|
การปฏิรูประบบประกันสุขภาพแห่งสหรัฐฯ
โดย
มานิตา เข็มทอง
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( พฤษภาคม 2553)
กลับสู่หน้าหลัก
สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศในกลุ่มพัฒนาแล้วประเทศเดียวที่ประชากรไม่มีประกันสุขภาพทั่วทุกคน ปัจจุบันมีประชากรประมาณ 46 ล้านคนที่ไม่มีประกันสุขภาพ คิดเป็นประมาณ 15% ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ โดยทั่วไปประชากรในวัยทำงานจะได้รับการประกันสุขภาพจากนายจ้าง โดยแบ่งจ่ายค่าเบี้ยประกันตามข้อตกลง เช่น ลูกจ้างจ่าย 20% นายจ้างจ่าย 80% ตามนโยบายของแต่ละองค์กร
ขณะเดียวกันมีบางองค์กร บางบริษัทที่นายจ้างไม่มีสวัสดิการด้านสุขภาพให้แก่ลูกจ้าง ดังนั้นลูกจ้างต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง เป็นสาเหตุหลักที่ชาวอเมริกันหลายคนไม่มีประกันสุขภาพ เนื่องจากค่าใช้จ่ายสูงเกินกว่ากำลังทรัพย์ที่สามารถหามาได้ ประกอบกับที่ผ่านมาช่องโหว่ทางกฎหมาย ทำให้มีการเลือกปฏิบัติในการคุ้มครองการรักษาพยาบาล
จากผลการศึกษาของนักวิจัยจากสถาบันแพทยศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด นำทีมโดยนายแพทย์ Andrew P. Wilper ทำการคำนวณข้อมูลสถิติจากสำนักงานสำมะโนประชากรแห่งสหรัฐฯ พบว่า มีชาวอเมริกันที่เสียชีวิตเพราะไม่มีประกันสุขภาพมากถึงปีละ 44,789 คน ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่สูงกว่าการเสียชีวิตด้วยโรคไตเสียอีก นอกจากนั้นยังมีรายงานทางวิชาการ ซึ่งนำทีมโดยนายแพทย์ David U. Himmelstein แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด พบว่า อเมริกาเป็นประเทศเดียวในโลกที่มีบุคคลล้มละลายที่มีสาเหตุมาจากค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ โดยคิดเป็น 62% ของเคสล้มละลายในปี 2007 ซึ่งมากกว่าปี 1981 ที่มีเพียงแค่ 8% เท่านั้น และส่วนใหญ่เกิดขึ้นในกลุ่มคนชั้นกลาง
นอกจากนั้น ตัวเลขสถิติล่าสุดของปี 2007 พบว่าในแต่ละปีชาวอเมริกันมีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับสุขภาพ เป็นจำนวนเงินเฉลี่ยมากถึง 7,439 เหรียญต่อคน หรือประมาณ 2.26 ล้านล้านเหรียญ ทั้งประเทศคิดเป็นเกือบ 16% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศและจากแนวโน้มของค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง ทำให้มีการประมาณตัวเลขการใช้จ่ายด้านสุขภาพที่จะสูงขึ้นถึงประมาณ 19.5% ของ GDP ภายใน 7 ปีข้างหน้า ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่สูงกว่าประเทศอื่นที่อยู่ในกลุ่มพัฒนาแล้วด้วยกัน
ตัวเลขประมาณการเหล่านี้ไม่ได้กระทบเพียงแค่ภาคบุคคลเท่านั้น แต่กระทบภาครัฐบาลด้วย เนื่องจากรัฐบาลสหรัฐฯ มีโครงการสุขภาพ Medi-care สำหรับผู้สูงอายุ และโปรแกรมโครงการ Medi-caid สำหรับผู้มีรายได้ต่ำ หากค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจะส่งปัญหาต่องบประมาณของรัฐบาลอย่างแน่นอน
จากข้อมูลสถิติและแนวโน้มเหล่านี้จึงเป็นที่มาของการปฏิรูประบบประกันสุขภาพของรัฐบาลโอบามา ในการยกเครื่องด้วยงบประมาณ 938 พันล้านเหรียญ โดยรับประกันว่าอเมริกันจำนวน 32 ล้าน คนที่ไม่มีประกันสุขภาพ จะได้รับประกันสุขภาพอย่างทั่วถึง อันเป็นแคมเปญหลักในการหาเสียง มีจุดมุ่งหมายให้พลเมืองและประชากรที่ถูกกฎหมายทุกคนมีประกันสุขภาพในราคาที่ถูกและเป็นธรรม ทั้งเป็นการควบคุมบริษัทประกันสุขภาพทั้งหลายที่มีอิสรเสรีในการกำหนดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ และการเอาเปรียบเรื่องการให้ประกันมาเป็นเวลานาน แม้ว่ากระบวนการดังกล่าวจะเริ่มอย่างกระท่อนกระแท่น เนื่องจากขาดแรงสนับสนุนจากฝ่ายค้าน แต่ในที่สุด ร่างกฎหมายดังกล่าวก็ผ่านออกมาจนได้ เมื่อวันที่ 21 มีนาคมและประธานาธิบดีโอบามาได้ลงนามประกาศใช้ในวันที่ 23 มีนาคม 2010 ที่ผ่านมา
ย้อนกลับไปดูกระบวนการของการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์สหรัฐฯ
นับตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 44 แห่งสหรัฐฯ เมื่อเดือนมกราคมปีที่แล้ว บารัค โอบามากล่าวย้ำว่าการปฏิรูประบบประกันสุขภาพ เป็นงานอันดับต้นของเขาที่ต้องเร่งให้เกิดในทันที ไม่สามารถรอได้ พร้อมกันนั้นได้ประกาศแผนงานที่รวมเอาผู้ทรงคุณวุฒิทุกฝ่ายมาระดมสมองร่วมกัน นับตั้งแต่ตัวแทนภาคธุรกิจ นายแพทย์และผู้ให้บริการด้านประกันสุขภาพ ทั้งพรรคเดโมแครตและรีพับลิกัน โดยเปิดกว้างให้ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านทำงานร่วมกันอย่างแท้จริง
ต่อมาในเดือนมีนาคม 2009 รัฐบาลได้จัดงานประชุม Healthcare Forum ขึ้นที่ทำเนียบ โดยงานนี้มีล็อบบี้ยิสต์ และตัวแทนจากโรงพยาบาล บริษัทเภสัช กรรม และบริษัทประกัน มาร่วมด้วยอย่างพร้อมเพรียงกัน แต่ละตัวแทนมาเพื่อจุดมุ่งหมายของตนเอง หากประธานาธิบดีโอบามาได้กล่าวถึงจุดมุ่งหมายหลักของการประชุมในครั้งนั้น ว่า ต้องการหาแนวทางในการลดค่าใช้จ่าย เพิ่มคุณภาพ และขยายการครอบคลุมให้แก่ชาวอเมริกันทุกคน โดยหมายมั่นว่า ร่างกฎหมายใหม่นี้จะต้องผ่านภายในสิ้นปีที่ผ่านมา ซึ่งท่าทีของบริษัทประกันคือสนับสนุนต่อกรณีที่ให้อเมริกันทุกคนมีประกัน สุขภาพ เท่ากับเป็นการสร้างรายได้ให้กับอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นอีก ในขณะเดียวกันบรรดาบริษัทประกันต้องการ ให้รัฐบาลยกเลิกแนวคิด "public option" ซึ่งรัฐบาลจะเป็นผู้จำหน่ายประกันสุขภาพให้กับประชาชนเอง ถือเป็นการแข่งขันกับบริษัทประกันเอกชนโดยตรง ซึ่งเป้าหมายคือ ราคาประกันที่ต่ำลง ทำให้บริษัทประกันไม่พอใจที่จะต้องสูญเสียรายได้
ช่วงเริ่มต้นฤดูกาลใบไม้ผลิของปี 2009 รัฐบาลขาดเสียงสำคัญอย่างสมาชิกวุฒิสภา Ted Kennedy ที่เป็นผู้ผลักดันให้มีการเปลี่ยนแปลงระบบประกันสุขภาพมาโดยตลอด ขณะนั้นเขากำลังต่อสู้อยู่กับโรคร้าย ทำให้รัฐบาลโอบามาแต่งตั้ง Max Baucus เข้ามาดูแลเรื่องนี้ กลายเป็นจุดอ่อนให้ฝ่ายค้านโจมตีได้ เนื่องจาก Baucus มีประวัติเคยรับเงินจำนวนมากกว่า 2.5 ล้านเหรียญจากกลุ่มล็อบบี้ยิสต์ในอุตสาหกรรมสุขภาพเมื่อปี 2005 ขณะเดียวกันทีมงานของเขายังทำงานให้ล็อบบี้ยิสต์เหล่านั้นด้วย ในเดือนพฤษภาคม เขาถูกประท้วงจากนักเสรีนิยม ต่อกรณีที่เขาปฏิเสธไม่ให้ตัวแทนผู้สนับสนุนระบบ Singlepayer เข้าอภิปราย
ตามแผนเดิม ร่างกฎหมายใหม่จะต้องผ่านก่อนเดือนสิงหาคม และเสร็จสมบูรณ์ภายในวันที่ 1 ตุลาคม แต่การทำงานร่วมกันระหว่างฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน หรือ bipartisanship กลายเป็นอุปสรรคหลัก ประกอบกับปัญหาเศรษฐกิจการเงินโดยรวมก็ไม่ช่วยให้เป็นไปตามแผน ยิ่งกว่านั้น การเสียชีวิตของสมาชิกวุฒิสภา Ted Kennedy ผู้ได้รับฉายาว่า "สิงโตแห่งสภาสูง" นับเป็นการสูญเสียครั้งใหญ่ของพรรคเดโมแครต หลายคนหวังว่าการจากไปของ Ted Kennedy จะช่วย ลดความขัดแย้งระหว่างสองฝ่ายให้หันมาร่วมมือกัน แต่ทุกอย่างเหมือนเดิม ฝ่ายค้านยังคงคัดค้านหัวชนฝา
จนกระทั่งเมื่อวันที่ 21 มีนาคมที่ผ่านมา ร่างกฎหมายดังกล่าวก็ผ่านออกมาจนได้ ประธานาธิบดีโอบามาได้ลงนามประกาศใช้ในวันที่ 23 มีนาคม สำหรับตัวอย่างมาตรการสำคัญในปีแรกของการปฏิรูปมีดังนี้
- ห้ามบริษัทประกันปฏิเสธหรือหลีกเลี่ยงการให้ความคุ้มครองเมื่อผู้ถือประกันป่วย
- เยาวชนสามารถได้รับการคุ้มครองภายใต้การประกันของผู้ปกครองจนอายุครบ 26 ปี จากปัจจุบันที่คุ้มครองถึงอายุเพียง 19 ปีเท่านั้น
- มาตรการลดหย่อนภาษีสำหรับธุรกิจขนาดย่อม เพื่อจะได้ใช้เป็นค่าใช้จ่ายซื้อประกันสุขภาพให้แก่ลูกจ้าง
- โครงการประกันชั่วคราวสำหรับบริษัทในการให้ประกันแก่ผู้เกษียณก่อนอายุ
- การเก็บภาษีผู้ใช้เครื่องทำสีผิว (Indoor Tanning) มูลค่า 10% ซึ่งคาดว่าจะเก็บได้เป็นจำนวน เงินถึง 2.7 พันล้านเหรียญภายใน 10 ปีข้างหน้า
นอกจากนั้นรัฐบาลยังมีมาตรการระยะยาวภายใน 10 ปี ด้วยการเริ่มเก็บภาษีผู้เข้าโครงการ Medicare ที่มีรายได้มากกว่า 200,000 เหรียญ และสำหรับคู่สมรสที่มีรายได้มากกว่า 250,000 เหรียญต่อปี และมีมาตรการในการลดรายจ่ายที่เกี่ยวกับสุขภาพที่เกินความเป็นจริงที่เกิด จากการปฏิบัติมิชอบของเหล่าบริษัทประกันหลายแห่ง รัฐบาลโอบามาหวัง ว่ามาตรการเหล่านี้จะช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของรัฐบาลได้มากในช่วง 10 ข้างหน้า ทั้งยังช่วยลดการขาดดุลการคลังของรัฐบาลสหรัฐฯ อีกด้วย
หลายเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้ถูกแก้ไขเปลี่ยนแปลงจนแทบไม่เหลือแก่นสำคัญใดๆ แต่พอล ครุกแมน นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล กลับเห็นว่า "ร่างกฎหมายปฏิรูประบบประกันสุขภาพนี้ถือเป็นความสำเร็จที่สำคัญ ทั้งในแง่ของการกำหนดนโยบาย และอนาคตทางการเมืองของรัฐบาลโอบามาและพรรคเดโมแครต"
...หวังว่าร่างกฎหมายใหม่นี้จะเป็นการสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นให้แก่ชาวอเมริกันทุกคนในอนาคต
ที่มา
www.amjmed.com
www.pbs.org
www.whitehouse.gov
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|