|
แม่กลอง “เล็ก” แต่มากด้วย “ภูมิปัญญา”
โดย
ธนิต วิจิตรพันธุ์
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( เมษายน 2553)
กลับสู่หน้าหลัก
เมืองแห่งสายน้ำ ประวัติศาสตร์ความเป็นมาอันยาวนาน ขนบธรรมเนียมประเพณีวัดวาอาราม เชิงชั้นศิลปะการช่าง การดนตรี อาหารการกิน พืชผักผลไม้อันอุดมสมบูรณ์ วิถีชีวิต ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ลงตัวโดยไม่เบียดเบียนทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่รอบตัว เหล่านี้คือ เสน่ห์ของ "แม่กลอง"
"เจื้อยแจ้วแว่วเสียงสำเนียงขับร้อง ดังเพลงมนต์รักแม่กลอง ล่องลอยพลิ้วหวานซ่านมา..."
"โออัมพวา นี่หนางามจริง ทุกสิ่งเป็นขวัญตา
โอ้ว่าผู้หญิง ช่างงามโสภา กว่านางฟ้าใดใด"
การถ่ายทอดความรู้สึกจากใจเป็นตัวหนังสือ สู่เสียงเพลงอันแสนไพเราะเสนาะโสต โดยเสียงร้องจากนักร้องที่โด่งดังในอดีต "ศรคีรี ศรีประจวบ"
จากอารมณ์ความรู้สึกที่ได้ซึมซับ สัมผัสวิถีชีวิตจริงของบรมครูเพลงแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เจ้าของวงดนตรีจากการนำนามสกุลของตนเองไปรวมกับชื่อของคนรัก "อาภรณ์" จนได้ชื่อว่า "สุนทราภรณ์"
ประพันธ์เพลงร่วมกับท่านอื่นๆ ไว้มากมายจนนับไม่ถ้วน มากกว่า 2,000 เพลง ถือได้ว่าเป็นท่านหนึ่งที่บุกเบิกเพลงไทยสากล โดยได้รับพระราชทานโล่เกียรติยศในฐานะศิลปินตัวอย่าง ผู้ประพันธ์เพลงประจำปี พ.ศ.2523-2524 แผ่นเสียงทองคำพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตติจุลจอมเกล้าวิเศษ ชื่อเสียงเป็นที่ประจักษ์ขจรไกล ได้รับการยกย่องจากองค์การยูเนสโกเป็นบุคคลสำคัญของโลก สาขาวัฒนธรรมดนตรีไทยสากล เมื่อ 23 ตุลาคม 2552 ในวาระครบรอบ 100 ปีชาตกาล "ครูเอื้อ สุนทรสนาน"
เมืองแห่งสายน้ำ ประวัติศาสตร์ความเป็นมาอันยาวนาน ขนบธรรมเนียมประเพณี วัดวาอาราม เชิงชั้นศิลปะการช่าง การดนตรี อาหารการกิน พืชผักผลไม้อันอุดมสมบูรณ์ วิถีชีวิต ภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่ลงตัว โดยไม่เบียดเบียนทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่รอบตัว "ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว มีเกลือ" เป็นที่ยืนยัน "บ้านนี้ เมืองนี้" มีมนต์เสน่ห์จากอดีตสู่ปัจจุบันผู้คนอยากจะได้ไปพิสูจน์ความเป็นตัวตน "สมุทรสงคราม"
สมุทรสงครามได้ชื่อว่าเป็นจังหวัดที่เล็กที่สุดในประเทศไทย มีพื้นที่ประมาณ 416 ตารางกิโลเมตร ระยะทาง 72 กิโลเมตร จากกรุงเทพมหานครใช้เวลาเพียงชั่วโมงเศษๆ เท่านั้นสำหรับการเดินทางสะดวกทั้งทางรถยนต์และรถไฟ (สายวงเวียนใหญ่-มหาชัย)
ในอดีตถนนหนทางการคมนาคมยังไม่สะดวกต้องอาศัยการสัญจรทางน้ำเป็นหลักในการขนส่งพืชผักผลไม้ เครื่องอุปโภคบริโภคต่างๆ จึงมีชุมชนอาศัยอยู่ริมน้ำให้เห็นจนถึงปัจจุบัน
เมืองแม่กลองนี้ไม่ปรากฏหลักฐานการสร้างขึ้นเมื่อใด แต่เข้าใจว่าเดิมนั้นเป็นแขวงหนึ่งของราชบุรี
บางช้างหรือบางครั้งเรียกกันว่า สวนนอก
เนื่องจากสมเด็จพระอมรินทรามาตย์เป็นพระบรมราชินีในสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชและพระราชชนนีรัชกาลที่ 2 เป็นคนพื้นบ้านบางช้างมาก่อน จึงมีพระประยูรญาติประกอบอาชีพทำสวนอยู่บางช้าง สกุลบางช้างจึงเป็นราชนิกุลแห่งพระราชวงศ์จักรี
สมเด็จพระอมรินทรามาตย์ ทรงเสด็จเยี่ยมพระประยูรญาติ อยู่เสมอ จึงมีคำเรียกว่า "สวนนอก" ซึ่งหมายถึง "สวนบ้านนอก" ที่เป็นของราชนิกุลบางช้าง ต่อมาได้แยกตัวจากราชบุรี เรียกว่า "เมืองแม่กลอง"
การเป็นเมืองที่สมบูรณ์ไปด้วยน้ำ โดยมีแม่น้ำแม่กลองเป็นเส้นชีวิตของชาวเมือง พื้นดินติดอ่าวไทย ทำให้วิถีชีวิตสังคมมีความแตกต่างกันออกไปตามลักษณะของชุมชนแต่ละแห่งอย่างน่าสนใจ
ไปตามทางหลวงสายธนบุรี-ปากท่อ ผ่านมหาชัย สมุทรสาครจนกระทั่งสู่เมืองแม่กลอง
ตลอดการเดินทางสองฟากฝั่งถนน มองดูจนสุดลูกหูลูกตา จะเห็นกังหันพร้อมพื้นนาเกลือตลอดแนวถนน แต่เดี๋ยวนี้น้อยลงด้วยเหตุมีโรงงานสร้างเพิ่มขึ้นมาก จะเห็นร้านริมถนน จำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค สินค้าการเกษตร สินค้าแปรรูป อาหารทะเล ร้านกลุ่มแม่บ้าน เพิงร้านขายเกลือให้ได้นำกลับบ้าน โดยไม่ลืมซื้อเกลือที่เรียกว่าดอกเกลือ ซึ่งคนสมัยปู่ย่านิยมนำไปประกอบ อาหาร เช่น ใส่ในการทำพะโล้ จะทำให้อาหารมีรสเข้มข้นไม่เค็มจัด จะออกรสหวาน
กระบวนการผลิตเกลือทะเล เป็นการสืบทอดภูมิปัญญาชาวบ้านแต่ในอดีต ปัจจุบันอาชีพการทำนาเกลือกำลังลดน้อยลงไปเพราะการผลิตมีต้นทุนที่สูงขึ้น
เกลือทะเลได้จากการสูบน้ำทะเลเข้ามาขังไว้ในที่นา ตากแดดและลมจนน้ำระเหยไป จนเกลือเป็นผลึกสีขาว
แสงแดดเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งยวดในการทำนาเกลือ โดยต้องมีพื้นที่กว้างมากก็เป็นสิ่งสำคัญของการทำนาเกลือ เช่นเดียวกับการใช้เวลานานกว่าจะเป็นเม็ดเกลือที่เห็นกัน
เกลือทะเลนี้มีการผลิตมากในแถบจังหวัดชายทะเลฝั่งอ่าวไทย สมุทรปราการ ชลบุรี เพชรบุรี และสมุทรสงครามเป็นแหล่ง ผลิตที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศ
แหล่งผลิตเกลือของแม่กลองอยู่ในเขตอำเภอเมือง ที่ตำบล บางแก้ว ตำบลตลาดใหญ่ ด้วยลักษณะของดินเหนียวและเค็ม มีพื้นที่ติดชายฝั่งทะเลสะดวกในการขุดลอกลำธารเพื่อนำน้ำเข้าสู่พื้นที่นา
เกลือทะเลใช้สำหรับบริโภคและอุตสาหกรรม โรงงานผลิต คลอรีน ผลิตโซดาไฟ และโซเดียมคาร์บอเนต ในอุตสาหกรรมแก้ว ใยสังเคราะห์สบู่ ผงซักฟอก โรงงานทำกระจก กระเบื้องเคลือบ หรือการใช้เกลือทะเลดองพืชผักผลไม้ จะทำให้มีรสชาติอร่อย เนื่องจากเกลือชนิดนี้มีแร่ธาตุสำคัญอยู่หลายชนิดที่ช่วยให้เชื้อแบคทีเรียเจริญเติบโตได้ดี เกลือทะเลมีแร่ธาตุที่จำเป็นต่อร่างกายคนถึง 84 ชนิด โดยมี 24 ชนิดที่ร่างกายต้องการ
การที่มีบริเวณรอยต่อระหว่างพื้นดินกับพื้นน้ำทะเล ผสมผสานกันเป็นน้ำกร่อย คลื่นลมจะพัดพาตะกอนที่มา กับแม่น้ำลงสู่พื้นดิน สะสมรวมตัวเป็นหาดเลนกว้างใหญ่ ลูกไม้จะลอยมาตามน้ำ ลงปักในพื้นเลนก่อให้เกิดเป็นพันธุ์ บุกเบิกรากติดตะกอนสะสมเพิ่มขึ้นจนกลายเป็นสันดอน กลายเป็นป่าชายเลนในที่สุด
ซึ่งเป็นปัจจัยทำให้เกิดอาชีพอันหลากหลาย ณ พื้นดินแห่งนี้จากศักยภาพที่แข็งแกร่ง โดยเฉพาะกิจกรรม ในเรื่องการท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นในเชิงอนุรักษ์ เชิงเกษตร และอื่นๆ อีกมากมาย
การล่องเรือชมวิวทิวทัศน์ริมฝั่งแม่น้ำ บ้านเรือน ผู้คน วัดวาอารามที่สวยงามซึ่งหาดูได้ยากยิ่ง ชื่นชมแสง ระยิบระยับของหิ่งห้อย บรรยากาศเงียบสงบยามค่ำคืน หรือลัดเลาะเลยเข้าไปลำคลองแยกเล็กแยกน้อย ทั้งสวน ลิ้นจี่ ส้มโอ สวนมะพร้าว พบกับความร่มรื่น ทัวร์จักรยาน ที่กำลังเป็นที่นิยมของชาวต่างประเทศ การท่องเที่ยวเชิงเกษตรยังได้ชื่นชมวิถีชีวิต เช่น การทำน้ำตาลมะพร้าวของกลุ่มแม่บ้านเกษตรกร การปลูกส้มโอโดยไม่ใช้สารเคมีในการกำจัดศัตรูพืช ท่องเที่ยวแบบอนุรักษ์สภาพแวดล้อมบริเวณปากอ่าว ป่าชายเลนด้วย ต้นแสม ลำพู นกนานาชนิด ลิงแสม สัมผัสชีวิตประมงพื้นบ้าน
การไปพักผ่อนในรีสอร์ตที่เป็นอันซีนไทยแลนด์ติดริมน้ำล้อมรอบด้วยร่องสวน หรือการพักผ่อนกับชีวิตแบบชาวบ้านตั้งแต่ ตื่นจนเข้านอน มีให้ได้สัมผัส "โฮมสเตย์"
การมาแม่กลองในครั้งนี้เพื่อให้ได้ท่องเที่ยวที่คุ้มค่า ชมตลาดน้ำยามเช้ายามเย็น ความรู้สึกจากสมัยครูเอื้อสู่ยุคโฮมสเตย์ ว่ามีการเปลี่ยนแปลงไปมากน้อยเพียงใด ได้นั่งเรือชมหิ่งห้อยเปล่งแสง สีแข่งกับแสงดาวแสงจันทร์ยามค่ำคืน
ชื่นชมพระอาทิตย์ยามเช้า ยามบ่าย และเย็น ณ คุ้งน้ำที่สวย ที่สุดของริมฝั่งแม่น้ำแม่กลอง ณ จุดเดียวกัน พร้อมกับการออกกำลังกายในยามเช้ากับการพายเรือแคนู ขี่จักรยานชมสวน หรืออาจจะมีโอกาสเล่นเจ็ตสกีในลำน้ำแม่กลองอีกด้วย
จากตลาดแม่กลองสู่เส้นทางอัมพวา มาเรื่อยๆ จะสังเกตเห็นวัดช่องลม ให้ขับเลยมาอีกประมาณ 2 กิโลเมตร ทางด้านซ้าย มือจะเห็นซุ้มประตูทางเข้าวัดจันทร์เจริญสุข เลี้ยวเข้ามาจะเริ่มรู้สึก กลิ่นอายที่ร่องสวนยังคงหลงเหลือให้ได้บรรยากาศอยู่บ้าง แม้ว่าที่ดินแถวนี้ โดยเฉพาะติดชายน้ำจะมีราคาสูงถึงไร่ละ 6 ล้านบาท ทีเดียว มาได้สัก 500 เมตร มองตรงไปข้างหน้าสายตาจะกระทบ กับบ้านเพียงตะวันอย่างเต็มตาด้วยบรรยากาศที่ใฝ่ฝันหา
ขวามือประกอบไปด้วยบ้านริมน้ำชั้นเดียว ยกใต้ถุนสูง มีนอกชานนั่งเล่นรับลมเย็นหันหน้าสู่แม่น้ำ ด้วยชื่อที่น่ารัก บ้านสิชล เพียงนที เพียงฟ้า เพียงเดือน เพียงดาว
ด้านซ้ายมือ บรรยากาศอันร่มรื่นด้วยพรรณไม้นานาชนิด บ้านในสวนสวยด้วยชื่อ มธุลดา ชมชื่น โปร่งใจ โสมนัส
มีให้เลือกตามความต้องการสำหรับการเปลี่ยนแปลงบรรยากาศ รสนิยมของแต่ละบุคคลอย่างน่าอภิรมย์
อยู่ริมเขื่อน วารีไหล สายลมเอื่อย เมฆลอยเรื่อย นกเริงร่า ฟ้าสดใส
ดนตรีเพราะ เพลินพรรณไม้ สราญใจ เดินทางใกล้ เรือนพักเรียง เพียงตะวัน
ดื่มด่ำความงามในยามเย็น นั่งมองอาทิตย์ลับขอบฟ้าพระ อาทิตย์เจิดจรัส ณ ริมฝั่งน้ำ พร้อมอาหารเช้าโจ๊กหมูโดยเฉพาะ โจ๊กเนื้อ สูตรลับเฉพาะที่หาทานยาก บางครั้งอาจพบแจ็กพอตด้วย เมนูก๋วยเตี๋ยวหมูน้ำแดงได้รสชาติ
ช่วงเวลาอาหารเช้า ได้มีโอกาสคุยกับตุ้ม ณัฐพร โรจนดิษฐ์ ผู้บริหารบ้านเพียงตะวันที่เพิ่งจะลาออกจากงานประจำที่สถานทูต ออสเตรีย เมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา
โดยใช้ประสบการณ์จากการเคยทำงานในโรงแรมประเภทรีสอร์ต พร้อมกับความรักความชอบในการท่องเที่ยวแบบรักธรรมชาติ
ที่พักแห่งนี้เปิดบริการมาเป็นปีที่สามแล้ว แต่สำหรับตุ้มรู้จักคุ้นเคยสถานที่ สภาพสิ่งแวดล้อมในชุมชนแห่งนี้มากว่า 10 ปี
เริ่มจากมีญาติที่มีที่ดินติดริมน้ำชวนมาพักผ่อนอยู่เสมอ ต่อมาเลยถือโอกาสชักชวนเพื่อนฝูงมาจัดปาร์ตี้เป็นประจำ ด้วยอาหารสดแห้งจากต้นตอแหล่งผลิต ทำให้ทุกคนติดใจจึงเกิดกิจการนี้ในที่สุด
ตุ้มยังบอกด้วยว่า ถ้าจะมาในวันศุกร์เสาร์อาทิตย์ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องจองที่พักล่วงหน้า เพื่อกันความผิดหวัง
เมื่อมาถึงอัมพวา ทุกคนมักจะได้ยินชื่อคลองผีหลอกทำให้อยากรู้ถึงที่มา แม่ค้าก๋วยเตี๋ยวข้างที่พักบอกว่า จำได้ว่าผู้เฒ่าผู้แก่ที่นี่เล่าว่าคลองผีหลอกเป็นเรื่องของภูมิปัญญาของคนทำประมงพื้นบ้านในลำน้ำแม่กลองนี่เอง
โดยทาสีข้างเรือหาปลาเป็นสีขาว เมื่อปลาเห็นแสงสะท้อนจะกระโดดขึ้นมาบนเรือทันที ทำให้การออกหาปลาแต่ละครั้งได้ปลาทีละมากๆ ณ ปัจจุบันที่คนหัวใสหากินกับการนำนักท่องเที่ยวนั่งเรือชมหิ่งห้อยเปล่งแสงสีแข่งแสงจันทร์ด้วยการนำหุ่นที่น่ากลัวตัวเล็กๆ ไปแขวนไว้ที่ต้นลำพูริมน้ำ เมื่อขับเรือใกล้ฝั่งจะเปิด
สปอตไลต์ส่องไปยังหุ่น นักท่องเที่ยว โดยเฉพาะลูกเล็กเด็กแดง หรือสาวๆ จะเปล่งเสียงร้องกรี๊ดด้วยความตกใจและสะพรึงกลัว เป็นที่ขบขันกันโดยถ้วนหน้า
ป่าชายเลนคือป่าที่อยู่บริเวณชายฝั่งทะเลเขตร้อน ปากอ่าว หรือปากแม่น้ำ ซึ่งประกอบไปด้วยพืชพันธุ์นานาชนิด สัตว์นานาพันธุ์ดำรงชีวิตอยู่ร่วมกันในสภาพแวดล้อมที่เป็นดินเลน น้ำกร่อยและมีน้ำท่วมถึงสม่ำเสมอ เป็นแหล่งผลิตอาหารและพลังงานที่มีความสำคัญต่อโลกมนุษย์ ลักษณะจะเป็นต้นไม้ที่มีรากเยอะใบหนา ชอบอากาศและน้ำในปริมาณสูง จะคายน้ำและออกซิเจนค่อนข้าง สูงกว่าไม้ชนิดอื่น
ป่าชายเลนหรือป่าโกงกาง โดยเรียกชนิดพันธุ์ไม้ที่มีมากและมีบทบาทสำคัญในระบบนิเวศป่าชายเลน คือมีลักษณะพิเศษ "รากค้ำจุน" คือรากที่ติดกับลำต้นโก่งและกางลงสู่โคลน หรือชื่อพื้นเมืองของไม้โกงกาง "ต้นพังกา" สำหรับภาคใต้
เนื่องจากสภาพเป็นดินเลนในที่ราบกว้างใหญ่ ซึ่งอุดมสมบูรณ์ไปด้วยแร่ธาตุอาหารที่ไหลมาจากแหล่งต่างๆ คือจากการกัดเซาะตามชายฝั่งและแหล่งน้ำลำธาร หรือจากซากพืชสัตว์ในบริเวณป่าชายเลนเอง ใบไม้ที่ร่วงหล่นทับถมกันเป็นจำนวนมาก แพลงตอนพืชและสาหร่าย
สภาพความเค็มของน้ำบริเวณนั้นจะค่อนข้างต่ำ เนื่องจากน้ำจืดไหลมาปะปนกับน้ำเค็มจึงกลายเป็นน้ำกร่อย ซึ่งระดับความเค็มของน้ำจะเปลี่ยนแปลงไปตามระดับน้ำขึ้นน้ำลง มีผลต่อป่าชายเลน คือชนิดและการกระจายของพันธุ์ที่ขึ้นอยู่กับลักษณะเขตแนวของแต่ละชนิด จากฝั่งน้ำเข้าไปด้านในของป่าอันเป็นลักษณะเฉพาะตัว ที่แตกต่างออกไปจากป่าบกทั่วไป พันธุ์ไม้ต่างๆ มีการปรับตัว สามารถเจริญเติบโตและแพร่กระจายได้ในบริเวณที่เป็นดินเลนลึก มีน้ำท่วมถึง มีรากค้ำจุนที่แข็งแรง พยุงต้นไม้ให้ตั้งตรง ไม่โค่นล้มเมื่อเกิดพายุหรือคลื่นซัด
ป่าชายเลนมีระบบนิเวศที่มีคุณค่าและความสำคัญต่อมนุษย์ เป็นแหล่งอาหารที่สำคัญของสัตว์น้ำ ซึ่งได้แก่อินทรียวัตถุที่ย่อยสลายจากซากพืช เศษใบไม้ กิ่ง ก้าน ใบ และผลที่ร่วงหล่น
แหล่งอาหารอื่นๆ บริเวณปากแม่น้ำ เป็นสารอินทรีย์ที่ละลายน้ำ เช่น กรดอมิโน ซึ่งมีต้นกำเนิดจากการสลายตัวของอินทรียวัตถุในบริเวณป่าชายเลน เป็นแหล่งอนุบาลตัวอ่อนของสัตว์น้ำ กุ้ง หอย ปู ปลา ซึ่งอาศัยร่มเงา และแหล่งอาหาร
ประโยชน์ของไม้ป่าชายเลนนำมาทำเชื้อเพลิง โดยการนำมาเผาเป็นถ่าน ต้นไม้ป่าชายเลนเป็นไม้ที่ปลูกง่ายโตเร็ว ยังนำไปเป็นไม้ฟืน เสาเข็ม ไม้ค้ำยัน แพปลา อุปกรณ์การประมง และเฟอร์นิเจอร์
การทำหน้าที่ป้องกันคลื่นลมจากทะเล ความรุนแรงของพายุ การดักกรองสารปฏิกูล สารมลพิษจากบนบกลงสู่ทะเล โลหะหลาก หลายชนิดเมื่อถูกพัดพามาตามกระแสน้ำตกตะกอนบริเวณดินเลน ขยะ และคราบน้ำมันต่างๆ จะถูกกรองไว้ในป่าชายเลน
พันธุ์ไม้และสัตว์ในป่าชายเลน พันธุ์พืชในป่าชายเลนมีการปรับตัวทั้งสรีระและโครงสร้าง ไม้ที่ถือว่าเป็นตัวพ่อของป่าชายเลน "โกงกาง" มีอยู่ 2 ชนิด โกงกางใบเล็กและโกงกางใบใหญ่จะเขียว ชอุ่มตลอดทั้งปี
แสมทะเล ไม้ยืนต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลาง พบในพื้นดินงอกใหม่ แสมขาว มักขึ้นในดินทราย ส่วนแสมดำลักษณะใบจะรูปไข่กลมป้อม ปลายมนหลังใบมัน ท้องใบจะเป็นสีน้ำตาลอ่อน
นอกจากนี้ยังจะเห็นต้นไม้โปร่งแดง โปร่งขาว ต้นลำพู ลำแพน ตะบูน ตะบัน เสม็ด ทำให้เกิดทัศนียภาพที่สวยงาม สร้าง ความสมบูรณ์ต่อระบบนิเวศทางทะเลอีกด้วย
ปูจะอาศัยอยู่ตามรากไม้โกงกาง กุ้งถ้ามีขนาดเล็ก "กุ้งเคย" จะนิยมนำไปทำเป็นกะปิ
ตัวเคยเป็นสัตว์ทะเลชนิดหนึ่ง ลักษณะคล้ายกับกุ้งแต่มีขนาดเล็กกว่า ไม่มีกรีแหลมๆ ที่ตัวสีขาวใส ตาสีดำ อาศัยอยู่ตาม รากไม้ป่าชายเลน ต้นโกงกาง แสม ลำพู
ตัวเคยมี 2 ชนิด คือ
เคยละเอียดและเคยหยาบ
เคย คือวัตถุดิบที่นำมาทำกะปิของชาวบ้าน กะปิคลองโคน เป็นกะปิที่มีชื่อเสียงของแม่กลอง รสไม่เค็มจัด จะมีกลิ่นหอมหวาน โดยใช้เคยละเอียดทำ จะมีลักษณะนุ่มและตัวเล็กกว่า ส่วนเคยหยาบจะนำไปต้มสุกใส่เกลือตากแห้งคล้ายกับกุ้งแห้งฝอย
กว่าจะเป็นกะปิคลองโคนนั้น ความพิถีพิถันเอาใจใส่ในทุก ขั้นตอนในการทำเป็นอย่างดี เคยสด สะอาด การเก็บรักษา ซึ่งเป็น ภูมิปัญญาของคนในหมู่บ้านคลองโคน คลองช่องที่อาศัยอยู่ชายฝั่ง ทะเลปากอ่าวแม่กลอง
กะปิคลองโคนที่ได้คุณภาพ คือกะปิเคยตาดำไม่ใช่กะปิกุ้ง
กะปิเคยแท้ต้องมีเม็ดสีดำ ซึ่งเป็นตาของเคยซึ่งปนอยู่ในเนื้อกะปิ สีของกะปิจะไม่ดำหรือแดงจัด ต้องออกสีแดงชมพู่นิดเป็นสีธรรมชาติ เนื้อกะปิไม่เหลวหรือแข็งเกินไป ไม่มีเม็ดเกลือปน โดยเฉพาะต้องไม่มีกลิ่นคาวเด็ดขาด
ถ้าได้ไปเยี่ยมชมการทำกะปิคลองโคนแล้ว อย่าลืมนำอาหาร ไปเลี้ยงลิงแสมไฮโซด้วย ซึ่งมีให้ได้ชื่นชมเป็นจำนวนมาก
เหตุที่เรียกว่าลิงแสมไฮโซ เพราะว่าลิงเหล่านี้ไม่เคยมาแย่ง อาหารจากมือผู้ให้ แต่จะรอคอยอย่างมีระเบียบซึ่งเป็นภาพที่น่าเอ็นดู
คลองโคนยังเป็นที่นิยมของบรรดาเหล่าจิตอาสา ปลูกป่าช่วยอนุรักษ์และลดสภาวะโลกร้อนอีกด้วย
นอกจากตัวเคย ป่าชายเลนยังมีกุ้งขนาดใหญ่ซึ่งถือว่าเป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจที่สำคัญ นอกจากนี้ยังจะมีกั้ง ตั๊กแตน เพรียงหิน แมลงสาบทะเล ที่พบได้ตามซากใบไม้ที่ร่วงหล่นทับถมกันอยู่
หมู่บ้านที่ถือว่าเป็นพื้นที่ป่าชายเลนที่ยังมีความสมบูรณ์ไปด้วยสัตว์น้ำและพันธุ์พืชหลากชนิด ชุมชนนี้ตั้งถิ่นฐานอยู่บนภูเขาหินปูนแห่งเดียวของจังหวัดสมุทรสงคราม ล้อมรอบด้วยทะเลและ ป่าชายเลน
หมู่บ้านเขายี่สาร เป็นที่อยู่อาศัยของกลุ่มคนสืบทอดกันมา อย่างต่อเนื่อง เชื่อว่าไม่น้อยกว่า 800 ปี สมัยต้นกรุงศรีอยุธยา ชีวิตความเป็นอยู่สงบร่มเย็น สืบทอดวัฒนธรรมความเป็นอยู่แบบชาวบ้านอย่าน่าสนใจ
การใช้ชีวิตพึ่งพาธรรมชาติ ภูมิปัญญาและการประกอบอาชีพที่สอดคล้องกับธรรมชาติได้อย่างลงตัว เช่นการนำใบหูกวาง เปลือกไม้จากตะบูนมาย้อมผ้า ได้สีเหลืองและน้ำตาล
นอกจากการทำประมงแล้ว ยังมีอาชีพที่ทำสืบต่อกันมานาน เกือบทั้งชุมชนคือ การทำถ่านจากไม้โกงกางซึ่งมีคุณสมบัติไฟแรง เถ้าน้อย โดยมีการปลูกป่าโกงกางหมุนเวียนเพื่อตัดมาเผาถ่าน
วัดเป็นสถานที่หนึ่งที่เป็นที่ยึดเหนี่ยวให้เกิดความสงบความสุขในจิตใจ วัดเขายี่สารมีศาลหลวงพ่อปู่ศรีราชา มีความศักดิ์สิทธิ์เป็นที่เคารพบูชาของชาวบ้านทั่วไป
วัดนี้สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยตอนปลายกรุงศรีอยุธยา มีพระวิหารบนยอดเขารูปเรือ มีพระพุทธบาทสี่รอยเป็นองค์ประธานของวัด พระมณฑปและบานประตูสลักไม้ศิลปะสมัยอยุธยาตอนปลาย นับเป็นงานประณีตศิลป์ชั้นสูง พระอุโบสถลวดลายปูนปั้นฝีมือช่างเมืองเพชร ภายในมีภาพจิตรกรรม บานหน้าต่างเป็นรูปบุคคลในพงศาวดารจีน ถ้ำพระนอนมีพระพุทธไสยยาสน์ ซึ่งมีนิ้วพระบาทเก้านิ้วประดิษฐานอยู่
ต้นแบบพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นอีกหลายแห่ง สำหรับพิพิธภัณฑ์ บ้านเขายี่สาร เริ่มเมื่อ พ.ศ.2539 เป็นการจัดแสดงภูมิปัญญาของชาวบ้าน ชีวิตวัฒนธรรมของผู้คน เครื่องมือผลิตยาสมุนไพรตลอด จนเครื่องใช้สอยต่างๆ
สำหรับอาหารการกินของที่นี่คือการนำทรัพยากรในท้องถิ่น พืชและสัตว์น้ำจืด น้ำเค็ม นานาชนิดที่มีอยู่ตามธรรมชาติ โดยใช้ ความรู้ ประสบการณ์ ภูมิปัญญาดั้งเดิม ทั้งคุณค่า ความปลอดภัย และรสชาติที่มีความอร่อย ตัวอย่างต้นชะคราม ซึ่งเป็นพืชน้ำเค็มขึ้นตามป่าชายเลน มีลักษณะใบอวบน้ำ โดยเด็ดไปยำ แกงส้ม หรือนำไปเป็นผักจิ้มน้ำพริก รสชาติอร่อยมาก ด้วยเหตุว่ากะปิน้ำปลาเป็นผลิตภัณฑ์ที่ทำกินกันเองแล้ว กุ้ง หอย ปู ปลาที่ใช้ประกอบอาหารยังสดใหม่อีกด้วย
เพลง "ลาสาวแม่กลอง" หากใครเป็นแฟนพันธุ์แท้เพลงลูกทุ่ง อาจจะคุ้นชื่อวัดบ้านแหลม ที่มีงานนมัสการและสรงน้ำหลวงพ่อบ้านแหลมในช่วงเทศกาลสงกรานต์ วัดนี้ได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นพระอารามหลวงชั้นตรีวรวิหาร ได้รับพระราชทานนามว่า "วัดเพชรสมุทรวรวิหาร" เดิมชื่อวัดศรีจำปาเป็นวัดที่สำคัญของจังหวัด ตามพงศาวดารฉบับราชหัตถเลขา พ.ศ.2307 พม่ายกทัพเข้ามาตีเมืองเพชรบุรีและกองทัพกรุงศรีอยุธยายกทัพมาช่วย รักษาเมืองไว้ได้ ชาวบ้านแหลมในเขตเมืองเพชรบุรี อพยพหนีพม่า มาตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณตำบลแม่กลอง จึงเรียกหมู่บ้านนี้ว่า "บ้านแหลม" ตามชื่อเดิมของพวกตน และช่วยกันบูรณะวัดศรีจำปา ซึ่งตั้งอยู่ด้านใต้ของชุมชน และเรียกวัดนี้ว่า "วัดบ้านแหลม"
ชุมชนนี้ประกอบอาชีพประมงเป็นส่วนใหญ่ มีชาวบ้านได้ออกไปลากอวนในอ่าวแม่กลองพบพระพุทธรูปติดอวนขึ้นมา 2 องค์ เป็นพระพุทธรูปนั่งและยืนอย่างละ 1 องค์
พระพุทธรูปนั่งอยู่ที่วัดเขาตะเครา อำเภอบ้านแหลม จังหวัด เพชรบุรี
สำหรับพระพุทธรูปยืนอุ้มบาตร แต่บาตรนั้นสูญหายไปในทะเล สูงประมาณ 167 เซนติเมตร
สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาภาณุพันธุ์วงศ์วรเดช ได้ถวายบาตร ไว้ให้บาตรหนึ่งเป็นบาตรแก้วสีน้ำเงิน นำไปไว้ที่วัดบ้านแหลม เรียกว่า "หลวงพ่อบ้านแหลม" มีความศักดิ์สิทธิ์เป็นที่เคารพนับถือ เลื่อมใสของคนทั่วไป
อัมพวา มีความสำคัญและเกี่ยวข้องประวัติศาสตร์ชาติไทย ในสมัยกรุงศรีอยุธยาถึงต้นกรุงรัตนโกสินทร์
สมัยก่อนเรียกกันว่าแขวงบางช้าง เป็นชุมชนเล็กๆ ที่มีความเจริญทั้งด้านการเกษตรและการค้าขาย มีหลักฐานเชื่อได้ว่า "ตลาดบางช้าง" มีมาแต่สมัยพระเจ้าปราสาททอง นายตลาดเป็น หญิงชื่อน้อย มีบรรดาศักดิ์เป็นท้าวแก้วผลึก อยู่ในตระกูลเศรษฐีบางช้าง ต่อมาเป็นราชนิกุล "ณ บางช้าง"
ในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย พระเจ้าเอกทัศน์โปรดเกล้าฯ ให้นายทองด้วง (พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก มหาราช) เป็นหลวงยกกระบัตรเมืองราชบุรี เป็นเมืองจัตวาขึ้นตรงกับกรุงศรีอยุธยา ซึ่งได้แต่งงานกับคุณนาค ธิดาของเศรษฐีบางช้าง บ้านอยู่หลังวัดจุฬามณี ภายหลังย้ายไปอยู่หลังวัดอัมพวัน เจติยาราม
เมื่อกรุงศรีอยุธยาแตกในปี พ.ศ.2310 หลวงยกกระบัตรพาครอบครัวเข้าไปอยู่ในป่าลึก
พระยาวชิรปราการได้รวบรวมกำลังขับไล่พม่าออกไปจนหมด และสถาปนาเป็น "พระเจ้าตากสิน" หลวงยกกระบัตรได้อพยพครอบครัวกลับภูมิลำเนาเดิม คุณนาคได้คลอดบุตรคนที่ 4 เป็นชายชื่อฉิม (พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย)
หลวงยกกระบัตรได้กลับเข้ารับราชการอยู่กับพระเจ้าตากสินมหาราช ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระราชวรินทร์ เจ้ากรมพระตำรวจนอกขวา จนเป็นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก และปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ต้นราชวงศ์จักรี เข้าสู่สมัยกรุงรัตนโกสินทร์
วัดจุฬามณี เป็นวัดโบราณริมฝั่งคลองอัมพวาต่อเนื่องกับคลองผีหลอก สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าปราสาททอง สันนิษฐานว่าท้าวแก้วผลึก (น้อย) นายตลาดบางช้าง เป็นผู้สร้างขึ้น
วัดเก่าแก่อีกวัด "บางกะพ้อม" สร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย สิ่งที่น่าสนใจอยู่ภายในวิหารเก่าของวัด ผนังวิหารด้าน บนเป็นภาพจิตรกรรมฝาผนัง เป็นปูนปั้นลวดลายนูนแสดงเรื่องพุทธประวัติ
ผนังวิหารด้านล่างโดยรอบ มีช่องเจาะเป็นซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูป กลางวิหารประดิษฐานรอยพระพุทธบาทจำลองขนาด ใหญ่ซ้อนกันสี่รอยลดหลั่นกันไป สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยกรุงธนบุรี เดิมมีแผ่นเงินหุ้มแต่ถูกขโมยไปเมื่อครั้งสงคราม พระพุทธบาทรอย ที่ซ้อนลึกที่สุดนั้นเป็นไม้ประดับมุก ยังคงหลงเหลือลวดลายงดงาม
วัดอัมพวันเจติยารามติดกับอุทยาน ร.2 เป็นวัดของราชนิกุล ณ บางช้าง สร้างในสมัยรัชกาลที่ 1 เชื่อกันว่าบริเวณพระปรางค์ของวัด เดิมเป็นเรือนที่ใช้คลอดพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย วัดนี้ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์โดยรัชกาลที่ 3 รัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5 เป็นพระอารามหลวงชั้นโท พระอุโบสถและถาวร วัตถุ เป็นศิลปะและสถาปัตยกรรมสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น มีอุโบสถงดงาม มีพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธ เลิศหล้านภาลัยประดิษฐาน
อุทยานพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เป็นโครงการเฉลิมพระเกียรติของมูลนิธิพระบรมราชา นุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ในพระบรมราชูปภัมภ์ เพื่อเป็นการสนองพระมหากรุณาธิคุณที่ได้พระราชทานศิลปวัฒนธรรมอันงดงามไว้เป็นมรดกของชาติ จนได้รับการยกย่อง ให้เป็นบุคคลสำคัญของโลกจากองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (Unesco)
บริเวณที่ก่อสร้างอุทยานบรมราชานุสรณ์นี้ พระราชสมุทรเมธี เจ้าอาวาสวัดอัมพวันฯ เป็นผู้น้อมเกล้าฯ ถวาย ภายในอุทยานฯ พิพิธภัณฑ์จะเป็นอาคารทรงไทย 4 หลัง แบ่งเป็นส่วนต่างๆ หอกลางภายในประดิษฐานพระบรมรูป ร.2 แสดงศิลปะโบราณวัตถุสมัยรัตนโกสินทร์ เครื่องเบญจรงค์ เครื่องถ้วย หัวโขน
ห้องชาย จัดแสดงให้เห็นความเป็นอยู่ของชาวไทยที่มีความกล้าหาญ พระพุทธรูปสำหรับบูชาพระแท่นบรรทม
ห้องหญิง แสดงให้เป็นลักษณะความเป็นอยู่ของหญิงไทยโบราณ โต๊ะเครื่องแป้ง คันฉ่อง ชานเรือน แบบบ้านไทยโบราณ ตกแต่งด้วยกระถางไม้ดัด ไม้ประดับ ห้องครัว ห้องน้ำ ลักษณะครัวไทย ประกอบด้วยเครื่องหุงต้ม ถ้วยชาม โรงละครกลางแจ้ง สวนพันธุ์ไม้ในวรรณคดี ร่มรื่น บรรยากาศแบบไทยๆ
วัดภุมรินทร์กุฎีทอง อยู่ริมแม่น้ำแม่กลอง สิ่งที่ดึงดูดความสนใจได้แก่กุฎีทอง ทำด้วยไม้สัก มีเรื่องเล่าว่าเศรษฐีบิดาคุณนาค ให้สมภารวัดบางลี่ตรวจดูดวงชะตาคุณนาค สมภารทำนายว่าจะได้ เป็นพระราชินี ต่อมาจึงได้สร้างกุฎีทองถวายวัด จึงชื่อวัดบางลี่กุฎีทอง ต่อมาวัดถูกน้ำเซาะที่ดินพังลง จึงได้รื้อกุฎีทองมาสร้างไว้ที่วัดภุมรินทร์ วัดนี้จึงได้ชื่อภุมรินทร์กุฎีทอง เป็นสถานที่เก็บรวบรวมโบราณวัตถุล้ำค่ามากมายควรแก่การศึกษาเป็นอย่างยิ่ง
นอกจากนี้จะเห็นหุ่นเท่าคนจริงของทูล ทองใจ นักร้องผู้โด่งดังในอดีต อย่างเพลงโปรดเถิดดวงใจ หรือนิราศเวียงพิงค์ ตั้งเด่นเป็นสง่าบริเวณวัด
วัดบางแคใหญ่ ตั้งอยู่ริมน้ำแม่กลอง บริเวณปากคลองบางแค สร้างเมื่อปี 2357 พระอุโบสถหลังใหญ่อายุกว่า 150 ปี ด้านหน้ามีเจดีย์เหลี่ยมย่อมุมสิบสอง ศิลปะสมัยกรุงศรีอยุธยา พระประธานในอุโบสถปางมารวิชัย ปั้นด้วยศิลาแลง มีธรรมเจดีย์ 7 องค์ สร้างเมื่อปี 2415 มีกำแพงแก้วล้อมรอบ และบานฝาประจันกุฎสงฆ์มีภาพจิตรกรรมฝาผนังที่เขียนด้วยสีฝุ่นผสมกาวในปลายสมัยรัชกาลที่ 2 เป็นเรื่องราวการทำสงครามไทย-พม่า
ตรงทางแยกมองเข้ามา จะเห็นเพิงร้านขายก๋วยเตี๋ยว และร้าน Coffee and Smouthies ให้ได้นั่งพักผ่อนหลบมุมด้วยกาแฟ น้ำผลไม้ปั่นมากมาย แถมขนมปังสังขยารสใบเตย ซึ่งใช้ใบเตยหอมจากสวนที่บ้าน ขนมปังอบเนยแบบแผ่นบางเฉียบ และแบบแท่ง พร้อมของว่างยามสายและบ่ายมากมาย
ตุ้มเจ้าของร้านเล่าว่าเปิดมา 12 ปีแล้ว ทำกันเองระหว่างพี่น้อง ถ้าเสาร์-อาทิตย์ ต้องสั่งล่วงหน้า "ขนมปัง อบเนยบางแค" มีอยู่ครั้ง หนึ่งมีศิลปินระดับชาติแวะซื้อแล้วออกรถไปได้เพียง 20 เมตร เลี้ยวรถกลับมาซื้อเพิ่มอีกทันที
และเก๋เล่าต่อว่า วันก่อนมีคนซื้อไปเป็นของฝาก วันรุ่งขึ้นเก๋ได้รับโทรศัพท์ขอให้ไปส่งด้วย เมื่อถามว่าอยู่ที่ไหน เสียงตอบ ท่าพระ เก๋บอกว่าร้านผมอยู่บางแคใหญ่ อัมพวา จังหวัดสมุทร สงครามครับ
วัดบางแคน้อย สร้างเมื่อ พ.ศ.2411 เดิมอุโบสถของวัดสร้างบนแพไม้ไผ่ ผูกไว้กับต้นโพธิ์ริมฝั่งแม่น้ำแม่กลอง ผนังภาย ในพระอุโบสถทำจากไม้สักแกะสลักฝีมือช่างจากเพชรบุรี เป็นเรื่องราวในพุทธประวัติ ประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพาน เรื่องพระเจ้าสิบชาติ ลวดลายชัดเจนสวยงาม
วัดอินทราราม สร้างเมื่อ พ.ศ.2300 ปฏิสังขรณ์ใหม่ในสมัย รัชกาลที่ 3 พระพุทธรูปหลวงพ่อโตอายุกว่า 300 ปี อุโบสถสร้างด้วยหินอ่อน บานประตูและหน้าต่างเป็นไม้แกะสลักสุภาษิตสอนใจ ท่าน้ำเป็นอุทยานปลาตะเพียน
แหล่งเครื่องดนตรี คือบ้านพญาซอ บ้านของช่างซออู้ที่นำศิลปะการเล่นดนตรีไทย มาบวกกับการแกะสลักเป็นลวดลายที่สวยงาม จากการนำผลมะพร้าวที่ใช้ทำซอจะได้เสียงไพเราะกังวานมาแกะสลักเป็นลวดลายต่างๆ
สถานที่ที่น่าสนใจของอำเภอบางคนทีคือตำบลบางนกแขวก หมู่ที่ 7 จะเป็นชุมชนชาวคริสต์อาศัยอยู่โดยรอบ อาสนวิหารแม่พระบังเกิด สถานที่อันศักดิ์สิทธิ์สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2433 โดยบาทหลวงเปาโลซัลมอน มิชชันนารีชาวฝรั่งเศส
โดยการสนับสนุนเงินทุนจากญาติพี่น้องของท่านในประเทศฝรั่งเศส คณะมิชชันนารีต่างประเทศแห่งกรุงปารีสกรุงโรมและผู้ใจบุญ ใช้เวลาสร้าง 6 ปี
เป็นสถาปัตยกรรมแบบโกธิคของประเทศฝรั่งเศส ภายในประดับด้วยภาพกระจกสีสวยงดงาม มีรูปปั้นธรรมาสน์เทศน์ อ่างล้างบาป ขาเทียนลักษณะต่างๆ รูปแกะสลักบรรยายเกร็ดประวัติในคัมภีร์คริสต์ศาสนาเป็นโบสถ์ที่มีความสวยงาม
วัดเจริญสุขารามวรวิหาร ห่างจากตัวอำเภอบางคนที ประมาณ 5 กิโลเมตร ศิลปะเฉพาะตัวในการก่อสร้างโบสถ์ เพดานเป็นรูปโค้งคล้ายประทุนเรือ ภายในมีหลวงพ่อโตสร้างด้วยศิลาแลง ลักษณะเป็นปฏิมากรสมัยสุโขทัย ท่าน้ำหน้าวัดมีฝูงปลาอาศัยอยู่มากมาย
วัดบางกุ้ง เป็นวัดเก่าแก่สมัยกรุงศรีอยุธยา ภายในวัดมีโบสถ์เก่าประดิษฐานพระประธาน หลวงพ่อโบสถ์น้อย เป็นพระพุทธรูปปั้นขนาดใหญ่ มีภาพจิตรกรรมฝาผนังสมัยปลายกรุงศรีอยุธยา เป็น เรื่องราวพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรม พระพุทธเจ้าประทับนั่งอยู่ในซุ้ม ขนาบข้างด้วยอัครสาวกนั่งพนมมือ
อีกฝั่งฟากถนนคือ "ค่ายบางกุ้ง" หลังจากการเสียกรุงศรีอยุธยาเมื่อ พ.ศ.2310 สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้โปรดให้ยกกองทัพเรือมาตั้งค่ายที่ตำบลบางกุ้ง เนื่องจากเมืองแม่กลองเป็น เส้นทางที่กองทัพพม่าใช้ในการเดินทัพ โดยสร้างกำแพงล้อมรอบวัดบางกุ้งให้อยู่กลางค่าย เพื่อเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจและเคารพบูชา พระเจ้าตากสินให้ชาวจีนจากระยอง ชลบุรี ราชบุรี และกาญจนบุรี รวบรวมผู้คนตั้งค่าย จึงเรียกกันว่า "ค่ายจีนบางกุ้ง"
นับเป็นค่ายทหารไทยที่สร้างความเกรงขามให้กองทัพพม่า เป็นการเรียกขวัญกำลังใจของคนไทยให้กลับคืนมา
บริเวณค่ายยังมีโบสถ์สมัยกรุงศรีอยุธยา "โบสถ์หลวงพ่อคำ" โบสถ์ปรกโพธิ์ หนึ่งในอันซีนไทยแลนด์ โบสถ์ทั้งหลังปกคลุมด้วยต้นไม้ถึง 4 ชนิด ต้นโพธิ์ ต้นไทร ต้นไกร และต้นกร่าง ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากอนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ซึ่งทำพิธียกศาล เมื่อ 20 มิถุนายน 2511
ในบริเวณลานกว้างยังมีหุ่นเท่าคนจริงจำนวน 30 คู่ ยืนใน ท่าฝึกศิลปะป้องกันตัวสมัยโบราณ เป็นที่สนใจของนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะชาวต่างชาติ มักนิยมชมชอบถ่ายรูปคู่ด้วยการเลียนแบบ ท่าทางไว้เป็นที่ระลึกเมื่อไปเยือนค่ายแห่งนี้เสมอ
ทุกคนที่ไปเยี่ยมชมสมุทรสงคราม สิ่งที่เป็นเป้าหมาย คือการไปเที่ยวตลาดน้ำยามเย็น อัมพวา ตลาดริมคลอง สองฟากฝั่ง เต็มไปด้วยห้องไม้แถวยาว บรรยากาศย้อนยุค บางห้องถูกจัดแต่ง เป็นที่พักแบบโฮมสเตย์ มีพ่อค้าแม่ค้าด้วยใบหน้ายิ้มแย้มมีน้ำใจคลาคล่ำไปด้วยผู้คนต่างถิ่น ผักผลไม้ กุ้งเผา ปูนึ่ง ปลาหมึกย่าง ผัดไทย หอยทอด ทอดมัน ก๋วยเตี๋ยว ข้าวต้มมัด กาแฟ โอเลี้ยง น้ำหวาน ขนมหวาน บ๊ะจ่าง กุ้งหอย ปู ปลา จากรถเข็นตลอดทางเดิน ซื้อขายกันอย่างสนุกสนานเพลิดเพลิน บรรยากาศสบายๆ โดยได้ยินเสียงเพลงจากเสียงตามสายของชาวชุมชนให้ชุ่มหัวใจ
และเมื่ออิ่มหนำสำราญ ทุกคนต้องมีกิจกรรมที่ขาดไม่ได้คือการล่องเรือชมหิ่งห้อย แมลงแห่งเทพนิยายในยามค่ำคืน โดยเฉพาะช่วงรอยต่อของฤดูกาลปลายฝนต้นหนาว หิ่งห้อยจำนวนมากจะบินไปเกาะอยู่บนต้นลำพู เปล่งแสงเรืองรองเป็นสีเหลืองอมเขียวแวววับไปมาโดยไม่มีความร้อน การเรืองแสงมีประโยชน์ในการผสมพันธุ์ของหิ่งห้อย และมีประโยชน์ต่อชาวประมงในการสังเกตแนวชายฝั่ง
ต้นลำพูมีความสำคัญทางระบบนิเวศเป็นอย่างมาก นอกจากเป็นที่อยู่อาศัยของหิ่งห้อย ผลยังสามารถรับประทานได้ ผลสุก มีรสเปรี้ยวอมหวาน กลิ่นหอม หรือนำไปยำ ดอกลำพู เป็นต้นไม้ ที่มีใบเล็กผิวเรียบไม่มีขน เนื้อไม้แข็งแรง ทนทาน เป็นไม้ป่าชายเลน สูงประมาณ 20 เมตร มีรากงอกขึ้นเหนือดิน
หิ่งห้อยนั้นเป็นแมลงปีกแข็ง ลำตัวยาว 5-25 มิลลิเมตร ชอบเกาะตามต้นลำพู ลำแพน แสมชนิดต่างๆ มีวงจรชีวิต 4 ระยะ คือ ระยะไข่ ตัวอ่อน ดักแด้ และตัวเต็มวัย หิ่งห้อยวางไข่บนพื้นดิน 7-14 วัน ฟักเป็นตัวอ่อนดำรงชีวิตแบบตัวน้ำ กินสัตว์ขนาดเล็กเป็น อาหาร แมลง หอยทาก หนอน แล้วเข้าสู่ระยะดักแด้ ขุดดินอยู่ใน โพรง 14 วัน แล้วลอกคราบเป็นตัวเต็มวัย และขุดดินออกสู่โลกภายนอก อายุไม่เกิน 2 สัปดาห์ หลังจากผสมพันธุ์วางไข่แล้วจะมีชีวิตอยู่ได้อีกไม่นานขึ้นอยู่กับชนิดพันธุ์
นอกจากริมคลองตลาดน้ำอัมพวาแล้ว ยังสามารถหาดูหิ่งห้อยได้ที่เกาะลัด อำเภอบางคล้า ฉะเชิงเทรา เป็นต้น
ตลาดน้ำท่าคาเป็นตลาดน้ำยามเช้า ยังมีความเป็นธรรมชาติ ชาวบ้านนำผลผลิตจากสวน อาหารการกินใส่เรือมาจำหน่าย เป็น วิถีชีวิตของผู้คนในชุมชนในท้องถิ่น จะมีให้เห็นโดยเฉพาะในช่วงเวลาขึ้นแรม 2 ค่ำ 7 ค่ำ และ 12 ค่ำ
นอกจากกะปิคลองโคนอันขึ้นชื่อของแม่กลองแล้ว สุดยอดของดีของแม่กลองเป็นที่รู้จักของคนทั้งประเทศ "หน้างอคอหัก" (หักคอใส่เข่ง) เนื้อนุ่ม หวาน ขุ่น รสชาติมันอร่อยปาก พูดถึงขนาดนี้ทุกคนจะรู้ว่ากำลังกล่าวถึงปลาทูแม่กลอง หน้าหนาวก่อนฤดูวางไข่
ปลาทูจากโป๊ะ ปลาอวนดำ อวนติด อวนลาก ว่ากันว่าจะอร่อยมากตามลำดับ
ขนาดไม่ใช่การวัดความอร่อยของปลาทู
ปลาทูสั้น ชอบหากินในเขตน้ำตื้น ซึ่งมีอาหารอุดมสมบูรณ์ เนื้อจะนุ่ม มัน หวานและหอม
ปลาทูยาว จะอยู่น้ำลึก เนื้อจะแข็ง มันน้อย หนังหนา
ปลาทูแม่กลองนั้นเป็นปลาทูสาว ว่ายทวนน้ำในช่วงปลายฝนต้นหนาว
ปลาทูที่ขายใหม่ๆ เนื้อจะนุ่มรสหวานอร่อย กลิ่นหอม ถ้าหากนำไปต้ม มันของปลาทูซึ่งเป็นสีเหลืองจะลอยฟ่องขึ้นบนหม้อ
ปลาที่มีความสด จะมีกลิ่นหอม เนื้อปลาชวนรับประทาน เนื้อจะนุ่มไม่กระด้างหรือเปื่อยยุ่ย รสชาติอร่อย
ปลาสด ลูกตาจะนูนดำ สีสดใส ส่วนหลังของลำตัวจะมีสีเขียวเป็นพื้น ท้องจะมีสีขาว หรือสีเงิน หางปลาจะเหลือง ตามลำตัวมีเมือกลื่นจับ เหงือกแดงออกชมพู เนื้อแน่นไม่มีกลิ่น ทดลอง เอานิ้วกดกลางลำตัว เมื่อปล่อยนิ้วออก รอยยุบจะกลับคืนสภาพเดิมเกือบหมด
ปลาทูนึ่งที่ชวนรับประทาน ตัวอวบอ้วน กลิ่นหอม เนื้อแน่น ท้องและผิวไม่ถลอก
ผู้ที่ชื่นชอบในการบริโภคปลาทู จังหวัดสมุทรสงครามจะจัดให้มีงานเทศกาลกินปลาทูและของดีเมืองแม่กลองในเดือนธันวาคมของทุกปีไปเยี่ยมเยือนกันได้
Order by Jude ไม่ลืมที่จะแวะชมการทำน้ำตาลมะพร้าวของแม่กลอง ซึ่งเป็นน้ำตาลมะพร้าวบริสุทธิ์มีรสชาติหวานมันกลิ่นหอมไม่ใส่สารกันบูด เป็นที่ต้องการของตลาด
การทำโดยการใช้กำลังคน การไปดูกรรมวิธีการทำในครั้งนี้ เป็นการทำน้ำตาลมะพร้าวในครัวเรือน พ่อแม่ลูก ทำวันละ 300 กิโลกรัมโดยประมาณ ไม่ใช่เป็นเตาที่ทำโชว์ให้นักท่องเที่ยวชม มีพ่อค้าสั่งประจำ มารับเอง เหลือเผื่อลูกค้าแวะเวียนมาชม มาซื้อบ้าง เล็กน้อย แต่ถ้าอยากจะรับประทานน้ำตาลสดต้องสั่งล่วงหน้า
ตื่นแต่ตีห้า ปีนพะองนำกระบอกขึ้นไปรองน้ำตาลสดที่งวง มะพร้าวที่มีอยู่รอบสวน ประมาณเที่ยงจะเริ่มเคี่ยว จนได้ที่ใส่ภาชนะหยอดเป็นฝาๆ ละ 1 กิโลกรัม ปล่อยให้น้ำตาลแข็งตัว ซึ่งกว่าจะเป็นน้ำตาลให้เราได้รับประทานกันนั้น ต้องใช้ทั้งแรงกายและใช้เวลามากถึงครึ่งค่อนวัน เมื่อมองดูรอบๆ สวนแล้ว น่าเป็นร้อยไร่ เลยแหย่ป้า แต่ป้าไม่ยอมตอบ เพราะว่ามีมากกว่านั้น ทำไม ไม่ขายที่ไป แล้วมานั่งกินนอนกิน
ป้าบอกว่า ขายแล้วจะไปทำอาชีพอะไรล่ะคะ เป็นสิ่งที่ปู่ย่า ตายายสั่งสมมา ทั้งภูมิปัญญาในอาชีพที่มีกินมีอยู่ทุกวันนี้ก็เพราะพวกเขานั่นแหละ ต้องสืบทอดกันต่อไป (ทันสมัย) ทำไมลูกไม่ไปทำงานอื่นเหรอ เขาเกิดมา เขาเห็นพ่อแม่ลำบาก เขาเลยอยู่ช่วยมา ตลอด เสร็จงานแล้วเราจะไปไหนหรือเราอยากไปวัด เขาจะขับรถ พาไป ไม่เคยเที่ยวเตร่ (ลูกสาว) ส่วนลูกชายตกค่ำจะไปขับเรือรับจ้างนักท่องเที่ยวพาชมหิ่งห้อย แล้วจะเอาเวลาที่ไหนใช้เงินล่ะ รวยเสียให้เข็ด
เตาทำน้ำตาลมะพร้าวแห่งนี้ "บ้านหงส์ทอง" อยู่ริมถนนด้านขวาทางไปอัมพวา เลยบ้านเพียงตะวันไปหน่อยเดียว
ดอนหอยหลอด เป็นสถานที่นิยมของนักท่องเที่ยวอีกแห่งหนึ่ง ซึ่งมีอาณาเขตกว้างประมาณ 3 กิโลเมตร ยาว 5 กิโลเมตรครอบคลุมพื้นที่ดอนนอก อยู่บริเวณปากอ่าวแม่กลองเดินทางไปได้โดยทางเรือ
ส่วนดอนใน คือชายหาดหมู่บ้านฉู่ฉี่ ตำบลบางจะเกร็ง และชายหาดหมู่บ้านบางบ่อ ตำบลบางแก้ว
บริเวณสันดอนมีหอยอาศัยอยู่หลายชนิด ได้แก่ หอยหลอด หอยลาย หอยปุก หอยปากเป็ด หอยแครง
หอยหลอดเป็นหอยที่มีจำนวนมากที่สุด ณ บริเวณนี้
หอยหลอดเป็นหอยชนิด 2 ฝา ตัวสีขาวขุ่น มีเปลือกคล้าย หลอดกาแฟ ฝังตัวอยู่ในเลน
ในการจับหอยหลอดจะทำในช่วงน้ำลง โดยใช้ไม้เล็กๆ จุ่ม ปูนขาวแล้วแหย่ลงไปในรูหอยหลอด หอยจะเมาปูน จะโผล่ขึ้นมา ให้จับ ถ้าเราไปลองจับ ไม่ควรเทปูนขาวลงบนสันดอนเพราะจะทำให้หอยที่อยู่บริเวณนั้นตายหมด ช่วงที่เหมาะสมในการท่องเที่ยว อยู่ระหว่างเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม เพราะน้ำทะเลจะลดลงนานกว่าช่วงอื่น ซึ่งสามารถมองเห็นสันดอนโผล่ขึ้นมา ซึ่งทางจังหวัดจะมีการจัดงานตะวันรอนที่ดอนหอยหลอดและงานแข่งกระดานเลนในเดือนพฤษภาคม
นอกจากนี้ บริเวณดอนหอยหลอดยังมีศาลกรมหลวงชุมพร เขตอุดมศักดิ์ เป็นที่เคารพสักการะอีกด้วย
ออกจากดอนหอยหลอด ในฐานะพุทธศาสนิกชนต้องเข้าวัด ทำบุญ โดยได้แวะวัดศรีศรัทธาธรรมซึ่งตั้งอยู่ทางเข้า
วัดนี้มีพระอุโบสถเป็นจุดเด่นสร้างโดยพระครูสมุทรวิสุทธิวงศ์ (อดีตเจ้าอาวาส) เมื่อปี พ.ศ.2435 ซึ่งทำด้วยไม้สักทองผนัง ฝังมุกทั้งด้านนอกและด้านในด้วยลวดลายที่ละเอียดทำให้มีความงดงามมาก แสดงเรื่องราวเกี่ยวกับพุทธประวัติและรามเกียรติ์
ภายในเป็นที่ประดิษฐานหลวงพ่อบ้านแหลม หลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืด
เมื่อได้มาสัมผัสชีวิตความเป็นอยู่ ความงามทางธรรมชาติ วัฒนธรรมภูมิปัญญา เอกลักษณ์เฉพาะตัวที่มีมาแต่โบราณจนถึงวันนี้ ในหลายแง่มุมของที่นี่แล้ว ต้องยกนิ้วให้และภาคภูมิใจไปพร้อมๆกับชาวแม่กลองที่ได้รับตำแหน่ง จังหวัดที่นักท่องเที่ยวนิยมมาท่องเที่ยวเป็นอันดับ 1 ซึ่งเป็นปีที่ 2 แล้ว
อย่างนี้ต้องเรียกว่า "เล็กพริกขี้หนู" ของแท้ของจริงครับท่าน
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|