การปรับตัวกับวิกฤติของธนาคารลูกครึ่ง

โดย ฐิติเมธ โภคชัย
นิตยสารผู้จัดการ( กุมภาพันธ์ 2544)



กลับสู่หน้าหลัก

ธนาคารพาณิชย์ไทย 4 แห่งยอมให้ธนาคารต่างชาติเข้าซื้อกิจการและถือหุ้นข้างมาก ส่งผลให้กลายเป็นธนาคารลูกครึ่งอย่างสมบูรณ์ การปฏิวัติองค์กรครั้งใหญ่จึงเกิดขึ้น

ธนาคารดีบีเอสไทยทนุ เป็นธนาคารที่ปรับตัวมากที่สุดของธนาคารลูกครึ่งทั้งด้านโครงสร้างจัดการที่มีรูปแบบใหม่ โดยแบ่งตามกลุ่มธุรกรรมทาง การเงินอย่างชัดเจน นับเป็นการปรับตัวในลักษณะ "ปฏิวัติ" ที่อำนาจในการบริหารมาจากธนาคารดีบีเอสแห่งสิงคโปร์

ด้านธุรกรรมการเงิน ได้หันมาทำธุรกิจธนาคารเพื่อการบริโภค แทนการปล่อยกู้เพื่อการลงทุนขนาดใหญ่ และการปล่อยสินเชื่อเพื่อการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์เหมือนช่วงเศรษฐกิจบูม

ที่สำคัญ มีการแต่งตั้งมืออาชีพจากสิงคโปร์เข้ามาดูแลบริหารโครงสร้าง หลักๆ 6 คนจาก 13 คน ซึ่งผู้บริหารเหล่านี้มีประสบการณ์การบริหารตลาดเงินที่ก้าวหน้าอย่างมาก

ธนาคารเอเชีย หลังจากธนาคารเอบีเอ็น แอมโรยักษ์ใหญ่จากเนเธอร์ แลนด์เข้ามาถือหุ้นใหญ่ก็ได้มีการปรับตัวหลายด้าน ทั้งการนำผู้เชี่ยวชาญและความก้าวหน้าทางธุรกรรมการเงินเข้ามา

ช่วงเศรษฐกิจกำลังป่วยไข้ธนาคารเอเชียได้เน้นการเป็นธนาคารเพื่อผู้บริโภค ส่วนโครงสร้างการจัดการ อำนาจการบริหารถูกควบคุมโดยเจ้าหน้าที่จากเอบีเอ็น แอมโร เมื่อปี 2542 ผู้บริหารจากเอบีเอ็น แอมโร 10 คนเข้ามาดูแลการทำงานในธนาคารเอเชีย นับว่าธนาคารแห่งนี้ได้รับผลประโยชน์เด่นชัดที่สุดหลังจากเป็นธนาคารลูกครึ่ง

ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด นครธน การที่ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่นั้น มาจากการซื้อหุ้นจากกองทุนฟื้นฟูฯ เป็น การปิดตำนานธนาคารเก่าแก่อันดับ 2 ของไทยและสิ้นสุดความเป็นธนาคารของครอบครัว "หวั่งหลี"

เมื่อเข้ามาถือหุ้นเกือบทั้งหมด สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดได้เข้ามากุมอำนาจ ไว้แทบทุกส่วน โดยปลายปี 2542 กรรมการชุดใหม่ 8 คน มาจากสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด 4 คน ขณะที่เจ้าหน้าที่ชุดใหม่ อีก 8 คน จาก 15 คน ล้วนมีประสบ การณ์ทางธุรกรรมการเงินจากต่างประเทศทั้งสิ้น

ปฏิบัติการแรก คือ ทุ่มเม็ดเงิน 1,000 ล้านบาท เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีและระบบใหม่ ปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานและธุรกรรมการเงินใหม่ๆ ให้ ทันสมัย

ธนาคารยูโอบีรัตนสิน เกิดจากการควบกิจการระหว่างธนาคารแหลม ทองและธนาคารรัตนสิน แล้วกลายเป็นธนาคารลูกครึ่ง เมื่อธนาคารยูโอบีแห่งสิงคโปร์เข้ามาถือหุ้น 75.02% ภายใต้มาตรการ 14 สิงหาฯ

เป็นการปิดตำนานธนาคารครอบครัวอีกแห่ง พร้อมกับการจบสิ้นนั้นการเข้ามาของธนาคารต่างชาติมากประสบการณ์ต่างๆ โดยยูโอบีแต่งตั้งกรรมการชุดใหม่ 9 ตำแหน่ง ในจำนวนนี้ 5 ตำแหน่งเป็นคนของยูโอบี ปัจจุบัน ธนาคารลูกครึ่งแห่งนี้ยังไม่ค่อยชัดเจนในด้านการดำเนินงานมากนัก

ความเปลี่ยนแปลงของธนาคารลูกครึ่ง ที่เกิดขึ้นพร้อมกันในระบบธนาคารพาณิชย์ไทยนับเป็นการปฏิวัติระบบธนาคาร โดยการเปลี่ยนแปลงด้านโครงสร้างเทคโนโลยีและธุรกรรมการเงินใหม่ๆ นอกจากนี้สิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นกับธนาคารไทยก็มีให้เห็น คือ การปรับขนาดองค์กร ลดพนักงาน และ จะมีให้เห็นอีกหากผลการดำเนินงานไม่เป็นไปตามความคาดหมายของผู้ถือหุ้นใหญ่

นอกจากธนาคารลูกครึ่งจะต้องแข่งขันกันเอง และแข่งขันกับธนาคารท้องถิ่นแล้ว ยังต้องเผชิญกับบรรษัทข้ามชาติที่ไม่ใช่ธนาคาร แต่สามารถทำธุรกรรมให้กู้ยืมเงินต่อธุรกิจโดยตรงได้ เช่น จีอี แคปปิตอล, ฟอร์ด, จีเอ็ม, ไม โครซอฟท์ และอินเทล

ข้อมูลจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.