LIFE BOAT รั่วคลัง-แบงก์ชาติทุ่งเงินหมื่นล้านอุดแต่อุดไม่ถูกรู


นิตยสารผู้จัดการ( สิงหาคม 2529)



กลับสู่หน้าหลัก

เมื่อ 2 ปีก่อนครั้งที่เกิดวิกฤติการณ์สถาบันการเงินครั้งที่สอง สถานบันการเงินประเภทต่างๆ 19 แห่งถูกถอนใบอนุญาตตามนโยบายของ สมหมาย ฮุนตระกูล รมว.คลังสมัยนั้นที่บอกว่า "สถาบันการเงินไหนไม่ดีจะปล่อยให้ล้ม " สถาบันการเงินที่ดีอยู่ทางการก็จะให้ความช่วยเหลือตามโครงการที่ออกมา เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2527 ซึ่งภายหลังเปลี่ยนเป็นโครงการ LIFE BOAT เมื่อ 2 ปีผ่านไป แค่หมาดๆ LIFE BOAT ลำนี้แทนที่จะรอดกลับจะจมลงเสียเอง และที่เป็นเช่นนั้นก็เป็นฝีมือของบรรดาที่เรียกกันว่ามืออาชีพทั้งหลายของกระทรวงการคลัง และของแบงก์ชาติที่ถูกส่งเข้าไปบริหาร

คนแรกที่ใช้คำว่าโครงการ LIFE BOAT กับสถาบันการเงินที่กระทรวงการคลังเข้าไปถือหุ้นใหญ่จำนวน 25 บริษัทก็คือ ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์เมื่อครั้งที่ยังทำงานที่แบงก์ชาติในตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายกำกับและตรวจสอบสถาบันการเงิน และใช้กันติดปากคู่กับคำว่า "โครงการ 4 เมษายน" (อ่านล้อมกรอบประกอบเรื่อง)

"LIFE BOAT หรือเรือช่วยชีวิตเป็นชื่อโครงการที่เกิดขึ้นในประเทศอังกฤษเมื่อประมาณ 12 ปีก่อน เป็นโครงการที่ธนาคารกลางของอังกฤษรับโอนหุ้นบริษัทที่มีปัญหากลุ่มหนึ่งประมาณ 20 กว่าบริษัทเหมือนกับที่เราทำกับสถาบันการเงินกลุ่มนี้คือเราเข้าไปเป็นเรือลำใหญ่รับขึ้นมาทีเดียวเลย และใครที่สามารถช่วยตัวเองได้ ก็สามารถลอยตัวเองออกจากโครงการไปได้" ประโยคหนึ่งของดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ที่พูดเมื่อประมาณต้นปี 2528

การเข้าไปรับโอนหุ้นและส่งคนเข้าไปบริหารสถาบันการเงินที่มีทั้งบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ บริษัทเงินทุนและบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ตั้งแต่ต้นปี 2527 ตามโครงการ 4 เมษายน ในปีแรกเป็นไปอย่างเงียบเชียบเจ้าหน้าที่ผุ้รับผิดชอบก็ออกมาแถลงเพียงว่ากำลังแบ่งแยกสถาบันการเงินในโครงการออกเป็นกลุ่มๆ อย่าง 3 กลุ่ม แต่ละกลุ่มจะมีบริษัทแกนนำขึ้นมาเพื่อบริหารสถาบันการเงินในกลุ่มตนทั้งหมดในขั้นตอนนี้เรียกกันว่าใช้นโยบายบริหารแบบ MANAGEMENT POOL

"นโยบายที่กำหนดให้มีการบริหารเป็นกลุ่มหรือ POOL ก็เพื่อลดค่าใช้จ่ายทางด้านการบริหาร ทางการก็ไม่ต้องส่งคนเข้าไปมากคอยควบคุมทางด้านนโยบายและให้การช่วยเหลือเท่าที่จำเป็น และในระหว่างที่กำลังคัดเลือกบริษัทเงินทุนเข้ามาในโครงการคุณเริงชัย มะระกานนท์ซึ่งตอนนั้นเป็นผู้อำนวยการฝ่ายกำกับฯ สถาบันการเงินถูกย้ายไปเป็นผู้อำนวยการฝายการธนาคาร โดยเลื่อนดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ขึ้นมาเป็นผู้อำนวยการฝ่าย ตอนนี้แหละที่มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายที่ใหญ่มาก ยกเลิกหลักการ POOL ทั้งหมด ให้บริษัทเงินทุนแต่ละแห่งบริหารกันเองที่เรียกว่า LIFE BOAT" ผู้อยู่ในเหตุการณ์เล่าให้ "ผู้จัดการ"ฟัง

จุดมุ่งหมายของการเปลี่ยนนโยบายเป็นแบบ LIFE BOAT ก็เพื่อให้แต่ละบริษัทที่มีพื้นฐานปัญหาต่างกัน แยกกันดำเนินธุรกิจใครเข้มแข็งได้ก่อนก็โอนหุ้นให้เจ้าของเดิม หรือผู้ถือหุ้นรายใหม่ที่สนใจจะเข้ามาลงทุนในสถาบันการเงินเท่ากับเป็นการปล่อยออกไปจากโครงการ บริษัทไหนยังอ่อนแอ ย่ำแย่ทางการก็จะประคองฟูมฟักต่อไปแต่ตั้งเป้าหมายว่าไม่เกิน 5 ปีต้องฟื้น

"จุดนี้ก็คือจุดแรกที่กระทรวงการคลังและแบงก์ชาติพลาด เพราะแนวคิดเดิมที่จะให้บริหารแบบ POOL นั้นทางการจะจ้างมืออาชีพเข้ามา ส่วนคนของทางการจะคอยควบคุมดูแล ซึ่งถ้ามีแค่ 3 กลุ่มก็ไม่ต้องใช้คนมากมายนัก แต่พอแตกตัวไปเป็น 25 บริษัทต่างคนต่างบริหารจะเอาเงินที่ไหนไปจ้างนักบริหารมืออาชีพเข้ามา หรือถึงมีเงินจะไปเอาคนที่ไหน" อดีตผู้บริหารบริษัทเงินทุนในโครงการวิเคราะห์

เมื่อหามืออาชีพข้างนอกไม่ได้ กระทรวงการคลังและแบงก์ชาติก็ตัดสินใจส่งข้าราชการในสังกัดของตนเข้าไปเป็นกรรมการหรือผู้บริหารของสถาบันการเงินในโครงการ

"การตัดสินใจแบบนี้มันสะท้อนให้เห็นถึงทัศนะแบบเก่าๆ ของข้าราชการไทยคือคิดเสมอว่าพวกเอกชนพวกพ่อค้านี่ไว้ใจไม่ได้ แทนที่จะดึงเอาพวกเจ้าหนี้หรือผู้ถือตั๋วรายใหญๆ เข้ามาบริหารซึ่งเขาจะต้องดูแลผลประโยชน์ของเขาเต็มที่อยู่แล้วทางการคอยดูแลและให้ความช่วยเหลือด้านสภาพคล่องก็พอแล้ว ส่งข้าราชการประจำเข้าไปอาจจะซื่อสัตย์จริงแต่ไม่รู้เรื่องธุรกิจผลออกมามันก็มีแต่พังกับพัง" อดีตผู้บริหารบริษัทเงินทุนรายเดิมให้ความเห็นต่อ

เสรี ทรัพย์เจริญอดีตผู้บริหารบริษัทราชาเงินทุนเคยพูดเตือนไว้ใน "ผู้จัดการ" ตั้งแต่ฉบับเดือนมกราคม 2528 ว่า "ต่อไปนี้ใครจะเป็นคนกำกับตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่แบงก์ชาติล่ะ…อะไรผิดอะไรถูกจะทราบได้อย่างไร เมื่อผู้มีอำนาจตรวจสอบกับผู้ลงมือกระทำเป็นคนๆ เดียวกัน"

แม้จะมีเสียงคัดค้านหนาหูกระทรวงการคลังกับธนาคารแห่งประเทศไทยก็ไม่ฟังข้าราชการกระทรวงการคลัง พนักงานของธนาคารแห่งประเทศไทยก็เดินแถวเข้าไปกินตำแหน่งกรรมการของสถาบันการเงินในโครงการร่วมๆ 100 คน (ดูล้อมกรอบประกอบเรื่อง) รับทั้งเบี้ยประชุมกรรมการ รับทั้งเงินเดือนกรรมการและรับทั้งเงินเดือนข้าราชการ

"ผมว่าไม่ใช่เปลี่ยนตัวผู้อำนวยการฝ่ายฯจากคุณเริงชัยมาเป็นดร.ศุภชัยแล้วนโยบายเปลี่ยน คุณอย่าลืมว่าสถาบันการเงินที่เข้ามาในโครงการนั้นไม่ใช่ว่าใครอยากจะเข้าก็ได้ ก่อนที่ทางการเขาจะรับเข้ามา เขาต้องให้ผู้บริหารเดิมแสดงฐานะทั้งหนี้สินและทรัพย์สินออกมาให้ชัดเจนมีการกลั่นกรองกันพอสมครว แต่พอรับเข้ามาแล้ว ส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบละเอียดจริงๆ ก็พบว่าหนี้สินมันปูดขึ้นมาจากตอนแรกอีกเยอะ ทรัพย์สินบางรายการก็ไม่มีค่า มีราคาต่ำกว่าที่ประเมินมาตอนขอเข้าโครงการตั้งมากมาย ขืนเข้าไปบริษัทประเภทนี้ก็ไปฉุดบริษัทดีๆ เขาเสียไปด้วย" ลูกน้องเก่าของดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์เปิดเผยกับ "ผู้จัดการ"

จะเป็นเพราะความเจ็บใจหรือหมดความเชื่อในกลุ่มผู้บริหารเดิมของสถาบันการเงินในโครงการก็แล้วแต่ นโยบายของทางการที่ตามมาหลังนโยบาย LIFE BOAT ก็คือนโยบายที่เรียกกันว่า "ล้างครัวให้สะอาด" สถาบันการเงินที่มีคนของทางการเข้าไปยึดหัวหาดเรียบร้อยแล้ว ก็เริ่มดำเนินการเรียกเก็บหนี้สินทั้งทางด้านลูกค้าและผู้บริหารเดิมโดยแทบจะหยุดทำธุรกิจประเภทอื่น

"คือเขาเห็นว่าครัวมันสกปรกเพราะผู้บริหารเดิมมันทุจริต ซึ่งผิดกับทัศนะเดิมที่มองว่าพวกนี้เป็นคนดี ทางการจำเป็นต้องเข้าไปช่วยเหลือ ก็มีการปลดผู้บริหารเดิมออกเป็นการใหญ่ ทีนี้ทรัพย์สินอย่างหนึ่งที่สำคัญมากของสถาบันการเงิน 25 แห่งนี้ก็คือเงินสินเชื่อที่ปล่อยให้ลูกค้าไปประมาณ 12,000-15,000 ล้านบาท (ต้นปี 2528) โดยผู้บริหารเดิม เมื่อคนของทางการเข้ามาไม่รู้จักใครก็ทวงหนี้ดะไปหมด วงเงินกู้ก็ไม่ให้ ลูกหนี้ก็เลยไม่ยอมชำระ เป็นยุคที่ลูกหนี้ไม่กลัวเจ้าหนี้ฟ้องได้ฟ้องไป ซึ่งก็ฟ้องได้ไม่กี่รายที่มีหลักฐานชัดเจน" ทนายรายหนึ่งที่เชี่ยวในแวดวงธุรกิจเล่าให้ฟัง

เทคนิคอย่างง่ายๆ ที่ลูกหนี้ไม่กลัวเจ้าหนี้ที่เป็นคนของทางการก็คือ ผู้บริหารเดิมของสถาบันในโครงการบางแห่งมีลายเซ็นหลายแบบ อนุมัติให้สินเชื่อก็แบบหนึ่ง ลงนามทำสัญญานิติกรรมอื่นก็อีกแบบหนึ่ง ลูกหนี้รายไหนถูกฟ้อง ผู้บริหารเดิม (ที่แค้นอยู่แล้ว) ให้การว่าลายเซ็นที่อนุมัติสินเชื่อรายนั้นไม่ใช่ของตน ลูกหนี้ที่ว่านี้ไม่เคยเห็นหน้าไม่เคยมากู้เงินกับบริษัทของตนมาก่อนเลย เผลอๆ เจ้าหน้าที่ของทางการจะถูกฟ้องกลับฐานปลอมแปลงเอกสารเหมือนอย่างดุษฎี สวัสดิ-ชูโตเคยโดนมาแล้สมัยที่เป็นประธานบริษัทเงินทุนแห่งหนึ่ง

"โธ่คุณ…เอาข้าราชการมาบริหารธุรกิจมันจะได้ผลได้ยังไง และนี่ไม่ใช่ธุรกิจธรรมดามันเป็นเรื่องของการบริหารเงินที่ต้องใช้มืออาชีพ เอาข้าราชการที่ไม่ได้รับการฝึกฝนอบรมมาก่อนมาทำก็เลิกคิดได้เรื่องที่จะมีกำไร พวกนี้ไม่มีความรู้หนึ่งไม่มี SENSE OF BELONGING อีกหนึ่งเขาให้มาทำก็มาทำตามหน้าที่รับมอบหมายอะไรที่เกินเลยกว่านั้นเขาก็ไม่ยอมทำแล้วแม้จะเห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อบริษัท" พนักงานระดับสูงของแบงก์พาณิชย์แห่งหนึ่งให้ความเห็น

ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์เองก็รู้ว่าการส่งคนของทางการเข้าไป นอกจากไม่ได้แก้ปัญหาแล้วยังไปเพิ่มปัญหาก็ได้เรียกร้องอยู่ตลอดเวลาให้คนของทางการถอนตัวออกมา แต่เสียงของผู้อำนวยการฝ่ายคนหนึ่งของแบงก์ชาติมันไม่ดังพอจึงไม่มีใครฟัง

"คุณศุภชัย พานิชภักดิ์ก่อนลาออกได้ออกคำสั่งอยู่ 3-4 เรื่องที่จะถูกข้าราชการในบริษัทเงินทุน 25 แห่งรุมกระทืบ อย่างแรกก็คือให้ลดเบี้ยประชุมลงตามระเบียบรัฐวิสาหกิจซึ่งได้แค่ 150 บาทต่อครั้ง ยกเว้นระดับอธิบดีขึ้นไปได้ 200 บาท เรื่องที่สองให้งดการเบิกค่ารับรองเพราะเห็นว่าการที่เข้าไปเป็นการเข้าไปช่วยเหลือ เรื่องที่สามก็คือขอให้กรรมการที่เป็นคนของทางการทุกบริษัทรับเงินเดือนเท่ากัน และเรื่องสุดท้ายขอให้กลับสังกัดเดิม ใครที่ยังมีงานค้างอยู่ก็ให้เซ็นใบลาออกทิ้งไว้ก่อน หมดงานเมื่อไหร่จะได้กลับทันที ก็ไม่มีใครฟัง" คนใกล้ชิดดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์เล่าให้ฟัง

เมื่อเรื่องราวของสถาบันการเงินในโครงการ มีลำดับความเป็นมาตามที่ "ผู้จัดการ" เสนอไปนั้น ผลก็คือในช่วงตั้งแต่ต้นปี 2529 เป็นต้นมา คำถามของนักข่าวที่ว่า "บริษัทเงินทุนในโครงการ LIFE BOAT" ไปถึงไหนแล้ว เป็นคำถามที่คนแบงก์ชาติหลายคนอึดอัดเป็นที่สุด ข่าวคราวเกี่ยวกับเรื่องนี้จึงไม่มีใครอยากจะพูดออกมา

จนกระทั่งหลังการยุบสภาผู้แทนฯ เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2529 สมหมาย ฮุนตระกูลยืนยันกับผู้สื่อข่าวว่าตนจะไม่กลับมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอีกเพราะได้แก้ไขปัญหาด้านการเงินการคลังไปมากแล้ว เหลืออยู่เรื่องเดียวก็คือสถาบันการเงินในโครงการ 25 บริษัท จะพยายามดำเนินการให้เสร็จภายใน 3 เดือนที่รักษาการณ์อยู่ ก็ทำให้สาธารณชนพุ่งความสนใจมาที่เรื่องนี้อีกครั้ง

"คุณสมหมายต้องพูดอย่างนั้น เพราะจะว่าไปนโยบายนี้เป็นนโยบายของคุณสมหมาย เพราะนโยบายของแบงก์ชาติเดิมก็คือตั้งสถาบันประกันเงินฝาก และก็น่าเชื่อว่าตอนที่คุณสมหมายบอกว่าจะเคลียร์เรื่องสถาบันการเงิน 25 แหงนี้ให้เรียบร้อยภายใน 3 เดือน ท่านก็คงไม่ทราบว่าเรื่องราวบานปลายไปถึงไหนแล้วเนื่องจากไม่มีใครกล้ารายงาน" อดีตเจ้าหน้าที่ระดับสูงของแบงก์ชาติเล่าให้ฟัง

ผลก็คือคนของกระทรวงการคลังและแบงก์ชาติต้องทำงานกันหัวปั่นเพื่อรวบรวมตัวเลข ทำรายงานประเมินผลส่งให้สมหมาย ฮุนตระกูล ที่ว่าต้องหัวปั่นนั้นเพราะเดิมทีต่างคนต่างทำ ภาพรวมๆ เป็นอย่างไรไม่มีใครรู้ พอต้องรวบรวมทีก็เหนื่อยหน่อย

"ก็มีข่าวออกมาเป็นระยะๆ หลังจากนั้นว่ามีบริษัทเงินทุนในโครงการเท่านั้นเท่านี้บริษัทแข็งแรงพอที่จะออกจากการดูแลของทางการได้แล้ว กำลังจะขายหุ้นคืนให้กับผู้บริหารเดิมบ้างหล่ะ ผมถามคุณว่าบริษัทยังขาดทุนอยู่โทนโท่ ขนาดประชาชนเชื่อถือเพราะทางการถือหุ้นอยู่ยังเข็นไม่ค่อยไหว คุณเป็นเจ้าของเก่าคุณจะรับคืนมาไหม" อดีตผู้บริหารบริษัทเงินทุนในโครงการอีกรายให้ความเห็น

วันที่ 23 กรกฎาคม 2529 หลังการประชุมครม.นัดสุดท้ายสำหรับรัฐบาลรักษาการณ์เพียงวันเดียว สื่อมวลชนทุกแขนงก็ไปแออัดกันในห้องประชุมกระทรวงการคลังเพื่อฟังการสรุปฟลของทากงารในการแก้ปัญหาสถาบันการเงิน

ก็ผิดหวังไปตามๆ กันเพราะแทนที่สมหมาย ฮุนตระกูลจะเป็นผู้แถลงเองกลับส่งตัวแทนของกระทรวงการคลังและแบงก์ชาติคือพนัส สิมะเสถียร ภุชงค์ เพ่งศรี นิพัทธื พุกกะณะสุต กำจร สถิรกุล และจรุง หนูขวัญร่วมกันแถลง

ประเด็นของการแถลงก็คือสถาบันการเงินในโครงการได้รับความเชื่อมั่นมากขึ้นเพราะมีเงินฝากเพิ่มขึ้น และทางการได้ให้ความช่วยเหลือเป็นเงินเพิ่มทุน 1,750 ล้านบาท เงินกู้ซอฟท์ โลนจากแบงก์ชาติ 3,200 ล้านบาท ยอดกู้คงค้างจากกองทุนเสริมสภาพคล่องของธนาคารกรุงไทยอีก 2,700 ล้านบาท และเตรียมที่จะเพิ่มทุนในบริษัทเงินทุนอีก 4 แห่งซึ่งคาดว่าจะใช้เงินประมาณ 1,500 ล้านบาท ทั้งหมดจะไม่เกินวงเงิน 8,800 ล้านบาท อย่างไรก็ตามบริษัททุกแห่งยังขาดทุนอยู่เพราะบัญชีเดิมมีการตกแต่งโดยผู้บริหารชุดเก่า เมื่อทำตัวเลขให้ตรงความเป็นจริงจึงมีผลขาดทุนมาก

ฟังดูก็เหมือนถอดแบบมาจากคำแถลงเรื่องธนาคารสยามยังไงก็ยังงั้น

ท่าทีของทางการต่อไป และอนาคตของสถาบันการเงินในโครงการก็คงมั่นคงแข็งแรงตามที่เจ้าหน้าที่ระดับสูงของกระทรวงการคลังและแบงก์ชาติแถลง เพราะเมื่อผู้สื่อข่าวถามว่าถ้าเกิดมีบริษัทเงินทุนในโครงการไปไม่ไหวจะมีการเพิกคอนใบอนุญาตหรือไม่ ซึ่งนิพัทธ์ พุกกะณะสุต รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจและการคลังตอบอย่างชัดเจนว่า

"อย่าเพิ่งบอกว่าทำไม่ไหว มันไปไหวทุกบริษัท ขึ้นอยู่ว่าเราจะต้องใช้เงินหรือมาตรการต่างๆ มากมายขนาดไหน"

"ผู้จัดการ" เชื่ออย่างที่นิพัทธ์ พุกกะณะสุตพูดว่าบริษัทไหนมันก็ไปได้ทั้งนั้นถ้าอัดฉีดเงินเข้าไปเรื่อยๆ ส่วนมาตรการแก้ไข คงไม่ต้องออกมามากมายนักหรอกครับ

หาวิธีการมาตรการดึงข้าราชการของกระทรวงการคลังและแบงก์ชาติ ที่ต้องเสียสละเวลาในหน้าที่การงานออกไปนั่งเป็นกรรมการบริษัทเงินทุนในโครงการ 25 แห่งกลับสังกัดเดิมให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ภายในระยะ 1-2 ปีก็คือได้ว่าแก้ปัญหาได้เกินครึ่งแล้ว

เร็วๆ หน่อยนะครับ เพราะได้ยินข่าวมาว่าข้าราชการโดยเฉพาะของกระทรวงการคลังระดับซี.5-6 เกิดค่านิยมใหม่ขึ้นแล้วว่า

ใครไม่ได้เป็นกรรมการสถาบันการเงินในโครงการ..คนๆ นั้นไม่เท่.



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.