|
6 ประเทศ 1 แม่น้ำ ปลายทางท่องเที่ยวโลก
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( พฤษภาคม 2553)
กลับสู่หน้าหลัก
Mason Florence ผู้อำนวยการบริหารสำนักงานประสานการท่องเที่ยวอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (MTCO) บอกว่า 20 ปีก่อนเขาเคยเดินทางในอนุภูมิภาคนี้ การข้ามประเทศเป็นไปด้วยความยากลำบาก กระทั่งปี 2000 ลุ่มน้ำโขงเปรียบได้ดังวัยรุ่นที่มีการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพอย่างมาก ทศวรรษที่ผ่านมา ผู้คนในลุ่มน้ำโขงสามารถเดินทางไปมาหาสู่กันได้ง่ายยิ่งขึ้น
ทำให้เปรียบได้ว่าขณะนี้ลุ่มแม่น้ำโขงกำลังเข้าสู่ความเป็นผู้ใหญ่อย่างเต็มตัว กำลังเติบโตขึ้นอีกมหาศาล
ในมุมของเขา เห็นว่าที่นี่เป็นจุดหมายปลายทางที่สำคัญทางการท่องเที่ยว ทศวรรษที่ผ่านมามีการท่องเที่ยวในพื้นที่แถบนี้เติบโตถึง 8% หรือ 2 เท่าของการท่องเที่ยวโลก หากทุกประเทศสามารถรวมกลุ่มจับมือกันทำแพ็กเกจได้ เชื่อว่าจะทำให้ปี 2015 หรือ พ.ศ.2558 จำนวนนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกจะเพิ่มเป็นกว่า 50 ล้านคนขึ้นไป
แต่ทุกวันนี้ ต้องยอมรับว่าคนทั่วโลกยังไม่รู้จักแม่โขง ไม่รู้จัก GMS
ดังนั้นต้องร่วมกันสร้าง Mekong Brand ที่คลาสสิกขึ้นมา อาจจะเป็นสโลแกน "6 ประเทศ 1 แม่น้ำ" หรือโปรแกรมท่องเที่ยวตามสายน้ำโขงที่คลาสสิกกว่าท่องเที่ยวตามเส้นทาง R3a และทั้ง 6 ประเทศจะต้องร่วมกันสร้างโปรแกรมขึ้นมา อีก 2 ปี (2555 หรือ 2012) ฮานอยจะครบ 1,000 ปี เชียงรายครบ 750 ปี แต่ละประเทศสามารถจัดงานเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่ขึ้น และโปรโมตไปทั่วโลกร่วมกันได้
ไม่เพียงเท่านั้น พื้นที่แถบนี้ยังมีทรัพยากรทางการท่องเที่ยวที่ขึ้นทะเบียนกับยูเนสโกกว่า 20 แห่ง ที่เปรียบดังลูกปัดบนสร้อยคอ สามารถนำมาสร้างเส้นทางท่องเที่ยวได้อย่างทรงพลัง
"ลุ่มน้ำโขง Hot มาก ไม่ใช่อากาศอบอุ่นเท่านั้น แต่มีวัฒนธรรม สปา อาหาร คนใจดี"
เพียงแต่ทุกประเทศต้องร่วมพัฒนาบุคลากรขึ้นมารองรับการขยายตัวทางการท่องเที่ยว รวมถึงขจัดอุปสรรคการผ่านแดนที่ยังคงมีอยู่บ้างให้อยู่ในมาตรฐานเดียวกัน
Jean-Pierre A.Verbiest Country Director, Thailand Resident Mission ADB ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่าปัญหาที่ท้าทายสำหรับ GMS นับจากนี้ ก็คือการอำนวยความสะดวกเรื่องการข้ามแดนของคนและสินค้า เพราะกฎระเบียบของแต่ละประเทศยังแตกต่างกันอยู่ ต้องร่วมกันแก้ไขให้ได้
และแม้ว่ารอบ 10 ปีที่ผ่านมา จะมีการพัฒนาโครงข่ายทางคมนาคมอย่างต่อเนื่อง แต่ยังมีจุดเชื่อมต่อที่ยังขาดอยู่ โดยเฉพาะเส้นทางรถไฟ ถ้ามีการคมนาคมระบบรางเกิดขึ้น จะทำให้เกิดพลวัตการเปลี่ยนแปลงกว่านี้อีกมาก
อย่างไรก็ตาม ประเด็นสำคัญที่กลุ่มประเทศภาคีลุ่มน้ำโขงจะต้องระมัดระวังก็คือ ภายใต้ความหลากหลายของผู้คน ความเหลื่อมล้ำของรายได้ประชากรแต่ละประเทศ โดยเฉพาะอาเซียนกับ CLMV (กัมพูชา ลาว พม่า เวียดนาม) มีรายได้ต่างกันถึง 5 เท่า นั่นอาจจะสร้างปัญหาตามมาได้
เขาเสนอว่า เพื่อแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำของรายได้ของประชากรในประเทศสมาชิกที่ห่างกันนั้น ประเทศภาคีน่าจะใช้บทเรียนจาก EU ที่เป็นตัวอย่างเดียวในโลกที่ทำสำเร็จ นั่นคือร่วมกันตั้งกองทุนขึ้นมา ช่วยเหลือประเทศสมาชิกที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนานั้นๆ หรือช่วยเหลือประเทศที่ยังด้อยกว่า
"ปัญหานี้ ทุกประเทศภาคีต้องทำงานร่วมกัน"
เขาย้ำระหว่างร่วมสัมมนาเรื่อง GMS ในทศวรรษใหม่ ว่าถ้าดูแผนที่ลุ่มน้ำโขง นับเป็นใจกลางสำคัญของอาเซียน เป็นสะพานบกเชื่อมตะวันออก-ตะวันตก เชื่อมอเมริกา จีน เกาหลี ญี่ปุ่น อินเดีย เข้าด้วยกัน
นับเป็นพื้นที่ที่มีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจมหาศาลในอนาคตที่เริ่มเปิดมากขึ้นทุกขณะ
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|