|

ดัชนีอุตฯมี.ค.พุ่งสุดรอบ10ปี ต่างชาติยื่นลงทุน4.4หมื่นลบ.
ASTVผู้จัดการรายวัน(27 เมษายน 2553)
กลับสู่หน้าหลัก
“สศอ.”เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมมี.ค. 53 แตะ 211.73 พุ่งสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 10 ปีดันอัตราการใช้กำลังผลิตสูงสุดรอบ 24 เดือนที่ 67.9% หลังศก.โลกฟื้นดันส่งออกพุ่งโดยเฉพาะยอดส่งออกอาหารไตรมาสแรกทะลุ 2 แสนลบ.ทุบสถิติสูงสุด ขณะที่บีโอไอเผยต่างชาติยื่นขอลงทุนไตรมาสแรก 4.4 หมื่นล้านบาท
นายสมชาย หาญหิรัญ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม(สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม(MPI) เดือนมี.ค. 53 อยู่ที่ 211.73 หรือมีอัตราการขยายตัว 32.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งถือเป็นสถิติสูงสุดในรอบ 10 ปีนับตั้งแต่จัดทำดัชนีฯในปี 2543 ส่งผลให้ MPI ไตรมาสแรกปีนี้ขยายตัวเพิ่มขึ้น 31% เทียบกับไตรมาสเดียวกันปีก่อนและมีอัตราการใช้กำลังผลิตอยู่ที่ 67.9% ซึ่งเป็นสถิติสูงสุดรอบ 24 เดือนนับแต่มี.ค. 51 และเริ่มใกล้เคียงกับอัตราการใช้ผลิตสูงสุดที่เคยเกิดขึ้นมี.ค. 50 ซึ่งอยู่ที่ 68.7%
ทั้งนี้เนื่องจากภาคอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกได้รับปัจจัยหนุนจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวทำให้มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นเฉลี่ยถึง 30% เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์การส่งออกขยายตัวถึง 70% ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้น 40% อุตสาหกรรมอาหารไตรมาสแรกที่มียอดส่งออกสูงเป็นประวัติการณ์อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนโดยขยายตัว 25% มีมูลค่าสูงถึง 2.06 แสนล้านบาท,สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มเพิ่มขึ้น 12.6% ฯลฯ
สำหรับการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงสศอ.ได้ประเมินผลกระทบต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภาคอุตสาหกรรม(จีดีพีอุตสาหกรรม) หากไม่มีความรุนแรงและยืดเยื้อ 3 เดือน(มี.ค.-พ.ค.) ไว้ 2 กรณีคือ กรณีกระทบเฉพาะการบริโภคสินค้าอุตสาหกรรมจะมีผลต่อจีดีพีภาคอุตสาหกรรมที่ 0.5% หรือคิดเป็นมูลค่า 1.6 หมื่นล้านบาท กรณีรวมการชะลอการลงทุนและการบริโภคจะกระทบ 1% หรือคิดเป็นมูลค่า 3.5 หมื่นล้านบาท
“การชุมนุมจะมีผลกระทบการบริโภคไม่มากนักเพราะสินค้าอุตสาหกรรมส่วนหนึ่งเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยคนอาจชะลอซื้อไปบ้าง แต่ในแง่ท่องเที่ยวการซื้อสินค้าอุตสาหกรรมก็จะมีประเภทเสื้อผ้าแต่ก็ไม่มากนัก ซึ่งหากการชุมนุมยืดเยื้อเกินพ.ค.คงจะต้องมาประเมินปัจจัยอื่นประกอบเช่นการชะลอการลงทุนภาครัฐ”นายสมชายกล่าว
***Q1ต่างชาติยื่นลงทุนมูลค่า4.4หมื่นลบ.
นางสาวอัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ที่ปรึกษาด้านการลงทุน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ กล่าวว่า การลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ หรือ FDI ไตรมาสแรกปี 2553 (ม.ค. – มี.ค. 53) ว่า นักลงทุนต่างชาติยังคงแสดงความสนใจเข้ามาลงทุน ในประเทศไทยเป็นอย่างดี โดยมีโครงการลงทุนจากต่างประเทศยื่นขอรับส่งเสริมจำนวน 184 โครงการ เพิ่มขึ้น 30.5 %เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปี 2552 ซึ่งมีจำนวน 141 โครงการ ส่วนมูลค่าเงินลงทุนของโครงการจากต่างประเทศก็ขยายตัวถึง 137% โดยในไตรมาสแรกปีนี้มีมูลค่าเงินลงทุนรวม 44,399 ล้านบาท ขณะที่ช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้ามีมูลค่า 18,737 ล้านบาท
“สะท้อนให้เห็นถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และความเชื่อมั่นในศักยภาพการเป็นแหล่งน่าลงทุนของประเทศไทย “นางสาวอัจฉรินทร์กล่าว
ทั้งนี้ ญี่ปุ่นยังคงเป็นนักลงทุนที่ยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนมากที่สุด มีจำนวนโครงการที่ขอรับส่งเสริม 66 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 21,565 ล้านบาท ซึ่งขยายตัวถึง 145% เมื่อเทียบกับมูลค่าเงินลงทุนของญี่ปุ่นในช่วงเดียวกันปี 2552 โดยโครงการขนาดใหญ่จากญี่ปุ่นที่ขอรับส่งเสริมการลงทุนได้แก่ กิจการผลิตชิ้นส่วนฮาร์ด ดิสก์ ไดรฟ์ และกิจการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์
รองลงมาคือการลงทุนจากจีน มีโครงการที่ยื่นขอส่งเสริมรวม 8 โครงการ ปริมาณเงินลงทุน 6,441 ล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า 6 พันล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า เพราะมีโครงการขนาดใหญ่ผลิตพลังงานไฟฟ้า อันดับสามคือสิงคโปร์ จำนวน 21 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 6,147 ล้านบาท โดยมีโครงการลงทุนขนาดใหญ่ในกิจการผลิตสิ่งปรุงแต่งจากอาหาร และโครงการร่วมทุนระหว่างไทยสิงคโปร์ในการผลิตเคมีภัณฑ์
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|