|
"เกษร"ผนึกร้านค้าเช่าหนีม็อบ ขายสินค้ากลางโอเรียนเต็ลต่อชีวิต
ASTVผู้จัดการรายวัน(6 พฤษภาคม 2553)
กลับสู่หน้าหลัก
ม็อบถ่อย ฉุด เกษรพลาซ่า รายได้สะเทือน สิ้นปีโตไม่ถึง 10% หลังปิดบริการศูนย์ฯมา 31 วันเต็ม เดินหน้าช่วยเหลือตัวเองผุด “Pop-Up Retail Store” ยึดพื้นที่โรงแรมโอเรียนเต็ล ช่วยผุ้เช่าศูนย์ฯ40 แบรนด์ดังระบายสินค้า เผยแผนฟื้นฟูศูนย์ฯ ช้าสุดไม่เกิน 1 เดือนนี้ หวังนักชอปหวนคืนอย่างน้อย 80%
นางสาธิมา ทานาเบ้ รองผู้จัดการทั่วไป บริษัท เกษร แลนด์ แอสเซท แมนเนจเม้นท์ จำกัด ผู้บริหารศูนย์การค้า เกษรพลาซ่า เปิดเผยว่า จากเหตุการณ์กลุ่มนปช.ได้ทำการยึดพื้นที่ย่านสี่แยกราชประสงค์เพื่อทำการชุมนุมเรียกร้องรัฐบาลนั้น ส่งผลให้ทางศูนย์การค้าเกษรพลาซ่า ต้องทำการปิดให้บริการมาตั้งแต่วันที่ 3 เม.ย. จนถึงปัจจุบัน รวมแล้วกว่า 31 วันที่ผ่านมา
แน่นอนว่า จากการปิดให้บริการศูนย์การค้าเกษรพลาซ่านั้น ย่อมทำให้เกิดความเดือนร้อน ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของผุ้เช่าพื้นที่ภายในศูนย์ฯ ที่มีกว่า100 แบรนด์สินค้าที่เปิดให้บริการภายในศูนย์ฯ ซึ่งกว่า 25 แบรนด์จะเป็นระดับอินเตอร์แบรนด์ที่มีความเป็นพรีเมี่ยมสูง และอีก 50-60 ราย เป็นมีเดียมแบรนด์ ที่เหลือเป็น เอสเอ็มอีของไทย รวมถึงพนักงานที่เกี่ยวข้องกับทางศูนย์ฯจำนวนกว่า 780-800 ราย ต้องได้รับความเดือนร้อน ซึ่งตลอด 1 เดือนที่ผ่านมานี้ แต่ละแบรนด์ที่มีจำหน่ายภายในศูนย์ฯนั้น ยังไม่สามารถจำหน่ายสินค้าได้เลย
ส่วนทางศูนย์ฯเองนั้นก็มีมาตรการรองรับเบื้องต้น เพื่อช่วยเหลือลูกค้าที่เช่าพื้นที่ภายในศูนย์อย่างเต็มที่ เพราะตามสัญญาการเช่าพื้นที่ได้มีระบุถึงเรื่องของการปิดศูนย์ฯว่าทางศูนย์จะคืนค่าเช่าให้ได้มากแค่ไหน ส่วนพนักงานของทางศูนย์ฯเองนั้น 1 เดือนที่ผ่านมา ยังคงได้รับเงินเดือนเต็ม ซึ่งมีประมาณ 100 กว่าราย
ล่าสุดทางศูนย์ฯได้ปรับกลยุทธ์การขายและการตลาดให้เข้ากับสถานการณ์การเมืองในปัจจุบัน ในรูปแบบของ Pop-Up Retail Store โดยการหาพื้นที่ภายนอกศุนย์ฯที่มีภาพลักษณ์และกลุ่มทาร์เก็ตลูกค้าตรงกับแบรนด์ของผู้เช่าพื้นที่ในศูนย์ฯ เพื่อช่วยเร่งระบายสินค้าออกไปให้เร็วที่สุด เนื่องจากไม่สามารถรอให้การชุมนุมสิ้นสุดลงได้ ไม่ว่าจะเป็นคอลเล็กชั่นเดิมกับ คอลเล็กชั่นสปริง และคอลเลกชั่นใหม่อย่างซัมเมอร์ ที่เข้ามาตั้งแต่ต้นเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา
โดยเกษรให้งบกว่า 2 ล้านบาท ได้เตรียมเช่าพื้นที่ของโรงแรมโอเรียนเต็ลและดึงแบรนด์ผู้เช่าภายในศูนย์ฯเข้าร่วมกว่า 40 แบรนด์ ที่จะนำมาจำหน่าย พร้อมข้อเสนอพิเศษสุด ลดสูงสุดถึง 80% ภายใต้แคมเปญ “GAYSORN Shopping Must Go On” ตั้งแต่วันที่ 5-9 พ.ค.นี้ พร้อมพันธมิตรบัตรเครดิต 4 บัตร คือ ซิตี้แบงค์, บัตรเครดิต ธนาคารกสิกรไทย, กรุงศรี จีอี แพตตินั่ม และอเมริกันเอ็กซ์เพรส เชื่อว่าจะมีลูกค้าให้ความสนใจเข้ามาซื้อสินค้าหลายหมื่นคน
อย่างไรก็ตามจากเดิมทางศูนย์ฯเคยคาดการณ์ไว้ว่า ปีนี้น่าจะมีการเติบโตได้ถึง 12-15% แต่จากการชุมนุมที่เกิดขึ้น ยอมรับว่าได้รับกระทบมากที่สุด ตั้งแต่เปิดให้บริการมาเป็นปีที่ 9 โดยภาพรวมรายได้ในไตรมาสหนึ่งที่ผ่านมา ยังมีการเติบโตอยู่ที่ 30% แต่พอเข้าไตรมาสสอง ซึ่งเพิ่งผ่านมาเพียงเดือนเดียวคือเม.ย. และทางศูนย์ฯไม่ได้เปิดให้บริการเลย จึงพูดได้ว่าไตรมาสสองตอนนี้มีรายได้เท่ากับศูนย์ ดังนั้นทั้งปีนี้จึงได้มีการปรับเป้าการเติบโตใหม่ เชื่อว่าจะมีการเติบโตไม่ถึง 10% ด้วยซ้ำ
ทั้งนี้ไม่ได้มีเพียงเกษรพลาซ่าเท่านั้น ที่มีแนวโน้มรายได้เป็นแบบนี้ แต่จากจำนวนผู้ประกอบการค้าปลีกและบริการต่างๆกว่า 1,700 ราย มีทิศทางรายได้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน ซึ่งหากประเมิณความเสียหายรวมของทั้งย่านราชประสงค์แล้ว ขณะนี้มีความสูญเสียไปแล้วกว่า 5,200 ล้านบาท เฉพาะเกษรพลาซ่า มีความสูญเสียราว200 ล้านบาทในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา หรือต่อวันอยู่ที่ 7-8 ล้านบาท
นางสาธิมา กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตามทางศูนย์ฯได้เตรียมมาตรการฟื้นฟูต่างๆเพื่อช่วยเหลือผู้เช่าภายในศูนย์ไว้แล้ว หากสามารถเปิดให้บริการได้อีกครั้ง ซึ่งเป็นฟื้นฟูนี้ เชื่อว่า อย่างช้าที่สุดจะต้องนำมาใช้ก่อนวันที่ 1 มิ.ย.นี้ เพราะถึงเวลานั้น เชื่อว่าการชุมนุมจะย้ายออกไป ขณะที่แผนฟื้นฟูที่ว่านี้ จะมีทั้งการจัดโปรโมชั่น และอีเว้นท์ต่างๆทั้งของทางศูนย์ฯเอง ซึ่งวางไว้ 3 ข้อ คือ 1.สร้างความเชื่อมั่นและความปลอดภัยให้กลับมา 2.จับมือกับพันธมิตรในการจัดแคมเปญกระตุ้นกำลังซื้อ และ 3. สร้างบรรยากาศในการซื้อสินค้าของกลุ่มลูกค้าโลคอล
ล่าสุดในส่วนของเกษรพลาซ่านั้น ได้มีการร่นแคมเปญ เอนด์ ออฟ ซีซัน ขึ้นมาจัดในช่วงเดือนพ.ค. จากเดิมที่จะจัดในช่วงเดือนมิ.ย. ทั้งนี้เพื่อเป็นการกระตุ้นกำลังซื้อให้กลับมา โดยมองว่าหากสามารคเปิดให้บริการได้นั้น น่าจะใช้เวลาทำความสะอาดภายนอกศูนย์ฯและพื้นที่ใกล้เคียงให้เรียบร้อยได้ภายในระยะเวลาเพียง 2-3 วันเท่านั้น
นอกจากนี้ทางศูนย์ยังได้ร่วมมือกับทางสมาคมผู้ประกอบการวิสาหกิจในย่านราชประสงค์(RSTA) รวมถึงหน่วยงานภาครัฐ ที่ล่าสุดได้มีมติเห็นชอบกับมาตราการที่ทางเกษรและทางRSTA ได้นำเสนอไป 3 หัวข้อ คือ 1.มาตรการเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหาสภาพคล่อง 2.มาตรการเร่งด่วนเพื่อช่วยเหลือพนักงานและลูกจ้าง ที่มีราว 10,000 ราย และ3.มาตรการหางช่องทางระบายสินค้าเพื่อบรรเทาผลกระทบจากการสูญเสียรายได้ของกิจการย่อย คาดว่าการฟื้นฟูครั้งนี้ จะต้องใช้งบประมาณหลายร้อยล้านบาท ซึ่งน่าจะทำให้ทราฟฟิคกลับมาได้ประมาณ 80% จากที่ผ่านมาทราฟฟิกในย่านราชประสงค์นี้ต่อวันอยู่ที่ 2.5 แสนคน
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|