ความตื่นตัวของนักธุรกิจท้องถิ่น


นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( พฤษภาคม 2553)



กลับสู่หน้าหลัก

เป็นเรื่องแปลกที่ผู้ซึ่งตื่นตัวตั้งรับกับการเปลี่ยนแปลงในพม่ากลับมิใช่ทั้งระดับรัฐบาล นักธุรกิจระดับชาติ แต่กลายเป็นนักธุรกิจท้องถิ่น โดยเฉพาะในจังหวัดชายแดนติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน ไม่ว่าจะเป็นภาคเหนือ อีสาน หรือฝั่งตะวันตกของประเทศ

"หลายคนมองว่าการผลักดันให้เกิดสะพานมิตรภาพแห่งที่ 2 เป็นเพียงเรื่องของการค้าชายแดน มันไม่ใช่ เราต้องทำความเข้าใจกันใหม่ เพราะเรื่องพม่าไม่ใช่แค่การค้าชายแดน แต่เป็นเรื่องใหญ่ระดับอาเซียน ทุกคนต้องให้ความสำคัญ และวางนโยบายให้ชัดเจน" เป็นความรู้สึกอัดอั้นอยู่ในใจของบรรพต ก่อเกียรติเจริญ ประธานหอการค้าจังหวัดตาก ที่บอกกับผู้จัดการ 360°

เขามองว่าการเปลี่ยนแปลงในพม่าเป็นเรื่องที่ทั่วโลกกำลังจับตา เพราะฉะนั้นถ้าไทย ตั้งโจทย์ในเรื่องการพัฒนาอำเภอแม่สอด ในฐานะประตูการค้าเข้าสู่พม่า ว่าเป็นเพียงเรื่องการค้าชายแดนแล้ว เท่ากับเป็นการวางยุทธศาสตร์ที่ผิด เพราะบทบาทที่แท้จริงแล้ว แม่สอดเป็นประตูที่เปิดการค้าของไทยออกไปสู่ประชาคมโลก ผ่านพม่า อินเดีย ตะวันออกกลาง ไป จนถึงยุโรป

"ไม่ใช่ช่องทางส่งสินค้าเข้าไปขายในพม่าเพียงอย่างเดียว"

ระหว่างวันที่ 28-31 มกราคมที่ผ่าน มา (2553) หอการค้าจังหวัดตาก การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานตาก ได้ร่วมกันเปิดปฐมบทเส้นทางฝันตามแนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (EWEC) ด้วยการนำคาราวานนักธุรกิจไทย-พม่า เดินทางจากจังหวัดเมียวดี รัฐกะเหรี่ยงของพม่า ซึ่งอยู่ตรงกันข้ามกับ อ.แม่สอดไปยังแขวงสะหวันนะเขต สปป.ลาว

ทั้งบรรพตพร้อมด้วย "มะ ติน ติน" หรือ "ติน ติน เมี๊ยะ" ประธานหอการค้าจังหวัดเมียวดี นำคาราวานนักธุรกิจไทย-พม่า จำนวน 40 คน มุ่งหน้าออกจากวัดส่วยมินวุ่น (เจดีย์ทอง) กลางเมืองเมียวดี ข้ามแม่น้ำเมยทางสะพานมิตรภาพไทย-พม่า ไปตามเส้นทางแม่สอด-ตาก เข้าสู่ทางหลวงพิเศษหมายเลข 12 (AH 16) พร้อมกับแวะเวียนไปตามสถานที่ท่องเที่ยว และหารือกับตัวแทนภาคธุรกิจในแต่ละพื้นที่ ตั้งแต่สุโขทัย พิษณุโลก เพชรบูรณ์ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มุกดาหาร และสะหวัน นะเขต สปป.ลาว

พร้อมถือโอกาสนำสินค้าของกลุ่มต่างๆ ภายในจังหวัดตาก คือกลุ่มคลัสเตอร์ สินค้าจากประเทศพม่า ผ้าทอและชุดของชาวพม่า ซึ่งมีสีสันสวยงาม สินค้าจากกลุ่ม เกษตรกรรมดอกไม้อบแห้ง อ.พบพระ ฯลฯ วางโชว์เพื่อประชาสัมพันธ์ ทำการตลาดไปในตัวด้วย

"เราใช้ท่องเที่ยวนำก่อน เพราะปีหน้า หลังพม่ามีการเลือกตั้งแล้ว ทุกอย่างจะเปลี่ยนแปลงเร็วมาก ระเบียงเศรษฐกิจสายนี้จะทวีความสำคัญมากในระดับภูมิภาคขึ้นไป" บรรพตกล่าวย้ำ

ประเสริฐ จึงกิจรุ่งโรจน์ เลขาธิการหอการค้าจังหวัดตาก บอกว่าโดยเนื้อหาของคาราวานสู่ฝันครั้งนี้อาจจะไม่มีอะไรแต่ ถือเป็นจุดเริ่มต้นของนักธุรกิจ 3 ประเทศ คือพม่า ไทย และ สปป.ลาว ตามระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตกจะเชื่อมสัมพันธ์กัน โดยเฉพาะจากจังหวัดเมียวดี ที่ก่อนหน้านี้ต้องยอมรับว่าพม่าไม่เปิด แต่จากนี้ไปพม่าจะกลายเป็นเส้นทางการค้าการลงทุนที่สำคัญของภูมิภาคนี้อย่าง แน่นอน

(อ่านเรื่อง "มิงกลาบา: เมียวดี" นิตยสารผู้จัดการ 360° ฉบับเดือนพฤษภาคม 2552 หรือใน www.gotomanager.com ประกอบ)

ประเสริฐบอกว่า อย่างไรก็ตาม กลุ่มหอการค้าตามแนวระเบียงเศรษฐกิจฯ ได้หารือกันในเบื้องต้นว่าจะจัดทำการ์ดส่วนลดร้านอาหาร-ที่พัก ตลอดเส้นทางสายนี้ขึ้นมา เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวด้วย

ขณะที่ติน ติน เมี๊ยะ ประธานหอการค้าเมียวดี วัย 45 ปี ที่นอกจากจะนำคณะนักธุรกิจในเมียวดี-เมาะละแหม่ง เข้าร่วมเดินทางในครั้งนี้ด้วยแล้ว ก่อนหน้านี้ เธอยังร่วมกับคณะหอการค้าจังหวัดตาก ไปเข้าร่วมสัมมนาหอการค้าไทย ที่ จ.เชียงใหม่ เมื่อปลายปี 2552 ด้วย นัยหนึ่งเพื่อเปิดตัวรองรับการค้าการลงทุนที่จะทะลักเข้าไป หลังพม่าเปิดประเทศมากขึ้น

ติน ติน เมี๊ยะ บอกกับผู้จัดการ 360° ว่า 30 กว่าปีก่อน โดยเฉพาะช่วง ค.ศ.1974-1990 เมียวดี และพื้นที่ชั้นในเข้าไปมีกับระเบิดเป็นจำนวนมาก

"แต่ตอนนี้ไม่มีแล้ว เดี๋ยวนี้อยู่สบายแล้ว"

เธอบอกว่า ตั้งแต่ปี 1990 เป็นต้นมา พม่ามีการพัฒนาขึ้นมาก แต่ก็ยังต้องมีการพัฒนาเพิ่มเติมอีกมากเช่นกัน ซึ่งรัฐบาลพม่าก็มีแผนอยู่ โดยเฉพาะเรื่องโครงข่ายคมนาคม ที่จะเชื่อมไปยังจุดยุทธศาสตร์ต่างๆ ทั้งฝั่งอินเดีย บังกลาเทศ จีน ซึ่งมีเขตเศรษฐกิจพิเศษ มูเซ รวมถึงพรมแดนที่ติดกับไทยที่เมียวดี-แม่สอด ที่มีเขตเศรษฐกิจพิเศษเมียวดี เปิดรอรับการลงทุนอยู่ในขณะนี้แล้วด้วย

ติน ติน เมี๊ยะ บอกว่าตัวเธอก็ต้องเตรียมตัวรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น ทั้งในธุรกิจขนส่งสินค้าของเธอ ซึ่งต้องรอกรอบข้อตกลงขนส่งสินค้าข้ามชาติที่ชาติสมาชิก GMS กำลังหารือในรายละเอียดกันอยู่กับแลนด์ แบงก์ที่สะสมไว้ในเมืองเมียวดี เพื่อรองรับการลงทุนในอนาคต

เพราะจากเมียวดีไปอีกแค่ 163 กม. ก็จะถึงทะเลอันดามัน (ท่าเรือเมาะละแหม่ง) แหล่งอาหารทะเล ที่มีการขนส่งผ่านเข้ามาที่แม่สอดปีละหลายร้อยล้านบาท และอีก 447 กม.ก็ถึงย่างกุ้ง ศูนย์กลางอำนาจเดิมของรัฐบาลพม่า ซึ่งสามารถเชื่อมต่อไปถึงเมืองจิตตะกองของบังกลาเทศ, ด่านตามู แคว้นมณีปุระของอินเดีย หรือขึ้นไปทางเหนือผ่านมัณฑะเลย์-ลาเฉียว-เขตเศรษฐกิจมูเซ ที่เปิดขึ้นมาคู่กับเขตเศรษฐกิจ พิเศษเจียก้าว ลุ่ยลี่ เขตปกครองตนเองฯ เต๋อหง มณฑลหยุนหนันของจีน

ขณะเดียวกันจากเมียวดี-แม่สอด ก็สามารถขนส่งผ่านไปตามเส้นทางหมาย เลข 12 ไปจนถึงมุกดาหาร ข้ามสู่แขวงสะหวันนะเขต สปป.ลาว ที่มีเส้นทางหมายเลข 9 ตรงไปที่ด่านลาวบาว ชาย แดนลาว-เวียดนาม ไปสู่ท่าเรือดานัง หรืออาจจะวิ่งขึ้นไปเล็กน้อยตามเส้นทางหมาย เลข 13 ใต้ของลาว เพื่อเลี้ยวขวาเข้ามาตามเส้นทางหมายเลข 8 หรือ 12 สามารถ ส่งสินค้าเข้าสู่เวียดนามเหนือ และมลฑลกว่างสีของจีน โดยมีระยะทางที่สั้นกว่า

ไม่เพียงเฉพาะบรรพตที่มองเห็นศักยภาพของการเชื่อมต่อเส้นทางเหล่านี้

ที่จังหวัดนครพนม กำลังมีการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 3 เชื่อมระหว่าง จ.นครพนม กับเมืองท่าแขก แขวงคำม่วน สปป.ลาว ประเสริฐ วงศ์มาลาสิทธิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรม จ.นครพนม ในฐานะเลขาธิการสภาธุรกิจไทย-ลาว บอกว่าหากสะพานแห่งนี้สร้างเสร็จ จะเป็นเส้นทางที่สั้นที่สุดที่จะเดินทางจากประเทศไทย ข้าม สปป.ลาวไปสู่เวียดนาม ผ่านเส้นทางหมายเลข 8 และ 12 ใน สปป.ลาว

ซึ่งจากเวียดนามเข้ามาในไทยก็สามารถใช้เส้นทางสาย AH 12 จากนครพนมมาสู่อุดรธานี ลงมาถึงขอนแก่น เลี้ยวขวาเพื่อเข้าสู่ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 12 ต่อไปถึง อ.แม่สอดได้

หรือตรงไปถึง จ.นครราชสีมา เพื่อนำสินค้าขึ้นรถไฟส่งตรงไปถึงท่าเรือแหลมฉบัง ได้เลย

(อ่านเรื่อง "เส้นทางสู่ทะเลเวียดนามที่สั้นที่สุด" นิตยสารผู้จัดการ 360° ฉบับเดือน มกราคม 2552 หรือใน www.gotomanager.com ประกอบ)

หอการค้าจังหวัดอุบลราชธานีให้ความสำคัญเช่นกันและเคยเสนอทางเลือกใหม่ให้กับรัฐบาลไปแล้ว ภายใต้โครงการ "Para EWEC"

จุดเริ่มต้นของเส้นทางนี้ อาจเริ่มได้ทั้งจากเมืองเว้ของเวียดนาม เข้ามาทางแขวงสาละวันของ สปป.ลาว หรือเริ่มจากเมืองดานัง เข้ามาทางแขวงเซกอง ซึ่งทั้ง 2 จุดมาบรรจบกันที่เมืองปากเซ แขวงจำปาศักดิ์ เข้าสู่ประเทศไทยที่ด่านช่องเม็ก จ.อุบล ราชธานี แล้วใช้ทางหลวงหมายเลข 24 (โชคชัย-เดชอุดม) ต่อมาถึงกรุงเทพฯ และไปออกพม่าผ่านช่องทางบ้านน้ำพุร้อน จ.กาญจนบุรี เพื่อต่อไปถึงท่าเรือทวาย

"ตอนนี้สภาพัฒน์ได้รับข้อเสนอของผมไปแล้ว กำลังอยู่ระหว่างการศึกษาในรายละเอียด" ชวลิต องควานิช ประธานคณะกรรมการที่ปรึกษา หอการค้าจังหวัดอุบลราชธานี บอกกับผู้จัดการ 360°


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.