|

สมรภูมิใหม่
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( พฤษภาคม 2553)
กลับสู่หน้าหลัก
หลังกำแพงเบอร์ลินถูกทลาย สหภาพโซเวียตล่มสลาย อเมริกากลายเป็นมหาอำนาจเดี่ยวของโลก แต่ผ่านมาเพียงหนึ่งทศวรรษ สายตาทุกคู่จับจ้องไปที่จีน
โดยเฉพาะในเอเชีย วันนี้...คงไม่มีใครฉงนกับบทบาท-อิทธิพลของ สป.จีน ที่มีต่อภูมิภาคนี้อีกต่อไป เพราะด้วยพลังอำนาจทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมือง ความมั่นคง มิหนำซ้ำ จีนยังกำลังทวีบทบาททาบทับอิทธิพลของอเมริกาที่มีต่อภูมิภาคนี้มาอย่างยาว นานด้วย
นักสังเกตการณ์การเมืองระหว่างประเทศหลายคน กำลังเฝ้ามองปรากฏการณ์นี้อย่างจดจ่อ เพราะเริ่มปรากฏสิ่งบอกเหตุหลายอย่างว่า เอเชียกำลังกลายเป็นเวทีแห่งสงครามแย่งชิง-ขยายอิทธิพลครั้งใหม่ของมหาอำนาจ เป็นสมรภูมิใหม่แห่งศตวรรษที่ 21
ห้วง 20 ปีมานี้กล่าวได้ว่า จีนผงาดขึ้นมามีอำนาจและบทบาทสำคัญในเวทีการเมือง เศรษฐกิจของเอเชียอย่างก้าวกระโดดและรวดเร็วยิ่ง จนกลายเป็นขาใหญ่ในเอเชีย ภายใต้ปัจจัยเกื้อหนุนทางการเมืองที่เบ็ดเสร็จเด็ดขาด ตลาดเศรษฐกิจขนาดใหญ่ด้วยผู้บริโภคกว่า 1,300 ล้านคน จนกลายเป็นเป้าหมายทุกข้ามชาติทุกมุมโลก แซงหน้าญี่ปุ่นที่เคยรุกเข้ามาในเอเชีย ภายใต้การสนับสนุนของอเมริกาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2
สอดคล้องกับรายงานการศึกษาของศุภวุฒิ สายเชื้อ กรรมการผู้จัดการ สายงานวิจัย บล.ภัทร ที่นำเสนอไว้ว่า เศรษฐกิจของจีนขยายตัวจริง (Real GDP.) ประมาณ 3 เท่า ภายในเวลา 20 ปี แต่เมื่อนำมาพิจารณาร่วมกับจำนวนประชากรจีนที่มีจำนวนมากถึง 1,334 ล้านคน ก็ทำให้จีนกลายเป็นประเทศมหาอำนาจแซงหน้าญี่ปุ่นขึ้นมาทันที
อย่างไรก็ตาม โดยข้อเท็จจริงแล้ว จีนกับญี่ปุ่นมีความขัดแย้งกันอยู่ เช่น ปัญหาข้อพิพาทเรื่องดินแดนในทะเลตะวันออกของจีน รวมถึงบาดแผลจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ฯลฯ เพียงแต่จีนเลือกที่จะใช้นโยบายทางการทูตมาแก้ปัญหา ขีดกรอบประเด็นข้อขัดแย้งให้อยู่บนโต๊ะเจรจาเท่านั้น พร้อมกับชูผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจขึ้นมาแทนที่
ทั้งนี้หากดูกันที่ข้อเท็จจริงแล้ว คู่แข่งของจีนในสนามเอเชียที่ทัดเทียมกันมากที่สุด ทั้งเรื่องพลังอำนาจของชาติทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมือง และความมั่นคง (ด้วยความเป็นมหาอำนาจที่ครอบครองอาวุธนิวเคลียร์) แล้ว ก็ต้องยอมรับว่าอินเดียคือคู่ต่อกรที่ทรงพลังยิ่งของจีน ด้วยอินเดียที่อยู่ติดกับมหาสมุทรอินเดีย เส้นทางคมนาคมหลักเส้นทางหนึ่งของโลก และเป็นเส้นทางขนส่งพลังงานที่สำคัญของโลก นอกจากนี้ อินเดียยังมีประชากรที่ใกล้เคียงกับจีนอีกด้วย
ทั้ง 2 ปัจจัย ทำให้เศรษฐกิจอินเดียมีศักยภาพที่จะขยายตัวได้อีกมากมาย
และที่ต้องพิจารณาประกอบอีกประเด็น ก็คือบทบาทของสหรัฐอเมริกาใน "อินเดีย" ที่ตั้งแต่หลังเหตุการณ์ 911 อเมริกาพยายามดึงอินเดียกับปากีสถานเป็นพันธมิตรต่อสู้กับผู้ก่อการร้ายในเอเชียกลาง-เอเชียใต้
นั่นทำให้จีนที่รับรู้กันว่า เป็นคู่ขัดแย้งกับอินเดียมานาน ต้องกลับมาใช้ชั้นเชิงทางการทูตอย่างแยบคาย เพื่อรักษาไว้ซึ่งความมั่นคง-เส้นทางขนส่งพลังงาน จนมีการลงนามในข้อตกลงร่วมจีน-อินเดีย เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2548 เป็นผลทำให้บรรยากาศแห่งมิตรภาพจีน-อินเดียดีขึ้น ส่งผลให้การค้าระหว่าง 2 ประเทศนี้ขยายตัวอย่างรวดเร็วหลายเท่าตัว
ขณะเดียวกัน จีนยังได้เชื่อมประตูหลังบ้านไว้กับเอเชียกลางและรัสเซียอีกทาง
เป็นเอเชียกลางที่มีประเทศเกิดใหม่ เช่น ทาจิกิสถาน คาซัคสถาน คีร์กีสถาน และอุซเบกิสถาน ซึ่งแยกตัวออกมา จากสหภาพโซเวียตที่ล่มสลายไปเมื่อต้นทศวรรษ 1990 (2533)
เสน่ห์เย้ายวนของสี่ประเทศเกิดใหม่อยู่ที่บริเวณทะเลสาบแคสเปียน ซึ่งเป็นแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่สำคัญแหล่งใหม่ของโลก (ปริมาณก๊าซมากกว่าน้ำมัน) ดึงดูดให้บริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่จากทั่วทุกมุมโลก เข้ามาแข่งขันกันอย่างหนักเพื่อเข้าไปมีส่วนในกรุสมบัติแห่งใหม่นี้
รวมถึงบริษัทพลังงานแห่งชาติของจีน
ด้วยเหตุผลด้านความมั่นคงทางพลังงาน ทำให้จีนต้องวางยุทธศาสตร์ด้านพลังงานสำรองอย่างรอบคอบ จีนไม่อาจพึ่งพาการขนส่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจากแหล่งผลิตในตะวันออกกลางได้เพียงอย่างเดียว เพราะเสี่ยงต่อการถูกปิดล้อมทางพลังงาน สิ่งหนึ่งที่เป็นหัวใจของ "ยุทธศาสตร์มุ่งสู่ตะวันออก" ของจีนก็คือการมุ่งมาแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจากทะเลสาบแคสเปียนนี่เอง
บริษัทพลังงานแห่งชาติจีน (Petro China Co.ltd) ได้ทุ่มเทงบประมาณจำนวนมหาศาล เพื่อวางท่อขนส่งก๊าซจากทะเลสาบแคสเปียนเข้าสู่เขตเศรษฐกิจพิเศษทางภาคตะวันตกของจีน ท่อก๊าซดังกล่าวเป็นการวางท่อบนบก เริ่มจากเติร์กมินิสถาน ผ่านอุสเบกิสถาน และคาซัคสถาน เข้าสู่มณฑลซินเกียง ระยะทางกว่า 1,000 ไมล์ ปัจจุบันการวางท่อเสร็จไปแล้ว อยู่ระหว่างการทดลองส่งก๊าซ และปรับปรุงแก้ไขปัญหาในรายละเอียดต่างๆ อีกเพียงเล็กน้อย
สำหรับรัสเซีย มิตรจากค่ายคอมมิวนิสต์ที่เป็นเพื่อนรักเพื่อนแค้นกันมายาวนาน ถึงวันนี้กลายเป็นผู้ป้อนน้ำมันและก๊าซธรรมชาติรายใหญ่ที่สุดให้แก่จีน โดยที่ผ่านมาใช้การขนส่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติผ่านทางรถไฟเป็นหลัก เฉลี่ยปีหนึ่งๆ ไม่ต่ำกว่า 10 ล้านตัน ต่อมาทั้งคู่ได้เจรจาเพื่อสร้างท่อน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจากแหล่งคอฟวีกต้า (Kovykta) เขตไซบีเรีย ผ่านไปยังมณฑลซินเจียง และเฮยหลาเจียว ในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มุ่งสู่กรุงปักกิ่ง
นอกจากนี้ Petro China ยังเข้าไปซื้อหุ้นของบริษัท Udmurtneft ของรัสเซีย มูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐ นับตั้งแต่ปี 2006 เป็นต้นมา และปัจจุบันยังมีการซื้อหุ้นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อย่างต่อเนื่อง
ประเด็นสำคัญที่สุด นอกจากเอเชียกลางและรัสเซียจะเป็นแหล่งพลังงานใหม่ของจีนแล้ว บรรดาประเทศทั้งหลายเหล่านี้ ยังเป็นฐานความร่วมมือด้านยุทธศาสตร์และความมั่นคงใหม่ของภูมิภาคอีกด้วย
โดยในปี ค.ศ.1996 จีนได้ดึงประเทศเหล่านี้เข้าร่วมเป็นสมาชิกขององค์กร "ความร่วมมือเซี่ยงไฮ้" (Shanghai Cooperation Organization-SCO) หรือที่รู้จักกันในวงการความมั่นคงโลกว่า "นาโต้แห่งเอเชีย" ปัจจุบันองค์กรแห่งนี้ได้รับประเทศสมาชิก (ผู้สังเกตการณ์) เข้าร่วมอีก 5 ประเทศ ได้แก่ อินเดีย ปากีสถาน อิหร่าน อัฟกานิสถาน และมองโกเลีย
เท่ากับว่า บัดนี้เครือข่ายด้านความมั่นคงของจีนในภูมิภาค ครอบคลุมและมั่นคงจนสามารถถ่วงดุลกับโลกตะวันตกได้อย่างมั่นใจอย่างมิเคยมี มาก่อน
โลกในวันนี้จึงถูกแบ่งออกเป็น 2 ขั้วอย่างชัดเจนอีกครั้งหนึ่ง...
สงครามเย็นครั้งใหม่ในเอเชีย
การเดินทางไปเยือนจีนของประธานาธิบดี บารัค โอบามา ผู้นำสหรัฐฯ เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2552 ถือเป็นการเปิดศักราชความสัมพันธ์ครั้งใหม่ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ
การประกาศ "ความร่วมมือแบบปฏิบัตินิยม" (Pragmatic Cooperation) ได้ช่วยจุดประกายความหวังให้นักสังเกตการณ์สายสันติกันทั่วหน้า
แต่มิทันข้ามคืนทุกอย่างก็พังครืนลง เมื่อสหรัฐฯตัดสินใจลงนามขายอาวุธมูลค่ากว่า 6,400 ล้านดอลลาร์ให้กับไต้หวัน (มกราคม 2553) อันเป็นการจี้แผลเก่าของจีนโดยตรง สร้างความเจ็บปวดและแค้นเคืองให้กับจีนอย่างมาก จนถึงกับมีการประกาศระงับความสัมพันธ์ทางการทหารระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ลงทันที ตามมาด้วยการรื้อฟื้นข้อบาดหมางในอดีตกลับขึ้นมาวิพากษ์วิจารณ์สหรัฐฯ อีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องโลกร้อน ปัญหาการแทรกแซงค่าเงินหยวน ข้อพิพาทและการกีดกันทางการค้า รวมทั้งการแฮ็กข้อมูลในระบบของกูเกิ้ล เป็นต้น
ตามติดมาด้วยบารัค โอบามา เข้าพบกับองค์ทะไลลามะ ผู้นำด้านจิตวิญญาณสูงสุดของทิเบต (กุมภาพันธ์ 2553)
เหล่านี้ได้ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างจีนและสหรัฐฯ กลับมาเขม็งเกลียวขึ้นอีกครั้ง
จีนถือว่าไต้หวันและทิเบตคือส่วนหนึ่งของจีนมาตลอด โดยเฉพาะไต้หวัน ซึ่งจีนถือว่าเป็นเสมือนคนในครอบครัวเดียว กัน แต่กลับแอบปันใจไปใกล้ชิดสหรัฐฯ มากกว่า และทำตัวเป็นเด็กเกเรไม่เคารพเชื่อฟังญาติผู้ใหญ่ แม้ว่าต้องการจะสั่งสอนอย่างไร ก็ไม่ถึงขั้นฆ่าให้ตาย รัฐบาลจีนทุกยุคที่ผ่านมา ใช้ความทุ่มเทพยายามอย่างมากที่จะหาทางดึงไต้หวันกลับมาเป็นส่วนหนึ่งของจีนเช่นเดิม ทั้งกำหนดและวางยุทธศาสตร์ ยุทธวิธีสารพัด เช่น "หนึ่งประเทศสองระบบ" เป็นต้น
จีนก็รู้ว่าสหรัฐฯ คิดจะถ่วงดุลอำนาจจีนด้วยการใช้ไต้หวันเป็นเครื่องมือ แม้แต่การออกกฎหมาย "ไต้หวันแอ็ค 1979" ก็เพื่อปูทางให้สหรัฐฯ เข้ามายุ่งเกี่ยวกับกิจการในไต้หวันได้อย่างชอบธรรมเท่านั้นเอง
สำหรับจีนแล้ว คงมองสหรัฐฯ ว่าทำตัวเป็นแม่นกอินทรีในนิทานอีสป ที่ไม่รักษากติกาของการอยู่ร่วมกัน แอบมาขโมยลูกสุนัขจิ้งจอกไปให้ลูกนกกินทีละตัว ทุกครั้งที่แม่สุนัขเผลอจนในที่สุด แม่สุนัขจิ้งจอกก็อาจจะทนไม่ไหว ใช้ไฟเผาต้นไม้ที่มีรังของลูกนกอินทรีตัวนั้นอยู่ จนทำให้ลูกนกสำลักควันไฟตายยกรังเพื่อแก้แค้น
หลายปีที่ผ่านมา สหรัฐฯ พยายามหาทางลดอิทธิพลของจีนที่มีบทบาทในภูมิภาคต่างๆ ของโลกเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่เว้นแม้แต่การเดินทางมาเยือนประเทศต่างๆ ในเอเชียเมื่อเร็วๆ นี้
รวมถึงการเปลี่ยนนโยบายต่อพม่าอย่างไม่เคยมีมาก่อนการพลิกบทบาทของสหรัฐฯ ในพม่า ภายหลังจากการทบทวนนโยบายต่างประเทศที่มีต่อพม่าใหม่ ด้วยการหันไปสานสัมพันธ์กับรัฐบาลทหารพม่ามากขึ้น ภายใต้ข้ออ้างเพื่อการพัฒนาประชาธิปไตยบังหน้า
การรุกคืบครั้งใหม่ของสหรัฐฯ ครั้งนี้ ปรากฏความคืบหน้าอย่างรวดเร็ว เช่นสามารถกดดันให้มีการปล่อยตัวทินอู รองเลขาธิการพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) และคนสนิทของออง ซาน ซูจี (15 กุมภาพันธ์ 2553)
ซึ่งเบื้องหลังฉากอันเลิศหรู ก็คือการพยายามเปิดแนวรุก เพื่อสกัดกั้นและลดทอนอิทธิพลของจีนในพม่านั่นเอง ด้วยเป็นที่รับรู้กันดีว่า จีนมีอิทธิพลและผลประโยชน์ในพม่ามาอย่างยาวนาน
ไม่ผิดกับที่นักสังเกตการณ์ทั้งหลายฟันธงไว้ว่า พม่าคือเวทีแห่งสงครามเย็นครั้งใหม่ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ซึ่งจะถูกเลือกเป็นเวทีประลองกำลังและแข่งขัน เพื่อสร้างอิทธิพลในเวทีเอเชียกันมากขึ้น
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|