|

หุ้นส่อรูดต่อมูลค่าหลุด6ล้านล้าน ต่างชาติยังขนเงินหนี
ASTVผู้จัดการรายวัน(19 เมษายน 2553)
กลับสู่หน้าหลัก
มาร์เกตแคปตลาดหุ้นไทยหลุด 6 ล้านล้านบาทแล้ว หลังต่างชาติขายสุทธิต่อเนื่อง จากการหวาดผวาเหตุการณ์เมื่อ 10เม.ย. ภาพรวมสัปดาห์ก่อน แม้เปิดซื้อขายเพียง 2 วันทำการแต่ดัชนีลดลง 53.50 จุด โบรกเกอร์ประเมินสัปดาห์นี้แนวโน้มยังอยู่ในช่วงขาลง ชูปัจจัยหลักคือความวุ่นวายทางการเมืองของกลุ่มเสื้อแดง คาดนักลงทุนต่างชาติยังเทขายทำกำไรต่อ เพราะสัญญาณบ่งชี้กองทุนนอกทยอยออกมีอยู่ต่อเนื่อง แนะนำนักลงทุนแตะเบรก ถือเงินสดรอดูสถานการณ์ ที่มีโอกาสร่วงลงต่ำกว่ำ 700 จุด
ดัชนีหุ้นไทยเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา(16เม.ย.) ปิดที่ 736.16 จุด ปรับตัวลดลง ลดลง 24.74 จุด หรือ-3.25% มูลค่าการซื้อขาย 29,763.30 ล้านบาท โดยภาพรวมตลอดทั้งสัปดาห์ (12 และ 16 เม.ย.ที่มีการซื้อขาย) พบว่าปรับลดลง6.78% จาก 789.66 จุด ในสัปดาห์ก่อนหน้า ขณะที่มูลค่าการซื้อขายรวมทั้งสัปดาห์ลดลง 47.23% จาก 123,131.25 ล้านบาท ในสัปดาห์ก่อนมาอยู่ที่ 64,973.32 ล้านบาท
ทั้งนี้ แม้สัปดาห์ที่ผ่านตลาดหลักทรัพย์จะเปิดให้มีการซื้อขายหุ้นเพียง 2 วัน คือ 12 เม.ย. และ 16 เม.ย. แต่ดัชนีหุ้นไทยกลับปรับตัวลดลง 53.50 จุด เนื่องจากสาเหตุหลัก คือ สถานการณ์ทางการเมืองในประเทศที่เกิดความรุนแรง อีกทั้งยังส่งผลให้ มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (มาร์เกตแคป) ปรับตัวลดลงประมาณ 6.11 แสนล้านบาท มาอยู่ที่ 5.921 ล้านล้านบาท จากเมื่อวันที่ 7เม.ย. ซึ่งมีอยู่ 6.532 ล้านล้านบาท
และภาพรวม นักลงทุนรายย่อยซื้อสุทธิที่ 6,785.25 ล้านบาท ขณะที่นักลงทุนต่างชาติ นักลงทุนสถาบัน และบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ขายสุทธิที่ 3,560.53 ล้านบาท 2,761.08 ล้านบาท และ 463.64 ล้านบาท ตามลำดับ ขณะที่นักลงทุนต่างชาติได้เทขายในช่วง 2 วันทำการรวม 3,560.53 ล้านบาท
นายรักพงศ์ ไชยศุภรากุล ผู้จัดการฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจและกลยุทธ์ บล.เคจีไอ(ประเทศไทย) กล่าวว่า จังหวะตลาดหุ้นไทยสัปดาห์ที่ผ่านมาไม่ดีนัก เพราะช่วงที่ตลาดหุ้นต่างประเทศปรับเพิ่มขึ้นตลาดหุ้นไทยปิดทำการและเมื่อเปิดซื้อเมื่อวันศุกร์ตลาดหุ้นต่างประเทศเริ่มมีแรงขายทำกำไร บวกกับตลาดหุ้นที่มีปัจจัยกดดันจากปัญหาการเมืองอยู่แล้วด้วยทำให้ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงค่อนข้างรุนแรง
นอกจากนี้ นักลงทุนต่างชาติที่ซื้อสุทธิมาตั้งแต่เดือนก.พ.กว่า 6 หมื่นล้านบาท ยังคงขายสุทธิต่อเนื่องนับตั้งแต่มีการประกาศพรก.ฉุกเฉิน ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่นักลงทุนต่างชาติต้องลดความเสี่ยงการลงทุนลงและมีกำไรจากการลงทุนแล้วซึ่งภาพการลงทุนในตลาดหุ้นไทยเมื่อต้นเดือนมี.ค.ถือว่าดีมากและเข้าสู่จุดสูงสุด แต่เวลาไม่นานสถานการณ์เปลี่ยนแปลง
ทำให้ ตลาดหุ้นไทย ณ ขณะนี้ยังคงยากต่อการประเมินสถานการณ์เนื่องจากปัญหาการเมืองยังไม่มีข้อสรุปแม้ว่าจะมีการลดพื้นที่การชุมนุมเหลือเพียงที่ราชประสงค์เท่านั้น แต่หลายฝ่ายเริ่มพูดถึงการบังคับใช้กฎหมายของรัฐบาลซึ่งรัฐบาลจะดำเนินการอย่างไรต่อกลุ่มผู้ชุมนุมซึ่งต้องหาทางออกที่ดี่สุด จึงแนะนำนักลงทุนว่าให้ชะลอการลงทุนและถือเงินสดไว้เพื่อรอจังหวะทยอยซื้อหุ้น โดยมองว่าจังหวะซื้ออยู่ที่ดัชนีระดับ 700 จุด ที่จะคุ้มกับความเสี่ยงในการลงทุน โดยเลือกลงทุนในหุ้นที่ไม่เกี่ยวข้องกับปัจจัยการเมืองในประเทศ ผลประกอบการและพื้นฐานบริษัทดี อาทิ หุ้นกลุ่มพลังงาน ปิโตรเคมี ที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกยังทรงตัวในระดับสูงส่งผลให้ส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์ยังคงสูงด้วย
เพราะมองว่า ดัชนีจะแกว่งตัวในกรอบแคบ ภายใต้สถานการณ์การเมืองภายในประเทศที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงไปจากนี้ แต่หากสถานการณ์การเมืองเปลี่ยนแปลงไปในเชิงลบ อาจจะส่งผลกระทบต่อการเคลื่อนไหวของดัชนีฯ ซึ่งมีโอกาสที่ดัชนีฯ จะปรับตัวลดลงต่ำกว่าแนวรับที่ประเมินไว้ที่ 735 จุด นอกจากนี้ ยังต้องติดตามการประชุม วันที่ 21 เม.ย. แต่เชื่อว่าไม่น่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพราะสถานการณ์การเมืองยังไม่นิ่ง
ขณะที่ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กสิกรไทย และศูนย์ วิจัย กสิกรไทย ประเมิน ตลาดหุ้นไทยปิดที่ระดับต่ำสุดในรอบ 1 เดือน แม้ตลาดหุ้นไทยเปิดทำการเพียง 2 วัน คือ ในวันจันทร์ และวันศุกร์ ซึ่งดัชนีหุ้นไทยปิดลบทั้งสองวัน จากความกังวลต่อปัจจัยการเมืองในประเทศ โดยมีแรงเทขายออกมาอย่างต่อเนื่องในหุ้นกลุ่มหลักทั้งธนาคารและพลังงาน ฉุดให้ดัชนี SET ร่วงลงมาปิดที่ระดับต่ำสุดในรอบ 1 เดือนในช่วงท้ายสัปดาห์
สำหรับแนวโน้มในสัปดาห์หน้า (19-23 เม.ย. 2553) มองว่า การเคลื่อนไหวของดัชนีน่าจะขึ้นอยู่กับปัจจัยในประเทศเป็นหลัก โดยคาดว่า ดัชนีน่าจะปรับฐานต่อ จากแรงกดดันของสถานการณ์การเมือง นอกจากนี้ ปัจจัยที่ต้องติดตาม ได้แก่ การรายงานตัวเลขการค้าระหว่างประเทศของกระทรวงพาณิชย์ ผลการประชุมนโยบายการเงินของ กนง.ในวันพุธ และผลประกอบการไตรมาส 1/2553 ของกลุ่มธนาคารที่จะเริ่มทยอยประกาศออกมา
ส่วนปัจจัยต่างประเทศที่สำคัญ ได้แก่ การเคลื่อนไหวของราคาน้ำมันในตลาดโลก และการปรับตัวของตลาดหุ้นภูมิภาค ตลอดจนการรายงานตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐฯ จีน และเศรษฐกิจชั้นนำอื่นๆ ทั้งนี้ คาดว่า ดัชนีจะมีแนวรับที่ 730 และ 716 จุด ขณะที่แนวต้านคาดว่าจะอยู่ที่ 761 และ 790 จุด ตามลำดับ
นายพิชัย เลิศสุพงศ์กิจ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโสฝ่ายการตลาด ลูกค้าบุคคล บล.ธนชาต กล่าวว่า มีแรงขายจากกองทุนต่างประเทศออกมา เพราะความเสี่ยงการเมืองในประเทศที่มากขึ้น เพราะก่อนหน้านี้กองทุนต่างประเทศมีมุมมองเชิงบวกต่อสถานการณ์การเมืองที่มากเกินจริง จึงได้เข้ามาซื้อหุ้นต่อเนื่องเกือบ 6 หมื่นล้านบาท
โดยสถานการณ์การเมืองมีความรุนแรงขึ้น เพราะมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก ดังนั้นกองทุนต่างประเทศจึงมีความกังวล และได้ขายหุ้นออกมาก่อน ซึ่งการขายหุ้นในรอบนี้ กองทุนต่างประเทศก็ยังมีกำไร หุ้นกลุ่มที่ถูกขายออกมามาก ได้แก่ กลุ่มแบงก์ และพลังงาน ซึ่งเป็นกลุ่มที่กองทุนต่างประเทศได้เข้ามาซื้อหุ้นก่อนหน้านี้
เช่นเดียวกับ นายวีระชัย ครองสามสี ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บล.ฟาร์อีสท์ กล่าวว่า แรงขายของนักลงทุนต่างชาติทำให้นักลงทุนยังมีความกังวลจึงไม่กล้าที่จะเข้ามาลงทุนแม้ดัชนีจะปรับตัวลงมามากก็ตาม โดยทิศทางของตลาดหุ้นในช่วงนี้ได้เปลี่ยนเป็นช่วงขาลงแล้ว ทำให้แนวโน้มตลาดหุ้นในสัปดาห์นี้ยังปรับตัวลงต่อ เพราะถูกปัจจัยการเมืองกดดัน
ด้าน นายไพบูลย์ นลินทรางกูร กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์(บล.)ทิสโก้ และ นายกสมาคมนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ กล่าวว่า ทิศทางตลาดหุ้นไทยต่อจากนี้จะยังคงซึมต่อไปจากการเทขายของนักลงทุนต่างชาติ เพราะก่อนหน้านี้ที่นักลงทุนต่างชาติเข้ามาซื้อหุ้นไทยนั้น นอกจากจะพิจารณาจากพื้นฐานเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มดีแล้ว ยังประเมินว่าสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศไทยไม่น่าจะมีเหตุรุนแรง แต่ต่อมามีเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้น จากการปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐบาล และกลุ่มเสื้อแดงจนมีผู้เสียชีวิต และบาดเจ็บจำนวนมาก ต่างชาติจึงต้องเทขายเพื่อลดความเสี่ยงออกมาก่อนขณะเดียวกันก็ยังมีกระแสข่าวที่มีความเป็นห่วงว่า ทหารอาจจะปฏิวัติรัฐประหาร เพื่อแก้ปัญหาบ้านเมือง ซึ่งเรื่องนี้ยิ่งเพิ่มความกังวลให้กับตลาดหุ้นอย่างมาก
โดยหากเกิดขึ้นจริง น่าจะยิ่งก่อให้เกิดความรุนแรงมากขึ้นในสังคม และนักลงทุนทั่วโลกคงยอมรับไม่ได้ โดยนักลงทุนต่างชาติคงทิ้งหุ้นไทยยาว รวมถึงรัฐบาลอาจต้องเจอกดดันจากทั่วโลกจนกระทบต่อเศรษฐกิจของไทยทั้งระบบ ทั้งการลงทุนในตลาดหุ้น และลงทุนโดยตรง(Foreign direct Investment:FDI)ของต่างชาติรวมทั้งการค้าขายอื่นๆด้วย
ส่วน นายชัย จิระเสวีนุประพันธ์ ผู้จัดการฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บล.พัฒนสิน กล่าวว่า ทิศทางตลาดหุ้นสัปดาห์หน้า (19-23 เมษายน) มีโอกาสปรับตัวลงต่อเนื่อง จากปัจจัยการเมือง เชื่อหากสถานการณ์การเมืองยืดเยื้อ และเลวร้ายลงไปอีกมีโอกาสเห็นดัชนีหลุดแนวรับที่ระดับ 700 จุดลงไป
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|