อนาคตของอภิมหาโครงการหรู


นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( พฤษภาคม 2553)



กลับสู่หน้าหลัก

อนาคตของอภิมหาโครงการหรู ฝากไว้กับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและชนชั้นกลางเศรษฐีใหม่

CityCenter อภิมหาโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์สุดหรูที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐฯ มูลค่า 8.5 พันล้านดอลลาร์ ตั้งอยู่ในลาสเวกัส เป็นโครงการของบริษัท MGM Mirage ออกแบบให้เป็นสุดยอดของการท่องเที่ยวพักผ่อนอย่างหรูหรา ด้วยพื้นที่มหึมาเกือบ 5.7 ล้านตารางเมตร ได้รวมไว้ซึ่งความหรูหราสะดวกสบายทุกอย่าง ตั้งแต่โรงแรม คอนโด สปา ภัตตาคารหรู ไปจนถึงพื้นที่ชอปปิ้งขนาด 18,000 ตารางเมตร ซึ่งรวมถึงร้านแบรนด์เนมดังอย่าง Louis Vuitton และ Prada ที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐฯ วัฒนธรรมและความบันเทิงคือจุดขายของที่นี่ ไม่ใช่กาสิโนซึ่งเราต้องนึกถึงเสมอเมื่อพูดถึงลาสเวกัส สถาปนิกและศิลปินชั้นนำอย่าง Maya Lin, Jenny Holzer, Claes Odenburg และ Frank Stella ถูกระดมมาสร้างสรรค์งานสถาปัตยกรรมและศิลปะชั้นสูง เพื่อคอมเพล็กซ์หรูขนาด ยักษ์แห่งนี้โดยเฉพาะ ซึ่งรวมถึงแม่น้ำโคโลราโดจำลองสีเงินยวง ที่อยู่เหนือศีรษะบริเวณต้อนรับของโรงแรมและกาสิโน Aria ซึ่งเป็นกาสิโนเพียงแห่งเดียวในคอมเพล็กซ์แห่งนี้

แต่หลังจากเปิดตัวในปี 2006 ทุกอย่างก็เริ่มพังทลาย เกิดปัญหาสวัสดิภาพของคนงานกับสหภาพแรงงาน MGM ถูกหุ้นส่วนใหญ่คือ Dubai World ฟ้องว่าละเมิดสัญญา และระงับเงินทุนสนับสนุนชั่วคราว เศรษฐกิจฟุบ ซึ่งรวมไปถึงการท่องเที่ยวด้วย จำนวนนักท่องเที่ยวที่ไปเยือนคอมเพล็กซ์ยักษ์แห่งนี้ลดลง 3% ในปี 2009 และจำนวนลูกค้าศูนย์ประชุมตกฮวบลงเกือบ 24% อย่างไรก็ตาม MGM และ Dubai World ยังคงเดินหน้าต่อไป และเปิดตัวโรงแรม Aria จนได้ในที่สุด ในวันที่ 16 ธันวาคมปีที่แล้ว

CityCenter คือตัวแทนของโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์แนวใหม่ที่การลงทุนมีความเสี่ยงสูง ในตลาดโครงการอสังหาริมทรัพย์ขนาดยักษ์แบบรวมทุกสิ่งทุกอย่างไว้ในที่เดียว โดยวางตำแหน่งเป็นศูนย์กลางการใช้ชีวิตในระดับภูมิภาค อภิมหา โครงการแบบนี้ มีเพียงไม่กี่แห่งทั่วโลก โดยมีลักษณะคล้ายๆ กันคือ เป็นโครงการที่วางแผนมาตั้งแต่ก่อนที่จะเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ และหวังจะใช้นวัตกรรมเป็นจุดขายที่จะจับตลาด niche กลุ่มใหม่ โดยหวังผลกำไรระยะยาว โดยฝากความหวังไว้กับการที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ชี้ว่า เศรษฐกิจจะเริ่มดีขึ้นตลอดปี 2010 นี้ และจะเริ่มฟื้นตัวอย่างเต็มที่ในปี 2011

อภิมหาโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์แบบ CityCenter มีจุดขายที่ความหลากหลายของการเสนอสินค้าทางวัฒนธรรมทันสมัยชั้นสูง ลูกค้าจะได้พบกับสินค้าแบรนด์เนมหรูหราและได้รับประสบการณ์การใช้ชีวิตซึ่ง จะพบได้ก็แต่ในเมืองที่หรูหราอย่างนิวยอร์กและลอนดอนเท่านั้น ส่วนนักลงทุนที่ลงทุนในอภิมหาโครงการแบบนี้ต้องรับความเสี่ยงสูง แต่รางวัลตอบแทนก็จะสูงไม่แพ้กัน และยังเป็นการลงทุนในระยะยาว กลยุทธ์การลงทุนดังกล่าวดูจะเหมาะสมกับโลกในยุคที่เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัวพอดี ขนาดที่ใหญ่โตมโหฬารของโครงการ ทำให้เสนอสินค้าได้อย่างหลากหลายในหลายระดับราคา อย่างเช่นอัตราค่าห้องพักในโรงแรม ทำให้ลูกค้ารู้สึกมีความคุ้มค่าราคา อันเป็นจุดสำคัญที่ทำให้อภิมหา โครงการสุดหรูแบบใหม่นี้ แตกต่างไปจากรีสอร์ตหรูหราแบบดั้งเดิม ทั่วไป และถือเป็นจุดแข็งของอภิมหาโครงการอย่าง CityCenter แห่งนี้

นักลงทุนกำลังจะได้รับผลตอบแทนกลับคืนในเร็วๆ นี้ ในเดือนธันวาคม นักท่องเที่ยวที่ไปเยือนลาสเวกัส ที่ตั้งของ CityCenter เพิ่มขึ้น 1.5% แม้จะเป็นตัวเลขที่ไม่มาก แต่เป็นการเพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน นอกจากนี้ อัตราการเข้าพักในโรงแรม Aria ในเดือนเดียวกัน ก็มีมากถึง 68.2% Jim Murren ประธานและ CEO ของ MGM Mirage เชื่อว่า สิ่งสำคัญตอนนี้คือการสร้าง CityCenter ให้ดีที่สุด และไม่ห่วงว่าจะไม่มีลูกค้า

แม้ว่าปัญหาหนี้ท่วมของ Dubai World ในปี 2009 จะทำให้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนสั่นคลอนอย่างหนัก แต่ก็ไม่อาจหยุดยั้งการที่ห้องพักใหม่ถึง 10,500 ห้อง จะออกสู่ตลาดในปีนี้ อุตสาหกรรมท่องเที่ยวนับเป็นหนึ่งในภาคธุรกิจที่ฟื้นตัวรวดเร็วที่สุดของดู ไบ โดยหดตัวเพียง 5.7% เท่านั้น ในไตรมาส 3 ของปี 2009 แม้ว่าตลาดอสังหาริมทรัพย์ในดูไบเองจะยังย่ำแย่ก็ตาม แต่นักท่องเที่ยวกลับยังต้องการที่จะได้รับความเพลิดเพลิน และแสวงหาความสุขจากความหรูหราฟู่ฟ่าของดูไบ โดยเฉพาะอาคาร Burj Khalifa ที่สูงที่สุดในโลก นอกจากนี้ ดูไบยังมีหนึ่งในโรงแรม ใหม่ที่โดดเด่นที่สุดและดึงดูดนักท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี คือโรงแรม หรูแห่งแรกของ Giorgio Armani ซึ่งมีห้องพัก 160 ห้อง ที่พักอาศัย 144 ห้อง ภัตตาคาร 8 แห่ง สปา และชอปปิ้งอาเขต โรงแรมแห่งนี้นับเป็นสัญลักษณ์ของการลงทุนที่ตะวันตกลงทุนกับอนาคตของดูไบ

ในเอเชียก็มีรีสอร์ตยักษ์แห่งใหม่ผุดขึ้นที่สิงคโปร์กับมาเก๊า Resorts World Sentosa dy Marina Bay Sands ซึ่งสิงคโปร์เพิ่งเปิดตัวในเดือนเมษายน จะเป็นกาสิโนแห่งแรกของสิงคโปร์ ซึ่งมีทั้งโรงแรมมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ และอาณาจักรแห่งการพักผ่อนและบันเทิง Thomas Arasi CEO ของ Marina Bay Sands เชื่อมั่นว่า เวลานี้เป็นเวลาเหมาะที่สุดในการเปิดตัวรีสอร์ตดังกล่าว เพราะเศรษฐกิจทั่วเอเชียกำลังฟื้น และมีความต้องการท่องเที่ยวมากขึ้นในเอเชีย การท่องเที่ยวยังจะช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นเร็วด้วย

มาเก๊าซึ่งเจริญรอยตามลาสเวกัสมานานแล้ว ก็มี City-Center ของตัวเองเช่นกัน นั่นคือโครงการ City of Dreams มูลค่า 2.1 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งมีโรงแรมใหม่ Grand Hyatt Macau แม้จะเริ่มสร้างในช่วงที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจพอดี แต่จำนวนนักท่องเที่ยวและรายได้ของ City of Dreams ก็เริ่มกระเตื้องขึ้นแล้ว

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าอนาคตในระยะยาวของบรรดาอภิมหา โครงการอสังหาริมทรัพย์สุดหรูเหล่านี้จะดูสดใส แต่ในระยะสั้นยังคงต้องหาทางดิ้นรนเอาตัวรอด และการเปลี่ยนเจ้าของอาจช่วยได้ มีการคาดเดากันว่า Harrah หรือเจ้าของกาสิโนอื่นๆ อาจเข้าซื้อหุ้นใน Melco Crown บริษัทแม่ของ City of Dreams แต่การเปลี่ยนแปลงใดๆ คงจะไม่กระทบถึงความต้องการของลูกค้า เพราะการที่ยังมีการลงทุนเพิ่ม แสดงว่านักลงทุนยังเชื่อมั่นในอนาคตของโครงการ

นอกจากนี้ ลูกค้าจำนวนมากยังมาจากประเทศที่แทบไม่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจเลย ทำให้โครงการขนาดยักษ์เหล่านี้เหมือนกับมีฉนวนป้องกันความต้องการที่ตกต่ำ และยังคงเป็นจุดหมายปลายทางที่น่าดึงดูดสำหรับชนชั้นกลางเกิดใหม่ ซึ่งมีความกระสันต์ที่จะขยายประสบการณ์การท่องเที่ยวพักผ่อนแบบหรูหรา

แปล/เรียบเรียง เสาวนีย์ พิสิฐานุสรณ์
เรื่อง นิวสวีค


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.