มาบุญครองหินอ่อนปมเงื่อนศิริชัย บูลกุล


นิตยสารผู้จัดการ( สิงหาคม 2529)



กลับสู่หน้าหลัก

เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2524 ผู้ถือหุ้นจำนวน 15 ราย ได้ตกลงใจกันตั้งบริษัทมาบุญครองหินอ่อนขึ้นเพื่อจำหน่ายหินอ่อน โดยนำหินอ่อนมาจากประเทศอิตาลี และบางส่วนในประเทศมาแปรรูป

ทุนจดทะเบียนครั้งแรก 25 ล้านบาท โดยชำระครั้งแรกเพียง 25% เพียงเดือนตุลาคม 2524 บริษัทก็เพิ่มทุนจดทะเบียนอีกครั้งเป็น 40 ล้านบาท จนถึงเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2528 (เท่าที่หาหลักฐานได้จากกระทรวงพาณิชย์) ก็ยังรักษาทุนจดทะเบียนไว้เท่าเดิม

ทว่าสรุปข้อสนเทศของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยระบุว่า ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2528 บริษัทมาบุญครองหินอ่อนมีทุนจดทะเบียน 60 ล้านบาท? ไม่ทราบว่าใครถูกผิดกันแน่แต่ถ้าจะให้เชื่อ ก็ต้องเชื่อข้อมูลอันแรกจากกระทรวงพาณิชย์ไว้ก่อน

หลังจากบริษัทนี้ตั้งขึ้นไม่นานบริษัทมาบุญครองอบพืชและไซโล ซึ่งเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯได้ทำสัญญาเช่าที่ดินจำนวนประมาณ 23 ไร่ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเพื่อทำการพัฒนาที่ดินใน "โครงการมาบุญครองเซ็นเตอร์"

ความจริงโครงการนี้มาบุญครองฯ "จ่อคิว" มาตั้งแต่ปี 2521 แต่ติดขัดปัญหากับสำนักงานผังเมือง กทม. อันมีผลให้โครงการล่าช้าออกไปมาก

เมื่อโครงการนี้เปิดตัวออกมาก็ครึกโครมสุดขีด จุดเด่นๆ นอกจากจะตั้งตระหง่านใจกลางเมือง เป็นคอมเพล็กซ์ที่ใหญ่เอามากๆ ที่สำคัญเจ้าของโครงการประกาศว่าเป็น "นครหินอ่อนใจกลางเมือง" อันเป็นที่รู้กันว่าคอมเพล็กซ์ต่างๆ ที่ผุดขึ้นหลายแห่งเวลานั้นสะพรึงกลัว

"ที่จริงบริษัทมาบุญครองหินอ่อนเกิดขึ้นก็เพื่อการนี้โดยเฉพาะ กะกันว่าทั้งโครงการนี้ต้องใช้หินอ่อนมูลค่าไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาท" ผู้รู้คนหนึ่งบอก

ทุกคนที่รู้ก็ได้แต่สรรเสริญความชาญฉลาดของศิริชัย บูลกุล ผู้บริหารสูงสุดของทั้งสองบริษัท!!

ลงทุนเอง ขายเอง ซื้อเองอย่างนี้ ต้นทุน "นครหินอ่อน" ก็ควรจะถูกกว่าที่ควรจะเป็น

ใครๆ ก็คิดกันอย่างนั้น

แต่ความจริงกลับตาลปัตรจากที่คาดเอาไว้มาก

ก่อนจะไปไกลกว่านี้ ขอมาเริ่มต้นที่ความแตกต่างระหว่างบริษัทมาบุญครองอบพืชและไซโล เจ้าของโครงการมาบุญครองคอมเพล็กซ์ กับมาบุญครองหินอ่อน ผู้นำเข้าหินอ่อนมาแปรรูปจำหน่าย

บริษัทแรกเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียน ผู้ถือหุ้นกระจายออกไปในลักษณะมหาชน ศิริชัย บูลกุล และบริษัทในเครือของเขาถือหุ้นไม่เกิน 30% ขณะเดียวกันที่บริษัทมาบุญครองหินอ่อนเป็นบริษัทธรรมดา ศิริชัย บูลกุล ถือหุ้นในนามส่วนตัวประมาณ 18% พี่น้อง "บูลกุล" และบริษัทในเครือถือหุ้นอีกไม่น้อยกว่า 60% (โปรดดูตารางประกอบ)

สรุปลงมาให้เข้าใจง่ายๆ ก็ว่า ผลของการประกอบการทั้งสองบริษัทนั้น ศิริชัย บูลกุลล้วนมีแต่ส่วนได้ส่วนเสีย เพียงแต่ว่าบริษัทหลังเขาจะมีส่วนได้ส่วนเสียมากกว่าอย่างมากๆ เท่านั้น

เพื่อให้ดูเป็นเนื้อเดียวกัน มาบุญครองอบพืชและไซโลก็เข้าถือหุ้นบริษัทมาบุญครองหินอ่อน 20%

บางคนบอกว่าการเข้ามาถือหุ้นของมาบุญครองอบพืชฯ ก็เพื่อให้สมเหตุสมผลในการทำสัญญารับซื้อหินอ่อนจากมาบุญครองหินอ่อน

บริษัทมาบุญครองอบพืชและไซโลมีทุนจดทะเบียน ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2528 จำนวน 550.125 ล้านบาท ผลประกอบการเมื่อสิ้นปี 2528 มีกำไร 9.87 ล้านบาท ส่วนบริษัทมาบุญครองหินอ่อน ทุนจดทะเบียน 40 ล้านบาทกำไรสำหรับสิ้นปีสุด วันที่ 30 มิถุนายน 2528 เป็นเงิน 82 ล้านบาท

มันช่างเป็นความ "ห่างชั้น" กันเหลือเกิน!

ยิ่งไปกว่านั้น มาบุญครองอบพืชและไซโลยังไม่ได้ชื่นชมกับผลกำไรสิ้นปีเมื่อ 30 มิถุนายน 2528 ก็กลับขายหุ้นไปเสียก่อน โดยทำหลักฐานโอนหุ้น 20% กันเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2528 "เท่าที่ทราบขายกันในราคาพาร์" คนวงในให้ข้อมูล

บริษัทที่รับซื้อหุ้นจากมาบุญครองอบพืชและไซโลพร้อมกับยิ้มรับเงินปันผลอันงดงาม มิใช่ใครที่ไหน คือบริษัทมาบุญครองโฮลดิ้งจำกัด ผู้ถือ 100% (ก็ว่าได้) ก็คือพี่น้อง "บูลกุล" และแน่นอนที่สุดหุ้นใหญ่ที่สุดได้แก่ ศิริชัย บูลกุลนั่นเอง

ปมเงื่อนอันนี้ "ผู้มีอำนาจ" ในตลาดหลักทรัพย์ฯจะต้องแก้กันหรือไม่?

"เป็นข้อมูลที่น่าสนใจ ผมเห็นว่าน่าจะกระทำหรือหามาตรการบางอย่าง แต่หน้าที่ของเราขณะนี้มีเพียงเปิดเผยข้อมูลบริษัทต่างๆ ให้ประชาชนรับรู้มากที่สุด…" ดุษฎีสวัสดิ-ชูโต ประธานกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ รักษาการกรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ (ในช่วงนั้นดร.มรวยไม่อยู่เดินทางไปต่างประเทศ) ตอบคำถาม "ผู้จัดการ" สั้นๆ

จากข้อมูลที่มีอยู่พบว่าบริษัทในเครือมาบุญครองเกือบๆ 20 บริษัทนี้ มาบุญครองหินอ่อน เป็นบริษัทที่มีผลประกอบการดีที่สุด

และที่น่าตกอกตกใจอีกประการหนึ่งก็คือ บริษัทในเครือมาบุญครอง ที่บริษัทมาบุญครองอบพืชและไซโลถือหุ้นอยู่ตั้งแต่ต้นจนถึงปัจจุบันล้วนขาดทุนกันถ้วนหน้า ดูจากงบดุลจะเห็นว่า ครั้นเมื่อรวมบริษัทมาบุญครองอบพืชและไซดลกับบริษัทในเครือกำไรจะลดลงจากบริษัทหลัก

และมีโครงการสร้างผู้ถือหุ้นแตกต่างไปจากบริษัทอื่นๆ (ในเครือ) ซึ่งบ่งบอก CONNECTION สำคัญๆ ของ ศิริชัย บูลกุล

พลอากาศเอกเรืองชัย กาญจนะโภคิน ถือหุ้น 1.8% เคยดำรงตำแหน่งรองเสนาธิการทหาร สมัยพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ เป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด ธาตรี ประภาพันธ์ (4%) อดีตเลขารัฐมนตรีอุตสาหกรรม (อบ วสุรัตน์) เป็นลูกเขยคนสำคัญของบรรณสมบูรณ์ มิตรภักดี ซึ่งว่ากันว่าเป็นฐานการเงินรายใหญ่ของพรรคชาติประชาธิปไตยของพลเอกเกรียงศักดิ์ ธาตรีเดิมเป็นพ่อค้าอาวุธจึงมีสายสัมพันธ์กับทหารเป็นอย่างดี

ทวีป ชาติธำรง (0.6%) เคยเป็น VICE PRESIDENT ของธนาคารเชสแมนฮัตตัน แล้วลาออกมาอยู่มาบุญครองทำหน้าที่ปรึกษาด้านการเงิน ต่อมาได้ลาออกไปอยู่ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ข่าววงในแจ้งว่ามีความขัดแยังกับมา ชานลีน้องชายของศิริชัย "ผลประกอบการดีอย่างนี้ คุณทวีปรู้ขายหุ้นก็โง่สิ" แหล่งข่าวกล่าว

สมพร บุณยคุปต์ (4%) อดีตรัฐมนตรีสำนักนายกรัฐมนตรีและเป็นเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ.) ตั้งแต่ 25 มีนาคม 2514 ถึง 1 ตุลาคม 2525 ซึ่งเป็นคนเซ็นต์อนุมัติการส่งเสริมสร้างไซโล ของมาบุญครองอบพืชและไซโล ที่ศรีราชา โครงมาบุญครองซีเมนต์ซึ่งเป็นโครงการที่ทำให้หุ้นมาบุญครองทะยานขึ้นไปไม่หยุด (โปรดอ่านเดินเรื่อง) และอีกหลายๆ โครงการ

สำเนา จุลกะรัตน์ (0.6%) รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมและอดีตเคยเป็นรองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม

"ผมว่าบุคคลเหล่านี้คือผู้มีส่วนสนับสนุนและเคยช่วยเหลือคุณศิริชัยในเรื่องการงานมาแล้วทั้งนั้น การมาถือหุ้นบริษัทมีกำไรดีเช่นนี้ ก็ต้องถือว่าคุณศิริชัยเป็นคนไม่ลืมบุญคุณ" อดีตเพื่อนศิริชัย บูลกุล คอมเมนต์กับ "ผู้จัดการ"

เมื่อไม่นานมานี้มีกระแสว่ามาบุญครองหินอ่อนจะปิดตัวเองเนื่องจากโครงการมาบุญครองเซ็นเตอร์กำลังจะเสร็จสิ้น "ผมว่ายังไม่ปิดตอนนี้ เพราะอาคารโรงแรมยังไม่เรียบร้อยต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง หากเมื่อสิ้นโครงการนี้แล้วไม่แน่" คนในบริษัทมาบุญครองหินอ่อนบอก

อย่างไรก็ตาม "ผู้จัดการ"ได้รับการยืนยันว่าขณะนี้บริษัทกำลังดำเนินการต่างๆ เพื่อลดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการจ้างงานและมีแนวโน้มจะก่อเป็นข้อพิพาทแรงงาน เนื่องจากกลุ่มกรรมกรได้ล่วงรู้ว่าบริษัททำกำไรจำนวนมากมาโดยตลอด

ลืมบอกไปว่า…บริษัทมาบุญครองหินอ่อน ไม่เพียงขายหินอ่อนสำหรับโครงการมาบุญครองเซ็นเตอร์เท่านั้นบ้านหินอ่อนหลังใหญ่มูลค่านับร้อยล้านบาทในซอยเอกมัยของศิริชัย บูลกุลก็ใช้บริการของบริษัทนี้เหมือนกัน…



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.