|
จีนจะครองโลก
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( พฤษภาคม 2553)
กลับสู่หน้าหลัก
จีนกำลังพยายามเขียนกฎใหม่ในทุกๆ เรื่อง ตั้งแต่สกุลเงิน เทคโนโลยี การค้า อวกาศ ภูมิอากาศ และทุกๆ อย่างเท่าที่คุณจะนึกได้
มีการเปิดตัวกองทุนสำรองระหว่างประเทศใหม่ในเอเชียเมื่อเดือนมีนาคม ซึ่งเป็นกองทุนที่มีขนาดใหญ่ถึง 1 แสน 2 หมื่นล้านดอลลาร์ อาจเปรียบได้กับ IMF ของเอเชีย กองทุนดังกล่าวมีผู้สนับสนุนทางการเงินรายใหญ่คือจีน ซึ่งมีทุนสำรองเงินตราต่างประเทศจำนวนมหาศาล ทุกวันนี้ ปัญหาต่างๆ ในเอเชียทั้งด้านเศรษฐกิจและการเมือง ไม่จำเป็นต้องอาศัยการหารือที่มีสหรัฐฯ เป็นแกนหลักเสมอไป แต่เปลี่ยนไปเป็นการประชุมสุดยอดที่มีจีน ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ และประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อื่นๆ เข้าร่วมแทน จีนกลายเป็นตัวจักรสำคัญในการเปลี่ยนจาก "เอเชีย แปซิฟิก" ซึ่งมีสหรัฐฯ กับญี่ปุ่นเป็นแกนนำ ไปเป็น "เอเชียตะวัน ออก" ซึ่งมีจีนเป็นศูนย์กลาง
ไม่เพียงต้องการมีบทบาทมากขึ้นในความเป็นไปต่างๆ ในชาติเพื่อนบ้าน แต่จีนยังต้องการจะ "เขียน" กฎใหม่สำหรับโลกทั้งโลกอีกด้วย จีนกำลังต้องการ "นั่งหัวโต๊ะ" และผู้นำจีนก็หวังว่า จะได้ร่วมเป็น "สถาปนิก" ผู้ก่อตั้งสถาบันหลักต่างๆ ของโลกในอนาคต
ที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็น IMF หรือธนาคารโลก ล้วนก่อตั้งโดยชาติตะวันตกเพียงไม่กี่ชาติ ที่นำโดยสหรัฐฯ และนโยบายของ สถาบันหลักทางเศรษฐกิจของโลกเหล่านั้นก็มักสะท้อนคุณค่าของ อเมริกัน เมื่อจีนยังเป็นเพียงผู้เล่นตัวเล็กๆ แม้จะไม่ชอบใจที่สถาบันระหว่างประเทศถูกครอบงำโดยตะวันตก แต่จีนก็ยอมอยู่กับมัน และเคยยอมแม้กระทั่งเมินเสียงคัดค้านของรากหญ้าที่ไม่ต้องการให้จีนเข้าเป็นสมาชิก WTO
แต่บัดนี้ จีนไม่ใช่คนตัวเล็กๆ อีกต่อไป หากแต่กลายเป็นยักษ์ใหญ่ที่มีอิทธิพลไปทั่วโลก บวกกับกระแสภายในของจีนเอง ที่คอยจี้รัฐบาลจีนเสมอ เมื่อใดที่เห็นว่าเอาอกเอาใจตะวันตกมากเกินไป ขณะนี้จีนจึงกำลังเริ่มรุกอย่างหนัก ในการพยายามปรับเปลี่ยนระบบต่างๆ ในโลก ให้เป็นมิตรกับจีนให้มากกว่าที่เป็นอยู่ อย่างไรก็ตาม จีนไม่ต้องการเข้าไปเปลี่ยนแปลงระบบที่จีนไม่ได้มีส่วนร่วมในการก่อตั้ง โดยเฉพาะระบบที่จีนเห็นว่า ลำเอียงเข้าข้างตะวันตก แต่จีนต้องการเข้าร่วมและเป็นผู้นำ ในกลุ่มที่จีนมีส่วนร่วมในการก่อตั้งมากกว่า เช่น กลุ่ม Shanghai Cooperation Organization (ก่อตั้งในปี 1996) ซึ่งเปรียบได้กับองค์การ NATO ของเอเชียกลาง
จีนยังคืบหน้าในการพยายามผลักดันให้เงินหยวนเป็นคู่แข่งกับเงินดอลลาร์สหรัฐ จีนเพิ่งทำข้อตกลง currency swap รวมมูลค่า 1 แสนล้านดอลลาร์กับ 6 ประเทศ เช่น อาร์เจนตินา อินโดนีเซีย เกาหลีใต้ เงินหยวนของจีนกลายเป็นเงินสกุลหลัก ที่ใช้ค้าขายอย่างเป็นทางการ ระหว่างชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กับ 2 มณฑลของจีน และกำลังจะกลายเป็นเงินสกุลหลักที่จะใช้ค้าขายกับอินเดีย ปากีสถาน รัสเซีย ญี่ปุ่นและเกาหลี ในที่สุด ชาติเหล่านั้นยังจะใช้เงินหยวนเป็นเงินสกุลหลักในระหว่างกันอีกด้วย นอกจากนี้ จีนเพิ่งเสนอขายพันธบัตรระหว่างประเทศเป็นครั้งแรกที่ฮ่องกงเมื่อปลายปีที่แล้ว ทั้งหมดนี้ทำให้เงินหยวนของจีน กำลังจะกลายเป็นสกุลเงินระหว่างประเทศที่สามารถแลกเปลี่ยนกันได้อย่างเสรี แข่งกับเงินดอลลาร์สหรัฐ
จีนกำลังปรับเปลี่ยนอินเทอร์ เน็ตอย่างเงียบๆ ในขณะที่ข่าวพาดหัวทั่วโลกมัวสนใจแต่ความขัดแย้งระหว่างจีนกับ Google ว่าด้วยเสรีภาพบนอินเทอร์เน็ตจนไม่มีใครสังเกตว่า จีนกำลังขะมักเขม้นกับการวางมาตรฐานใหม่ของอินเทอร์เน็ตที่เรียกว่า Internet Protocol version 6 หรือ IPv6 ในขณะที่มาตรฐานอินเทอร์เน็ตที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน คือ IPv4 กำลังจะใช้เลข IP address หมดลงในปีหน้านี้ โดยที่ IP address ส่วนใหญ่ใน IPv4 คือจำนวน 1,400 ล้านเลขนั้น ตกไปเป็นของธุรกิจอเมริกันและชาวอเมริกัน โดยที่จีนได้ใช้เพียง 125 ล้านเลขเท่านั้น แต่ IPv6 ไม่เหมือนกับ IPv4 โดย IPv6 จะทำให้มี IP address ใหม่ๆ เพิ่มขึ้นอีกหลายล้านล้านเลข และใช้ได้กับทุกอย่าง ตั้งแต่ Web site เครื่องมือเครื่องใช้อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ไปจนกระทั่งอุปกรณ์ทางการทหาร จีนตั้งใจจะคว้าส่วนแบ่งใน IPv6 อย่างเป็นกอบเป็นกำให้ได้ เพราะ IPv6 ยังจะเปิดโอกาสใหม่ๆ ให้จีนสามารถสืบความลับบนโลกไซเบอร์ได้มากยิ่งขึ้น เพราะ IPv6 ซึ่งต่างจากเวอร์ชั่นก่อนๆ จะยอมให้ IP address ติดไปกับเครื่องคอมพิวเตอร์ หรืออุปกรณ์พกพาทุกชนิดได้ ซึ่งยิ่งทำให้จีนเพิ่มขีดความสามารถในการตรวจ สอบและควบคุม Netizen หรือพลเมืองชาวเน็ตได้มากยิ่งขึ้นอีก
ความพยายามทั้งหมดของจีนข้างต้น เกิดจากความเชื่อมั่นใหม่ๆ และความภาคภูมิใจในตัวเอง แต่ขณะเดียวกันก็เป็นเพราะความรู้สึกไม่มั่นคงด้วย ด้านหนึ่ง จีนรู้ว่า ศักยภาพด้านเทคโนโลยีของตนเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล ทั้งยังมีโอกาสจะแซงหน้า ตะวันตกได้ในหลายๆ ด้าน สมองกำลังไหลกลับจีน เมื่อนักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยของจีนต่างพากันกลับบ้าน เพื่อทำงานวิจัยต้นแบบในห้องแล็บ ซึ่งได้รับการสนับสนุนด้านเงินทุนเป็นอย่างดีจากรัฐบาลจีน
แต่อีกด้านหนึ่ง จีนกลัวว่า หากไม่รีบเข้าไปมีส่วนร่วมในการเขียนมาตรฐานใหม่ในด้านต่างๆ ตั้งแต่แรก มาตรฐานเหล่านั้นก็จะถูกชาติที่เป็นศัตรูกับจีนเข้าไปควบคุมเสียก่อน จีนพยายามห้ามไม่ให้คอมพิวเตอร์ของรัฐบาลใช้ซอฟต์แวร์ของ Microsoft เพราะหวาดระแวงว่า ซอฟต์แวร์ของบริษัทอเมริกันดังกล่าว อาจมี "ประตูหลัง" ที่จะทำให้รัฐบาลอเมริกันสามารถตลบหลังจีนบนโลกไซเบอร์ได้
โครงการอวกาศของจีนเป็นความลับของชาติมาตลอด แต่ไม่กี่ปี มานี้กลับเป็นข่าวดัง เมื่อจีนประสบความสำเร็จในการทดสอบอาวุธยิงดาวเทียมเป็นครั้งแรกในปี 2007 ส่วนในปีนี้ จีนเปิดตัวขีปนาวุธชนิดยิง จากพื้นสู่อากาศนอกชั้นบรรยากาศ โลก ซึ่งผู้เชี่ยวชาญตะวันตกบางคนสงสัยว่า อาจเป็นอาวุธยิงดาวเทียมตัวใหม่ เดือนมีนาคมที่ผ่านมา จีนเพิ่งยืนยันแผนการที่จะส่งยานอวกาศไร้มนุษย์ไปสำรวจดวงจันทร์เป็นครั้งที่ 2 และในเดือนตุลาคมและในปีหน้า จีนจะเปิดตัวชิ้นส่วนยานอวกาศสำหรับ ใช้ฝึกซ้อมการลงจอดบนดวงจันทร์ โครงการอวกาศทั้งหมดนี้เป็นการเตรียมการสำหรับการส่งยานอวกาศจีนไปสำรวจดวงจันทร์ในปี 2013 ขณะที่องค์การ NASA ของสหรัฐฯ กำลังลดงบประมาณ ทำให้จีนกลายเป็นประเทศเดียวในตอนนี้ที่กล้าทุ่มลงทุนสำรวจอวกาศ
ทำไมจีนจึงให้ความสำคัญกับการสำรวจดวงจันทร์ เพราะจีนมั่นใจว่า อวกาศกำลังจะกลายเป็นแหล่งพลังงานใหม่ เช่น helium-3 และยังจะเป็นแหล่งแร่หายาก ที่จำเป็นสำหรับการผลิต อุตสาหกรรมบนโลก Ye Zili จากสมาคมวิทยาศาสตร์อวกาศของ จีนเคยกล่าวว่า หากจีนไปดวงจันทร์ แน่นอนว่าจีนคงไม่เพียง "เก็บก้อนหิน" มาจากดวงจันทร์เท่านั้น แม้ว่าจะยังไม่มีใครเขียนกฎเกณฑ์ใหม่ เพื่อควบคุมการสำรวจแหล่งทรัพยากรนอกโลก แต่หากจะมีการตั้งกฎเกณฑ์ที่ว่านั้นขึ้นมา แน่นอนว่าจีนจะไม่ละโอกาสที่จะกระโจนเข้ามีส่วนร่วมเป็นแน่
จีนต้องการก้าวนำหน้าประเทศอื่นๆ และมีบทบาทอย่างแท้จริง ในการเขียนกฎใหม่และกำหนดมาตรฐานใหม่ในอนาคต จีนรู้ดีว่า การก้าวขึ้นเป็นผู้นำในเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ยังต้องมีการปรับปรุงพัฒนาอยู่ เป็นเรื่องง่ายกว่าการจะแย่งชิงตำแหน่งผู้นำในอุตสาหกรรมที่มีอยู่แล้ว ด้วยเหตุนี้ จีนซึ่งเป็นประเทศที่ก่อมลพิษมากที่สุดในโลก จึงเป็นประเทศที่สนับสนุนเทคโนโลยีสีเขียว (green technology) มากที่สุดในโลกด้วย เช่นกัน เงินอุดหนุนมหาศาลจากรัฐบาลจีน ทำให้จีนกลายเป็นผู้นำโลก ในการพัฒนาเทคโนโลยีพลังแสงอาทิตย์และพลังงานลม และกำลังก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว ในการกำหนด มาตรฐานยานพาหนะที่ใช้พลังงานสะอาดในโลกอนาคต แบตเตอรี่ที่พัฒนาโดยบริษัท BYD ของจีน ถูกนำ ไปใช้ในโทรศัพท์เคลื่อนที่อย่างน้อย 1 ใน 4 ของตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั่วโลก ขณะนี้ BYD กำลังปรับปรุงแบตเตอรี่ของตน เพื่อให้ใช้ได้กับรถยนต์พลังงานไฟฟ้า เพื่อสร้างตลาด รถยนต์พลังงานไฟฟ้าและรถไฮบริดที่ใหญ่ที่สุดในโลก
ขณะนี้จีนก็มีรถพลังงานสะอาดมากที่สุดในโลกอยู่แล้ว ปีที่แล้วตลาดรถยนต์ในจีนโตแซงหน้าสหรัฐฯ ไปแล้วในด้านยอดขาย และหากจีนประสบความสำเร็จในการพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานสะอาด ซึ่งจะเป็นมาตรฐานทองคำของอุตสาหกรรมรถยนต์ในอนาคต บวกกับขนาดของตลาดรถยนต์จีนที่มีขนาดใหญ่มหึมา ก็เชื่อขนมกินได้เลยว่า จีนคงจะเป็นผู้ควบคุมธุรกิจรถยนต์ทั่วโลกในอนาคตได้
เมื่อถึงเวลานั้น น่าสนใจว่าทั้งจีนและแม้แต่โลกเอง จะยังคงสนับสนุนกฎการค้าเสรี และการแข่งขันอย่างเปิดกว้างต่อไปอีกหรือไม่ แม้ว่าการค้าเสรีและการแข่งขันจะนำพาทั้งจีนและโลก ให้มีสันติภาพและความมั่งคั่งอย่างในทุกวันนี้ แต่ขณะนี้จีนกำลังเปลี่ยนแปลงวิธีจัดการกับบริษัทต่างชาติ ไปในทิศทางที่น่าวิตก 10 ปีก่อนจีนทำทุกอย่างเพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ แต่วันนี้ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไปแล้ว มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้านการคลังของจีนมูลค่า 8 แสนล้านดอลลาร์ เพื่อรับมือวิกฤติเศรษฐกิจโลกนั้น ทำให้รัฐวิสาหกิจของจีนมีอิทธิพลเพิ่มมากขึ้นเหนือกว่าภาคเอกชน กฎหมายใหม่เกี่ยวกับการควบรวมกิจการของจีน ก็ทำให้บริษัทต่างชาติซื้อบริษัทจีนได้ยากขึ้น
เดือนธันวาคมปีที่แล้ว หอการค้าอเมริกันและองค์กรด้านธุรกิจอีก 33 แห่งทั่วโลก ร่วมกันทำหนังสือถึงจีน ประท้วงกฎหมายที่พวกเขาอ้างว่า กีดกันบริษัทต่างชาติออกจากตลาดจัดซื้อภาครัฐของจีนซึ่งมีมูลค่ามหาศาล รัฐบาลจีนยังเข้าควบคุม แม้กระทั่งธุรกิจร่วมทุน (venture capital) บริษัท Carlyle Group หนึ่งในบริษัทร่วมลงทุนที่ใหญ่ที่สุดในโลก ถูกรัฐบาลจีนบีบให้ต้องร่วมทุนกับทางการกรุงปักกิ่ง เพื่อแลกกับการได้รับอนุญาตให้ลงทุนเพิ่มในจีนได้
แนวคิดที่เคยเชื่อกันว่า เมื่อจีนร่ำรวยขึ้น จีนจะมีความใกล้เคียงกับสหรัฐฯ มากขึ้น หรืออย่างน้อยก็คงจะมีความเข้าอกเข้าใจ สหรัฐฯ มากขึ้นนั้น กลายเป็นแนวคิด ที่ผิดโดยสิ้นเชิง จีนไม่เคยเปลี่ยนเพราะแรงจากภายนอก ยิ่งบัดนี้ยิ่งไม่มีทางเป็นไปได้ ความภาคภูมิใจในอนาคตที่ดูสดใสของจีน ทำให้คนจีนรุ่นใหม่ยิ่งมองแต่ตัวเองมากขึ้นและชาตินิยมมากขึ้น นี่คือปัจจัยหนึ่งที่ทำให้นโยบายใหม่ของจีนก้าวร้าวขึ้น ไม่ว่าจะในด้านความมั่นคง การค้าและนโยบายต่างประเทศ และความก้าวร้าวนี้มีแต่จะเพิ่มขึ้น นับจากนี้จนถึงปี 2012 ซึ่งเป็นปีที่จีนจะเปลี่ยน ผู้นำรุ่นใหม่ในพรรคคอมมิวนิสต์ เพราะบรรดานักการเมืองที่กำลังแย่งชิงการนำ จะไม่ยอมเสียคะแนน เพราะถูกมองว่าทำตัวอ่อนปวกเปียกในการเจรจาใดๆ กับสหรัฐฯ เป็นแน่
ขณะนี้จีนกำลังสับสนกับสถานะของตัวเอง ว่าเป็นชาติร่ำรวยหรือยังยากจนอยู่กันแน่ เป็นชาติมหาอำนาจ ที่ต้องมีความเป็นผู้นำในประเด็นปัญหาของโลก หรือยังเป็นเพียงชาติกำลังพัฒนา ที่ระวังรักษาตัวเองก็พอ ความสับสนนี้เป็นเหตุผลเบื้องหลังพฤติกรรมแปลกๆ ของจีนบนเวทีโลก เช่นที่การประชุมสุดยอด ปัญหาโลกร้อนที่โคเปนเฮเกนเมื่อปลายปีก่อน เมื่อนายกรัฐมนตรี Wen Jiabao ของจีน ส่งเพียงระดับเจ้าหน้าที่ไปเข้าร่วมประชุมนัดสำคัญกับผู้นำโลก ที่รวมถึงผู้นำสหรัฐฯ แทนที่จะเข้าร่วมประชุมด้วยตัวเอง ทำให้ที่ประชุมไม่สามารถบรรลุข้อตกลงลดการแพร่ก๊าซเรือนกระจกได้สำเร็จ นั่นเป็นเพราะจีนกลัวที่จะติดกับดักที่วางไว้โดยชาติตะวันตก จนถึงป่านนี้ ยังไม่มีใครมองออกว่า โลกของเราจะเป็นอย่างไรในอนาคต เมื่อถึงเวลาที่จีนเสร็จสิ้นการเขียนกฎเกณฑ์ใหม่ๆ เพื่อที่จะครองโลก แต่สิ่งที่แน่นอนอย่างหนึ่งคือ เส้นทางก่อนที่จะไปถึงจุดนั้น คงจะไม่ใช่เส้นทางที่ราบเรียบเป็นแน่
แปล/เรียบเรียง เสาวนีย์ พิสิฐานุสรณ์
เรื่อง นิวสวีค
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|