ณรงค์ ปัทมะเสวี จากซิตี้แบงก์สู้การเริ่มต้นที่ท้าทาย


นิตยสารผู้จัดการ( ธันวาคม 2533)



กลับสู่หน้าหลัก

คนหนุ่มยุคนี้มีรูปแบบของการก้าวสู่ความเป็นเถ้าแก่หรือผู้ลงทุนจากการเป็นมอือาชีพแล้วเข้าซื้อกิจการที่กำลังเป็นง่อยมาฟื้นฟูใหม่ ซึ่งต่างจากยุคเสื่อผืนหมอนใบที่มักจะเติบโตจากการเก็บเล็กผสมน้อย หาประสบการณ์จากคนรอบข้างและลองผิดลองถูก ความเปลี่ยนแปลงผันผวนในแต่ละช่วงเป็นการทดสอบกลั่นกรองคัดเลือกพวกเขาอย่างท้าทาย หลายคนผ่านพ้นยุคสมัยไปด้วยความองอาจ แต่หลายคนไม่อาจผ่านไปได้ด้วยดี จึงกลายเป็นโอกาสทองของลูกจ้างมืออาชีพยุคใหม่เช่นกรณีนี้

ณรงค์ ปัทมะเสวี ปีนี้เพิ่งจะอายุ 36 ปี หมาด ๆ เขาก้าวเข้ามาเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์จักรวาลทรัสต์ด้วยการวบรวมสมัครพรรคพวกเข้าซื้อทรัสต์ง่อยนี้จากโครงการฟื้นฟู้ทรัสต์ 4 เมษาของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นทรัสต์ที่สองหลังจากที่กลุ่มโกศล ไกรฤกษ์ ซื้อบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ตะวันออกไฟแนนซ์ไปได้ไม่นาน

พ่อของณรงค์เป็นพ่อค้าธรรมดา ๆ ที่ย้ายถิ่นฐานไปมาหลายแห่ง ตัวเขาเองเกิดที่สุโขทัยไปโตเอาที่ลำปาง จบการศึกษาชั้นต้นที่โรงเรียนอัสสัมชัญบางรักเมื่อปี 2516 และสอบเข้าเรียนคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ในเวลาต่อมา

เรียนที่ธรรมศาสตร์ได้สองปีก็สอบได้ทุนไปเรียนด้านเศรษฐศาสตร์ต่อที่มหาวิทยาลัยแคลร์มองต์ สหรัฐโดยการนับหน่วยกิจต่อจากเดิมที่เคยทำไว้ที่ธรรมศาสตร์ จึงจบปริญญาตรีภายในสองปี จากนั้นจึงเข้าเรียนระดับปริญญาโทสาขาบริการธุรกิจที่มหาวิทยาลัยเดียวกันจนจบ

ณรงค์กลับมาเมืองไทยเข้าทำงานกับธนาคารซิตี้แบงก์ซึ่งเป็นธนาคารที่สร้างนักบริหารการเงินอาชีพที่มีชื่อเสียงของวงการธุรกิจการเงินไทยหลายคนนับตั้งแต่ ธารินทร์ นิมมานเหมินห์ ขึ้นเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารไทยพาณิชย์ด้วยวัยเพียง 40 ปีเศษจนถึงปัจจุบันจนถึง นพพร พงษ์เวชนักบริหารการเงินประเภทกระบี่พเนจรตั้งแต่ยุคฟื้นฟูธนาคารเอเชียทรัสต์ เป็นธนาคารสยามในตำแหน่งกรรมการรองกรรมการผู้อำนวยการแบ้วย้ายมาเป็นกรรมการอำนวยการบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เอ็มซีซีก่อนที่จะลาอกมาเก็บตัวเงียบ ๆ จากวงการเงินโดยเป็นผู้ถือหุ้นและที่ปรึกษากลุ่มโรเยลเซรามิคของตระกูลสังขะทรัพย์ในปัจจุบัน

ในช่วงสามปีแรกที่ทำงานกับซิตี้แบงก์ณรงค์รับผิดชอบทางด้านธุรกิจ ASSET BASED FINANCE ซึ่งเป็นธุรกิจรับซื้อกิจการลูกหนี้ที่มีปัญหาของกลุ่มธุรกิจต่าง ๆ มาฟื้นฟูให้เป็นลูกหนี้ที่ดีสามารถคืนหนี้แก่เจ้าหนี้ทั้งนี้โดยการสนับสนุนทางการเงิน และหานักบริหารมืออาชีพเข้าไปดำเนินการกิจการลูกหนี้ที่ซื้อมาเหล่านั้นโดยซิตี้แบงก์เช่นการซื้อกิจการเช่าซื้อรถยนต์ โรงแรม และอีกหลายกิจการ

หลังจากนั้นก็เข้ารับผิดชอบทางด้านสินเชื่อของซิตี้คอร์ปไฟแนนซ์กิจการในเครือข่ายของซิตี้แบงก์ สิ่งที่กล่าวขวัญถึงมากที่สุดก็คือสินเชื่อเพื่อการเคหะและสินเชื่อบุคคลที่สามารถยื่นแบบขอกู้ได้กระทั่งโดยทางจดหมาย ให้วงเงินสินเชื่อต่อราคาหลักทรัพย์สูง และอัตราดอกเบี้ยต่ำ

เมื่อเจอรูปแบบการค้าตลาดอย่างนี้เข้าก็เป็นผลให้วงการแบงก์ไทยต้องปรับตัวกันมากทีเดียวในเวลานั้น

จากนั้นณรงค์ถูกส่งตัวให้ไปประจำที่ซิตี้แบงก์ชิคาโก้เหมือนกับเป็นการไปเพิ่มพูลวิทยายุทธ โดยไปทำงานด้าน LBO เป็นเวลาปีเศษก่อนที่จะกลับมาซิตี้แบงก์กรุงเทพเพื่อรับผิดชอบงานทางด้านธุรกิจเวนเจอร์แคปปิตอล

เพียงเวลา 19 เดือนที่รับผิดชอบธุรกิจเวนเจอร์แคปปิตอลเขาสามารถทำได้ถึง 14 รายเป็นเงินลงทุนรวมกันทั้งสิ้นประมาณ 400 กว่าล้านบาท

ณรงค์เป็นคนที่สร้างตัวมาจากการเป็นนักเรียนทุนในมหาวิทยาลัย ไม่เคยมีสายสัมพันธ์างวงตระกูลกับคนในวงการธุรกิจเมืองไทยมากก่อน แต่เข้าเป็นลูกจ้างในกิจการที่มีสไตล์การบริหารและจัดการแบบฝรั่งทำให้เขาเติบโตได้ค่อนข้างรวดเร็วทั้งในแง่ประสบการณ์ ตำแหน่งหน้าที่การงานและอาจรวมถึงการสะสมทุนจากค่าจ้างอีกด้วยส่วนหนึ่ง

ในเวลาเพียง 10 ปีในซิตี้แบงก์นอกจากความรู้และความเชี่ยวชาญในสาขาอาชีพที่เขาทำแล้ว ตำแหน่งสุดท้ายก่อนที่จะออกมาคือผู้อำนวยการฝ่าย (VICE PRESIDEN) รับผิดชอบทางด้านธุรกิจเวนเจอร์แคปปิตอลและเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทซิตี้เวนเจอร์แคปปิตอลซึ่งเป็นบริษัทในเครือของธนาคารอีกแห่งหนึ่ง

บันไดแรกที่เปิดให้ณรงค์เข้าสู่ความเป็นเถ้าแก่เมื่อธนาคารแห่งประเทศไทยมีนโยบายที่จะขายทรัสต์ในโครงการ 4 เมษาซึ่งทางการรับมาฟื้นฟูตั้งแต่ปี 2527 จนถึงปัจจุบันเป็นเวลา 5 ปีก็ยังไม่ดีขึ้นตามแผนที่วางกันไว้ตั้งแต่แรก แม้จะมีการเปลี่ยนรูปแบบและวิธีการฟื้นฟูมาถึง 3 ครั้งแล้วก็ตาม

ณรงค์และพรรคพวกเข้าซื้อบริษัทเงินทุนจักรวาลทรัสต์ได้สำเร็จในเงื่อนไขเป็นที่น่าพอใจ

"จักรวาลทรัสต์เดิมเป็นของตระกูลบัวสุวรรณก่อนที่แบงก์ชาติและกระทรวงการคลังจะส่งคนเข้ามาบริหารในฐานะทรัสต์ในโครงการ 4 เมษาบริษัทประสบปัญหาสภาพคลอ่งทางการเงินอันเนื่องมาจากปัญหาการบริหารและการจัดการที่ไม่มีคุณภาพ มีหนี้เสียและขาดทุนสะสมอยู่หลายร้อยล้านบาท และก็ขาดทุนต่อเนื่องอยู่ประมาณเดือนละ 3 ล้านบาท เมื่อทางการเข้ามาก็ไม่ได้แก้ไขปัญหาอะไรมาก เพียงแต่มีรายได้จากส่วนตัวเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำเข้ามาชดเชยอีกเดือนละ 1.5 ล้านบาทจึงสามารถลดกาขาดทุนลงเหลือเดือนละล้านกวาบาท เพราะฉะนั้นตั้งแต่ทางการเข้ามา 60 ล้านบาท" สรุปจากรายงานของทางราชการชิ้นหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับเรื่องทรัสต์ 4 เมษายน

ณรงค์ ปัทมะเสวี ชาติศิริ โสภณพนิช อนันต์ อัศวโภคิน และภควัต โกวิทวัฒนพงศ์ รวมตัวกันเข้าเจรจา เสนอเงื่อนไขกับ ไพศาล กุมาลวิสัยรองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยในฐานะประธานคณะกรรมการฟื้นฟูกิจการทรัสต์ 4 เมษาคนล่าสุดของแบงก์ชาติทั้ง 4 คนเข้าไปพบไพศาลพร้อม ๆ กันทุกครั้งไม่เคยขาดแม้แต่คนเดียวในการเจรจาแต่ละครั้งจนสำเร็จ

ณรงค์ ปัทมะเสวีกับภควัต โกวิทวัฒนพงศ์ เป็นลูกจ้างมืออาชีพมาตลอดในช่วงชีวิตการทำงานของเขา ภควัติอายุเพียง 41 ปีอดีตเป็นผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจธนาคารกสิกรไทย ก่อนที่จะออกมาเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทหลักทรัพย์เอกธำรง

ชาติศิริ โสภณพนิช กับ อนันต์ อัศวโภคิน เป็นทั้งทายาทนักธุรกิจเศรษฐีในอันดับแรก ๆ ของเมืองไทย และนักบริการมืออาชีพ โทนี่ หรือชาติศิริ นั้นเป็นทายาทรุ่นที่สามของตระกูลโสภณพนิช ลูกชายคนโตของ ชาตรี โสภณพนิชปีนี้เขาอายุเพียง 32 ปี เป็นผู้จัดการฝ่ายการตลาดธนาคารกรุงเทพ ครอบครัวของเขาเติบโตมากับธุรกิจธนาคาร สถาบันการเงิน และประกันภัย ส่วนตัวเขาเองก็จบปริญญาโทมาทางด้านนี้โดยเฉพาะและก็คาดกันว่าเขาจะขึ้นเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงเทพแทนผู้เป็นพ่อในอนาคต

ส่วนอนันต์แม้ครอบครัวของเขาจะเติบโตมาจากธุรกิจโรงรับจำนำและโรงแรม แต่พอถึงยุคของเขาภาพพจน์การเป็นเจ้าของโรงรับจำนำได้เปลี่ยนไปเกือบจะเรียกว่าสิ้นเชิง มีน้อยคนที่จะรู้จักธุรกิจดั้งเดิมที่ครอบครัวนี้ ทำอยู่แม้ในปัจจุบันภาพของอัศวโภคินในวันนี้คือเจ้าของกลุ่มธุรกิจพัฒนาที่ดินที่อยู่ในระดับแนวหน้าขอประเทศในนาม แลนด์ แอนด์ เฮาส์

คนในวงการกล่าวว่าการเติบโตของแลนด์ แอนด์ เฮาส์ ในทุกวันนี้เป็นสิ่งสะท้อนได้ชัดเจนถึงแนวความคิด การบริหารรวมไปถึงการจัดการของ อนันต์ อัศวโภคิน ในฐานะทายาทที่เข้ามารับช่วงจากรุ่นพ่อ

การเจรจาซื้อจักรวาลทรัสต์จบลงที่แบงก์ชาติให้ตัดหนี้สูญทันที 270 ล้านบาท ส่วนที่เหลืออีก 100 ล้านบาท ให้ทยอยตัดเป็นเวลา 6 ปี ซึ่งณรงค์บอกว่าน่าจะจัดได้ภายใน 3 ปีเป็นอย่างช้า คือเร็วกว่ากำหนดของแบงก์ชาติ

จากนั้นก็ให้เพิ่มทุนทันทีจำนวน 320 ล้านบาทเป็นทุนจดทะเบียน 470 ล้านบาท และอีก 100 ล้านบาทให้ทยอยเพิ่มให้หมดภายในปี 2536 ณรงค์บอกว่าถ้าสินเชื่อขยายตัวเกินกว่าเป้าหมายที่กำหนดก็อาจจำเป็นต้องเพิ่มเร็วกว่านั้นเสียด้วยซ้ำ

และภายในปี 2536 เช่นเดียวกันให้ซื้อหุ้นส่วนที่กองทุนฟื้นฟูถืออยู่ประมาณ 20% คืนไปในราคาหุ้นละ 9.87 บาทเป็นเงินประมาณ 150 กว่าล้านบาท ส่วนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำจำนวน 120 ล้านบาทให้คงอยู่ในบัญชีของบริษัทต่อไปโดยให้ปรับเป็นเงินกู้ปกติคิดดอกเบี้ยในอัตรา 11.50%และให้คืนทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยทีเดียวกันในปี 2536

นอกจากนี้ยังจะได้รับอนุญาตให้เปิดสาขาได้อีก 7 แห่ง โดยกำหนดให้เปิดในเขตกรุงเทพมหานคร 3 แห่งและในเขตต่างจังหวัดอีก 4 แห่ง พร้อมกันนี้ก็ให้ไปอนุญาตให้ประกอบธุรกิจเป็นผู้จัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ซึ่งเป็นการเพิ่มธุรกิจขึ้นมาอีกอย่างหนึ่งนอกเหนือจากกิจการเงินทุนและหลักทรัพย์ทุกชนิดที่มีอยู่เดิม

เมื่อมีการตกลงกันเสร็จเรียบร้อยจึงได้มาจัดสรรหุ้นกันระหว่างกลุ่มที่จะเข้าร่วมลงทุนคราวนี้อันได้แก่ บริษัทหลักทรัพย์เอกธำรง 25.34% บริษัทแลนด์ แอนด์ เฮาส์ 25.34% ธนาคารกรุงเพท บริษัทเอเชียเสริมกิจ บริษัทหลักทรัพย์เอเชีย บริษัทละ 8.44% และณรงค์ ปัทมะเสวี 4% ส่วนที่เหลือ 20% เป็นของกระทรวงการคลังและกองทุนเพื่อการฟื้นฟู

ดร.วิชิต สุรพงษ์ชัย จากแบงก์กรุงเทพเป็นประธานกรรมการ อนันต์ ชาติศิริ เป็นกรรการแต่ไม่มีอำนาจกระทำแทนบริษัท ณรงค์ เป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อแทนบริษัท และรั้งตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ วิทย์ ตันติวรวงศ์ จากแลนด์ แอนด์ เฮาส์ และสุชาดา มธุรสวงษาดิษฐ์ กับนิฑิต พุกณะสุต จากเอกธำรงเป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อร่วมกับณรงค์

จะเห็นว่ากลุ่มโทนี่ให้ความไว้วางใจแก่ณรงค์อย่างมากที่กลุ่มของเขาไม่มีกรรมการลงลายมือชื่อเลยแม้แต่คนเดียว

ณรงค์บอกว่าเขารุ้จักกับชาติศิริก็เพราะได้มีการติดต่อแลกเปลี่ยนประสานงานในเรื่องธุรกิจสมัยอยู่ซิตี้แบงก์จนเกิดความชอบพอกันค่อนข้างแนบแน่น ในขณะที่ชาติศิริก็สนิทกับทางภควัตมานาน ส่วนด้านอนันต์ก็รู้จักคุ้นเคยกันมาตั้งแต่ทำธุรกิจรับซื้อลูกหนี้ของแลนด์ แอนด์ เฮาส์ จนเป็นที่เชื่อมือซึ่งกันและกัน จึงได้มีการรวมกลุ่มกันขึ้นมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในเชิงธุรกิจมาโดยตลอด

"จากการที่เราพบปะกันมาตลอดก็พยามหาลู่ทางในการลงทุนร่วมกัน ซึ่งจะว่าไปแล้วถ้าไม่มีทรัสต์ 4 เมษาเราก็คงจะร่วมกันทำอยู่แล้วไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง แต่กรณีนี้ถือเป็นโอกาสดีที่ธุรกิจนี้เป็นธุรกิจทีพ่วกเราถนัดก็เลยร่วมกันเป็นโครงการแรก "ณรงค์กล่าวกับ" ผู้จัดการ"

ปฏิบัติการของณรงค์ได้เริ่มขึ้นแล้วที่จักรวาลทรัสต์โดยจะเปลี่ยนชื่อบริษัทเสียใหม่ว่า "บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์นิธิพัฒน์" และจะย้ายสำนักงานจากเดิมที่อยู่ถนนบำรุงเมืองซึ่งไม่เหมาะสมในหลาย ๆ ด้านไปอยู่ที่ชั้น 11-12 อาคาร ธนิยะพลาซ่า ถนนสีลม

นับว่าเป็นกลยุทธแรกในการจับใส่ตะกร้าล้างน้ำเสียให้สะอาดก่อนที่จะให้สีสันใหม่ต่อไป

ในด้านองค์กรณรงค์วางไว้ 4 ฝ่ายใหญ่คือฝ่ายหลักทรัพย์ ฝ่ายบุคคลธนกิจ ฝ่ายวาณิชธนกิจ และฝ่ายปฏิบัติการโดยฝ่ายหลังนี้จะเป็นฝ่ายที่รองรับงานด้านปฏิบัติการให้แก่สองฝ่ายแรกที่จะเน้นการทำงานไปทางด้านการตลาด และดูแลลูกค้าณรงค์บอกว่การตั้งฝ่ายปฏิบัติการเพิ่มขึ้นจะทำให้งานด้านการตลาดและบริการลูกค้าเกิดความคล่องตัวรวดเร็วทันใจ

บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์จักรวาลทรัสต์ก่อนที่ทีมของณรงค์จะเข้ามาเป็นซัพโบรกเกอร์มี

ยอดการซื้อขายเพียงวันละ 3 ล้านบาท ส่วนทีมการบริหารใหม่ณรงค์ได้ดึงเอา จินตนา สุขสถิตย์ ซึ่งมีประสบการณ์ในด้านธุรกิจหลักทรัพย์จากภัทระนกิจก่อนที่จะมาบุกเบิกก่อตั้งฝ่ายหลักทรัพย์ขึ้นรที่เจเอฟธนาคม จนย้ายมาบุกเบิกให้กับจักรวาลทรัสต์หรือนิธิภัทรอีกครั้งหนึ่งในขณะนี้

"ถ้าภาวะตลาดดีขึ้นสอดคล้องกับแผนงานที่วางไว้ยอดการซื้อขายแต่ละวันน่าจะถึง 60 ล้านบาท โดยในช่วงแรกนี้จะมุ่งเจาะลูกค้ารายใหญ่ ซึ่งขณะนี้ก็มีอยู่หลายรายที่มอบความไว้วางใจนำเงินจำนวน 20 ล้านบาท ขึ้นไปมาให้เราดำเนินการลงทุนให้ และในระยะแรกนี้จะมุ่งลูกค้าภายในประเทศก่อน เมื่อธุรกิจของบริาทดีขึ้นมากกว่านี้ก็มีแผนที่จะร่วมลงทุนกับต่างประเทศที่สามารถจะช่วยทางด้านตลาดต่างประเทศแก่เราได้" ณรงค์กล่าว

ส่วนงานอันเดอร์ไรท์หุ้นส่วนหนึ่งคาดว่าจะมาจากการร่วมกับกลุ่มธุรกิจของผู้ร่วมลงุทน่ไม่ว่าจะเป็นหลักทรัพย์เอกธำรง หลักทรัพย์เอเชียหรือกลุ่มธนาคารกรุงเทพ

ณรงค์กล่าวว่าฝ่ายที่น่าจะต้องเร่งดำเนินการให้เร็วมากอีกฝ่ายหนึ่งในขณะนี้คือฝ่ายบุคคลธนกิจ ซึ่งมุ่งเน้นการปล่อยสินเชื่อบุคคล โดยเฉพาะสินเชื่อเพื่อการเคหะในขณะที่ทางแบกง์กำลังมีปัญหาในการปล่อยสินเชื่ออยู่ในขณะนี้ เขามองว่ายิ่งเป็นโอกาสที่จะเข้าแทรกตลาดได้เร็วขึ้น

ยอดสินเชื่อของบริษัทที่ปล่อยกันอยู่ในช่วงที่ผ่านมามีเพียง 60 ล้านบาทเท่านั้น เมื่อเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์นิธิพัฒน์เรียบร้อยแล้วณรงค์เชื่อว่าจะทำยอดสินเชื่อให้เพิ่มขึ้นเป็น 1,200 ล้านบาทในปีหน้านี้

"การแข่งขันในตลาดสูงก็จริง แต่ส่วนใหญ่ก็แข่งกันตรงอัตราดอกเบี้ย ผมเชื่อ่าถ้าดอกเบี้ยไม่ต่างกันมากแล้วเราสร้างระบบการให้บริการให้มีประสิทธิภาพ รวดเร็ว ไม่ว่าคำขอที่ยื่นมานั้นจะได้รับอนุมัติหรือไม่อย่างไรก็ขอให้ลูกค้าทราบโดยเร็ว สำหรับผมแล้วคิด่าถ้าเอกสารหลักฐานทุกอย่างพร้อมเราสามารถให้คำตอบลูกค้าได้ทนทีภายใน 7วันอันนี้อยู่ที่ระบบการให้บริการ อย่างของเราอาจสามารถยื่นขอสินเชื่อมาทางจดหมายก็ได้ ฉะนั้นการที่เรามีสาขาน้อยก็ไม่เป็นอุปสรรคในการให้บริการ อย่างของเราอาจสามารถยื่นขอสินเชื่อมาทางจดหมายก็ได้ ฉะนั้นการที่เรามีสาขาน้อยก็ไม่เป็นอุปสรรคในการให้บริการ เพราะการชำระเงินนั้นเราคิดว่าจะให้จ่ายผ่านสาขาของธนาคารกรุงเทพได้ทุกสาขาทั่วประเทศ" กรรมการผู้จัการบริษัทเงินทุนหลักนิธิพัฒน์กล่าวถึงเน็ตเวอร์คที่ได้จากธนาคารกรุงเทพ

จะว่าไปแล้วลูกค้าของกลุ่มแลนด์ แอนด์ เฮาส์ ถือได้ว่าเป็นกลุ่มลูกค้าที่ค้าใหญ่มากกลุ่มหนึ่งทีเดียว แต่ณรงค์บอกว่ากลุ่มลูกค้าเป้าหมายของเขาจริง ๆ นั้นจะเป็นระดับกลางลงมามากกว่า เพราะกลุ่มเหล่านี้ จะไม่มีอำนาจการต่อรองกับแบงก์เลย

นอกจากนี้ธุรกิจของฝ่ายบุคคลธนกิจยังมีแผนที่จะออกบริการสินเชื่อบุคคลในรูปแบบต่าง ๆ หลายอย่าง เพื่อรับกับการเติบโตของกลุ่มคนชั้นกลางโดยได้ดึงเอา ประกาย ชลหาญ ซึ่งมีประสบการณ์ทางด้านนี้จากธนาคารเชสแมนฮัสตันมาเป็นผู้รับผิดชอบฝ่าย

ส่วนทางด้นฝ่ายวาณิชธนกิจเป็นฝ่ายที่ให้บริการที่เน้นหนักไปทีก่ลุ่มผู้ลงทุน จุดหมายปลายทาบของฝ่ายนี้จริง ๆ ณรงค์บอกว่าจะเป็นศูนย์รมขอบข้อมูลและบริการการลงทุน ซึ่งมีตั้งแต่เครื่องมือเล็ก ๆ น้อย ๆ ไปจนถึงเรื่องเงินจำนวนมาก ๆ แต่ฝ่ายนี้จะเริ่มดำเนินการได้จริง ๆ ก็ประมาณกลางปี 2534 ไปแล้ว โดยณรงค์อาจเป็นคนลงลุยเองทั้งหมด เพราะเป็นธุรกิจที่เขาได้รับประสบการณ์มาอย่างดีจากซิตี้แบงก์ ยังไม่รวมถึงศักยภาพเครือข่ายสายสัมพันธ์ของผู้ร่วมลงทุนแต่ละคนที่จะนำมาผสมผสานเข้ามาอกี

ความเป็นมืออาชีพของณรงค์ได้ถูกนำมาผสมผสานกับทุนจากทายาทเศรษฐีในกรณีนี้นับได้ว่าประตูสู่การเป็นเจ้าของกิจการของเขาได้เริ่มเปิดขึ้นแล้วเวลานี้



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.