|
คลังโวล้มกู้ 4 แสนล.หนี้สาธารณะลด 1%
ASTVผู้จัดการรายวัน(26 เมษายน 2553)
กลับสู่หน้าหลัก
บิ๊กคลังเผยล้ม พ.ร.บ.เงินกู้ 4 แสนล้านบาท ช่วยลดหนี้สาธารณะ 1% แจงยังเหลือวงเงินกู้นอกอีกกว่า 5 หมื่นล้านบาท หนุนแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็งหากงบปี 54 ไม่เพียงพอ
จากรณีที่นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง มีแผนเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ยกเลิกการกู้เงินตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน 4 แสนล้านบาท ในโครงการไทยเข้มแข็ง 2555 นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล ผู้อำนวยการ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ(สบน.) เปิดเผยว่า จะส่งผลให้การก่อหนี้ภาครัฐลดลงประมาณ 1 % ของจีดีพี
ปัจจุบันสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีอยู่ที่ 44% เริ่มปรับเพิ่มขึ้นจากการกู้เงินตาม พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้ 4 แสนล้านบาท โดยสัดส่วนหนี้คงจะไม่เพิ่มมากขึ้นจากที่เคยประเมินก่อนหน้านี้ว่าอาจถึง 60% หากรัฐบาลยังจัดทำงบประมาณขาดดุลต่อเนื่องไปถึงปีงบประมาณ 2558 หรือ 2560 เนื่องจากการจัดเก็บรายได้เริ่มขยายตัวสูงขึ้น การทำงบสมดุลจะเร็วแค่ไหนจึงขึ้นอยู่กับฐานรายได้ที่จะโตตามการขยายตัวของเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ตาม แม้จะไม่มีวงเงินกู้จาก พ.ร.บ.มาใช้ในโครงการลงทุนไทยเข้มแข็งที่จะโยกมาใช้เงินงบประมาณเป็นส่วนใหญ่แล้วนั้น บางส่วนจะหันไปใช้เงินกู้จากต่างประเทศที่สำรองไว้แล้วขณะนี้ 1.6 พัน ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 5 หมื่นกว่าล้านบาท จากที่เคยขอสภาอนุมัติไว้แล้ว 2 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยเป็นการปรับลดลงจากธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (เอดีบี)และองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (ไจก้า) แห่งละ 200 ล้านเหรียญสหรัฐ จากเดิมเคยขอวงเงินไว้แห่งละ 500 ล้านเหรียญสหรัฐที่เหลือมาจากธนาคารโลก(เวิลด์แบงก์)อีก 1 พันล้านหรียญ โดยส่วนนี้เจรจารายละเอียดไว้เรียบร้อยแล้วเหลือเพียงรอความต้องการใช้เงินซึ่งจะใช้ในโครงการที่ต้องใช้เงินตราต่างประเทศจัดซื้อสินค้าเข้ามาจากต่างประเทศ
สำหรับการดึงโครงการตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็งบางส่วนที่จะเริ่มใช้เงินในปี 2454 มาไว้ในงบประมาณรายจ่ายปี 2554 นั้น เบื้องต้นมองว่าไม่สามารถเพิ่มกรอบรายจ่ายที่ครม.อนุมติไว้แล้ว 2.07 ล้านล้านบาท แต่อาจเป็นการปรับในส่วนของรายละเอียดของงบลงทุนมากกว่าที่จะดึงโครงการไม่จำเป็นออกและใส่โครงการที่มีความจำเป็นมากกว่าทดแทน หรือเป็นการปรับภายในกระทรวงต่างๆ แทนมากกว่า
ส่วนหนึ่งก็จะนำมาทดแทนโครงการที่ไม่มีความพร้อมใช้เงินจากพ.ร.ก. ซึ่งน่าจะมีประมาณ 3-4 หมื่นล้านบาท เช่น โครงการของำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการที่ขอใช้เงินเข้ามาไม่ทัน 5-6 พันล้านบาท และยังมีของกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์อีกบางส่วน
ทางด้านรายได้ที่คาดว่าจะเก็บได้เพิ่มจากที่ประเมินไว้ 1.65 ล้านล้านบาทนั้น น่าจะไปช่วยลดการขาดดุลงบประมาณลงมากกว่า จากที่กำหนดไว้ 4.2 แสนล้านบาทมากกว่า อย่างไรก็ตาม การเพิ่มกรอบวงเงินรายจ่ายปี 2554 นั้นก็เป็นแนวทางหนึ่งและต้องขออนุมัติจากครม.ต่อไป
"มองว่ารัฐบาลไม่จำเป็นต้องเพิ่มกรอบวงเงินรายจ่าย แม้ว่าจะดึงโครงการไทยเข้มแข็งมาใส่ในงบประมาณแต่ปีแรกนั้นตามปกติจะใช้เงินไม่มากนัก อาจจะอนุมัติไว้เป็นเงินก้อนเล็กเพื่อเป็นโครงการผูกพันไว้ใช้ในปีต่อๆ ไปมากกว่า ซึ่งการจัดทำงบปี 2555 - 2556 ก็สามารถเพิ่มกรอบรายจ่ายได้มากขึ้นและเพิ่มสัดส่วนงบลงทุนได้มากกว่าปี 2554 ที่กำหนดไว้เพียง 11% เท่านั้น" นายจักรกฤศฏิ์กล่าว
สำหรับแผนการระดมทุนโดยการออกพันธบัตรไทยเข้มแข็ง วงเงิน 1 แสนล้านบาทที่เป็นการกู้เงินตามพ.ร.ก.เงินกู้ 4 แสนล้านบาทนั้น ยังไม่เปลี่ยนแปลงจากเดิมที่จะขายพันธบัตรวันที่ 17 -21 พ.ค.นี้แม้สถานการณ์การเมืองจะยังไม่สงบ เนื่องจากพบว่าขณะนี้ความต้องการลงทุนซื้อพันธบัตรรัฐบาลเข้ามามาก จึงน่าจะขายได้หมดในช่วง 2 วันแรกที่เปิดขายให้ผู้สูงอายุ
ขณะนี้ สบน.อยู่ระหว่างกำหนดอัตราดอกเบี้ยซึ่งจะประกาศใกล้ระยะเวลาที่เปิดขาย เบื้องต้นจะกำหนดขั้นต่ำให้อยู่ในระดับ 4% แม้ว่าอัตราที่แท้จริงในรุ่นอายุ 5-6 ปี ขณะนี้จะลงไปเหลือ 3%กว่าก็ตามเพื่อเป็นการจูงใจและช่วยเหลือผู้ออมเงินโดยเฉพาะผู้สูงอายุที่ต้องใช้เงินในการดำรงชีวิตจากดอกเบี้ยและกลุ่มนักลงทุนที่หาตราสารทางการเงินที่มีความมั่นคงสูงสุดในช่วงการเมืองไม่สงบเช่นนี้ ทั้งนี้อัตราดอกเบี้ยจะขึ้นไปตามระยะเวลาสูงสุดที่ 6%หากถือครบ 6 ปี.
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|