|
เป๊ปซี่ปรับโมเดลธุรกิจ ดึงบรรจุขวดมาบริหารเอง
ASTVผู้จัดการรายสัปดาห์(19 เมษายน 2553)
กลับสู่หน้าหลัก
แม้ว่าจะเป็นกิจการเครื่องดื่มที่มีขนาดใหญ่อันดับ 2 ของโลกรองจากบริษัท โคคา-โคลา แต่ผลประกอบการล่าสุดที่เพิ่งประกาศออกมาของบริษัทเป๊ปซี่ดูเหมือนว่าจะดีกว่าคู่แข่ง แถมยังมีการปรับเปลี่ยนโมเดลการทำธุรกิจจากเดิมด้วยการซื้อกิจการ 2 กิจการคือ เป๊ปซี่ บอทเทิลลิง กรุ๊ป และเป๊ปซี่ อเมริกาเข้ามาด้วยเงินกว่า 7,800 ล้านดอลลาร์ จนสร้างความประหลาดใจให้กับตลาดไปตามๆ กัน
การซื้อกิจการบรรจุขวดน้ำดื่มที่เคยใช้การว่าจ้างดำเนินการโดยบริษัทภายนอกเข้ามาเป็นกิจการในเครือข่ายของเป๊ปซี่เอง เป็นการเปลี่ยนลักษณะการดำเนินธุรกิจเครื่องดื่มน้ำอัดลมในสหรัฐอเมริกาเป็นครั้งแรกในรอบหลายปีที่ผ่านมา และที่สำคัญไม่ใช่เพียงเป๊ปซี่เพียงกิจการเดียวที่ตัดสินใจปรับเปลี่ยนโมเดลของวงการการดำเนินธุรกิจดังกล่าว เพราะ โคคา-โคลา ก็ได้ประกาศซื้อกิจการของบริษัทที่รับช่วงการบรรจุขวดน้ำอัดลมชื่อโคคา-โคลา เอนเตอร์ไพรส์ ด้วยเช่นเดียวกัน
มองจากสภาพการดำเนินงานของธุรกิจเครื่องดื่มน้ำอัดลมในกรณีของบริษัทชั้นนำของโลกอย่างโคคา-โคลา หรือเป๊ปซี่แล้ว จะเห็นว่าจนถึงขณะนี้ยังไม่มีผู้ประกอบการรายใดที่กล้าขยับราคาขายของเครื่องดื่มน้ำอัดลมขึ้นไปอีก ทั้งที่มีแนวโน้มว่าวัสดุหรือวัตถุดิบต่างๆ ที่ใช้ในการผลิตเครื่องดื่มน้ำอัดลมได้ขยับราคาสูงขึ้นมาตามลำดับ ดังนั้น หากปล่อยให้สถานการณ์ทางด้านต้นทุนเป็นอยู่อย่างนี้ ความสามารถในการทำกำไรก็จะค่อยๆ ลดลง จนกระทบต่อการบรรลุเป้าหมายของกำไรได้
หนทางที่ต้องนำมาใช้ในขณะนี้อย่างเร่งด่วน ก็คือ หาทางปรับลดต้นทุนของการผลิตลงไปให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
ประเด็นที่น่าจะเป็นปัญหาอีกประการหนึ่ง คือ โลกกำลังก้าวเข้าสู่ช่วงเวลาฤดูร้อนแล้ว และเครื่องดื่มน้ำอัดลมจะขายดีที่สุดของปี กระบวนการในการกระจายและนำส่งสินค้าให้ออกไปตามจุดขายปลีกมากที่สุด เร็วที่สุด เพื่อพร้อมจะรองรับความต้องการของผู้บริโภคได้ตลอดเวลา
โมเดลเดิมในการดำเนินธุรกิจของเป๊ปซี่คือ การใช้ระบบแฟรนไชส์ คือการแยกขั้นตอนของการบรรจุขวดออกไปให้บริษัทภายนอกเครือข่ายดำเนินการแทน
นักวิเคราะห์เชื่อว่า แรงขับเคลื่อนทางการตลาดที่สำคัญน่าจะมาจากเป้าหมายในการยกระดับของการแข่งขันทางธุรกิจในตลาดสหรัฐฯ ให้มีความได้เปรียบทางด้านต้นทุนเพิ่มมากขึ้น และเป๊ปซี่สามารถรักษาสถานะของผลกำไรเอาไว้ แต่โมเดลของการแยกธุรกิจบรรจุขวดยังคงเป็นรูปแบบที่ใช้ในตลาดนอกสหรัฐฯ อื่นๆ
นอกจากนั้นการที่โคคา-โคลาเองก็หันมาใช้วิธีการซื้อกิจการของธุรกิจบรรจุขวดเหมือนกัน จึงน่าจะช่วยยืนยันได้ว่ากลยุทธ์ของทั้ง 2 บริษัทมาถูกทางแล้ว สำหรับการบริหารจัดการตลาดในอเมริกาเหนือ และเป๊ปซี่ก็มีความพร้อมที่จะดำเนินการด้านการบรรจุขวดเองด้วย
การรวมธุรกิจบรรจุขวดน่าจะทำให้เป๊ปซี่เชื่อมั่นในการทำกิจกรรมการตลาดในช่วงฤดูซูเปอร์โบว์ลที่กำลังย่างกรายเข้ามาถึงอีกไม่นานนี้ เพราะจะมีสินค้ารอพร้อมส่งออกไปสู่จุดขายภายใน 24 ชั่วโมง แทนที่จะเป็น 4-5 สัปดาห์ในการสั่งดำเนินการบรรจุขวดล่วงหน้า ส่วนที่เหลือที่ทีมงานการตลาดของเป๊ปซี่จะต้องพยายามหาทางออกต่อไปก็คือ ปัญหาภาวการณ์ว่างงานที่ยังสูงและความเชื่อมั่นในการใช้จ่ายของผู้บริโภค ซึ่งเป็นสภาพแวดล้อมภายนอกที่ไม่ใช่ปัญหาจากภายในอีกต่อไป
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|