ท่องเที่ยวเผชิญวิกฤติ


นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( พฤษภาคม 2553)



กลับสู่หน้าหลัก

การชุมนุมเรียกร้องทางการเมืองนับตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคม 2553 ซึ่งยกระดับความเข้มข้นขึ้นตามลำดับ ได้ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ด้านการท่องเที่ยวของไทยในสายตานักท่องเที่ยวต่างชาติ ทำให้นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ต่างชะลอการเดินทางมายังประเทศไทยในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน 2553 เพื่อรอดูสถานการณ์ให้คลี่คลายลงสู่ภาวะปกติและมั่นใจด้านความปลอดภัยก่อน และมีจำนวนไม่น้อยที่เปลี่ยนเป้าหมายปลายทางไปยังประเทศอื่นแทน

ภาคธุรกิจการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบโดยตรงก็คงหนีไม่พ้นโรงแรมต่างๆ ในย่านราชประสงค์กว่า 10 แห่ง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโรงแรมหรูระดับ 5 ดาวที่มีลูกค้าหลักเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยว/นักธุรกิจชาวต่างชาติ รวมไปถึงภัตตาคาร/ร้านอาหารหลายแห่งก็ต้องปิดให้บริการ ขณะที่การประชุมและการจัดเลี้ยงก็ต้องประกาศยกเลิก นอกจากนี้สถานบริการต่างๆ อาทิ สถานบันเทิงยามค่ำคืน สถานบริการสปา และร้านจำหน่ายสินค้าของที่ระลึก เป็นต้น ต่างก็พลอยได้รับผลกระทบตามไปด้วย

เม็ดเงินรายได้ที่สูญเสียไปส่วนใหญ่คือ ประมาณร้อยละ 30 เป็นการใช้จ่ายในด้านที่พัก รองลงมาคือ ร้อยละ 23 เป็นการใช้จ่ายในด้านการจับจ่ายซื้อสินค้า และร้อยละ 16 เป็นการใช้จ่ายในด้านอาหารและเครื่องดื่ม นอกนั้นอีกประมาณร้อยละ 31 เป็นการใช้จ่ายในด้านค่าพาหนะเดินทาง และค่าใช้จ่ายในกิจกรรมบันเทิง

สำหรับพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากเหตุการณ์ชุมนุมเรียกร้องทางการเมือง นอกจากที่กรุงเทพฯ แล้วก็ยังส่งผลกระทบไปสู่ต่างจังหวัดด้วย เช่น เชียงใหม่และจังหวัดต่างๆ ในภาคอีสาน โดยหากสถานการณ์การชุมนุมเกิดความรุนแรง นักท่องเที่ยวจึงหลีกเลี่ยงที่จะเดินทางไปท่องเที่ยวในพื้นที่ดังกล่าว เพราะเกรงจะได้รับอันตราย

แม้ว่าเมืองท่องเที่ยวชายทะเลในภาคใต้และภาคตะวันออก อาจจะได้รับอานิสงส์เนื่องด้วยมีทั้งนักท่องเที่ยวต่างชาติ และนักท่องเที่ยวชาวไทยบางส่วนเลือกที่จะหนีความวุ่นวายจากกรุงเทพฯ หันมาจองห้องพักและท่องเที่ยวในพื้นที่ดังกล่าว แต่ผู้ประกอบการภาคการท่องเที่ยวต่างก็เฝ้ารอความหวังให้เหตุการณ์ชุมนุมจบลงโดยเร็ว และไม่ต้องการเห็นความยืดเยื้อ เพราะอาจจะส่งผลกระทบเป็นวงกว้างไปทั่วประเทศได้

ทั้งนี้ หากสถานการณ์สามารถคลี่คลายลงได้ภายในครึ่งแรกของปี 2553 และนักท่องเที่ยวต่างชาติสามารถฟื้นตัวได้ในช่วงปลายไตรมาส 3 ของปี 2553 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามายังประเทศไทยรวมทั้งสิ้น 14.93 ล้านคน ลดลงจากที่คาดการณ์ไว้ก่อนเกิดเหตุการณ์ประมาณ 0.63 ล้านคน (เดิมคาดการณ์ไว้ที่ 15.56 ล้านคน)

แต่หากสถานการณ์ยืดเยื้อต่อเนื่องไปในครึ่งปีหลัง หรือความขัดแย้งทวีความรุนแรง และนำไปสู่เหตุการณ์ความไม่สงบภายในประเทศ จนยากที่จะฟื้นความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยของประเทศไทยในสายตาของนานา ประเทศ ให้กลับคืนมาได้ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2553 ย่อมส่งผลให้ประเทศไทยสูญเสีย โอกาสทางการท่องเที่ยวในช่วงฤดูการท่องเที่ยวให้แก่ประเทศคู่แข่งในภูมิภาค เดียวกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งประเมินว่า กรณีนี้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามายังประเทศไทยในปี 2553 อาจจะเหลือเพียง 14.0 ล้านคน ลดลงจากที่คาดการณ์ไว้ก่อนเกิดเหตุการณ์ประมาณ 1.56 ล้านคน (เดิมคาดการณ์ไว้ที่ 15.56 ล้านคน) ทั้งนี้ การประมาณการดังกล่าวอยู่ภายใต้เงื่อนไข ที่ว่าเหตุการณ์ความรุนแรงไม่ได้ขยายตัวหรือส่งผลกระทบไปสู่ต่างจังหวัด หรือเกิดเหตุการณ์ปิดสนามบิน

อย่างไรก็ดี เป็นที่น่าสังเกตว่า ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมาการท่องเที่ยวในพื้นที่ท่องเที่ยวอื่นๆ ยังคึกคัก มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าร่วมกิจกรรมสงกรานต์ จำนวนมาก โดยเฉพาะแหล่งท่องเที่ยวชายทะเลในภาคใต้ทั้งสมุยและแถบอันดามันรวมทั้ง หาดใหญ่ และแหล่งท่องเที่ยวชายทะเลในภาคตะวันออก หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนควรร่วมมือกันส่งเสริมการขายการท่องเที่ยว พื้นที่อื่นๆ ของไทยที่ยังมีความสงบและปลอดภัยจากเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง เพื่อเพิ่มพูนรายได้ด้านการท่องเที่ยวเข้าประเทศ สามารถช่วยชดเชยรายได้ด้านการท่องเที่ยวที่ลดลงในพื้นที่กรุงเทพฯ

ขณะเดียวกันในช่วงที่มีปัจจัยลบมากระทบทำให้ตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติมีแนวโน้มชะลอการเติบโตลงเช่นปัจจุบัน จำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ประกอบการธุรกิจด้านการท่องเที่ยวจะต้องหันมามุ่งเน้นการขยายตลาดนักท่องเที่ยวคนไทยในประเทศมากขึ้น เพราะเป็นตลาดขนาดใหญ่และอยู่ใกล้มือ รวมทั้งยังมีตลาดซึ่งมีกำลังซื้อสูงที่สามารถขยายตัวได้อีกมาก ควบคู่กับกลยุทธ์การสร้างกระแสให้การท่องเที่ยวเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตที่สมดุล

สถานการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองยังเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่มีผลอย่าง มากต่อการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยวในช่วงเวลาที่เหลือของปี 2553 และมีแนวโน้มที่จะยืดเยื้อต่อเนื่องจนยากที่จะฟื้นความเชื่อมั่นด้านความ ปลอดภัยของประเทศไทยในสายตาของนานาประเทศให้กลับคืนมาได้ จะทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2553 อาจจะหดตัวเป็นปีที่สองติดต่อกันจากปี 2552 ในอัตราติดลบร้อยละ 1.0

นี่จึงอาจเป็นช่วงเวลาสำหรับการปรับเปลี่ยน และกำหนดแผนพัฒนาธุรกิจท่องเที่ยวของผู้ประกอบการ ซึ่งรวมถึงการบริหารจัดการ และนำเสนอรูปแบบการท่องเที่ยวใหม่ๆ และยั่งยืนก่อนการโหมประโคมสร้างภาพลักษณ์ใหม่ของการท่องเที่ยวไทย ที่ดูเหมือนจะล่มสลายกลายเป็นเถ้าธุลีไปแล้ว


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.