เงินเฟ้อเม.ย.เพิ่ม3%โตต่อเนื่องเดือนที่7


ASTVผู้จัดการรายวัน(4 พฤษภาคม 2553)



กลับสู่หน้าหลัก

เงินเฟ้อเม.ย.เพิ่มขึ้น 3% ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 แต่เป็นอัตราที่ชะลอตัวลง “ยรรยง”ประเมินเงินเฟ้อเริ่มปรับฐานเข้าสู่ภาวะปกติ คาดทั้งปีโต 3-3.5%

นายยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (เงินเฟ้อ) เดือนเม.ย.2553 เท่ากับ 107.66 สูงขึ้น 3.0% เทียบกับเม.ย.ปีก่อน เป็นอัตราสูงขึ้นต่อเนื่องเดือนที่ 7 และเมื่อเทียบกับเดือนมี.ค.ปีเดียวกัน เงินเฟ้อสูงขึ้น 0.49% ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ย 4 เดือน (ม.ค.-เม.ย.) 2553 สูงขึ้น 3.5% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

สาเหตุที่ทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้น 3.0% เป็นผลจากดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่มสูงขึ้น 3.7% สินค้าที่ราคาสูงขึ้น เช่น ข้าว แป้ง ผลิตภัณฑ์จากแป้ง 9.7% เนื้อสัตว์ เป็ด ไก่ และสัตว์น้ำ 3.2% ไข่และผลิตภัณฑ์นม 2.1% ผักและผลไม้ 12.2% เครื่องประกอบอาหาร 2.2% เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ 1.2% และอาหารสำเร็จรูป 0.8% ขณะที่หมวดไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มสูงขึ้น 2.5% สินค้าสำคัญราคาสูงขึ้น คือ น้ำมันเชื้อเพลิง 25.2% ค่าเช่าบ้าน ค่าน้ำประปา วัสดุก่อสร้าง 1.8% ค่ายาและเวชภัณฑ์ ค่าของใช้ส่วนบุคคล 0.7% หมวดยาสูบและแอลกอฮอล์ 13.6%

ส่วนเงินเฟ้อเดือนเม.ย. เมื่อเทียบกับเดือนมี.ค. สูงขึ้น 0.49% เป็นผลจากดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้น 0.53% สินค้าราคาสูงขึ้น เช่น ผักและผลไม้ 3.53% เป็นผลจากสภาพอากาศที่ร้อนจัดและพื้นที่เพาะปลูกบางแห่งได้รับผลกระทบจากพายุฤดูร้อน เนื้อสุกร 0.30% จากสภาพอากาศร้อนทำให้สุกรเติบโตช้า เครื่องประกอบอาหาร เช่น น้ำตาลทราย ขนมหวาน เครื่องปรุงรส สูงขึ้น 0.19%

ดัชนีหมวดอื่นๆไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มสูงขึ้น 0.48% เป็นผลจากราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศปรับตัวสูงขึ้น 1.5% ค่าน้ำประปา 18.63% เป็นผลจากรัฐบาลยกเลิกมาตรการค่าน้ำประปา ค่าโดยสารเครื่องบิน 24.86% เป็นผลจากการบินไทยได้ปรับขึ้นอัตราค่าโดยสารภายในประเทศ 36.50% ตั้งแต่ 1 เม.ย.ที่ผ่าน และเครื่องถวายพระ สูงขึ้น 0.47%

“เงินเฟ้อเดือนเม.ย. แม้จะสูงขึ้น 3.0% แต่ถือเป็นอัตราชะลอตัวลงจาก 3 เดือนแรก โดยม.ค.เงินเฟ้อสูงขึ้น 4.1% ก.พ. 3.7% และมี.ค. 3.4% ถือเป็นการปรับฐานเงินเฟ้อจากปีที่แล้วที่เงินเฟ้อลดลงจนติดลบ และเริ่มมาขยับขึ้นตั้งแต่ช่วยปลายปีตามทิศทางของเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวตามเศรษฐกิจโลก” นายยรรยง กล่าว

นายยรรยง กล่าวว่า แนวโน้มเงินเฟ้อในไตรมาส 2 คาดว่าจะขยายตัวบวกลบที่ 3.0% เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อปรับเข้าสู่ระดับปกติ มีเสถียรภาพมากขึ้น แม้จะมีปัจจัยลบจากเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง ที่เกิดความไม่สงบ ซึ่งส่งผลให้การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยไม่ร้อนแรงตามเศรษฐกิจโลกอย่างที่ควรจะเป็น แต่ก็ไม่ได้ทำให้เงินเฟ้อชะลอตัว เพราะอัตราการจ้างงาน

การผลิตสินค้าคงที่ยังอยู่ในภาวะปกติ ทำให้คาดว่าเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปี 2553 จะยังเป็นไปตามเป้าหมาย 3.0-3.5% ภายใต้สมมุติฐานราคาน้ำมันดิบตลาดดูไบเฉลี่ย 70-80 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล อัตราแลกเปลี่ยน 31-33 บาท/เหรียญสหรัฐ ซึ่งขณะนี้อัตราและเปลี่ยนอยู่ที่ 32.4 บาท/เหรียญสหรัฐ และราคาน้ำมันอยู่ที่ 83.5 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล

นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้ขยายมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพให้กับประชาชน ได้แก่ ค่าไฟฟ้า รถเมล์ฟรี ตรึงราคาแก๊สหุงต้ม โดยได้ยกเลิกมาตรการช่วยเหลือในเรื่องของน้ำประปา ขณะเดียวกัน มีมาตรการช่วยเหลือค่าชุดนักเรียนและอุปกรณ์การเรียน และการดูแลราคาสินค้าของกระทรวงพาณิชย์อย่างใกล้ชิด ซึ่งจะเป็นส่วนช่วยค่าครองชีพของประชาชนให้อยู่ในภาวะที่เหมาะสม

สำหรับดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศ (เงินเฟ้อพื้นฐาน) เม.ย. 2553 สูงขึ้น 0.5% เทียบกับเม.ย. ปีก่อน และสูงขึ้น 0.28% เทียบกับมี.ค.ปีเดียวกัน เฉลี่ย 4 เดือน สูงขึ้น 0.5%


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.