หลังจากทางกลุ่มเซ็นทรัลประมูลเช่าที่จากการรถไฟได้และสร้างเซ็นทรัลพลาซ่าจนสำเร็จแล้ว
ปัญหาใหญ่ที่ตามมาคือ การขายพื้นที่ร้านค้าในพลาซ่า การที่คาดว่าจะขายพื้นที่ได้ก็ไม่เป็นไปตามที่คาด…
และจากวันนั้นจนถึงวันนี้พื้นที่ร้านค้าในเซ็นทรัลพลาซ่าก็ยังขายหรือให้เช่าได้ไม่หมดเต็มตามเป้า
แหล่งข่าวในวงการห้างสรรพสินค้าเคยให้ข้อสังเกตว่า "เซ็นทรัลพลาซ่าจัดห้องสำหรับขายให้มีเนื้อที่
200 ตารางเมตรต่อ 1 ยูนิต นั้นมากเกินไปเมื่อเปรียบเทียบกับตึกแถวทั่วไปซึ่งมีเนื้อที่เพียงห้องละ
50 ตารางเมตร นอกจากนี้ยังจัดให้มีเนื้อที่เปิดไว้กว้างขวางต้นทุนต่อตารางเมตร
จึงสูงมาก ตก 30,000 - 60,000 บาทต่อตารางเมตร ทำให้ค่าเซ้งต่อยูนิตสูงตามไปด้วยและจากการที่พื้นที่ร้านค้าต่อยูนิตมาก
ทำให้ผู้เข้าไปเซ้งต้องเสียค่าตกแต่งมากมายและสินค้าก็ต้องใส่เข้าไปในร้านมากตามไปด้วย"
แหล่งข่าวคนเดิมยังยืนยันว่า "การจะลงทุนเปิดร้านสักร้านในเซ็นทรัลพลาซ่า
ต้องมีค่าใช้จ่ายไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท ในภาวะเศรษฐกิจอย่างนี้คนลงทุนคิดสะระตะแล้วเอาเงินไปฝากธนาคารกินดอกเบี้ยสบายใจกว่า"
แต่ถึงจะมีเงินเป็นฟ่อนก็ใช่ว่าจะเปิดร้านในเซ็นทรัลพลาซ่าได้ง่ายๆ เพราะทางเซ็นทรัลเองก็มีข้อกำหนดไว้หลายอย่างเหมือนกัน
"ของเราไม่เหมือนที่อื่นเพราะเราเลือกลูกค้าด้วย คือไม่ใช่มีสตางค์แล้วมาเช่าเปิดได้เลยเรื่องการตกแต่งร้านเราก็ขอดูแบบ
มันต้องเข้ากับข้างในด้วยไม่ใช่ว่าห้องนี้เขาแต่งอย่างนี้คุณมากั้นเขา เขาก็เสียประโยชน์…ของเราเป็นศูนย์ระยะยาวไม่ใช่เห็นแก่เงิน
ได้เงินหมดแล้วปัดภาระไป เราต้องรับผิดชอบ" วันชัย จิราธิวัฒน์ กล่าวกับ
"ผู้จัดการ" เมื่อเร็วๆ นี้
เมื่อการขายพื้นที่ในเซ็นทรัลพลาซ่าไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้ ผู้บริหารกลุ่มเซ็นทรัลจะยอมอยู่เฉยได้อย่างไร…กิจกรรมทุกรูปแบบที่จะเรียกคนเข้ามาเดินในพลาซ่าจึงเกิดขึ้น
เริ่มจากการให้เช่าพื้นที่บริเวณทางเดินชั้นล่างเพื่อจัดนิทรรศการ หรือจัดกิจกรรมสาธารณประโยชน์ในราคาถูกหรือบางงานก็ให้จัดฟรี
เป็นการสร้างบรรยากาศให้คึกคักและเป็นการล่อใจผู้ลงทุนให้มาซื้อพื้นที่ร้านค้าที่เหลือด้วย
และแล้วก็ถึงกำหนด "แซงโตรเป"
ห้างสรรพสินค้าแซงโตรเปอยู่บนชั้นสองเซ็นทรัลพลาซ่าคนละฟากกับห้างเซ็นทรัลดีพาร์ทเม้นท์สโตร์
ชื่อจริงในการจดทะเบียนก่อตั้งบริษัทคือ บริษัทเซอเรนดิพิตี้ จำกัด จดทะเบียนก่อตั้งเมื่อวันที่
16 พฤศจิกายน 2525 ด้วยทุนจดทะเบียน 10 ล้านบาท เป็นการร่วมทุนระหว่างกลุ่มบริษัทเซ็นทรัลกับกลุ่มพนักงานเก่าแก่ของบริษัทฯ
โดยบริษัทห้างเซ็นทรัลดีพาร์ทเม้นท์สโตร์ถือหุ้น 50% และอีก 50% เป็นของพนักงานห้างเซ็นทรัลที่ทำงานตั้งแต่
7 ปีขึ้นไป รวมแล้วมีผู้ถือหุ้นทั้งสิ้น 76 ราย
กรรมการบริษัท เซอเรนดิพิตี้จำกัด หรือห้างแซงโตรเปที่เป็นคนของกลุ่มเซ็นทรัลประกอบด้วย
สุทธิพร จิราธิวัฒน์, เกรียงศักดิ์ จิราธิวัฒน์, วัฒน์ จิราธิวัฒน์, สิริเกศ
จิราธิวัฒน์ กรรมการที่มาจากฝ่ายพนักงานได้แก่ ประหยัด บุญสินสุข เป็นผู้บริหาร
ผู้บริหารระดับสูงของกลุ่มเซ็นทรัลกล่าวกับ "ผู้จัดการ" ถึงกำเนิดแซงโตรเปว่า
"จุดมุ่งหมายของเราอยากให้พนักงานมีกิจกรรม มีรายได้พิเศษ…สถานที่เราก็คิดถูกเป็นพิเศษด้วย"
จากจุดประสงค์ที่ทางผู้บริหารกลุ่มเซ็นทรัลต้องการให้พนักงานมีกิจกรรมและรายได้พิเศษ
และเปิดโอกาสให้พนักงานบริหารห้างแซงโตรเปกันเองโดยทางผู้บริหารกลุ่มเซ็นทรัลไม่ได้เข้าไปยุ่งเกี่ยว
ซึ่งเป็นการเสริมสร้างประสบการณ์ในการบริหารงานให้แก่พนักงาน แต่โดยนัยลึกๆ
แล้ว ทางกลุ่มเซ็นทรัลคงต้องการให้พนักงานได้ซาบซึ้งกับปัญหาต่างๆ ในการบริหารงานห้างสรรพสินค้าด้วย
และที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ การได้ใช้พื้นที่เพื่อสร้างความคึกคักให้แก่พลาซ่านั่นเอง
ก็เรียกว่าจะยิงปืนนัดเดียวเอานกหลายๆ ตัว
แหล่งข่าวในเซ็นทรัลพลาซ่ายังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า "ความจริงห้างในลักษณะเดียวกับแซงโตรเป
คือกลุ่มเซ็นทรัลเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่หรือเป็นผู้ลงทุนให้ยังมีเปิดอยู่ในเซ็นทรัลพลาซ่าอีกหลายห้างกระจายอยู่ตั้งแต่ชั้น
1-3 โดยผู้บริหารส่วนใหญ่เป็น "จิราธิวัฒน์" เช่น 20 PLUS, BY
DESIGN, COTTON & SILK, BIG SHAMP, BROADWAY, KIDDY LAND, COTTON CANDY
"อันนี้ทางห้างเป็นผู้ถือหุ้นแต่ให้ลูกหลานไปบริหาร เป็นการสร้างงาน
คือพวกเขาไม่อยากอยู่ในดีพาร์ทเม้นท์สโตร์…ก็เหมือนกัน คือออกทุนให้"
วันชัย จิราธิวัฒน์ กล่าวกับ "ผู้จัดการ"
ความพยายามของกลุ่มผู้บริหารเซ็นทรัลในการผลักดันให้มีการเปิดร้านค้าในเซ็นทรัลพลาซ่า
โดยการที่ห้างเซ็นทรัลจะเข้าไปเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่หรือร่วมลงทุนให้ร้านค้าต่างๆ
ได้เปิดดำเนินการเพื่อทำให้บริเวณพลาซ่าคึกคักประสบความสำเร็จพอสมควร และทำให้มีผู้มาลงทุนซื้อพื้นที่เปิดร้านมากขึ้น
จนถึงขณะนี้พื้นที่ขายได้เกือบหมดแล้ว
แต่แซงโตรเปกลับมีปัญหาเพราะสินค้าที่ขายคล้ายคลึงกับสินค้าที่ขายในห้างเซ็นทรัลดีพาร์ทเม้นท์สโตร์
การทำ Promotion สู้ทางเซ็นทรัลไม่ได้ทั้งที่ทางผู้บริหารเซ็นทรัลพยายามช่วยให้คนมาเดินทางฝั่งแซงโตรเปมากขึ้น
ด้วยการย้ายซุปเปอร์มาร์เก็ตจากชั้นล่างสุดของห้างเซ็นทรัลมาอยู่ที่ชั้น
1 ทางฝั่งห้างแซงโตรเป เพื่อให้คนไปเดินบริเวณนั้น แต่คนก็ยังไม่เข้าแซงโตรเปเหมือนเดิม
คนของห้างแซงโตรเปเปิดเผยกับ "ผู้จัดการ" ว่า "แรกๆ เราเน้นจุดขายเสื้อผ้า
เครื่องแต่งกายลักษณะบูติคราคาค่อนข้างสูงแต่ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร
จึงค่อยๆ เปลี่ยนมาเป็นพวก COMSUMER PRODUCT ที่เราชำนาญอยู่แล้ว แต่ก็ยังไม่ดีเพราะเรามีสินค้าและกลุ่มลูกค้าใกล้เคียงกับทางห้างเซ็นทรัลมี
Power มากกว่าในการจัดรายการ ลด แลก แจก แถม ซึ่งทางเราไม่สามารถทำเช่นนั้นได้
จึงประสบปัญหาขาดทุน
และแล้วก็ถึงจุดจบ "แซงโตรเป"
แซงโตรเปประสบปัญหาขาดทุนสะสมมาตลอด ตั้งแต่เริ่มกิจการจนสิ้นปี 2527 ขาดทุนสะสมทั้งสิ้นเกือบ
7 ล้านบาททางผู้บริหารกลุ่มเซ็นทรัล ก็เริ่มซื้อหุ้นคืนจากพนักงาน จากจำนวนหุ้นที่เคยถือ
50% เมื่อเริ่มกิจการก็เพิ่มมาเป็นเกือบ 60% เมื่อต้นปี 2528 และได้ให้สุทธิลักษณ์
จิราธิวัฒน์ เข้ามาบริหารงานแทนพนักงาน …และในที่สุดก็ตกลงใจเลิกกิจการไป
ถึงห้างแซงโตรเปจะต้องเลิกกิจการไปแล้ว แต่การเกิดของแซงโตรเปก็ให้อะไรหลายอย่าง
ไม่ว่าจะเป็นการสร้างกิจกรรมและบทเรียนการบริหารงานห้างสรรพสินค้าให้แก่พนักงานเซ็นทรัลพลาซ่าให้ร้านค้าอื่นๆ
มาเปิดจนเกือบเต็มพื้นที่ทั้งหมดแล้ว แซงโตรเปเป็นกรณีที่น่าศึกษาถึงแม้จะขาดทุน
แต่ทางผู้บริหารเซ็นทรัลก็ยินดีที่จะซื้อหุ้นจากพนักงานคืนในราคาเดิมเรื่องขาดทุนดูเหมือนจะไม่ใช่สิ่งสำคัญอะไรนัก
"…เห็นทีจะต้องหยุด เราคิดอยากให้เขาทำจนสำเร็จ และเราก็ได้พยายามช่วยพนักงานเต็มที่แล้ว…
เงินค่าหุ้นก็ต้องคืนให้พนักงาน คืนทั้งหมดในราคาเต็ม ที่ขาดทุนแล้วก็แล้วกันไป"
วันชัย จิราธิวัฒน์ ยืนยัน
หลังจากห้างแซงโตรเปตัดสินใจเลิกกิจการเคยมีข่าวว่าจะใช้พื้นที่ส่วนนั้นเปิดซุปเปอร์มาร์เก็ต
แต่ทางกลุ่มผู้บริหารเซ็นทรัลคงพิจารณาแล้วว่าสู้ซุปเปอร์มาร์เก็ตของห้างเซ็นทรัลดีพาร์ทเม้นท์สโตร์ไม่ได้
จึงยังไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปทำอะไร(ขณะนี้กำลังเลหลังสินค้าของห้างแซงโตรเป)
"กำลังคิดว่าจะใช้ทำเป็นศูนย์อุปกรณ์รถยนต์ ศูนย์เครื่องเสียง เครื่องไฟฟ้า
หรือไม่ก็ทำเป็น DISCOUNT STORE… จริงๆ แล้วอยากขายพื้นที่มากกว่า"
วันชัย จิราธิวัฒน์ บอก "ผู้จัดการ"