“จีน” ตัวแปรที่ต้องหาสมดุลให้เจอ


นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( พฤษภาคม 2553)



กลับสู่หน้าหลัก

ข้อเท็จจริง แม้เพื่อนบ้านในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะยอมรับจีนอย่างมาก และเปิดรับความสัมพันธ์กับจีนเต็มที่ แต่ลึกๆ แล้วยังคงมองจีนด้วยความหวาดระแวงเช่นกัน

ไม่ว่าจะเป็นเวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย บรูไน ฟิลิปปินส์ ที่ไม่วางใจจีนอยู่ก่อนแล้ว มีการตั้งคำถามต่อการรุกคืบอย่างรวดเร็วของจีนในทุกด้านมาตลอด โดยเฉพาะประเด็นการประกาศสถาปนาเขตเศรษฐกิจเฉพาะ (EEZ) ในทะเลจีนใต้ ที่ทับซ้อนเหลื่อมล้ำกับผลประโยชน์ของประเทศที่มีเขตแดนติดต่อกับทะเลจีนใต้ทั้งหมด

รูปธรรมแห่งความหวาดระแวงครั้งใหม่เริ่มขึ้น เมื่อจีนส่งเรือตรวจการขนาดใหญ่ที่ชื่ออวี่เจิ้ง 311 (Yuzheng 311) ซึ่งจีนอ้างว่าเป็นเรือสำรวจประมง แต่ประเทศเพื่อนบ้านเชื่อว่าเป็นเรือสปาย ไปยังกรณีพื้นที่พิพาทระหว่างประเทศ เช่น หมู่เกาะหนานซา หมู่เกาะสแปรดลีย์ โดยไม่ยอมฟังเสียงทักท้วงใดๆ จากเพื่อนบ้าน

ตามมาด้วยการเปิดแนวรุกครั้งใหม่ด้วยการขยายสนามบินบนหมู่เกาะวูดดี้ (Woody Island) ย่านหมู่เกาะพาราเซล และการสร้างสิ่งปลูกสร้างทางการทหารจำนวนมากบนแนวปะการังมิสชีฟ (Mischief Reef) ทางตะวันตกของฟิลิปปินส์ เป็นต้น

เหนืออื่นใด คือความพยายามของจีนในการขยายแสนยานุภาพทางทะเลด้วยการวางแผนจะใช้กองเรือดำน้ำติดขีปนาวุธนิวเคลียร์ข้ามทวีป (SSBNs) ที่จีนเลือกจะใช้ทะเลจีนใต้เป็นเส้นทางร่วม ผ่านเข้าออกหน้าบ้านของหลายประเทศ เพื่อออกไปยังมหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดีย แม้แต่กรณีของการตั้งกองเรือบรรทุกเครื่องบินบ้านกองแรกบนเกาะไหหลำ เป็นต้น

ซึ่งทำให้หลายประเทศตั้งข้อสังเกตว่า...นี่คือความพยายามของจีนในการควบคุมน่านน้ำแถบนี้ และมุ่งไปสู่การสร้างแสนยานุภาพทางทะเลในอนาคตใช่หรือไม่

พฤติกรรมดังกล่าวของจีน ถูกมองว่าเป็นพฤติกรรมของศัตรู มากกว่าความเป็นมิตรที่ดีต่อกัน และมีการนินทาจีนในที่แจ้งถึงพฤติกรรมเสมือนพวกนักล่าอาณานิคมในอดีต ที่จีนเองก็เคยประณามมาโดยตลอด

จีนต้องพิสูจน์ตัวเองให้มากกว่านี้ ว่าจีนยุคใหม่คือพี่เบิ้ม ที่มองเห็นประโยชน์ของส่วนรวมในภูมิภาคมากกว่าผลประโยชน์ของตัวเอง เช่น การแก้ไขปัญหาแม่น้ำโขงแห้งแล้งอย่างหนัก เนื่องจากการปิดเขื่อนยักษ์ของจีนเพื่อกักเก็บน้ำไว้สำหรับผลิตไฟฟ้าป้อน อุตสาหกรรมของตนเพียงประเทศเดียว โดยไม่สนใจผลกระทบร้ายแรงที่เกิดกับประเทศปลายน้ำทั้งหลายเลย เป็นต้น

การตัดสินใจดำเนินนโยบายของจีนต่อเพื่อนบ้านในภูมิภาคจะเป็นตัวบอกได้ว่า เพื่อนบ้านทั้งหลายควรจะญาติดีกับจีนแค่ไหนและอย่างไรต่อไป

ส่วนการดำเนินยุทธศาสตร์ของจีนในเอเชียนับแต่นี้ไป ดูเหมือนจะเป็นการดำเนินการเพื่อต่อรองและถ่วงดุลอำนาจกับสหรัฐฯ มากขึ้น หากจีนยังมุ่งมั่นที่เป็นคู่แข่งของมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ ในภูมิภาคนี้ จีนก็ต้องเร่งบทบาทของตนเองมากขึ้น แต่นักวิเคราะห์เชื่อว่า จีนยังไม่พร้อมที่จะเป็นศัตรูอย่างเป็นทางการกับสหรัฐฯ อย่างเปิดเผย เพราะยังมีสงครามนอกรูปแบบอื่นๆ ที่จีนกุมความได้เปรียบสหรัฐฯ มากกว่า โดยเฉพาะสงครามด้านการค้า

โดยเฉพาะการเป็นประเทศเจ้าหนี้รายใหญ่สุดของสหรัฐฯ ซึ่งมีผลต่อนโยบายดุลอำนาจของโลกอย่างไม่อาจปฏิเสธได้ ดังนั้น จึงไม่ต้องแปลกใจหากวันนี้ท่านเดินทางไปในเมืองใหญ่ๆ ไม่ว่าจะเป็นเชียงราย เชียงใหม่ กรุงเทพฯ ฮานอย เวียงจันทน์ กัวลาลัมเปอร์ สิงคโปร์ ฯลฯ แล้ว อาจถูกติดตาม ตรวจสอบโดยสายลับทางการค้าของจีนที่เดินกันเต็มบ้านเต็มเมืองไปหมด นี่ก็เป็นอีกแนวรุกหนึ่งที่จีนได้ดำเนินการต่อเนื่องมานานแล้ว

สอดคล้องกับนักการข่าว ในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนของไทย ที่เฝ้ามองเชิงเปรียบเทียบกลยุทธ์การข่าวของอเมริกา-จีนพบว่า หลังเหตุการณ์ 911 ว่ากันว่ากงสุลอเมริกันต้องใช้งบรักษาความปลอดภัยจำนวนมหาศาล ถึงขั้นต้องเช่าพื้นที่อาคารสูงตรงข้ามฝั่งแม่น้ำปิงกันแบบยกชั้น เพื่อสังเกตการณ์-เฝ้าระวัง

สำหรับกงสุลจีนประจำเชียงใหม่แล้ว ว่ากันว่าพื้นที่ชุมชนโดยรอบกงสุลฯ คือหน่วยข่าวที่ทรงประสิทธิภาพมากที่สุด ซึ่งทางการจีนไม่จำเป็นต้องใช้งบประมาณใดๆ ในการดำเนินการข้อสังเกตสำหรับประเทศไทย

กล่าวเฉพาะกรณีประเทศไทย ซึ่งที่ผ่านมาหลายๆ รัฐบาลมักจะโปรสหรัฐฯ มากกว่าจีนมาโดยตลอด แต่ระยะหลังผู้นำการเมืองไทยเริ่มเป็นมวยมากขึ้น ทำให้มีการกำหนดยุทธศาสตร์เพื่อถ่วงดุลอำนาจของสองมหาอำนาจมากขึ้น และพร้อมจะเป็นมิตรกับจีนโดยปราศจากความหวาดระแวงเช่นก่อน

เพียงแต่ลึกๆ แล้ว ความสัมพันธ์ระดับสูงของจีนกับพรรคประชาธิปัตย์จะไม่สู้แนบแน่นนัก แต่ด้วยพระบารมีของสถาบันเบื้องสูงของไทย ก็ช่วยให้มิตรภาพระหว่างไทยกับจีนดำเนินไปบนกรอบแห่งมิตรไมตรีที่ดี

โดยจีนก็พยายามรักษาระดับของผลประโยชน์ของประเทศกับความเป็นมิตร ไม่ให้ขัดแย้งกันได้ด้วยดี

จากการที่จีนกับสหรัฐฯ เป็นทั้งคู่แข่งและคู่อริในเวลาเดียวกัน ได้ก่อให้เกิดบรรยากาศและโอกาสใหม่ๆ ต่อชาติต่างๆ ในเอเชีย

เพราะทั้งสองชาติต่างพยายามทุกวิถีทางที่จะแสวงหา "พันธมิตรอย่างไม่เป็นทางการ" จากมิตรประเทศในภูมิภาค เพื่อให้แน่ใจว่าเบื้องหลังพวกเขามีผู้สนับสนุนอยู่ตลอดเวลา ไทยที่อยู่ในฐานะ "เนื้อหอม" สามารถฉวยโอกาสพัฒนาความร่วมมือกับทั้งสองประเทศนี้เพื่อรักษาสมดุลและผลประโยชน์ของชาติให้มากที่สุดได้เช่นกัน


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.