|
เตือน!ระวังทุนนอกไหลออก
ASTV ผู้จัดการรายวัน(12 เมษายน 2553)
กลับสู่หน้าหลัก
ธปท.เผยนักลงทุนไทยแห่ซื้อ อสังหาริมทรัพย์ในต่างแดนเพิ่มขึ้น หลังเจอพิษวิกฤตเศรษฐกิจฉุดให้ราคาอสังหาฯ ถูกลง ประกอบกับค่าเงินประเทศเหล่านั้นอ่อนลง ล่าสุด 3 เดือนแรกของปีนี้มีการลงทุนส่วนนี้ไปแล้ว 3,200 ล้านบาท เช่นเดียวกับบางภาคอุตสาหกรรมที่ติดข้อจำกัดวัตถุดิบหรือแรงงานที่ไม่สามารถ สู้ตลาดการผลิตในประเทศได้หันมาย้ายการผลิตในต่างประเทศมากขึ้น เพื่อหาต้นทุนการผลิตที่ต่ำก็ยังมีต่อเนื่อง ระบุปีที่ผ่านมา มีเงินทุนไทยออกไปลงทุนนอก 1.3 แสนล้านบาท
นางสุชาดา กิระกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.ได้พยายามผ่อนคลายกฎเกณฑ์การนำเงินทุนไปลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงที่เงินบาทแข็งค่า เพื่อให้นักลงทุนและภาคธุรกิจไทยออกไปหาประโยชน์และลดข้อจำกัดในบาง อุตสาหกรรมที่ไม่สามารถแข่งขันภายในประเทศได้ ซึ่งช่วยให้ต้นทุนการผลิตต่ำลง ทำให้ขณะนี้เริ่มเห็นแนวโน้มนักลงทุนและภาคธุรกิจไทยหันไปลงทุนในต่างประเทศ เพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ รูปแบบการลงทุนที่เห็นได้ชัดเจนและเริ่มมีการขอธปท.มากขึ้น คือ การลงทุนเพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์ อาทิ บ้าน ที่ดิน อาคารสำนักงาน โรงแรม เป็นต้น เพราะนักลงทุนไทยส่วนใหญ่มองว่าหลังวิกฤตเศรษฐกิจโลก ทำให้ราคาอสังหาริมทรัพย์ลดลง ซึ่งเชื่อว่าจะไม่ตกต่ำกว่านี้แล้ว ประกอบกับประเทศที่ต้องเผชิญวิกฤตโดยตรงต่างมีอัตราแลกเปลี่ยนอ่อนค่าลงจึง ส่งผลให้มีคนหันไปลงทุนในลักษณะนี้มากขึ้น โดยในช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้มียอดการลงทุนส่วนนี้กว่า 100 ล้านบาท หรือประมาณ 3,200 ล้านบาท (ค่าเงินบาทที่ระดับ 32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ)
เช่นเดียวกับการลงทุนในลักษณะอุตสาหกรรม เพื่อย้ายฐานการผลิตในต่างประเทศ โดยเฉพาะกิจการด้านอาหาร อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และเคมีภัณฑ์เริ่มมีมากขึ้น โดยในปี 52 มียอดการลงทุนในอุตสาหกรรมทั้งสิ้น 1,749.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 55,984 ล้านบาท จากก่อนหน้านี้เฉลี่ยประมาณ 900 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 28,800 ล้านบาท
ซึ่งการลงทุนในรูปแบบนี้ นอกจากการหาช่องทางหาผลประโยชน์ในต่างประเทศ ในกรณีที่การผลิตในประเทศไม่สามารถแข่งขันได้แล้ว อีกทั้งอาศัยประโยชน์จากการเชื่อมโยงสิทธิต่างๆ ไทยทำไว้กับกลุ่มประเทศอื่นๆ แม้จะเป็นแค่ฐานผลิตเพื่อการส่งออก แต่ยังสามารถนำกำไรกลับเข้ามายังไทยได้ ขณะเดียวกันก็ยกระดับการผลิตในประเทศไทยขึ้นเป็นการผลิตที่ใช้แรงงานที่มี ทักษะมีความเชี่ยวชาญพิเศษมากขึ้น เพื่อใด้ประเทศไทยกลายเป็นตลาดสินค้าที่มีคุณภาพและมีราคาที่ดีขึ้น
สำหรับกองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ (FIF) นั้นขณะนี้เริ่มมีบางกองทุนที่ครบอายุก็นำเงินทุนเข้ามายังไทย ซึ่งบางส่วนก็เตรียมนำเงินทุนส่วนนี้ไปลงทุนในต่างประเทศต่อไปอีก เพื่อหาผลตอบแทน โดยล่าสุดวงเงินที่ธปท.อนุมัติให้ไปลงทุนในหลักทรัพย์ ซึ่งให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) จัดสรรแก่ผู้ลงทุนเหลือเพียง 2.6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ จากวงเงินที่ธปท.เพิ่งขยายเป็น 5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ จากก่อนหน้านี้อยู่ที่ 3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ
นางสุชาดา กล่าวว่า ตลอดทั้งปี 52 ที่ผ่านมาเฉพาะในส่วนที่นักลงทุนไทยนำเงินไปลงทุนในต่างประเทศทั้งสิ้น ทั้ง 4,055.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 129,788.8 ล้านบาท โดยการลงทุนที่สำคัญ อาทิ ลงทุนภาคอสังหาริมทรัพย์ 122.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 3,926.4 ล้านบาท ลงทุนในหุ้นและตราสารหนี้ในต่างประเทศ 424.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 13,574.4 ล้านบาท และเป็นการลงทุนในสถาบันการเงินต่างประเทศ 535.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ 17,129.6 ล้านบาท เป็นต้น
“ธปท.ต้องการเห็นการไหลเข้าและออกที่มีความสมดุลกัน เพราะขณะนี้มีเงินทุนไหลเข้ามามากกว่าเงินทุนไหลออกอยู่มากเห็นได้จากการ เกินดุลบัญชีเดินสะพัดที่ยังคงเกินดุลต่อเนื่อง ทำให้เกิดแรงกดดันต่อเงินบาทแข็งค่าขึ้น อย่างไรก็ตาม แม้ในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ ดุลบัญชีเดินสะพัดยังเกินดุลอยู่ แต่เชื่อว่าตลอดทั้งปี 53 ดุลบัญชีเดินสะพัดจะเกินดุลน้อยลง หากเหตุการณ์บ้านเมืองสงบลง ทำให้เศรษฐกิจจะฟื้นตัวได้ดีขึ้น ซึ่งส่งผลให้การนำเข้าเพิ่มขึ้นตามมาด้วย ขณะเดียวกันก็ยังมีโอกาสที่ดุลบัญชีสะพัดจะขาดดุลเช่นกัน ขึ้นอยู่กับราคาน้ำมันและการฟื้นตัวเศรษฐกิจ”
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|