มาบุญครอง ท่ามกลางความทุลักทุเล


นิตยสารผู้จัดการ( พฤษภาคม 2530)



กลับสู่หน้าหลัก

ช่วงเดือนที่ผ่านมาเป็นอีกช่วงหนึ่งที่เรียกได้ว่า เป็นช่วงแห่งความทุลักทุเลและเป็นช่วงแห่งหัวเลี้ยวหัวต่อของมาบุญครอง แม้ว่า ศิริชัย บูลกุล จะขายหุ้นที่มีอยู่ไปเกือบทั้งหมดแล้วก็ตาม แต่ปัญหาระหว่างเจ้าหนี้และกลุ่มผู้ถือหุ้นเดิมก็ยังมีให้เห็นอยู่เป็นระลอก ๆ ให้เจ้าหนี้และศิริชัยได้ปวดหัวกันเล่น

ภายหลังจากที่มีการทะเลาะกันมานานระหว่างกลุ่มเจ้าหนี้กับบริษัทมาบุญครองอบพืชและไซโล จำกัด ระหว่างกลุ่มเจ้าหนี้ด้วยกันเอง และระหว่างกลุ่มผู้ถือหุ้นอื่น ๆ กับผู้ถือหุ้นใหญ่คือ ศิริชัย บูลกุล แล้วในที่สุด ช่วงเดือนที่ผ่านมานี้ ทางศิริชัยผู้ถือหุ้นใหญ่ก็ต้องโดนบีบให้ขายหุ้นที่ตัวเองมีอยู่ให้กับผู้อื่นไปเกือบ 50% ของหุ้นทั้งหมดแล้วนั้น บัดนี้ แทนที่ทุกอย่างจะเป็นไปด้วยความราบรื่น ก็ปรากฏว่ามันไม่ได้ราบรื่นอย่างที่คิด ๆ กัน

การเซ็นสัญญาการยืดอายุการชำระหนี้กับธนาคารเจ้าหนี้ก็ยังต้องยืดออกไปอีกครั้งแล้วครั้งเล่า เนื่องจากศิริชัย บูลกุลประธานกรรมการบริหารเครือมาบุญครองได้อ้างว่า การเซ็นสัญญายืดอายุการชำระหนี้นั้นต้องแจ้งให้ผู้ถือหุ้นรายอื่นทราบก่อน

และการประชุมผู้ถือหุ้นบริษัท ในวันที่ 2 เมษายน นั้น ซึ่งมีหมายกำหนดการว่าจะเป็นการประชุมเพื่อแจ้งต่อผู้ถือหุ้นว่าการแก้ไขหนี้สินเหล่านี้จะทำอย่างไร ก็ต้องฟาวล์เองจากไม่ครบองค์ประชุม แล้วก็ในที่สุดก็ต้องเลื่อนไปประชุมเอาวันที่ 16 เมษายน

การประชุมเมื่อวันที่ 16 เมษายนนั้น ศิริชัย บูลกุลต้องแพ้โหวตในที่ประชุมอย่างหลุดลุ่ย ในการประชุมวันนั้นผู้เข้าร่วมประชุมมากันไม่ถึงครึ่งของหุ้นทั้งหมด ซึ่งไม่ครบองค์ประชุม แต่เนื่องจากเป็นการประชุมใหญ่วิสามัญครั้งที่สอง จึงสามารถดำเนินการประชุมได้

ในการประชุมครั้งนั้นกลุ่มของศิริชัย บูลกุล โดยสมภพ พูนศิริ รองประธานคณะกรรมการและที่ปรึกษากฎหมายได้ชี้แจงว่า ร่างสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้สินนั้น ธนาคารกลุ่มเจ้าหนี้ได้จัดทำขึ้นเป็นภาษาอังกฤษและส่งมาให้บริษัทเมื่อวันที่ 5 มีนาคมี่ผ่านมา แต่หลังจากที่ได้ทำการศึกษาแล้วเห็นว่า เป็นสัญญาที่บริษัทเสียเปรียบ จึงได้จัดให้มีการประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นขึ้น คณะกรรมการบริหารพิจารณาเห็นว่า ควรจะต้องปรับปรุงแก้ไขสัญญารวม 10 จุด ซึ่งเป็นการแก้ไขข้อความเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยและภาระต่าง ๆ ที่บริษัทจำเป็นจะต้องรับ นอกจากนั้น ศิริชัย บูลกุล ยังได้ชี้แจงเพิ่มเติมว่า ได้มีการเสนอให้มีการตรวจสอบภาระหนี้สินที่แน่นอนใหม่อีกครั้งร่วมกันและขอให้มีการแก้ไขในเรื่องที่จะให้ตน และ มา ชาน ลี ค้ำประกันเป็นการส่วนตัวให้กับบริษัท ซึ่งกลุ่มธนาคารเจ้าหนี้ได้รับหลักการดังกล่าว

เห็นได้ชัดว่า ข้อเสนอต่าง ๆ ที่ทำให้มีการแก้ไขข้อสัญญาต่าง ๆ ถึง 10 จุดนั้นเป็นการยืดอายุการชำระหนี้ นั่นเอง การยืดอายุการเซ็นสัญญาการปรับปรุงหนี้สิน จะทำให้เรื่องต่าง ๆ จบช้าลง

กลุ่มเจ้าหนี้ที่มาจากสถาบันการเงิน โดยเฉพาะบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ธนชาติในฐานะผู้ถือหุ้นก็มองเกมนี้ของศิริชัย บูลกุลออก และคงได้เตรียมมาอย่างดีแล้ว และคงรู้แล้วว่า วันนี้ทางศิริชัยจะทำอะไรบ้าง

บันเทิง ตันติวิทย์ กรรมการผู้จัดการบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ธนชาติ จึงได้ลุกขึ้นโต้แย้งข้อเสนอดังกล่าว และเสนอว่าคณะกรรมการบริษัทควรเร่งเซ็นสัญญาการปรับปรุงหนี้สินโดยเร็วเพื่อไม่ให้เสียหายมากกว่านี้ พร้อมทั้งเสนอว่าควรแก้ไขข้อสัญญาใน 4 จุดเท่านั้นคือ 1. ให้ยกเลิกข้อความที่เกี่ยวกับบุคคลที่เกี่ยวข้องกับบริษัท 2. เพิ่มข้อความว่าการที่นายศิริชัย บูลกุล และนายมา ชาน ลี เซ็นสัญญาในหนังสือดังกล่าวในฐานะของตัวแทนบริษัทไม่ใช่เป็นการค้ำประกันหรือรับผิดชอบโดยส่วนตัว 3. ให้ตรวจสอบภาระหนี้ของบริษัทกับเจ้าหนี้ทุกรายภายใน 15-30 วัน 4. ขอให้ธนาคารพาณิชย์เจ้าหนี้อนุมัติให้บริษัททำสัญญากับบริษัทคาร์กิลเพื่อเช่าไซโลต่อไปได้

เมื่อคนโน้นกลุ่มโน้นเสนออย่างนี้คนนี้กลุ่มนี้ก็เสนออย่างโน้น ในที่สุดก็ต้องลงมติกัน ผลการลงมติ ฝ่ายเจ้าหนี้นะไป

อย่างไรก็ดี สำหรับศิริชัย บูลกุล แล้วล่าสุดมีข่าวดีสำหรับตัวเขามาจากรัฐสภา เมื่อศิริชัย บูลกุล ได้รับเลือกเป็นวุฒิสมาชิกอีกครั้งหนึ่ง โดยนายกรัฐมนตรีได้เซ็นอนุมัติแล้วเอวันที่ 19 เมษายนที่ผ่านมา นับเป็นข่าวที่ดีที่สุดของศิริชัยในรอบเดือนที่ผ่านมา



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.