของไทยแถบนี้
เขาเชื่อว่าผู้ลงทุนญี่ปุ่นสนใจเส้นทางสายนี้มาก เพราะถ้าถนนได้รับการพัฒนา กอรปกับข้อตกลง FTA อาเซียน-จีน ที่เริ่มมีผลตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 มกราคมที่ผ่านมา ญี่ปุ่นสามารถใช้พม่าเป็นฐานการผลิตในหลากหลายอุตสาหกรรม แล้วขนส่งผ่านเส้นทาง EWEC ไปที่ท่าเรือแหลมฉบัง หรือดานังของเวียดนาม
ในทางกลับกัน ผู้ผลิตสินค้าจากญี่ปุ่นสามารถใช้เส้นทางนี้ ขนส่งสินค้าผ่านเข้ามายังทะเลอันดามัน ทางอ่าวเบงกอลส่งออกสู่ตลาดโลก โดยไม่ต้องอ้อมไปทางช่องแคบมะละกา และความเคลื่อนไหวของผู้ลงทุนญี่ปุ่นในชายแดนไทย-พม่าด้านนี้ ย่อมเป็นทิศทางที่สอดคล้องกับทิศทางของ ADB ที่ญี่ปุ่นผลักดันให้ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1966 โดยมีอเมริกาหนุนหลังอยู่ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือหนึ่งในการรุกเข้าสู่ภูมิภาคนี้
นั่นหมายถึงอนาคต "แม่สอด" จะไม่ได้เป็นแค่ช่องทางการค้าชายแดนไทย-พม่าเท่านั้น...
บรรพตมองว่า 30 กว่าปีที่ผ่านมา พื้นที่ชายแดนตะวันตก ถูกมองในมิติความมั่นคงเป็นด้านหลัก
"ถามว่าแล้วมีอะไรดีขึ้นไหม"
ด้วยภูมิรัฐศาสตร์ แม่สอดจะเป็นประตูสำคัญเชื่อมระหว่างอันดามันกับอินโดจีน เป็นศูนย์กลางอาเซียน เชื่อมอาเซียน-ยุโรป และอาจกลายเป็นเส้นทางขนส่งสินค้าระหว่างโลกตะวันตกกับโลกตะวันออกอีกด้วย
อีก 5-10 ปีต่อจากนี้พม่าต้องเปลี่ยน ดังนั้นแม่สอดก็ต้องเปลี่ยน!!!
นั่นนำมาซึ่งมติ ครม.ในวันที่ 6 ตุลาคม 2552 อนุมัติหลักการโครงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-พม่า แห่งที่ 2 เนื่องจากสะพานแห่งแรกมีปัญหาเนื่องจากตอม่อถูกกระแสน้ำพัด และได้รับผลกระทบจากการหักเหของรถบรรทุก เพื่อเปลี่ยนเลนกลางสะพาน ทำให้คอสะพานเคลื่อน ไม่สามารถรองรับรถบรรทุกหนักได้
มติ ครม.ในวันเดียวกัน ยังอนุมัติการกันพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมเพื่อสร้างเป็นคลังสินค้า-ศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ (One Stop Service; OSS)
กลางเดือนธันวาคม 2552 อลงกรณ์ พลบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ พร้อมคณะเดินทางเยือนพม่าและหารือความร่วมมือในเรื่องการก่อสร้างสะพาน มิตรภาพไทย-พม่าแห่งที่ 2, การพัฒนาเส้นทางคมนาคม-การขนส่ง-โลจิสติกส์ และการส่งเสริมการลงทุน กับรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องของพม่า ประกอบด้วย พลจัตวา ตินไน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์, พลจัตวา อองตุน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์, อูโซทา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวางแผนแห่งชาติและพัฒนาเศรษฐกิจ, พ.อ.เงียง ตันอ่อง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงขนส่ง, พล.ต.อ่องมิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการรถไฟ, พล.ต.คิน หม่องมิ้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงก่อสร้าง และ พล.จัตวาลุ่นตี่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน
รวมถึงแนวทางการพัฒนาเส้นทาง New Trade Lane 4 สายแม่สอด-เมียวดี-กอกาเรก-เมาะละแหม่ง เชื่อมต่อ EWEC ตามมาด้วยการชี้ขาดจุดก่อสร้างสะพาน เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2553 ที่กำหนดจุดก่อสร้างที่ท้ายบ้านวังตะเคียน ต.ท่าสายลวด อ.แม่สอด พร้อมกับกันพื้นที่อีกกว่า 5,000 ไร่ ขึ้นไปทางเหนือที่เป็นป่าเสื่อมโทรม รองรับโครงการต่อเนื่อง ทั้งคลังสินค้า และ OSS ตลอดจนรองรับภาคอุตสาหกรรมในอนาคต
จากพื้นที่ท้ายบ้านวังตะเคียน ฝั่งไทย ก็จะมีโครงการตัดถนน 4 เลนเชื่อมเข้ากับถนนตาก-แม่สอด และทางหลวงพิเศษหมายเลข 12 ต่อไป
ส่วนฝั่งพม่า ก็จะมีถนนอ้อมตัวเมืองเมียวดี ตรงเข้าสู่เขตเศรษฐกิจพิเศษเมียวดี (Myawadi Trade Zone) ที่อยู่ห่างไปประมาณ 11 กม.
เป็นโฉมใหม่ของแม่สอดที่กำลังถูกแต่งแต้มอยู่อย่างในขณะนี้
ความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับเรื่องนี้ ถูกตอกย้ำอีกครั้ง ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2553 อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวผ่านรายการ "เชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯ อภิสิทธิ์" เป็นครั้งที่ 2 ว่า จะเร่งผลักดันและพัฒนาพื้นที่ชายแดนไทย-พม่า อ.แม่สอด จ.ตาก ให้เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) รูปแบบพิเศษนครแม่สอด ลักษณะเดียวกับกรุงเทพมหานคร และพัทยา
หลังจากก่อนหน้านี้ได้ประกาศต่อที่ประชุมสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย (ส.ท.ท.) ต่อหน้านายกเทศมนตรี ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ปลัดเทศบาลทั่วประเทศกว่า 3,000 คนที่เมืองทองธานีมาแล้วครั้งหนึ่ง ตอกย้ำถึงนโยบายรัฐบาล ที่จะปลุกปั้นพื้นที่ชายแดนตะวันตกในทุกๆ มิติ
หลังจากกระทรวงมหาดไทยเพิ่งยกฐานะเทศบาลเมืองแม่สอด เป็นเทศบาลนครแม่สอด เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมานี้เอง
การขับเคลื่อนของฝ่ายการเมืองระดับนโยบายย่อมมีผลต่อ "แม่สอด" ทั้งในมิติการเมือง, งบประมาณ, ทิศทางการพัฒนาพื้นที่ รองรับระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก เทอดเกียรติ ชินสรนันท์ นายกเทศมนตรีนครแม่สอด บอกว่า การผลักดันให้แม่สอดเป็น อปท.รูปแบบพิเศษ มีมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2550 กระทั่งรัฐบาล โดยนายกฯ อภิสิทธิ์ แต่งตั้งอภิรักษ์ โกษะโยธิน ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เป็นประธานคณะอนุกรรมการการพัฒนารูปแบบการให้บริการสาธารณะของ อปท. ในลักษณะเครือข่าย หรือกลุ่มพื้นที่ และรูปแบบการจัดตั้งองค์กรบริหารจัดการในพื้นที่พิเศษ เพื่อพิจารณาเมืองหลักสำคัญต่างๆเป็นท้องถิ่นพิเศษ
ทางรัฐบาลเห็นควรให้ยกเมืองแม่สอดเป็นท้องถิ่นพิเศษ ในลักษณะเมืองชายแดน และให้เกาะสมุยเป็นเมืองลักษณะพิเศษทางการท่องเที่ยว
ที่ผ่านมาคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ ดำเนินการจัดทำข้อมูลและศึกษาเพื่อจัดตั้งท้องถิ่นพิเศษทั้ง 2 แห่ง โดยให้สภาพัฒน์เป็นคณะทำงานในคณะอนุกรรมการชุดที่มีอภิรักษ์เป็นประธาน ซึ่งที่ผ่านมาคณะทำงานได้เดินทางมาศึกษาพื้นที่แล้วทั้งในเขตเมืองแม่สอดและ แนวชายแดนหลายครั้ง
จากการทำประชามติประชาชนในพื้นที่กว่า 80% เห็นด้วยกับแนวทางนี้ ขณะที่แม่สอดก็มีศักยภาพเต็มที่ ทั้งเป็นเมืองที่มีมูลค่าการค้าชายแดนมากกว่าปีละ 20,000-24,000 ล้านบาทขึ้นไป เป็นส่วนสำคัญของเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจ EWEC
พงษ์เทพ บัวทรัพย์ นายด่านศุลกากรแม่สอดย้ำว่าแม่สอดมีศักยภาพทางการค้าสูงมาก มูลค่าการค้าไทย-พม่าขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยมียอดการค้าล่าสุดในปี 2552 สูงถึง 24,000 ล้านบาท
บรรพตกล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมาภาครัฐ-เอกชนในพื้นที่ได้พยายามผลักดันโครงการพัฒนาสาธารณูปโภคขนาดใหญ่หลายโครงการ ทั้งก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-พม่าแห่งที่ 2, โครงการขยายรันเวย์ของสนามบินแม่สอดเพิ่มประมาณ 600 เมตร เพื่อให้เครื่องบินขนาดใหญ่ลงจอดได้
นอกจากนี้ยังมีโครงการพัฒนาเส้นทางแม่สอด-เมียวดี-ร่างกุ้ง โดยจุดแรกก่อสร้างแล้วจากเมียวดีไปเชิงเขาตะนาวศรี 18 กม. งบประมาณ 120 ล้านบาท ส่วนช่วงที่ 2 จากเชิงเขาตะนาวศรี-กอกาเรก ระยะทาง 40 กม. รัฐบาลไทยอนุมัติงบประมาณช่วยเหลือ วงเงิน 827 ล้านบาท และโครงการพัฒนาถนน 4 เลนตาก-แม่สอด ตลอดสาย เป็นต้น
ล่าสุดขณะนี้อยู่ระหว่างการร่าง พ.ร.บ.อปท.พิเศษนครแม่สอด อันจะทำให้ทิศทางพัฒนา "แม่สอด" ชัดเจนขึ้น
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|