มา บูลกุล พ่อที่ลูกๆ ไม่ถอดแบบ


นิตยสารผู้จัดการ( สิงหาคม 2529)



กลับสู่หน้าหลัก

ม้าเลียบคุน เกิดเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2440 เป็นลูกชายคนแรกของม้าถ่องเจ๊ง (พ่อ) กับจีเข่งชิน (แม่)

พ่อของเขาเป็นชาวจีนกวางตุ้งอพยพครอบครัวมาพึ่งแผ่นดินสีเขียวในประเทศไทย อาศัยความชำนาญพิเศษอันเป็นลักษณะของชาวกวางตุ้งทั่วไปคือ ช่างฝีมือรับจ้างเลี้ยงครอบครัว

เวลานั้นกรุงเทพ-ริมแม่น้ำเจ้าพระยามีโรงสีขนาดใหญ่เรียงรายอยู่ทั่วไป พ่อของเขารับจ้างเป็นช่างประจำโรงสีต่างๆ เหล่านั้น "ตอนนั้นมีโรงสีประมาณ 4-5 โรง เป็นของคนจีนกับพวกเจ้า" สมบุญ ผไทฉันท์ ผู้จัดการสมาคมผู้ส่งข้าวออกต่างประเทศ ในฐานะอดีตเคยเป็นเลขาส่วนตัวของม้าเลียบคุนบอก "ผู้จัดการ"

พ่อของเขาได้ชื่อว่ามีอันจะกิน ม้าเลียบคุน จึงมีโอกาสได้ข้ามน้ำข้ามทะเลไปศึกษาหาความรู้ในโรงเรียนมีชื่อที่ฮ่องกง โรงเรียนเซนต์สตีเวนซึ่งว่ากันว่ามีลักษณะเหมือนๆ โรงเรียนอัสสัมชัญฯ ในประเทศไทย

อายุได้ 19 ปี ม้าเลียบคุนเรียนจบ เดินทางกลับบ้าน

ขณะนั้นพ่อของเขาเก็บหอมรอมริบได้เงินก้อนใหญ่จากอาชีพช่างโรงสี จนมาดำเนินกิจการโรงสีที่ตำบลบุคคโล ฝั่งธนบุรี (เช่า) และกำลังเริ่มก่อสร้างโรงสีขนาดใหญ่ของตนเองขึ้นในที่ดินของตนเองที่อำเภอบางปะกอก เขตราษฎร์บูรณะปัจจุบัน เป็นโรงสีขนาดใหญ่ที่สุดในเวลานั้น (กำลังสีข้าว 450 เกวียน/วัน)

ม้าเลียบคุนได้เรียนรู้งานช่างโรงสีไปพร้อมกับการค้าข้าว

อายุได้ 27 ปีพ่อของเขาได้ลาโลกไป ทิ้งน้องๆ ทั้งแม่เดียวกันและต่างแม่ไว้ให้เขาดูแล 3 คน

เขาสืบทอดกิจการของพ่ออย่างดีเยี่ยม จนชื่อกระฉ่อนไปทั่วท้องน้ำเจ้าพระยาตอนใต้

หลังจากรับช่วงธุรกิจจากพ่อเพียงปีเดียว ม้าเลียบคุนก็บินได้อย่างเต็มภาคภูมิ เขารวบรวมพรรคพวกนี้ โล้วเต็กชวน และตันซิ่วเม้ง เหียกวงเอี่ยม ซึ่งประกอบอาชีพเดียวกันตั้งสมาคมโรงสีไฟแห่งประเทศไทยขึ้น โดยมีเขาดำรงตำแหน่งนายกสมาคมติดต่อกันจากนั้นมาเป็นเวลา 8 ปีเต็มๆ

สมาคมโรงสีไฟฯมีอิทธิพลมาก เป็นทั้งผู้ประกอบกิจการโรงสี อุตสาหกรรมที่มีพลังที่สุดในเวลานั้นพร้อมกับเป็นผู้ส่งออกข้าวด้วย

เขาพัฒนาธุรกิจส่งออกข้าวออกไปอย่างกว้างขวางโดยไปตั้งสาขาที่ต่างประเทศคือห้างจินเส็งฮงที่ฮ่องกง และห้างส่งเส็งที่สิงคโปร์ เป็นต้น

ส่วนในประเทศเขาเป็นต้นคิดตั้งบริษัทเดินเรือรับส่งสินค้าซึ่งต่อมาเป็นบริษัทโหงวฮัก ทั้งยังมีธนาคารจินเส็งฮงของตนเองในปี 2476 อีกด้วย

ช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง ภาวะการค้าข้าวตกต่ำสุดขีดเหลือเพียงเกวียนละ 25 บาท (ข้าวเปลือก) ทองคำก็ราคาถูกมาเท่าๆ กับข้าวเปลือกเพียง 1 เกวียนเท่านั้น

ญี่ปุ่นเริ่มก่อสงคราม ซึ่งจำเป็นต้องซื้อข้าวจำนวนมากประเทศไทยจึงหาทางเจรจาขายข้าวให้ญี่ปุ่นเพื่อบรรเทาภาวะการค้าตกต่ำ "แต่ปรากฎว่าตอนนั้นกุลีหรือคนงานในโรงสีทั้งหมดเป็นคนจีน ทำการประท้วงไม่ยอมส่งข้าวญี่ปุ่นหากส่งก็ปลอมปนต่างๆ นานาเนื่องจากคนจีนไม่พอใจญี่ปุ่นรุกรานจีนแผ่นดินใหญ่ ซึ่งอยู่ในช่วงกำลังก่อสงครามกันอยู่" สมบุญ ผไทฉันท์เล่า

ด้วยเหตุนี้รัฐบาลจึงยื่นมือเข้ามาเกี่ยวข้อง

เหตุผลประการแรกต้องการแก้ปัญหาคนจีนแอนตี้ญี่ปุ่น

อีกประการหนึ่ง เนื่องจากขณะนั้นกิจการค้าข้าวและโรงสีอยู่ในกำมือของคนจีนเกือบทั้งหมด รัฐจึงมีดำริจะให้คนไทยมีส่วนบ้าง

สถานการณ์ค้าข้าว-โรงสีตอนนั้น ตกต่ำถึงขั้นต้องปิดกิจการ ม้าเลียบคุนก็ไม่รอดพ้นกิจการธนาคารจิ่นเส็งต้องปิดกิจการ โรงสีทั้งสองโรงก็ปิดตายอยู่เฉยๆ

กระทรวงเศรษฐกิจการดำริตั้งบริษัทข้าวไทย เพื่อดำเนินกิจการโรงสี และส่งออกข้าวแทนเอกชน

พระบริภัณฑ์ยุทธกิจรัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐการและพระประมนต์ปัญญาอธิบดีกรมพาณิชย์ เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในเรื่องนี้ "พระประมนต์ฯ รู้จักเจ้าสัวมาเนื่องจากท่านเคยไปเป็นข้าหลวงพาณิชย์ที่ฮ่องกง ทั้งยังรู้จักญี่ปุ่นดีด้วย" สมบุญ เล่าถึงการที่ม้าเลียบคุนได้รับการเชื้อเชิญเข้ามาเป็นผู้จัดการคนแรกของบริษัทข้าวไทยซึ่งตั้งขึ้นในปี 2481

"พระบริภัณฑ์ฯ ขออนุมัติจากครม.ขอยืมเงินจำนวน 5 แสนบาทจากกระทรวงการคลังมาตั้งบริษัท โดยการเช่าโรงสีของเจ้าสัวมา มาดำเนินการเจ้าสัวมานอกจากจะเป็นผู้จัดการแล้วยังเป็นหัวหน้าช่างด้วย" เขาเล่าต่อ

ม้าเลียบคุนบริหารงานไปได้ดีตั้งแต่ปีแรก ดังนั้นในปีต่อมาจึงเพิ่มทุนอีก 1 ล้านบาทเป็น 1.5 ล้านบาท กระทรวงการคลังและเศรษฐการถือหุ้น 73% นอกนั้นเป็นเอกชนทั่วไป เขาขยายกิจการเช่าโรงสีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนสูงสุดถึง 18 แห่ง และเมื่อกิจการไปโลดบริษัทข้าวไทยก็ถึงขั้นมีโรงสีของตนเองจำนวน 5 แห่ง ในจำนวนนั้นเป็นของม้าเลียบคุน 3 แห่ง (ทั้งหมดที่เขามีอยู่)

ปี 2484 หรือม้าเลียบคุนมีอายุ 44 ปี ในสมัยที่จอมพลป.พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรี เขาได้รับอนุญาตโอนสัญชาติเป็นไทย ทั้งจอมพลป.ก็ตั้งนามสกุลให้ "ในช่วงนั้นจอมพลป.ตั้งนามสกุลให้ 3 คนคือ บูลกุล บูลภักดิ์ และ บูลสุข" สมบุญบอก

ม้าเลียบคุนก็กลายมาเป็น มา บูลกุล และได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทข้าวไทยตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ช่วงสงครามโลกครั้งที่สองญี่ปุ่นเข้ายึดหัวหาดประเทศไทย กิจการโรงสีหรือส่งออกข้าวของชาวอังกฤษจึงต้องถอนตัว บริษัทข้าวไทยได้ยึดกิจการเหล่านั้นมาดำเนินการอาทิของบริษัทแองโกลฯ อีสต์เอเชียติ๊ก บอร์เนียว เป็นต้น

ครั้นเมื่อสงครามโลกครั้งที่สองยุติ ฝ่ายสัมพันธมิตรชนะสงคราม อังกฤษเสนอให้ไทยยุบบริษัทข้าวไทย ในฐานะที่ยึดกิจการโรงสีและการค้าข้าวของอังกฤษในระหว่างสงคราม

"หลวงประดิษฐ์มนูธรรมและคุณทวี บุณยเกียรติได้ต่อสู้ โดยได้ทำการโอนหุ้นของกระทรวงการคลังและกระทรวงเศรษฐการมาเป็นของชุมนุมสหกรณ์ทั้งหมด โดยให้เหตุผลกับสหประชาชาติที่ไม่ยุบบริษัทข้าวไทยว่าจะทำให้เกษตรกรเดือดร้อน" ผู้รู้เรื่องดีในยุคนั้นเล่าให้ฟังถึงความชาญฉลาดของ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม หรือปรีดี พนมยงค์

กระทรวงการคลังและกระทรวงเศรษฐการได้โอนหุ้น 76% ให้ชุมนุมสหกรณ์ฯ เมื่อปี 2489

หลังสงครามโลกครั้งที่สอง กิจการโรงสีและการส่งออกข้าวได้เริ่มเปลี่ยนโฉมหน้าอีกครั้ง

โรงสีที่เคยตั้งอยู่ริมน้ำเจ้าพระยาในเขตกรุงเทพ ซึ่งต่อมาเป็นของบริษัทข้าวไทยได้ขยายตัวไปตั้งในต่างจังหวัดเนื่องจากแรงงานถูกกว่า "ก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง ข้าวเปลือกประมาณ 95% จะเข้ามาสีเป็นข้าวสารในกรุงเทพ แต่พอหลังสงครามโลกเหตุการณ์ได้ตรงกันข้าม กลายเป็นข้าวสารเกือบ 100% มาจากต่างจังหวัด" สมบุญ ผู้คลุกคลีมากับวงการค้าข้าวตลอดชีวิตชี้ถึงจุดเปลี่ยนที่สำคัญ

พ่อค้าคนจีนในกรุงเทพได้แปรสภาพเป็นผู้ส่งออกที่ไม่ต้องการมีกิจการโรงสีสมาคมพ่อค้าซึ่งเคยเล็กกว่าสมาคมโรงสีไฟฯ ได้กลายเป็นสมาคมที่ทรงอิทธิพลในเวลาต่อมา ในทางกลับกันสมาคมโรงสีไฟฯ ได้ถูกลดบทบาทในอย่างมาก

สมาคมพ่อค้าข้าว ต่อมาได้เปลี่ยนเป็นสมาคมผู้ส่งข้าวออกต่างประเทศในปัจจุบันที่ซึ่งมีอำนาจมากมายรวมไปถึง "ชี้เป็นชี้ตาย" ตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์

ถึงตอนนี้กิจการโรงสีและการค้าข้าวมิได้อยู่เพียงกำมือของบริษัทข้าวไทยเท่านั้น พ่อค้าคนจีนจำนวนมากก่อตัวเป็นกลุ่มก้อนเกิดขึ้นพร้อมกับยุทธวิธีการค้า "ทุกรูปทุกแบบ" ว่ากันว่าเป็นจุดเริ่มต้นของ "ความเคยตัว" ของเจ้าหน้าที่ตรวจข้าวเพื่อส่งออกของทางการที่ต้องหัก "หัวคิว"

สมบุญ ผไทฉันท์ เลขานุการ มา บูลกุล และเลขานุการคณะกรรมการบริษัทข้าวไทย เปิดเผยกับ "ผู้จัดการ" ว่า พฤติการณ์ดังกล่าวก่อความหนักใจแก่บริษัทข้าวไทยอย่างมาก "เราไม่สามารถจะจ่ายค่าหัวคิดได้ ประกอบกับมีการค้าแข่งขันกันมาก อีกทั้งคณะกรรมการบริษัทข้าวไทยก็เปลี่ยนชุดบ่อยมาเนื่งจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง"

ปี 2496 เป็นต้นมาบริษัทข้าวไทยขาดทุนเป็นครั้งแรกและก็ขาดทุนต่อเนื่องมาเรื่อยๆ

ชีวิตช่วงท้ายๆ ของ มา บูลกุลในการรับใช้ชาติไม่ค่อยสงบสุขนัก อย่างไรก็ตามเขาก็พยายามหาทุกวิธีแก้ปัญหา เมื่ออับจนด้วยหนทาง มา บูลกุลก็เริ่มหันมาค้าขายเองบ้าง โดยขออนุญาตคณะกรรมการบริษัทข้าวไทยเปิดกิจการโรงสีในต่างจังหวัดหลายแห่ง เช่น เชียงใหม่ ขอนแก่น

ปี 2498 โรงสีไฟจินเส็งตั้งขึ้น ด้วยทุนจดทะเบียน 5 ล้านบาท กิจการส่วนใหญ่ซื้อ-ขายข้าว อันมีสำนักงานใหญ่ซื้อ-ขายข้าว อันมีสำนักงานอยู่ในต่างจังหวัดมาก ตามบันทึกทะเบียนพาณิชย์ กระทรวงพาณิชย์ระบุว่าบริษัทนี้ประสบการขาดทุนตลอดา

"เพื่อมิให้ใครว่าได้ ในครั้งแรกๆ โรงสีไฟจินเส็งผู้ถือหุ้นใหญ่คือคุณศุภชัย บูลกุล ลูกชายคนโตของเจ้าสัวมา" แหล่งข่าวบอก

จะว่าไปแล้วธุรกิจส่วนตัวที่สร้างผลกำไรอย่างเป็นกอบเป็นกำของ มา บูลกุล นั้นอยู่ที่ฮ่องกง ซึ่งมีทั้งห้างจินเส็งฮง - ผู้นำเข้าข้าวจากประเทศไทย (แต่ไม่มีใครรู้) และจำหน่ายปลีกในฮ่องกงและกิจการเดินเรือทะเล

มา บูลกุลจากไปอย่างกะทันหัน เนื่องจากถูกน้องชาย (คนละแม่) ยิงตายที่สำนักงานบริษัทข้าวไทย เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2507 พร้อมกับมือปืนที่ยิงตัวตายตาม

"ยี่เสี่ยเป็นคนเจ้าสำราญไม่ทำมาหากิน ชอบดาราภาพยนตร์ ค่าใช้จ่ายทั้งหมดอยู่ที่เจ้าสัวมาหนักๆ เข้าเจ้าสัวไม่พอใจที่ใช้จ่ายเงินฟุ่มเฟือยวันนั้นมาขอเงินเจ้าสัวไม่ให้เลยโมโหควักปืนมายิง…" สมบุญ ผไทฉันท์ ผู้อยู่ในเหตุการณ์เล่าให้ฟัง

มา บูลกุลเมื่อครั้งมีชีวิตอยู่ เขาไม่เพียงทำงานเป็นผู้จัดการบริษัทข้าวไทยจนวาระสุดท้ายชีวิตเท่านั้น เขายังเป็นต้นคิดเสนอรัฐบาลตั้งธนาคารไทยจำกัด (ต่อมาเป็นธนาคารมณฑล ในที่สุดก็มารวมกับธนาคารเกษตรเป็นธนาคารกรุงไทยในปัจจุบัน) และบริษัทไทยเศรษฐกิจประกันภัย เมื่อปี 2484

และมา บูลกุลก็ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการบริษัทไทยเศรษฐกิจประกันภัยตั้งแต่นั้มาจนถึงสิ้นชีวิตเช่นเดียวกัน

ในหนังสืองานพระราชทานเพลิงศพ มา บูลกุลได้แสดงให้เห็นว่าเขาเป็นผู้ที่ "ยิ่งใหญ่" คนหนึ่งในสายตาของ "ผู้ใหญ่" ในแผ่นดินยุคนั้น

เขาเป็นคนจีนที่รับใช้ผู้ใหญ่ในแผ่นดินยุคนั้นในจำนวนไม่กี่คนที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ทวิติยาภรณ์มงกุฎไทย

คำไว้อาลัยต่อเขาเกือบทั้งหมดมาจากคนในภาครัฐบาลตั้งแต่จอมพลถนอม กิตติขจร นายารัฐมนตร พลเอกประภาส จารุเสถียร รองนายกรัฐมนตร และรัฐมนตรีมหาดไทย เกษม ศรีพยัคฆ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐการ (พาณิชย์ในปัจจุบัน) พันเอก (พิเศษ) ถนัด คอมันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ สุนทร หงส์ลดารมภ์ อดีตรัฐมนตรีเศรษฐการ พระประกาศสหกรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาการแห่งชาติ หม่อมหลวงเดชสนิทวงศ์ ควง อภัยวงศ์ เป็นต้น

นอกจากนี้เจียงไคเช็ค ประธานาธิบดีไต้หวัน (ขณะนั้น) ได้เขียนคำไว้อาลัย ในฐานะที่มา บูลกุล คือคนจีนโพ้นทะเลสายก๊กมินตั๋งอีกคนหนึ่ง

ชีวิตส่วนตัวของมา บูลกุลก็เหมือนๆ กับคนจีนทั่วไปที่ไม่มีภรรยาเพียงคนเดียว แต่ภรรยาที่ออกหน้าออกตาคือบุญครอง มีลูกชาย-ลูกสาว ด้วยกันรวม 9 คน

ลูกชาย -- ศุภชัย วันชัย โชคชัย และศิริชัย ลูกสาว - มาลี เลียงชัยกุล, อมรา ภัทรธรรมมาศ, จันทนา ลิ่มปิวิวัฒน์กุล, ลาวัณย์ ซอย และนิรมล สุริยสัตย์ (แต่งงานแล้วทุกคน)

แม่คนที่สองในประเทศไทยว่ากันว่า ให้ลูกชายลูกสาวอีกประมาณ 6 คน

และที่ฮ่องกง ภรรยาของมา บูลกุล อีกคนให้กำเนิดลูกชายคนสำคัญที่ชื่อ มาชานลี

ว่ากันว่าด้วยว่าที่มา บูลกุล ได้สร้างความร่ำรวยและความเป็นอยู่ที่สะดวกสบายแก่ครอบครัว ดังนั้นทายาทของเขาเกือบทุกคน (โดยเฉพาะผู้ชาย) จึงมีวิถีชีวิตที่แตกต่างจากเขาอย่างสิ้นเชิง

ผู้ใกล้ชิดครอบครัวบูลกุล เล่าให้ฟังว่า ศุภชัย ลูกชายคนโต ต้องการเป็นนักธุรกิจ มีกิจการของตนเอง ผู้เป็นพ่อจึงให้เงินก้อนหนึ่งซื้ออุปกรณ์เพื่อลงทุนกิจการรถเมล์ที่จังหวัดนครราชสีมา แต่ปรากฎว่าถูกปล้นระหว่างทาง รวมทั้งเป็นเอเย่นต์ขายรถบรรทุกที่ประสบปัญหาขายไม่ออก จนต้องเลิกกิจการไปในที่สุด

คนที่สอง วันชัย ซึ่งถือได้ว่าเป็นผู้กว้างขวาง ในฐานะผู้ว่าการภาคของสโมสรไลอ้อนส์มา บูลกุลก็ส่งเสริมให้มีกิจการโรงแรมโดยสร้างในที่ดินของบ้านเดิมของครอบครัวที่สุริวงศ์อันได้แก่โรงแรมโนห์รากิจการพอเดินไปได้

โชคชัย นักเรียนนอกผู้คลั่งไคล้วิชาการเกษตรอย่างมาก กว่าจะตั้งตัวเป็นนักปศุสัตว์ระดับเศรษฐีในปัจจุบันได้ก็ต้องล้มลุกคลุกคลานหลายยก

มีเพียง ศิริชัย บูลกุล เท่านั้น ที่สามารถดันตนเองขึ้นมายิ่งใหญ่พอสมควรในปัจจุบันและถือไว้ว่าเขาได้เก็บดอกผลบารมีและชื่อเสียงของพ่อในการดำเนินธุรกิจได้มากที่สุด

แต่ทว่า วิถีดำเนินของเขาก็แตกต่างจากผู้เป็นพ่อราวฟ้ากับดิน

"ลูกชายส่วนใหญ่ของเจ้าสัวมา ใช้ชีวิตที่ฮ่องกง โดยเฉพาะการเรียนในระยะต้นๆ ก็เลยเพาะนิสัยคนรุ่นใหม่แบบฮ่องกง เป็นนักเสี่ยงโชค ไม่ว่าการพนัน การเล่นหุ้น ว่ากันที่จริงแล้วนิสัยมักจะออกมาคล้ายๆ กับอาของเขาหลายๆ คนเสียด้วย" ผู้ใกล้ชิดครอบครัวของ มา บูลกุลเล่าตบท้าย



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.