|
แอร์เอเชียรุกคืบตลาดใหญ่เวียดนามคลุมน่านฟ้าจีน-อนุภูมิภาคแม่น้ำโขง
ASTVผู้จัดการรายสัปดาห์(19 เมษายน 2553)
กลับสู่หน้าหลัก
หลังพยายามมา 5 ปี แผนการใหญ่ของแอร์เอเชีย สายการบินต้นทุนต่ำใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก็ใกล้ความจริงอีกขั้นหนึ่ง เมื่อรัฐบาลเวียดนามยอมเปิดไฟเขียว ให้เข้าร่วมทุนกับสายการบินเอกชนแห่งใหม่ โดยไม่ฟังเสียงค้านของสายการบินแห่งชาติ
แต่คนวงในอุตสาหกรรมนี้กล่าวว่า แอร์เอเชียจะไม่หยุดอยู่แค่ในเวียดนาม แต่กำลังรุกคืบครั้งใหญ่เข้าสู่ตลาดจีนและอนุภูมิภาคแม่น้ำโขงทั้งหมด
แอร์เอเชียจากมาเลเซียประกาศในเดือน มี.ค.ว่า กำลังเจรจาซื้อหุ้น 30% ในเวียดเจ็ตแอร์ (VietJet Air) สายการบินที่เอกชนถือหุ้น 100% แห่งที่ 2 ในเวียดนาม และจะเริ่มบินให้บริการเดือน พ.ค.นี้ ท่ามกลางการคัดค้านจากเวียดนามแอร์ไลนส์เจ้าถิ่น
กระทรวงขนส่งเวียดนามแถลงในสัปดาห์ต้นเดือน เม.ย.ว่า ไม่มีข้อกฎหมายใดห้ามสายการบินต่างชาติเข้าถือหุ้นสายการบินในเวียดนาม โดยยกตัวอย่างแควนตัส (Qantas) จากออสเตรเลียที่ถือหุ้น 27% ในเจ็ตสตาร์แปซิฟิก และกำลังจะเพิ่มขึ้นเป็น 30% เช่นกัน
ถ้าหากทุกอย่างดำเนินไปตามนี้ เวียดนามก็จะมีสายการบินต้นทุนต่ำใหม่ที่ชื่อ "เวียดเจ็ตแอร์เอเชีย" (VietJet AirAsia) ซึ่งจะได้ขึ้นบินเสียที หลังจากล่าช้ามาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว
การรุกคืบของแอร์เอเชียทำให้แผนการแปรรูปสายการบินวาสโก (Vietnam Air service Co) ของเวียดนามแอร์ไลนส์ ยุ่งยากซับซ้อนยิ่งขึ้น
เวียดนามแอร์ไลนส์ประกาศก่อนหน้านี้ จะนำ VASCO เข้าตลาดหลักทรัพย์โฮจิมินห์ จำหน่ายหุ้นประมาณ 20% และรีแบรนด์ให้เป็นสายการบินต้นทุนต่ำอีกแห่งหนึ่ง จากที่ให้บริการบินแบบเช่าหมาลำในขณะนี้
เวียดนามแอร์ไลนส์ทำหนังสือถึงรัฐบาลในปลายเดือน มี.ค. ไม่ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ แต่อ้างถึงแผนการตลาดกับเจ็ตสตาร์แปซิฟิก โดยระบุว่า ".. ด้วยแผนการที่จะเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับเจ็ตสตาร์เพื่อจัดตั้งเป็นพันธมิตร บนพื้นฐานความร่วมมือด้านต้นทุน... การเข้าลงทุนในเวียดเจ็ตแอร์ของแอร์เอเชียเป็นความกังวลอันใหญ่หลวง สำหรับตลาดการบินเวียดนาม"
แต่นายฝั่มกวีเตียว (Pham Quy Tieu) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงขนส่ง รายงานต่อคณะรัฐมนตรีว่า ไม่มีข้อกฎหมายใดห้าม และ แอร์เอเชียสามารถเข้าลงทุนในสายการบินต้นทุนต่ำของเวียดนามได้ไม่เกิน 30% เช่นเดียวกับนักลงทุนเอกชนรายอื่น ตามเพดานที่ระบุไว้ในกฎหมายการบินพลเรือนปี 2549
เวียดนามที่มีประชากรเกือบ 87 ล้านคน เป็นตลาดการบินที่เย้ายวนเอาการสำหรับอุตสาหกรรมนี้ ผู้บริหารอินโดไชน่าแอร์ไลนส์สายการบินต้นทุนต่ำของเอกชนแห่งแรกที่พับฐานไปแล้วเคยกล่าวว่า ขอเพียงชาวเวียดนามเดินทางด้วยเครื่องบินเพียง 1 ล้านคนต่อปีเท่านั้น "ทุกฝ่ายก็จะแฮ็ปปี้"
สำหรับแอร์เอเชีย ถ้าหากแผนการร่วมทุนก่อตั้งสายการบินในเวียดนามประสบความสำเร็จ ก็จะเป็นการสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่
นับตั้งแต่เข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลกในเดือน ม.ค.2550 เวียดนามได้ทยอยเปิดตลาดเป็นลำดับ เริ่มออกใบอนุญาตให้สายการบินเอกชนในปี 2550 โดยอินโดไชน่าแอร์เป็นแห่งแรก เวียดเจ็ตแอร์เป็นแห่งที่ 2 กับ แม่โขงแอร์ไลนส์ (Mekong Airlines) ซึ่งมีกำหนดจะต้องเปิดบินในปีนี้เช่นเดียวกัน เป็นอันดับ 3
รัฐบาลเวียดนามถูกวิพากษ์วิจารณ์ตลอดมา เรื่องตั๋วเครื่องบินราคาแพงเกินเหตุ เนื่องจากปล่อยให้สายการบินแห่งชาติผูกขาดตลาดในประเทศ
ปี 2550 รัฐบาลเปิดทางให้สายการบินจากออสเตรเลียเข้าช่วยฟื้นฟูสายการบินแปซิฟิกแอร์ไลนส์ที่มีฐานะย่ำแย่ โดยให้ถือหุ้น 27% และ รัฐวิสาหกิจเพื่อการร่วมทุนของกระทรวงการคลังถือหุ้นใหญ่อยู่เช่นเดิม ซึ่งได้ทำให้เกิดสายการต้นทุนต่ำขึ้นมาแห่งแรกและใช้ชื่อ “เจ็ตสตาร์” นำหน้า ตามชื่อสายการบินต้นทุนต่ำของแควนตัส
ในช่วงปีดังกล่าว แอร์เอเชียก็เช่นเดียวกันกับสายการบินโลว์คอสท์อื่นๆ ที่บินเข้าสู่เวียดนามด้วยความประสงค์จะเข้าเจาะตลาดใหญ่นครโฮจิมินห์ให้ได้ และ แอร์เอเชียได้เพียรพยายามในเรื่องนี้มาตั้งแต่ปี 2548 เมื่อเริ่มเปิดบินเข้าฮานอย
ในเดือน ก.ย.2550 ดาโต๊ะโทนี เฟอร์นันเดซ (Tony Fernandez) ซีอีโอของของแอร์เอเชียแถลงในกัวลาลัมเปอร์ว่า ได้เซ็นบันทึกช่วยจำฉบับหนึ่งกับกลุ่มบริษัทต่อเรือใหญ่ที่สุดของเวียดนามคือ วินาชิน (Vinashin) เพื่อจัดตั้งสายการบินต้นทุนต่ำ "วินาแอร์เชียร์" (VinaAsia) ขึ้นมาโดยฝ่ายเวียดนามถือหุ้นใหญ่ 70% และ แอร์เอเชียจะลงทุนประมาณ 30 ล้านดอลลาร์ในสายการบินใหม่นี้
ในเดือน ต.ค.สื่อของทางการเวียดนามรายงานว่า สายการบินวินาแอร์เชียไม่ได้รับอนุญาตจากรัฐบาล ไม่มีการแถลงเหตุผลที่ชัดเจน แต่เป็นที่ทราบกันทั่วไปว่า เวียดนามแอร์ไลนส์อยู่เบื้อหลัง
โฮจิมินห์เป็นศูนย์กลางธุรกิจและการลงทุนใหญ่ที่สุด เป็นศูนย์การบินใหญ่ที่สุดในภาคใต้ ซึ่งจะมีการก่อสร้างท่าอากาศยานนานาชาติแห่งใหม่ ที่เวียดนามกล่าวว่าเทียบชั้นสนามบินสุวรรณภูมิของไทย หรือชางงีในสิงคโปร์ และ จะให้ท่าอากาศยานเติ่นเซินเญิต (Tan Son Nhat) ในปัจจุบันเป็นฮับการบินในประเทศ
นักวิเคราะห์กล่าวว่า ถ้าหากการแผนการเวียตเจ็ตแอร์เอเชียประสบความสำเร็จ เวียดนามก็จะกลายเป็นฐานการบินต้นทุนต่ำใหญ่ที่สุด ในการกคืบเข้าสู่ตลาดใหญ่จีนและทั่วอนุภูมิภาคแม่น้ำโขง.ฃ
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|