|
ประชาธิปไตยกำลังตาย
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( พฤษภาคม 2553)
กลับสู่หน้าหลัก
เสรีภาพทางการเมืองกำลังลดลงทั่วโลก และส่วนหนึ่งเป็นความผิดของชนชั้นกลาง
เสรีภาพทางการเมืองเบ่งบานในชาติกำลังพัฒนาตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1990 จนถึงต้นศตวรรษนี้ แม้ว่าผู้นำเผด็จการจะยังคงครองอำนาจในแอฟริกา ยุโรปตะวันออก และเอเชียในปี 1990 แต่ก่อนถึงปี 2005 ประชาธิปไตยก็ได้เริ่มเกิดขึ้นในทวีปเหล่านั้นแล้ว สหภาพโซเวียตล่มสลายกลายเป็นรัสเซีย ซึ่งกลายเป็นสังคม ที่อิสรเสรี จนแทบไม่เหลือเค้าของอดีตโซเวียตเลย Saddam Hussein และตอลิบันถูกโค่น กองทัพหยุดแทรกแซงการเมืองในตุรกี อิหร่านได้ประธานาธิบดีหัวปฏิรูปอย่าง Mohammad Khatami และแม้กระทั่งในตะวันออกกลาง ซึ่งมักล้าหลังเสมอในการปฏิรูปประชาธิปไตย ก็ยังไม่ตกกระแสประชาธิปไตยในช่วงนั้น ในปี 2005 Freedom House สำรวจพบว่า มีเพียง 9 ประเทศเท่านั้นที่ประสบปัญหาประชาธิปไตยตกต่ำ
แต่ในปีที่แล้ว (2009) Freedom House กลับพบว่ามีถึง 40 ประเทศในแอฟริกา ละตินอเมริกา ตะวันออกกลางและรัสเซีย ที่ประชาธิปไตยกำลังก้าวถอยหลัง และจำนวนประเทศประชาธิปไตยลดลงเหลือเพียง 116 ประเทศ ซึ่งนับว่าต่ำที่สุดตั้งแต่ปี 1995 เป็นต้นมา
สิ่งที่น่าแปลกใจคือ ผู้ที่ทำให้ประชาธิปไตยตกต่ำไม่ใช่ใครอื่น หากแต่เป็นชนชั้นกลาง ซึ่งเคยขับไล่ผู้นำเผด็จการออกจากอำนาจ แต่มาบัดนี้พวกเขากำลังรู้สึกว่า การพยายามลงหลักปักฐานประชาธิปไตยในประเทศของพวกเขา ช่างเป็นเรื่องยากเย็น และกลับไปถวิลหาผู้นำเผด็จการอย่างในอดีต
เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น ในหลายกรณีเป็นเพราะผู้นำการเมือง ในยุคแรกๆ ของประเทศที่ประชาธิปไตยเบ่งบานในช่วงทศวรรษ 1990 นั้น ไม่เคยตระหนักว่า สังคมเสรีจำเป็นต้องมีสถาบันที่เข้มแข็ง มีฝ่ายค้านที่ทำหน้าที่อย่างซื่อสัตย์ และประชาธิปไตยคือการประนีประนอม แต่กลับเห็นว่าประชาธิปไตยเป็นเพียงการออกเสียงเลือกตั้งเท่านั้น หลังจากพวกเขาชนะเลือกตั้ง ก็ใช้เครื่องมือแห่งอำนาจทุกอย่างที่มี เพื่อครอบงำประเทศให้ได้และเอื้อประโยชน์ให้แก่วงศ์วานว่านเครือและพวกพ้อง ของตัวเอง การตีความประชาธิปไตยอย่างแคบๆ ว่าเป็นเพียงการเลือกตั้ง ไม่เพียงบิดเบือนความหมายที่แท้จริงของประชาธิปไตย แต่ยังทำให้ประชาชนในหลายประเทศเกิดความแหนงหน่ายในประชา ธิปไตย จนถึงขั้นชิงชังรังเกียจบรรดานักประชาธิปไตยประเภทนี้ ที่ดูเหมือนจะไม่ได้มีความดี มากไปกว่าผู้นำเผด็จการในอดีตแม้แต่น้อย
ส่วนชาติตะวันตกเอง หลังจากเหตุวินาศกรรมครั้งใหญ่ 9/11 ก็หันเหความสนใจจากการเผยแพร่ประชาธิปไตยอย่างในช่วงทศวรรษ 1990 ไปมุ่งเน้นแต่การทำสงครามต่อต้านการก่อการร้าย และแทบไม่เคยพูดอะไรเกี่ยวกับปัญหาประชาธิปไตยตกต่ำในประเทศที่ประชาธิปไตย ยังอ่อนเยาว์ นอกจากนี้ บางครั้ง ผู้นำเผด็จการอย่างในกรณีของมาเลเซียกับปากีสถาน กลับมีประโยชน์กับตะวันตกมากกว่า ผู้นำเผด็จการช่วยสหรัฐฯ ขังลืมผู้ต้องสงสัยก่อการร้ายได้ ส่วนการที่รัฐบาลอเมริกันสมัย Bush พยายามโยงสงครามอิรักกับการส่งเสริมประชาธิปไตย ก็มีส่วนทำให้ประชาธิปไตยมัวหมอง โดยเฉพาะในสายตาของชาวตะวัน ออกกลาง
วิกฤติเศรษฐกิจโลกยิ่งทำให้ประชาธิปไตยคลายมนต์เสน่ห์ ในความคิดของชนชั้นกลางจำนวนมากในประเทศกำลังพัฒนาความเจริญของประชาธิปไตย กับความเจริญของระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมเป็นเรื่องเดียวกัน แต่วิกฤติเศรษฐกิจกลับทำให้รายได้ของพวกเขาหดหาย และหลายคนกลับโทษด้วยซ้ำว่า เป็นความผิดของประชาธิปไตยที่ทำให้เศรษฐกิจตกต่ำ ประธานาธิบดี Leonel Fernandez แห่งสาธารณรัฐโดมินิกัน ถึงกับกล่าวชัดว่า ชาวละตินอเมริกาตาสว่างแล้วว่า ประชาธิปไตยล้มเหลวในการเพิ่มความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ
ผลก็คือ ประชาธิปไตยกำลังเสื่อมทรามลงในเกือบทุกทวีป ในอิรัก ผู้นำรุ่นหลังยุค Saddam ใช้การข่มขู่คุกคามเป็นเครื่องมือเอาชนะคู่แข่งทางการเมือง และก้าวขึ้นสู่ระดับสูงสุดของระบบการเมืองการเลือกตั้งอิรักล่าสุดที่เพิ่ง ผ่านไปเมื่อไม่กี่เดือนก่อน ปรากฏว่า จำนวนผู้ออกไปใช้สิทธิ์ลดลงจากการเลือกตั้งครั้งแรกเมื่อปี 2005 ในฟิลิปปินส์ ประธานาธิบดี Gloria Macapagal Arroyo ประกาศกฎอัยการศึกเมื่อปี 2006 และสมัยของเธอมีแต่ข่าวการลักพาตัว และสังหารนักเคลื่อนไหวทางการเมืองฝ่ายซ้าย โดยฝีมือของกองกำลังความมั่นคง ในกัมพูชา นายกรัฐมนตรี Hun Sen และพรรคของเขา ซึ่งมาจากการเลือกตั้ง ใช้การฟ้องคดีหมิ่นประมาทในศาล ซึ่งถูกกล่าวหาว่าอยู่ใต้อาณัติของเขา และการทุบตีและสังหารนักเคลื่อนไหวทางการเมือง เป็นเครื่องมือควบคุมระบบการเมืองกัมพูชาอย่างเบ็ดเสร็จ
ในรัสเซีย เริ่มตั้งแต่ปี 2000 Vladimir Putin ฉวยโอกาสที่ชาวรัสเซียกำลังโกรธแค้นที่เศรษฐกิจของรัสเซียพังทลายในช่วง ทศวรรษ 1990 ผลักดันการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ซึ่งล้วนแต่ทำลายโอกาสใดๆ ในการสร้างประชาธิปไตยที่แท้จริงให้เกิดขึ้น ในรัสเซีย เขายกเลิกรัฐบาลท้องถิ่นที่มาจากการเลือกตั้ง และใช้วิธีแต่งตั้งแทน เข้าควบคุมพรรคการเมืองอิสระเกือบทั้งหมด และควบคุมสื่อส่วนใหญ่ Hugo Chavez แห่งเวเนซุเอลาใช้ความมั่งคั่งที่ได้จากการขายน้ำมันของ ชาติ มาทำให้ตัวเองเป็นที่นิยมของคนยากจนมานานกว่า 10 ปี เขาชนะเลือกตั้งครั้งแล้วครั้งเล่า และเปลี่ยนแปลงสถาบันทางการเมืองแทบทั้งหมด ให้มาเป็นพวกเดียวกับเขา ด้วยการปิดสื่ออิสระ เอาพรรคพวกของตัวเองเข้าไปอยู่ในรัฐวิสาหกิจต่างๆ และใช้ประชามติเป็นเครื่องมือยกเลิกการจำกัดวาระการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ของเขา
ในแอฟริกาหลายชาติ นักการเมืองที่เรียกว่าเป็นหัวปฏิรูป อย่างเช่นประธานาธิบดี Mwai Kibaki ของเคนยา ซึ่งก้าวขึ้นสู่อำนาจด้วยคำสัญญาว่า จะส่งเสริมเสรีภาพทางการเมืองอย่างแท้จริง แต่เมื่อได้อำนาจแล้ว ก็กลับใช้อำนาจปราบปรามฝ่ายตรง ข้าม และเอาแต่พวกพ้องของตัวเอง
แต่ตัวอย่างของประเทศที่ประชาธิปไตยตกต่ำอย่างเห็นได้ชัดเจนที่สุดคือไทย จากการวิเคราะห์ของ Joshua Kurlantzick ผู้เชี่ยวชาญด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จาก Council on Foreign Relations ศูนย์วิจัยด้านนโยบายต่างประเทศในสหรัฐฯ ซึ่งระบุว่า จากที่ไทยเคยถูกมองในช่วงทศวรรษ 1990 ว่า เป็นหนึ่งในประเทศประชาธิปไตยรุ่นเยาว์ที่ดูมีอนาคตมากที่สุดในโลก แต่นับแต่นั้นเป็นต้นมา ไทยกลับกลายเป็นหนึ่งในประเทศที่ประชาธิปไตยตกต่ำ มากที่สุดในโลก ในทศวรรษ 1990 ไทยได้ผ่านกฎหมายรัฐธรรมนูญ ที่ก้าวหน้ามากที่สุดฉบับหนึ่งในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา มีการสร้างวัฒนธรรม NGO ที่เข้มแข็งไม่น้อยหน้าตะวันตก และกำเนิด สื่อมวลชนที่มีความเป็นอิสระ ซึ่งสามารถขุดคุ้ยเรื่องอื้อฉาวได้มากมาย ในปี 2001 พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อภิมหาเศรษฐีด้านโทรคมนาคมของไทย ชนะการเลือกตั้ง โดยโหนกระแส ที่คนไทยกำลังไม่พอใจวิกฤติการเงินเอเชีย ซึ่งทำให้เศรษฐกิจไทยพังพินาศ เขาสัญญาจะฟื้นเศรษฐกิจและริเริ่มโครงการสวัสดิการสังคมแก่คนยากจน ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ แต่ถูกละเลยมาตลอดจากนักการเมืองไทยที่มาจากชนชั้นนำ เมื่อได้เป็นนายกรัฐมนตรี เขาทำตามคำสัญญาที่ให้ไว้ตอนหาเสียง คือการให้สวัสดิการรักษาพยาบาลแก่คนยากจน และการให้เงินกู้ในแต่ละหมู่บ้าน เพื่อทำให้เศรษฐกิจไทยกลับมาเติบโต เขายังพยายามแสดงว่า รับฟังความทุกข์ยากของคนจน ด้วยการจัด ครม.สัญจรไปแต่ละหมู่บ้าน เพื่อรับฟังความทุกข์ร้อนของประชาชนด้วยตนเอง แม้กระทั่งในเรื่องที่เล็กน้อยที่สุด
แต่ทักษิณก็หาใช่คุณูปการสำหรับประชาธิปไตยของไทย อย่างที่เขาดูเหมือนจะเป็นในตอนแรก ตรงข้าม แม้ว่าเขาจะขยายการคุ้มครองด้านสังคมให้แก่คนยากจน แต่ขณะเดียวกัน เขาก็ได้ ทำลายสถาบันประชาธิปไตยที่ยังอ่อนเยาว์ของไทย ครอบงำระบบ ข้าราชการและตุลาการ ด้วยการปลดนักคิดที่เป็นอิสระ แล้วเอาพวกพ้องของตัวเองเข้าไปแทน เขายังถูกกล่าวหาว่าปิดปากสื่อมวลชน ด้วยการให้พรรคพวกซื้อตัวสื่อ และไม่ให้เขียนวิพากษ์วิจารณ์เขา การประกาศสงครามกับยาเสพติด ทำให้เขาถูกกล่าว หาจากกลุ่มสิทธิมนุษยชนทั้งในไทยและระหว่างประเทศว่า ยอมให้มีการวิสามัญฆาตกรรมและการอุ้มฆ่าโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ อย่างเช่นการหายตัวไปของทนายสมชาย นีละไพจิตร ทนายความ และนักเคลื่อนไหวสิทธิมนุษยชน มีคนมากกว่า 2,500 คน ตายอย่างเป็นปริศนาในระหว่างสงครามยาเสพติด
Michael Montesano ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองไทยจากสถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาในสิงคโปร์กล่าวว่า ทักษิณคล้ายคลึงกับผู้นำประเทศในละตินอเมริกา อย่างเช่น Juan Peron มากกว่าจะเป็นนักการเมืองประชาธิปไตย
ส่วน Kurlantzick ระบุว่า ผลอย่างหนึ่งที่ไม่น่าเป็นไปได้ แต่ก็เป็นไปแล้ว จากการมีนักการเมืองแบบนี้ในประเทศที่ประชา ธิปไตยตกต่ำ คือการที่ชนชั้นกลางซึ่งครั้งหนึ่งเคยส่งเสริมเสรีภาพทางการเมือง กลับเปลี่ยนไปพึ่งวิธีการนอกกฎหมาย และไม่เป็นประชา ธิปไตย เพื่อที่จะปกป้องประชา ธิปไตยนั้นเอง ตัวอย่างเช่นชนชั้นกลางไทยในเมือง ซึ่งผิดหวังกับการ ที่ทักษิณใช้อำนาจในทางมิชอบ แต่แทนที่จะท้าทายเขาผ่านกระบวนการประชาธิปไตย เช่น การหันไปสนับสนุนพรรคฝ่ายค้าน หรือตั้งหนังสือพิมพ์เอง แต่พวกเขากลับทำลายประชาธิปไตย ด้วยการยึดสถานที่ราชการ และเรียกร้องให้กองทัพทำรัฐประหาร เพื่อปกป้องประชาธิปไตย เพื่อที่จะขับทักษิณ และพวกพ้องออกจากอำนาจ ผู้ประท้วงพยายามทำให้กรุงเทพฯ เป็นอัมพาตในปี 2006, 2007 และ 2008 ปิดล้อมรัฐสภาและยึดสนามบิน หลายคนเรียกร้องให้กองทัพเข้ามาแทรกแซง หรือขอรัฐบาลพระราชทาน เพื่อฟื้นหลักนิติธรรมและต่อต้านการคอร์รัปชั่น ซึ่งผู้ประท้วงระบุว่า เลวร้ายลงในยุคของทักษิณ "เราต้องปกป้องประชาธิปไตย แม้ว่าจะหมายถึงการข้ามการเลือกตั้งไปก็ตาม" นักการทูตไทยซึ่งเข้าใจผู้ประท้วงต้านทักษิณกล่าว ในที่สุด ผู้ประท้วงได้ตามที่หวัง ทักษิณต้องอยู่นอกประเทศ และศัตรูการเมืองของเขาได้ครองอำนาจ พร้อมๆ กับประชาธิปไตยของไทยพังทลาย
แต่เหตุการณ์ทำนองเดียวกันนี้ไม่ได้เกิดขึ้นในไทยเท่านั้น ผู้ประท้วงชนชั้นกลางในโบลิเวีย ได้เริ่มรณรงค์ต่อต้านรัฐบาลประธานาธิบดี Evo Morales ผู้นำโบลิเวียที่ก้าวขึ้นมาจากผู้นำสหภาพแรงงาน ซึ่งพยายามกระจายความมั่งคั่ง ยึดกิจการเอกชนเป็นของรัฐ และใช้ประชามติเพิ่มอำนาจให้กับตัวเอง ในฟิลิปปินส์ ซึ่งประชาชนเคยรวมพลังโค่นล้มผู้นำเผด็จการอย่าง Ferdinand Marcos ได้สำเร็จ ชนชั้นกลางในกรุงมะนิลาได้รวมพลังกันอีก เพื่อขับ Joseph Estrada ซึ่งชนะเลือกตั้งอย่างถล่มทลายและเป็นที่รักของคนจน แต่ถูกกล่าวหาว่าคอร์รัปชั่นอย่างมโหฬาร หลังจาก Estrada จากไป ผู้ประท้วงชนชั้นกลางยังพยายามจะขับ Macapagal Arroyo แต่ไม่สำเร็จ
ด้วยความผิดหวังกับผู้นำเผด็จการที่มาจากการเลือกตั้งและการคอร์รัปชั่น ทำให้นักเคลื่อน ไหวชนชั้นกลางในประเทศกำลังพัฒนาที่ยังมีประชาธิปไตยไม่แข็งแรง หวนกลับไปถวิลหาอดีตที่เคยอยู่ใต้ผู้นำเผด็จการ ในแอฟริกา การรัฐประหารที่เพิ่งเกิดขึ้นใน Mauritania และ Niger ได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีจากชนชั้นกลางในเมือง ผลสำรวจของ Asian Barometer ซึ่งคอยสำรวจทัศนคติของคนเอเชียที่มีต่อประชาธิปไตย พบว่า คนเอเชียไม่พอใจกับระบบประชาธิปไตยในประเทศตน และการสนับสนุนระบอบเผด็จการในเอเชียกำลังเพิ่มขึ้นแทนที่จะลดลง
อย่างในรัสเซีย แม้ Putin จะกำจัดสถาบันประชาธิปไตย ไปเกือบหมด แต่เขากลับยังได้รับความนิยมอย่างสูง จากทั้งชนชั้นกลางและประชาชนในภาคส่วนอื่นๆ ด้วยคะแนนนิยมสูงลิ่วชนิดที่ผู้นำประชาธิปไตยในโลกตะวันตก ได้แต่ฝันถึงเท่านั้น ในจีน ชนชั้นกลางในเมืองบอกว่า รู้สึกสบายดีกับการปกครองในแบบที่เป็นอยู่
การที่ชนชั้นกลางหันกลับมาทำลายประชาธิปไตยเสียเอง ด้วยการไม่รังเกียจรัฐประหาร และวิธีการที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ทำให้คนจนรู้สึกว่าถูกปล้นสิทธิ์ในการออกเสียงเลือกตั้ง และทำให้ยิ่งเกิดการประท้วงมากขึ้น อย่างเช่นในไทย ผู้ประท้วงที่เป็นคนยากจนได้เริ่มการประท้วงที่รุนแรง โดยมีเป้าหมายที่ชนชั้นกลาง ซึ่งขับทักษิณออกจากอำนาจ ในโบลิเวีย ผู้ประท้วงชนชั้นกลางที่ต่อต้าน Morales กำลังเผชิญกับความโกรธแค้นของผู้ประท้วงที่สนับสนุน Morales ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนจน ในฟิลิปปินส์ ซึ่งกำลัง จะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดี คนจนซึ่งโกรธแค้นที่ Estrada วีรบุรุษของพวกเขา ถูกชนชั้นกลางบีบให้ออกจากอำนาจ ออกมาประท้วงกันบ้างแล้ว และ Estrada ซึ่งออกจากคุกแล้ว กำลังได้รับการสนับสนุนจากคนจนมากขึ้นเรื่อยๆ ในการที่เขาจะลงสมัครประธานาธิบดีอีกครั้ง
การประท้วงต่อต้านการประท้วงเช่นนี้ นำไปสู่ความแตกแยกทางชนชั้น ซึ่งอาจต้องใช้เวลาอีกนานหลายชั่วอายุคน จึงจะกลับมาคืนดีได้ดังเดิม หลังจากมีประชาธิปไตยที่เปราะบาง มานานกว่า 10 ปี ขณะนี้สถาบันหลักของประชาธิปไตย ซึ่งก่อตั้งในช่วงทศวรรษ 1990 ถูกทำลายไปจนเกือบหมดสิ้น ส่วนที่ยังเหลืออยู่ก็แทบใช้การไม่ได้ เพราะไม่เหลือเครื่องมือใดๆ ที่จะสามารถแก้ไขปัญหาความขัดแย้งแตกแยกทางการเมืองได้
ในรัสเซีย ถึงแม้หากจะได้ผู้นำคนใหม่ที่ต้องการฟื้นเสรีภาพ แต่เขาก็จะต้องเผชิญกับระบอบ Putinesque และระบบราชการ ซึ่งรวมศูนย์อำนาจทั้งหมดไว้ที่รัฐบาลกลาง ส่วนในไทย ถึงแม้หาก นายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จะต้องการทำให้ไทยกลับไปมี เสรีภาพ เหมือนกับในช่วงทศวรรษ 1990 อีกครั้ง แต่เขาก็ไม่อาจจะทำได้ เพราะในยุคทักษิณและหลังจากการรัฐประหาร ผู้นำไทยได้ฉีกรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูป ทำลายระบบศาล และทำให้สื่อเข้าสู่การเมือง หนังสือพิมพ์ในไทยต่างเลือกข้างฝ่ายสนับสนุนหรือไม่ก็ฝ่ายต่อต้านทักษิณ Kurlantzick ชี้ว่า ไทยคงต้องใช้เวลา อีกหลายปี หรืออาจจะหลายสิบปีกว่าที่ผู้นำรุ่นใหม่ของไทย จะสามารถฟื้นระบบราชการ ระบบศาลและสถาบันอื่นๆ ได้ ด้วยบุคลากรที่ผ่านการอบรมเป็นอย่างดีและมีความเป็นกลาง
แต่ประเทศที่เป็นปัญหามากที่สุดอาจเป็นอิรัก ชาวอิรักมีความคาดหวังสูงหลังจาก Saddam ถูกโค่น แต่คนที่เคยสนับสนุนประชาธิปไตยกลับเปลี่ยนใจ หลังจากชนชั้นกลางอิรักได้เห็นความโกลาหลวุ่นวาย และการแย่งชิงอำนาจทางการเมืองในระบบการเมืองใหม่ เมื่อแนวคิดที่จะทำให้อิรักกลายเป็นประเทศประชาธิปไตยตัวอย่างสำหรับตะวัน ออกกลาง กลายเป็นเรื่องที่น่าหัวเราะ ชนชั้นกลางอิรัก โดยเฉพาะชาวสุหนี่ เริ่มโหยหาการกลับไปสู่ยุคผู้นำเผด็จการ แม้จะโหดร้ายเท่า Saddam ก็ยินยอม ผลสำรวจของ ABC News ในปี 2007 พบว่า มีชาวอิรักเพียง 43% ที่คิดว่า ประชาธิปไตยเป็นระบบการเมืองที่ดีที่สุดสำหรับอิรัก และการที่ชาวอิรักที่ออกไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งครั้งล่าสุดลดลงอย่างมาก เท่ากับย้ำว่าชาวอิรักยังไม่ได้มองประชาธิปไตยในทางที่ดีขึ้น และถึงแม้ประชาธิปไตยในอิรักอาจประสบความสำเร็จมากกว่านี้ ในอนาคต แต่ชาวอิรักก็ยังไม่อาจเลิกระมัดระวัง เพราะประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นกับบรรดาประเทศประชาธิปไตยที่อ่อนเยาว์ชี้ชัดว่า ความสำเร็จที่ได้มานั้นเปราะบางมากเพียงใด
แปล/เรียบเรียง เสาวนีย์ พิสิฐานุสรณ์
เรื่อง นิวสวีค
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|