รู้จัก Volvo... รู้จัก Geely... รู้จัก “หลี่ ซูฝู”

โดย วริษฐ์ ลิ้มทองกุล
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( พฤษภาคม 2553)



กลับสู่หน้าหลัก

วันอาทิตย์ที่ 28 มีนาคม 2553 ณ เมืองโกเตนเบิร์ก ประเทศสวีเดน

และแล้วข่าวลือชิ้นใหญ่ที่สุดในรอบหลายปีของแวดวงอุตสาหกรรมยานยนต์จีนก็กลายเป็นความจริง หลังเสร็จสิ้นการลงนามในสัญญาซื้อขายกิจการมูลค่า 1,800 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 59,000 ล้านบาท) เลวิส บูท ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการเงิน (CFO) ของบริษัทฟอร์ด มอเตอร์ ก็เข้าสวมกอดกับชายชาวจีนวัยกลางคน ประธานกรรมการบริหารของกลุ่มบริษัทเจ้อเจียง จี๋ลี่ โฮลดิ้ง ที่ชื่อ "หลี่ ซูฝู (Li Shufu)"

"วันนี้ถือเป็นวันสำคัญในประวัติศาสตร์ของจี๋ลี่" หลี่กล่าวกับผู้สื่อข่าวหลังการลงนามในสัญญาซื้อกิจการวอลโว่ (Volvo) แบรนด์รถหรูสัญชาติสวีเดนจากฟอร์ด

จี๋ลี่ คืออะไร? หลี่ ซูฝูเป็นใคร? เหตุใดบริษัทของชายชาวจีนวัยเพียง 47 ปี ที่เพิ่งกระโดดเข้าสู่แวดวงยานยนต์ได้เพียงสิบกว่าปี จึงสามารถก้าวขึ้นมาเทกโอเวอร์กิจการรถยนต์ระดับโลกที่มีชื่อเสียงยาวนานกว่า 80 ปีได้?

หลี่ ซูฝู ประธานกรรมการบริหารของกลุ่มเจ้อเจียง จี๋ลี่ บริษัทผู้ผลิตรถยนต์อันดับ 10 ของประเทศจีนและบริษัทผลิตรถยนต์เอกชนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศจีน ชายผู้นี้เกิดเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน ค.ศ.1963 ณ เมืองไถโจว มณฑลเจ้อเจียง (มณฑลที่อยู่ติดกับนครเซี่ยงไฮ้) ปัจจุบันอายุ 47 ปี

หลี่เกิดและเติบโตในครอบครัวของเจ้าของกิจการเล็กๆ ในเขตเมืองไถโจวเมืองขนาดกลางของประเทศจีน ซึ่งปัจจุบันมีประชากรราว 6 ล้านคน "ผมเกิดและโตขึ้นในหมู่บ้านเล็กๆ แห่งหนึ่งที่ไถโจว มณฑลเจ้อเจียง ตอนนั้นคิดอยู่ว่า หนึ่ง ไม่กลัวความลำบาก สอง ไม่กลัวจน และสามแน่นอนล่ะว่า อยากรวย!" นายใหม่ของวอลโว่เคยเล่าชีวิตและความฝันในวัยเด็กให้กับสื่อมวลชนฟัง

ด้วยปณิธานต้องการจะเป็นเศรษฐี... ในปี 2525 (ค.ศ.1982) หลังจากเรียนจบชั้นมัธยมปลาย หลี่ในวัย 19 ปีจึงเริ่มต้นทำธุรกิจจากเงินจำนวน 120 หยวน ที่บิดาให้เป็นรางวัล ด้วยการรับจ้างถ่ายรูปในสวนสาธารณะ โดยใช้กล้องถ่ายรูปเก่าๆ ยี่ห้อ Seagull เป็นเครื่องมือหากินกับจักรยานเก่าๆ หนึ่งคันเป็นพาหนะ โดยไม่ถึงหนึ่งปีหลังจากการขี่จักรยานรับจ้างถ่ายรูป หลี่ก็มีเงินเก็บมากถึง 2 พันหยวน

ต้องทราบว่า ประเทศจีนในเวลานั้นเพิ่งหลุดพ้นจากฝันร้ายของการปฏิวัติใหญ่ทางวัฒนธรรมที่กินเวลายาวนานถึง 1 ทศวรรษมาหมาดๆ เติ้ง เสี่ยวผิง พรรคคอมมิวนิสต์จีนเพิ่งทำการปฏิรูปเศรษฐกิจได้ไม่กี่ปี เวลานั้นเงินเดือนสำหรับปัญญาชนที่มีการศึกษาและแรงงานมีฝีมืออย่างมากก็ 50 หยวนเท่านั้น ดังนั้นหลี่กับเงิน 2,000 หยวน ที่เขาหาได้จากธุรกิจ เล็กๆ จึงถือว่าเป็นรายได้ที่ไม่เลวเลยทีเดียว

อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่เป็นคนกล้าเสี่ยง กล้าพนัน เขาจึงนำเงินก้อนดังกล่าวไปลงทุนเปิดร้านถ่ายรูป แม้เงินพันกว่าหยวนจะไม่เพียงพอซื้ออุปกรณ์สำหรับร้านถ่ายรูปทั้งหมด แต่ด้วยความที่เป็นคนช่างสังเกต ช่างคิด ช่างประดิษฐ์ เขาจึงประกอบอุปกรณ์หลายชิ้นในร้านขึ้นมาด้วยตัวเอง ระหว่างที่เปิดร้านถ่ายรูปนั้นเอง หลี่ก็ค้นพบเส้นทาง ทำเงินก้อนใหญ่ คือ เขาหาวิธีการแยกโลหะเงินที่เป็นของเหลือใช้ระหว่างการล้าง-อัดรูป และสามารถนำไปขายเป็นเงินก้อนใหญ่ได้

ไม่นานหลังจากที่ทราบเทคนิคดังกล่าว เขาก็ตัดสินใจควักเงินเก็บกว่า 1 หมื่นหยวนมาลงทุน เขาปิดร้านถ่ายรูปลง แล้วทุ่มเวลาทั้งหมดให้กับธุรกิจใหม่ที่เขาเพิ่งค้นพบ

หลังจากนั้นไม่นานในปี 2527 (ค.ศ.1984) ไอ้หนุ่มชาวไถโจวก็ค้นพบธุรกิจใหม่อีกนั่นคือ ธุรกิจ ผลิตชิ้นส่วนและอะไหล่ตู้เย็น เพื่อส่งให้กับโรงงานผลิตตู้เย็น ก่อนที่อีกสองปีถัดมา เจ้าตัวจะยกระดับกิจการจากโรงงานผลิตชิ้นส่วนตู้เย็น เป็นโรงงานผลิตตู้เย็นเต็มตัว โดยใช้ชื่อยี่ห้อว่า "ดอกไม้แห่งขั้วโลกเหนือ (เป่ยจี๋ฮวา)"

"ตอนนั้นกิจการดีมากๆ ปีหนึ่งๆ กำไรประมาณ 40-50 ล้านหยวน... พอถึงเดือนพฤษภาคม 1989 ยอดขายก็พุ่งทะลุ 40 ล้านหยวน แถมยังมีความร่วมมือกับโรงงานหงซิงที่เมืองชิงเต่า คือ เราผลิตตู้เย็น ตู้แช่ให้กับหงซิงด้วย" พนักงานเก่าแก่คนหนึ่งของกลุ่มจี๋ลี่ ย้อนอดีตตั้งแต่เจ้านายเริ่มสร้างธุรกิจ

ในปี 2532 (ค.ศ.1989) หลี่ ซูฝู ในวัยเพียง 26 ปีก็กลายเป็นเศรษฐีระดับร้อยล้านของเมืองจีน ทว่า เขากลับไม่พอใจนักกับสถานะเศรษฐีร้อยล้านและย้อนเข้าไปหาความรู้ในรั้วมหาวิทยาลัย ก่อนที่จะค้นพบธุรกิจใหม่ๆ ระหว่างการเรียนในมหาวิทยาลัยนั่นเอง นั่นคือธุรกิจผลิตอุปกรณ์และวัสดุในการตกแต่งบ้าน ซึ่งในเวลาต่อมาหลี่ได้ส่งต่อธุรกิจเหล่านี้ให้ญาติพี่น้องดำเนินการจนร่ำรวย และสามารถสร้างรายได้ให้สมาชิกในครอบครัวหลักร้อยล้านหยวนต่อปีจนถึงปัจจุบัน

แม้จะคลุกคลีกับแวดวงธุรกิจมานานนับสิบปี โดยเมื่อหยิบจับอะไรก็เป็นเงินเป็นทองไปเสียหมด ทว่า ในช่วงต้นทศวรรษ 1990 หลี่ก็ประสบกับความผิดหวังและความล้มเหลวทางธุรกิจครั้งใหญ่ นั่นคือ การที่เขานำเงินไปลงทุนในภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่กำลัง ร้อนแรงที่เกาะไหหลำ แต่ท้ายที่สุดเขาต้องสูญเงิน ไปหลายสิบล้านหยวนภายในระยะเวลา 2 ปี และต้องตัดสินใจล่าถอยจากสิ่งที่เขาไม่ถนัด

"ตอนที่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ไหหลำกำลังบูมๆ ผมหมดเงินไปหลายสิบล้านหยวน..." หลี่เล่า และว่าความพ่ายแพ้ครั้งนั้นได้ให้บทเรียนกับตัวเขาว่า เขาคงไม่มีหัวการค้าในเรื่องการเก็งกำไร ทำได้ก็แต่ธุรกิจในภาคการผลิตเท่านั้น

เมื่อประสบความล้มเหลวกับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ในปี 2537 (ค.ศ.1994) เศรษฐีหนุ่มในวัย 30 ก็กลับเข้ามาสร้างธุรกิจใหม่ภาคอุตสาหกรรม ด้วยการตั้งโรงงานผลิตรถมอเตอร์ไซค์ภายใต้ยี่ห้อ "โชคดี" หรือในภาษาจีนคือ "จี๋ลี่ (Geely)" ซึ่งเป็นโรงงานที่เขาต่อยอดมาจากโรงงานผลิตชิ้นส่วนมอเตอร์ไซค์ เหมือนกับที่เขาเคยทำกับโรงงานผลิตตู้เย็น

เพียงสองปีหลังจากตั้งโรงงานเริ่มผลิตมอเตอร์ไซค์คันแรก ในปี 2539 (ค.ศ.1996) มอเตอร์ไซค์และสกูตเตอร์ยี่ห้อจี๋ลี่ก็ได้รับความนิยมอย่างสูง โดยมียอดจำหน่ายหลายแสนคันต่อปี

กระนั้นเดือนมิถุนายน 2539 ในการเดินทาง ไปยังเมืองหลินไห่ เมืองเล็กๆ ทางตอนเหนือของไถโจวเพื่อดูสถานที่ตั้งโรงงานแห่งใหม่ เพื่อขยายกำลังการผลิตรถมอเตอร์ไซค์ หลี่ ซูฝูก็สร้างความตกตะลึงให้กับลูกน้องคนสนิทอีกครั้ง เมื่ออยู่ๆ เขาก็ชี้ไปยังที่ดินที่ตามแผนจะถูกสร้างเป็นโรงงานมอเตอร์ไซค์ และเอ่ยขึ้นว่า "ที่ตรงนี้ พวกเราจะเอามาผลิตรถยนต์"

อัน ชงฮุ่ย (An Conghui) คนสนิทของหลี่ ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองประธานกลุ่มจี๋ลี่เล่าว่า ในเวลานั้นธุรกิจผลิตรถมอเตอร์ไซค์จี๋ลี่นั้นดีมาก เพราะมียอดจำหน่ายปีละหลายแสนคัน แต่สำหรับคนจีนแล้วการผลิตรถยนต์เป็นเรื่องที่ลึกลับซับซ้อนกว่า เพราะเป็นอุตสาหกรรมที่ต้องใช้เทคโนโลยีในการผลิตสูงมาก ด้วยเหตุนี้เขาจึงถามเจ้านาย พร้อมกับชี้ไปยังรถกระบะที่จอดติดไฟแดงอยู่ข้างหน้าว่า "ที่เราจะทำนี่คือรถปิกอัพใช่ไหม?"

คำถามของลูกน้องคนสนิทถึงกับทำให้หลี่ฉุนกึ๊ก และยกมือขึ้นตบเบาะนั่งรถเบนซ์อันหรูหราและว่า "ไม่ใช่ เราจะทำรถเบนซ์แบบที่นั่งกันอยู่นี่แหละ!"

จากนั้นไม่นาน หลี่ก็เริ่มฉายแววเจ้าฉายา "ไอ้บ้าแห่งวงการรถยนต์" เมื่อออกมาประกาศว่า "รถยนต์ก็แค่ไอ้ล้อ 4 ล้อ กับโซฟา 2 ตัว ที่ครอบด้วยเหล็ก 1 ชิ้น"

ทว่า ปลายปี 2541 (ค.ศ.1998) ฝันของไอ้บ้าแห่งวงการรถยนต์ก็เป็นความจริง เมื่อรถยนต์จี๋ลี่ รุ่นหาวฉิง (Haoqing) คันแรกได้ออกจากสายพานการผลิต รถยนต์จี๋ลี่รุ่นแรกถูกคนในแวดวงรถยนต์หัวเราะและเยาะเย้ย ส่วนตัวเขาเองก็เกือบสิ้นเนื้อประดาตัวไปกับธุรกิจรถยนต์ เนื่องจากปัญหาเชิงเทคนิคและอุปสรรคเรื่องกฎหมาย แต่เมื่อหลี่สามารถจับจุดได้ว่า ตลาดรถยนต์ในจีนกำลังเติบโตและคนจีนกำลังต้องการรถยนต์ผลิตในประเทศที่ราคาสมเหตุสมผล จี๋ลี่รุ่นต่อๆ มาจึงขายดีเป็นเทน้ำเทท่า

จากสถิติปีที่แล้ว (2552) จี๋ลี่มียอดขายรถยนต์ทั้งสิ้น 329,100 คัน ซึ่งถือว่าใกล้เคียงกับตัวเลขยอดขายทั่วโลกของวอลโว่ในปีเดียวกันที่อยู่ที่ ประมาณ 335,000 คัน แต่ทิศทางและอนาคตของแบรนด์ทั้งสองกลับแตกต่างกัน เพราะขณะที่จี๋ลี่เพิ่มเป้าว่าในปีนี้ (2553) จะขายรถให้ได้ 421,000 คัน หรือเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 25 และตั้งเป้าในระยะ 5 ปีข้างหน้าว่าจะสูงถึง 2 ล้านคัน ในปี 2558 (ค.ศ.2015) แต่วอลโว่กลับสูญเสียส่วนแบ่งตลาดสำคัญคือยุโรปกับสหรัฐฯ ทั้งยังต้องดิ้นรนให้หลุดพ้นจากภาวะการขาดทุนอย่างต่อเนื่อง

จนในที่สุดก็นำมาสู่จุดที่บริษัทรถยนต์ยักษ์ใหญ่อันดับ 2 ของสหรัฐฯ อย่างฟอร์ด ต้องนำแบรนด์รถยนต์เก่าแก่ของสวีเดนมาขายให้กับบริษัทผลิตรถยนต์เอกชนจากจีนที่มีอายุเพียง 12 ปี

จากข่าวการเทกโอเวอร์วอลโว่โดยจี๋ลี่ แม้นักวิเคราะห์หลายฝ่ายทั้งฝรั่ง จีนและไทยจะออกมา สบประมาทและเปรียบเทียบว่า รอยยิ้มของหลี่ ซูฝู ในวันเซ็นสัญญาอาจจะคงอยู่ได้ไม่นาน เพราะปัญหา ที่เขาต้องประสบในอนาคตนั้นไม่เพียงเป็นปัญหาทางด้านการเงินที่เขาไม่เพียง ต้องจ่ายเงิน 1,800 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อซื้อกิจการที่ "ข้างนอกสุกใส ข้างในเป็นโพรง" โดยเมื่อเร็วๆ นี้บอร์ดวอลโว่เพิ่งกระทุ้งเจ้านายใหม่ว่า ต้องรีบอัดฉีดเงินอีก 1,400 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 46,000 ล้านบาท) เข้ามาฟื้นฟูกิจการวอลโว่โดยด่วน ขณะที่ปัญหาอื่นๆ อย่างเช่น ขั้นตอนของการควบรวมกิจการต่างชาติที่ละเอียดอ่อน ปัญหาความแตกต่างเรื่องวัฒนธรรมองค์กรกับคนงานวอลโว่ที่มีอยู่กว่าสองหมื่นคน เป็นต้น ก็รอจ่อคอหอยให้ชายชาวจีนวัย 47 คนนี้ทุบโต๊ะตบเบาะอยู่

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิเคราะห์ชายที่ชื่อ "หลี่ ซูฝู" ผู้ที่ไม่เพียงมีตลาดรถยนต์อันดับหนึ่งของโลกเป็นหลังพิง, มีรัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่เปิดไฟเขียวในการควบรวมกิจการและประกาศหนุนหลังอย่างเต็มที่ แต่ยังมีแนวคิดที่แหวกแนวและยกขึ้นวางลงเรื่องราวต่างๆ ได้โดยไม่ยึดติด...

"ผมมาจากไร่จากนา คุณรู้ไหมว่าไร่นาเป็นยังไง... ในไร่ ในนามีปลากด มีกบเขียด มีงู มีปลา มีสิ่งโน้นสิ่งนี้ ผมเติบโตขึ้นมาในสภาพแวดล้อมอย่างนี้แหละ ลองบอกสิว่าผมจะกลัวอะไร แพ้ก็ไม่เป็นไร ก็กลับบ้าน ผมก็กลับไปทำนา กลับไปเลี้ยงปลา เลี้ยงกุ้ง ใช่ไหม? มีที่สัก 2 ไร่จีน (1 ไร่จีน = 666.7 ตารางเมตร) ไร่หนึ่งปลูกผัก อีกไร่หนึ่งปลูกข้าว แล้วจะกลัวอะไร แค่นี้ก็มีดื่มมีกินแล้ว"

ใช่ครับ! นี่แหละประโยคที่ผมคิดว่าสามารถถ่ายทอดตัวตนของชายผู้ไม่มีอะไรจะเสีย ชนะก็ดีไป แพ้ก็กลับบ้านไปทำไร่ทำนา ผู้นี้ได้ชัดเจนที่สุด... ชายผู้นี้คือ หลี่ ซูฝู ไอ้บ้าแห่งวงการรถยนต์จีนและเจ้านายคนใหม่ของวอลโว่

ข้อมูลอ้างอิงจาก:
- หนังสือหลี่ ซูฝู ไอ้บ้าแห่งวงการรถยนต์
- Man in the News: Li Shufu, FT.com, 26 Mar 2010.
- , Business Times 20 Mar 2010.
- http://baike.baidu.com/view/99375.htm

อ่านเพิ่มเติม :
- เมื่อ London Black Cabs เปลี๊ยนไป๋! นิตยสารผู้จัดการ ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2549
- โรงแรมอังกฤษ Made in Shenzhen นิตยสารผู้จัดการ ฉบับเดือนมิถุนายน 2551


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.