นรฤทธิ์ โชติกเสถียร ทายาทคนใหม่ของอาคเนย์ฯ


นิตยสารผู้จัดการ ( สิงหาคม 2529)



กลับสู่หน้าหลัก

คนไทยในตระกูลใหญ่ๆ หากนักทวนต้นตระกูลขึ้นไปสักสาม-สี่ชั่วอายุคนก็จะพบว่าบรรพบุรุษของตระกูลนั้นมีเชื้อสายจีนที่เป็นเจ้าภาษีนายอากรเช่น ตระกูล "โชติกเสถียร" , "โชติกะพุกกณะ" (ซึ่งเกิดกับพระยาโชฎึกฯ อีกท่านหนึ่ง), "ฮุนตระกูล" หรือ "พิศาลบุตร" เป็นต้น คนจีนที่ได้ดิบได้ดีเป็นเจ้าภาษีนายอากรถือศักดินา ถือได้ว่าเป็น "จีนศักดินา" ที่ได้กลายเป็นข้าราชบริพารฝากฝังกันมาหลายชั่วอายุคนจนถึงปัจจุบัน ซึ่งลูกหลายเหลนได้แตกแขนงไปเป็นพ่อค้า ข้าราชการกันเสียมาก

นรฤทธิ์ โชติกเสถียรก็เป็นคนหนุ่มคนหนึ่งที่สืบเชื้อสายจีนแคะมีบรรพบุรุษคุณทวดเป็น จีนศักดินา "พระยาโชฎึกราชเศรษฐี" ในรัชกาลที่ 5 เจ้าคุณปู่ก็รับราชการทำความดีความชอบได้รับตำแหน่งพระยาธรรมจรรยานุกูลมนตรี (ทองดี โชติกเสถียร) จนตกมาถึงรุ่นพ่อก็มีตำแหน่งต้นห้องรองเสวกโทรองสนิทของรัชกาลที่ 7 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ

ท่านรองสนิทคนนี้เองที่ริเริ่มก่อตั้งบริษัทอาคเนย์ประกันภัยขึ้นเมื่อ 40 ปีก่อน และผู้ที่ถือกรมธรรม์ฉบับแรกหมายเลข 1 ก็คือสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีในรัชกาลที่ 7 จนกระทั่งปัจจุบัน บริษัทนี้จัดอยู่ในอันดับที่ 4 โดยมีบริษัทไทยประกันชีวิต, เมืองไทยประกันชีวิตและไทยสมุทรฯ อยู่ใน 3 อันดับแรก

และเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม ที่ผ่านาในงานครบรอบ 40 ปีของอาคเนย์ประกันภัย ที่โรงแรมดุสิตธานี "ผู้จัดการ" ก็ได้ร่วมโต๊ะรับประทานอาหารมื้อเที่ยงกับนรฤทธิ์ โชติกเสถียรผู้มีแนวโน้มในอนาคตว่าจะเป็น "ทายาทของอาคเนย์ประกันภัย" คนต่อไปสืบต่อจากอาทร ติดตรานนท์ กรรมการผู้จัดการบริษัทคนปัจจุบันซึ่งขณะนี้อายุ 58 ปี

"สำหรับผมไม่คิดหรอกฮะ เพราะว่าในที่สุดแล้วการเราสวมหมวกสองใบ คือเป็นทั้งรองผู้จัดการที่ทำงานด้วย มันมีทั้งดีและเสีย ใน Long run ผมคิดว่าจะต้องใช้โปรเฟสชั่นแนลมาทำงานจริงๆ ผมคงช่วยทางด้านนโยบาย อย่างกรณีของคุณอาทรก็เป็นมือโปรเฟสชั่นแนลมาตั้งแต่ต้นจนจบ แต่ก็หาคนแบบนี้ได้ยาก เพราะงานประกันภัยเป็นงานที่ต้องการคนรู้เรื่องตัวเลขคณิตศาสตร์ดี อีกประการหนึ่งที่สำคัญต้องรู้เรื่องมนุษย์และด้านการตลาดดีมากด้วย แค่เก่งคณิตศาสตร์อย่างเดียวไม่พอ" นรฤทธิ์กล่าวหลังอิ่มอร่อยกับอาหารจานใหญ่และจุดบุหรี่วินสตันสูบแล้ว

ในอดีตของนรฤทธิ์เป็นเด็กเรียนเก่ง จบมศ.5 จากโรงเรียนวชิราวุธแล้วสอบชิงทุนเอเอฟเอส.บินไปเรียนที่สหรัฐอเมริกา เรียนรุ่นเดียวกับเดช บุลสุขแห่งแมคโดนัลด์ เมื่อกลับเมืองไทยก็ทำงานรับจ้างขายตั๋วเครื่องบินสายนอร์ทเวสต์แอร์ไลน์ 8 เดือนระหว่างรอสอบเอ็นทรานซ์ได้เห็นเด็กหนุ่มสาวอเมริกันที่กล้าคิดริเริ่มกว่าเด็กไทย ทำให้เมื่อกลับมาเรียนต่อคณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ก็ได้จัดทัวร์บินไปต่างประเทศอยู่บ่อยๆ

นี่เองเป็นช่องทางแรกเริ่มที่ทำให้นรฤทธิ์ก้าวเข้ามาเดินในถนนธุรกิจ

"ตอนนั้นเงินผ่านมือผมเป็นล้าน-ผมก็มานั่งคิดว่า เอ๊ะ-เราทำได้นี่ อะไรที่เราตั้งใจจะทำ ผมคิดว่าเราทำได้ ปรากฎว่าการจัดทัวร์เหมาเครื่องบินตอนนั้นผมสามารถหาเงินช่วยการกุศลได้ตั้งสองสามแสนบาทให้กับสมาคมนักเรียนเก่าเอเอฟเอส."

จบจากธรรมศาสตร์ในปี 2516 นรฤทธิ์ก็สนใจทำงานด้านการเงินก็เลยสมัครเข้าไปเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายสินเชื่อของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์อาคเนย์ธนกิจ ในระยะเวลาสั้นเพียง 2 ปีเขาก็ได้รับการโปรโมทเป็นผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ขณะที่เขาเพิ่งย่างเข้าวัยเบญจเพสเท่านั้น

"ตอนนั้นผมปวารณาตัวเองไว้ว่า ถ้ายอดสินทรัพย์ที่มีอยู่เดิม 30 ล้านบาทสามารถขึ้นไปถึงพันล้านได้เมื่อไหร่ ผมจะลาออก ซึ่งก็ใช้เวลาทั้งหมด 8 ปีเต็มๆ และเมื่อครบพันล้านแล้ว ผมก็เลยเปลี่ยนงานอย่างที่ได้ตั้งใจไว้จริงๆ" เขากล่าวด้วยยิ้มและคำพูดที่มั่นใจ

หลังจากเอาชนะในเกมที่เขาคิดว่าจบไปอย่างสวยงามแล้ว นรฤทธิ์หนุ่มไฟแรงก็หางานท้าทายประเภทงานยากต่อไป

สนามที่นรฤทธิ์เลือกลงต่อมาคือ บริษัทอาคเนย์ประกันภัย ซึ่งพ่อของเขาถือหุ้นและเป็นกรรมการก่อการชุดแรก

นรฤทธิ์ได้เรียนรู้ถึงความยากของการทำงานระดับบริหารที่คุมงานด้านการตลาดประกันชีวิตของอาคเนย์ประกันภัยว่า สิ่งที่ยากที่สุดคือคนหมู่มาก นับตั้งแต่ตัวแทนขายประกันนับพันๆ คน จนกระทั่งถึงพนักงานธุรการเล็กๆ ในบริษัท ในขณะที่งานด้านไฟแนนซ์เป็นเรื่องของการตัดสินใจตัวเลข

"การบริหารงานประกันชีวิตจำเป็นต้อง "แข็ง" ต้องยืนอยู่บน principal ที่ต้องเข้มแข็งทางจิตใจ ต้องตอบปฏิเสธได้บ่อยในการบริหารตัวแทนฯ ตรงนี้แหละที่บางครั้งเราผิดพลาดไปเราไป motivate บางจุดแบบเก่าผิดที่ ผลออกมาจึงเสีย เช่นเราไปจูงใจให้ตัวแทนทำยอดขายมากไปเร่งให้เขาขาย โดยลืมคิดถึงบางเรื่องไป ผลคือคุณภาพของกรมธรรม์ไม่ดี

ถ้าคุณไปเร่งผิดจุด มันพัง คุณต้อง balance ให้ได้ มันเป็นศิลปะ"

โครงการที่ทีมงานของเขาได้คิดริเริ่มขึ้นตั้งแต่ต้นปีนี้ก็ได้แก่สินเบญพร, เคหะบริการ และล่าสุดคือ สินเชื่อปรางค์อรุณ และกรมธรรม์ใหม่ๆ ที่กำลังจะตามมาอีกมากมาย ซึ่งทั้งนี้ก็ต้องอาศัยมันสมองระดับบริหารอย่างเขาเป็นประการสำคัญ

แต่จะสำคัญอย่างไรก็ต้องมีสุขภาพที่แข็งแรง มิฉะนั้นจะพาลเอาชีวิตมาทิ้งกับงานเสียตั้งแต่ยังหนุ่มยังแน่นเสียเปล่าๆ เหมือนครั้งหนึ่งที่เขาเคยจีบหนักแทบเอาชีวิตไม่รอดมาแล้ว

"ผมเคยมีสุขภาพโทรมมากๆ จนเป็นไวรัสลงตับเมื่อ 7-8 ปีที่แล้วสมัยที่มีปัญหายุ่งๆ ของราชาเงินทุน ตอนนั้นผมเครียดมาก สูบบุหรี่จัดจนต้องนอนป่วยที่โรงพยาบาล ผมเริ่มรู้สึกว่าจะเอางานหรือชีวิตดี? ก็มาคิดว่า เอาชีวิตดีกว่า แต่ก็ทิ้งงานไม่ได้ต้องค่อยๆ ทำไปหลังหายป่วย หมออุดมศิลป์ก็แนะนำให้วิ่งเราฟังดูมัน make sence เพราะเราเป็นนักธุรกิจไม่ค่อยมีเวลาเรานัดใครไปตีเทนนิส บางทีก็เสียนัดบ่อยๆ เราก็เกรงใจเพื่อนแต่การวิ่งก็ไปคนเดียวได้ วิ่งไปทั่วทั้งที่สวนลุม หลังบ้านแถวคลองประปาก็วิ่งเป็นคนแรก ที่ไปโลคลับก็ไป มันง่ายดี"

มิน่าเล่า - อาคเนย์ประกันภัยจึงเป็นโต้โผจัดงาน "วิ่งลอยฟ้าเฉลิมพระเกียรติ" ในเดือนพฤศจิกายนปี 2530 (Royal Marathon Bangkok' 87) เพื่อนำรายได้สร้างตึกอนุสรณ์ "สยามินทร์" 100 ปีศิริราช

แต่งานนี้ใครอย่าได้ชวนกรรมการผู้จัดการอาคเนย์ประกันภัย - อาทร ติดตรานนท์วิ่งมาราธอน 42 กม.เสียล่ะ เพราะว่าเท้าซ้ายของท่านสุขภาพไม่ดีมาตลอดหลังจากประสบอุบัติเหตุรถคว่ำจนกระดูกเท้าแตกเป็นสองเสี่ยงเมื่อวันที่ 1 มกราคมของ 10 ปีก่อน

สำหรับนรฤทธิ์ โชติกเสถียร เขากำลังวิ่งอยู่ในลู่แข่งขันของสนามธุรกิจประกันชีวิตจะวิ่งได้ชัยชนะแค่ไหนในเกมวิ่งมาราธอนธุรกิจสายนี้ก็ต้องคอยดูกันต่อไป…



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.