|

ภัยพิบัติทางธรรมชาติกับทฤษฎีต่างๆ ที่พยายามอธิบายเหตุและผล
โดย
พัชรพิมพ์ เสถบุตร
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( เมษายน 2553)
กลับสู่หน้าหลัก
ในช่วงเวลาไม่กี่เดือนที่ผ่านมานี้ ทุกท่านคงได้ยินข่าวแผ่นดินไหวรุนแรงเกิดขึ้นหลายครั้งหลายแห่งติดๆ กัน และในขณะเดียวกันก็มีข่าวคราวเกี่ยวกับสภาพอากาศที่แปรปรวนสุดขั้วไปทั่วโลก ปรากฏการณ์เหล่านี้เป็นความบังเอิญ หรือเป็นกระบวนการที่สัมพันธ์กันระหว่างการเปลี่ยนแปลงของเปลือกโลกกับสภาพภูมิอากาศ
เริ่มต้นปี 2010 ด้วยแผ่นดินไหวขนาด 7 ริกเตอร์ที่เกาะไฮติ เมื่อเดือนมกราคม ตามมาด้วยแผ่นดินไหวอย่างรุนแรงที่สูงถึง 8.8 ริกเตอร์ในประเทศชิลีเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ เดือนมีนาคมก็มีแผ่นดินไหวขนาด 6.5 ตามมาติดๆ เกาะสุมาตราของอินโดนีเซีย ไต้หวัน ล่าสุดก็ที่ประเทศตุรกี แม้แผ่นดินไหวเหล่านี้สามารถอธิบายได้ชัดเจนว่าเป็นการเคลื่อนตัว ไหวตัว ขยับตัวของเปลือกโลกชนิดต่างๆ บาง แห่งอยู่ในทะเล บางแห่งอยู่ในแนวภูเขาไฟ บนแผ่นดิน แต่มีบางอย่างเป็นที่น่าสังเกตว่า เหตุใดแผ่นดินไหวเหล่านี้จึงเกิดขึ้นในช่วงเวลาติดๆ กันและในเวลาเดียวกับสภาพภูมิอากาศที่ผิดปกติไปทั่วโลก อันจัดเป็นสภาพ El-Nino ที่รุนแรง ทั้งหมดนี้มีความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกันอย่างไร
เราคงไม่เสียเวลาพูดถึงรายละเอียดของเหตุการณ์แต่ละแห่ง เพราะเป็นเรื่องการรายงานข่าว แต่ในบทความนี้เราจะหันมาดูสมมุติฐานบางอย่างที่มีนักวิชาการบางกลุ่มได้ตั้งข้อสังเกตไว้ ผู้อ่านอาจจะต้องใช้วิจารณญาณของตนเองใคร่ครวญดูว่า มีเหตุมีผลเป็นที่น่าเชื่อถือแค่ไหน ว่ากันจริงๆ เรื่องการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศที่เราเผชิญกันอยู่ทุกวันนี้ ก็ยังไม่มีทฤษฎีใดฟันธงแน่ ชัดลงไปได้เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ว่ามีสาเหตุมาจากอะไรกันแน่ แม้แต่เรื่องของ Global warming ที่ UN ออกมาประกาศยืนยันว่า เป็นผลเนื่องมาจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอันเกิดจากกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ ที่เกินขอบเขตความสมดุล และเรียกร้องให้ทั่วโลกลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ถึงจะเป็นความจริงส่วนหนึ่ง แต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมด อย่างไรก็ควรจะกันไว้ดีกว่าแก้
นักวิชาการสหสาขาที่สนับสนุนจึงได้ออกมาคาดการณ์ผลกระทบจากภาวะโลกร้อนกันเป็นการใหญ่ พยายามหาข้อมูลสนับสนุนที่จับต้องได้ แต่ยิ่งค้นคว้าไปก็ยิ่งพบว่า ยังมีปัจจัยอย่างอื่นอีกที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของโลก และยังมีผลกระทบอย่างอื่นอีกที่กำลังจะเกิดขึ้น!!
ความสัมพันธ์ระหว่างแผ่นดินไหว
กับสภาพภูมิอากาศ และ El-Nino
เราอาจจะเห็นได้ชัดว่า แผ่นดินไหว สึนามิ แผ่นดินถล่ม และภูเขาไฟระเบิด มีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด แต่สภาวะ El-Nino กับแผ่นดินไหวนี่สิ จะเกี่ยวข้องกันได้อย่างไร El-Nino เป็นสภาวะที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงการไหลวนของกระแสน้ำในมหาสมุทรร่วมกับกระแสลม มักจะก่อตัวขึ้นที่ชายฝั่งทะเลแปซิฟิกในบริเวณอเมริกาใต้ แต่มีผลไปตลอดแนวชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกในหลายทวีป ปกติ El-Nino เกิดขึ้นอยู่แล้วทุกๆ 6-8 ปี จากรูปแบบการหมุนเวียนของน้ำในมหาสมุทรที่เป็นวัฏจักร แต่จะหนักเบาและรุนแรงแค่ไหน ขึ้นอยู่กับปัจจัยเสริม เรายังไม่รู้แน่ชัดว่าปัจจัยเสริมนี้มีอะไรบ้าง
El-Nino มีผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศ ทำให้เกิดอากาศร้อนจัดและความแห้งแล้งบริเวณเขตศูนย์สูตรชายฝั่งออสเตรเลีย อินโดนีเซีย ตลอดจนถึงไทย และเกิดฝนตกชุกแถบชายฝั่งแปซิฟิกทางอเมริกาเหนือ เมื่อภูมิอากาศผิดปกติไปก็ทำให้เกิดผลกระทบไปถึงมวลชีวภาพทั้งบนบกและในทะเล และมีผลต่อเนื่องไปถึงเศรษฐกิจและสังคม โดยเฉพาะด้านเกษตรกรรม การใช้น้ำ บางครั้งความแห้งแล้งรุนแรงทำให้ผลผลิตการเกษตรลดลงถึง 85% (ข้อมูลจากปรากฏการณ์ El-Nino ที่ประเทศบราซิล ในปี 1982-1983)
ที่คาดไม่ถึงคือ El-Nino ยังมีความเกี่ยวเนื่องกับการเคลื่อนไหวตัวของเปลือกโลกด้วย มีนักธรณีฟิสิกส์คนหนึ่งชื่อ Daniel Walker เฝ้าสังเกตและเก็บข้อมูลเรื่องนี้ไว้จนได้ความสัมพันธ์ทาวิทยาศาสตร์บ่งบอกออกมาอย่างมีนัยสำคัญว่า ในปีที่มีแผ่นดินไหวรุนแรงมักจะเกิด El-Nino ร่วมด้วย เพราะการขยับตัวของเปลือกโลกได้ปล่อยความร้อนมหาศาลออกมาสู่มหาสมุทร Walker ได้ติดตามบันทึกการเกิดแผ่นดินไหวและพลังงานที่ปล่อยออกมาในแถบทะเล East Pacific ขณะที่นำข้อมูลไปประมวลเป็นกราฟ Walker สังเกตเห็นความสัมพันธ์บางอย่างที่น่าสนใจ นั่นคือ ในปีและเดือนที่เกิดแผ่นดินไหวรุนแรงมากกว่า 6 ริกเตอร์ มักจะเกิดสภาวะ El-Nino รุนแรงร่วมด้วยเสมอ (ดูรูป)
สถิติข้อมูลเช่นนี้มีมากพอที่จะบ่งว่ามิใช่เป็นการบังเอิญ แต่เป็นความเกี่ยวเนื่องกันอย่างใกล้ชิดระหว่างการไหวสะเทือนของแผ่นดินกับสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเบื้องต้นอธิบายได้ว่า เกิดจากความร้อน ที่คุกรุ่นอยู่ภายในแกนโลกถ่ายออกมาสู่มหาสมุทรในขณะที่เกิดการขยับตัวของเปลือกโลก อย่างไรก็ตาม Walker ยอม รับว่าความสัมพันธ์นี้จำเป็นต้องมีคำอธิบาย ถึงกลไกทางกายภาพและแบบจำลองคณิตศาสตร์ (ตามระบบวิทยาศาสตร์) ที่หนักแน่นกว่านี้
เหตุผลที่เก็บข้อมูลในทะเล East Pacific แถบทวีปอเมริกาใต้ เพราะแผ่นเปลือกโลกส่วนนี้มีขนาดใหญ่และยังมีพลังอยู่มาก มีการขยับตัวอย่างรุนแรงบ่อยครั้งในช่วงเวลา 50 ปีที่ผ่านมา ส่วนปรากฏการณ์ El-Nino ก็เห็นได้ชัดในทะเลส่วนนี้
แกนโลกเอียงกับแผ่นดินไหว
อีกทฤษฎีหนึ่งนอกจาก El-Nino ที่เกี่ยวเนื่องกับแผ่นดินไหวแล้ว ก็ยังมีนักวิทยาศาสตร์อีกพวกชี้ว่า แผ่นดินไหวรุนแรงที่ไฮติและที่ชิลี ทำให้แกนของโลกเอียงไปทางตะวันตกจากแนวเดิมถึง 3 นิ้ว นักวิชาการหลายคนให้ข้อสังเกตว่า แผ่นดินไหวขนาด 8.7 ริกเตอร์ที่ชิลีนี้เป็นการขยับตัวต่อเนื่องมาจากแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นในชิลีเช่นกันเมื่อปี 1960 ครั้งนั้น นับว่า เป็นครั้งที่รุนแรงเป็นประวัติการณ์ของโลก วัดได้เกินสเกล (คาดว่าประมาณ 9.5 ริกเตอร์ โดย 9 คือสเกลสูงสุด) ตามด้วยสึนามิ เช่นกัน และเมื่อย้อนกลับไปดูร่องรอยในประวัติศาสตร์ ก็พบอีกว่าในปี 1575 ก็เคย เกิดแผ่นดินไหวรุนแรงที่นี่เช่นกัน จากการศึกษาพบว่า แผ่นเปลือกโลกในทะเล East Pacific ใกล้ชิลี กำลังตื่นตัวมาก และเป็นการไหวของแผ่นเปลือกโลกสองแผ่นที่มุดกัน หรือ subduction (มีแผ่นหนึ่งมุดเข้า ไปอยู่ใต้อีกแผ่นหนึ่ง ทำให้เกิดการยกตัวของแผ่นดินและท้องน้ำอย่างรุนแรง)
แรงสะเทือนขนาด 8-9 ริกเตอร์ หลายๆ ครั้ง รวมทั้งที่เกิดในทะเลอันดามัน ที่เกาะสุมาตราและชายฝั่งทะเลของไทยเมื่อปี 2004 ที่ผ่านมา ทำให้แกนของโลกและสนามแม่เหล็กเบี่ยงเบนไปจากเดิมมิใช่น้อย ในเวลาเดียวกันก็พ้องกับจำนวน จุดดับของดวงอาทิตย์ที่ลดลง ทั้งหมดนี้เป็นการพ้องกันอย่างประหลาด แต่นักวิทยาศาสตร์หลายคนกลับเห็นว่า เป็นธรรมชาติแห่งการเปลี่ยนแปลงของโลกและจักรวาล ผลพวงที่จะตามมาจากการที่แกนโลกเอียงก็คือ โลกจะหมุนเร็วขึ้น ทำให้ช่วงเวลากลางวันสั้นลง การรับแสงสว่างจากดวงอาทิตย์ลดลง ซึ่งอาจจะทำให้โลกก้าวเข้าสู่ยุคหนาวเย็น ทั้งหมดนี้มีผลต่อมวลชีวภาพและมนุษยชาติเป็นอย่างมาก และอาจเห็นผลในเวลาอีกไม่นานนัก
ชะตากรรมของมนุษย์และสัตว์
สัตว์หลายชนิดมีสัมผัสรับรู้หรือมีสังหรณ์ล่วงรู้ภัยธรรมชาติ แต่มนุษย์นี่สิมัววุ่นวายกับการลงทุน การพัฒนาเทคโนโลยี จนปฏิเสธความรู้สึกหรือจิตรับรู้ ที่มีอยู่ตามธรรมชาติไปจนเกือบหมดสิ้น สิ่งที่มนุษย์จะเชื่อได้อย่างเต็มภาคภูมิต้องมีข้อพิสูจน์ยืนยันได้ด้วยหลักฐานข้อมูลเป็นเหตุให้เรามองข้ามอะไรหลายอย่างไปอย่างน่าเสียดาย
ผลกระทบจากการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภูมิประเทศอาจทำให้สัตว์หลายชนิดสูญพันธุ์ไป และอาจจะมีสัตว์พันธุ์ใหม่ๆ หลายชนิดก่อกำเนิดขึ้นมา ตามสภาพการปรับตัวและวิวัฒนาการของชีวิต แล้วมนุษย์ล่ะ จะดำรงเผ่าพันธุ์ไว้ได้อย่างไร ด้วยการพัฒนาเทคโนโลยี? เมื่อถึงเวลานั้นก็ต้องแล้วแต่ทิศทางบุญกรรมของแต่ละคนแต่ละกลุ่มไป
สิ่งที่มนุษย์อาจทำได้คือ การปรับตัว และเตรียมการตั้งรับไว้ล่วงหน้า การศึกษา ความสัมพันธ์เชื่อมโยงปรากฏการณ์ธรรมชาติต่างๆ จะช่วยให้เราเข้าใจสาเหตุ ผลกระทบ และสามารถคาดการณ์เหตุล่วงหน้าได้ เพื่อเตรียมแผนลดผลกระทบ ยกตัวอย่างเช่น
โครงการ Tropical Ocean and Global Atmosphere ก่อตั้งขึ้นมาด้วยความร่วมมือของประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศต่างๆ ในอเมริกาใต้ เพื่อศึกษา สาเหตุและผลกระทบของ El-Nino หลังจากได้รับความเสียหายอย่างมากจาก El-Nino ในปี 1982-1983 นอกจากจะมีการศึกษาทางกายภาพชีวภาพแล้ว ยังมีการศึกษาต่อเนื่องไปถึงภาคเกษตรกรรม เศรษฐกิจและสังคมอีกด้วย ผลสัมฤทธิ์อย่างสำคัญจากโครงการนี้ ทำให้เราได้รูปแบบโมเดลที่จะทำนายสภาวะ El-Nino ล่วงหน้าได้หลายเดือน ช่วยให้รัฐสามารถวางแผนงานตั้งรับเพื่อลดผลกระทบได้ (อนึ่ง การเตือนภัยล่วงหน้าจะให้ผลดีได้ ต่อ เมื่อรัฐบาลมีความสำนึกตื่นตัวและจริงใจในการดำเนินงานด้วย) ผลจากการดำเนิน งานทำให้ประเทศบราซิลซึ่งส่งออกผลผลิตการเกษตรเป็นส่วนใหญ่สามารถรับมือต่อ El-Nino ที่มาเยือนในปี 1991-1992 อย่างได้ผล มีการเตรียมแผนการเพาะปลูก (ปลูก พืชทนแล้ง พืชหมุนเวียนระยะสั้น ปลูกก่อน ฤดูกาล) วางแผนการใช้น้ำ จนสามารถลดความเสียหายลงได้มาก
ขณะที่หลายประเทศต้องประสบกับแผ่นดินไหวอยู่ในเวลานี้ El-Nino กำลังเข้ามาเยือนประเทศไทยอย่างเต็มรูปแบบ และรุนแรงกว่าปกติ หลายคนรู้สึกถึงความร้อนจัดและความแห้งแล้ง รัฐบาลได้ตระหนักและเตรียมการไว้แค่ไหน? อย่ามัวทะเลาะกันเรื่องการเมืองผลประโยชน์ของคนเพียงไม่กี่คนอยู่เลย ประเทศชาติกำลังเผชิญกับภัยพิบัติที่ใหญ่หลวงกว่ากันมากนัก
ทั้งหลายทั้งปวงที่อ้างมานี้ สรุปได้ว่าการเปลี่ยนแปลงทางธรณี น้ำทะเลในมหาสมุทร แกนโลกเอียง จุดดับดวงอาทิตย์ สนามแม่เหล็ก และแม้แต่มวลชีวภาพ ล้วนต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลง และดูเหมือนว่าทุกอย่างเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กันไปหมด แม้ว่าบางอย่างจะยังพิสูจน์ไม่ได้แน่ชัด แต่หากเราเตรียมพร้อมในการปรับตัวไว้ล่วงหน้า คงไม่เสียหาย
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|