จิม ทอมป์สันไหมไทยบนจุดเปลี่ยนโค้ง


นิตยสารผู้จัดการ( พฤษภาคม 2530)



กลับสู่หน้าหลัก

จิม ทอมป์สัน ได้สมญาว่า KING OF THAI SILK ชื่อของเขากลายเป็นเครื่องหมายการค้าที่มีค่า GOODWILL สูง ภายหลังหายตัวลึกลับไปในป่ามาเลเซียเมื่อ 20 ปีก่อน เรื่องราวชีวิตของเขาอย่างละเอียดได้จากหนังสือของ WILLIAM WARREN แต่ธุรกิจไหมไทยในประเทศไทยที่เขาวางรากฐานไว้ "ผู้จัดการ" ได้นำเสนอเนื้อหากะทัดรัด ครั้งแรก ณ ที่นี่….

"นายห้างหายตัวลึกลับ มีส่วนทำให้กิจการจิมทอมป์สันรุ่งเรืองอย่างรวดเร็ว" พนักงานเก่าแก่ของบริษัทอุตสาหกรรมไหมไทย อันเป็นชื่อบริษัทที่คนรู้จักน้อยกว่าผลิตภัณฑ์ชื่อ "Jim Thompson" หลายเท่ากล่าวกับ "ผู้จัดการ" ทีเล่นทีจริง

หากพิจารณาอย่างละเอียดอ่อนแล้ว สมมติฐานข้อนั้นนักการตลาดต้องชั่งใจอย่างมาก?!

เพราะจากบ่ายวันอาทิตย์ที่ 26 มีนาคม 2510 หรือเพียง 10 วันหลังพิธีเปิดเรือนไทย อาคารแห่งใหม่ของบริษัทอุตสาหกรรมไหมไทย บริเวณมุมถนนสุรวงศ์ เจ้าของกิจการผู้บุกเบิกและพัฒนาผลิตภัณฑ์ไหมไทยจนเป็นที่รู้จักทั่วโลก ได้หายตัวลึกลับจนถึงปัจจุบันเป็นระยะเวลา 20 ปีเต็มแล้ว กิจการเพียงแต่เรือนทรงไทยไม่ใหญ่โต ได้ขยายเพิ่มตึก 6 ชั้นด้านหลัง มีโรงงานทอผ้าไหมที่โคราช 200 กว่ากี่ และในไม่ช้านี้จะมีโรงงานพิมพ์ผ้าตึก 6 ชั้น ริมถนนสุรวงศ์ ห่างจากที่เดิม 800 เมตร

จากยอดขายปีละไม่กี่สิบล้าน ในปี 2510 ได้ทะยานเป็น 455 ล้านบาทเมื่อสิ้นปี 2529 จากผู้แทนจำหน่ายในต่างประเทศไม่กี่ประเทศ เพิ่มเป็นเกือบ 40 ประเทศในจุดสำคัญ ๆ ของโลก

ไม่มีเหตุการณ์ครั้งใดสะเทือนใจผู้ถือหุ้นและพนักงานรุ่นแรกของจิม ทอมป์สัน เหมือนเมื่อนายห้างทอมป์สันหายไปลึกลับ และปกคลุมอยู่ในอารมณ์เนิ่นนาน ในอีกทางหนึ่งได้กลายเป็นพลังขับเคลื่อนสร้างสรรค์งานจนกิจการขยายตัวในอัตราที่น่าพอใจ

ความคำนึงเกือบหายไปจากความทรงจำครั้งนั้นแล้ว หากไม่มีเหตุการณ์ที่ปะทุชัดเจนเมื่อวันที่ 19 เมษายน 2528 บ่งชี้ถึงความแตกร้าวลึก ๆ ในบรรดาผู้ถือหุ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ที่ร่วมปลุกปั้นกิจการมาตั้งแต่เริ่มแรก

ความขัดแย้งในเบื้องแรกมาลงเอยที่ศาล วงการธุรกิจคาดหมายต่อว่าคงอาจขยายตัวออกไปอย่างคาดไม่ถึง?

จากความขัดแย้งนี้ มีปริศนาตามมาก็คือ จะ "สั่นคลอน" ความเป็นปึกแผ่นอันรุ่งโรจน์ของบริษัทอุตสาหกรรมไหมไทยหรือไม่อย่างไร?

บริษัทอุตสาหกรรมไหมไทยก่อตั้งเมื่อต้นปี 2494 โดยมีสองแรงแข็งขัน JIM THOMPSOM และ GEORGE BARRIE "ในช่วงนั้นเอง เพื่อนคนหนึ่งชื่อจอร์จ แบร์รี่ เดินทางมาจากแคลิฟอร์เนียผ่านมาที่กรุงเทพฯ เขาเป็นนักธุกิจเต็มตัว ชอบลงทุนในกิจการแปลก ๆ แต่เป็นธุรกิจ เขาเห็นกิจการทอผ้าของจิม ทอมป์สัน และเรื่องราวของไหมไทย เขาสนใจ ผลักดันในการก่อตั้งบริษัทเป็นจริงขึ้น โดยจะเข้าร่วมถือหุ้นในบริษัทด้วย" WILLIAM WARREN เขียนในหนังสือ JIM THOMPSON, The legendary America of Thailand ซึ่งเป็นหนังสือเล่มพิมพ์ขายภายหลังการหายตัวของจิม ทอมป์สันไม่นาน

หนังสือเล่มนี้ให้รายละเอียดมากทีเดียว อีกตอนหนึ่งกล่าวว่าบริษัทอุตสาหกรรมไหมไทย ทุนจดทะเบียนครั้งแรก 25,000 เหรียญสหรัฐ (5 แสนบาทในขณะนั้น) แบ่งออกเป็น 500 หุ้น ๆ ละ 50 เหรียญสหรัฐ (1,000 บาท) โดยครั้งแรกผู้ถือหุ้นจ่ายค่าหุ้นเพียง 25% "และก็จ่ายครบ 100% จากนั้นมาอีก 8 ปี โดยเงินปันผลจากกำไร"

หุ้นจำนวน 500 หุ้นตามสูตร 51% ถือโดยคนไทย ที่เหลืออีก 49% ทอมป์สันและแบร์รี่ถือเท่ากับคนละ 18.2% หรือคนละ 91 หุ้น จากนั้นไม่นานทอมป์สันได้ยกหุ้นของตนเองจำนวน 7 หุ้นให้คนอื่นไปอีก อาทิ เช่น ผู้ทอผ้าไหมคนหนึ่งซึ่งช่วยสร้างบ้านทรงไทยของเขา

จนถึงปี 2510 ช่วงปีที่เขาจากไปลึกลับ จิม ทอมป์สัน มีหุ้นในบริษัทอุตสาหกรรมไหมไทยเพียง 84 หุ้นหรือ 16.4% เท่านั้น

กิจการได้รุ่งเรืองขึ้นเรื่อย WILLIAM WARREN เขียนบรรยายในช่วงนายห้างมีชีวิตอยู่ว่า ผู้ถือหุ้นลงเงินครั้งแรก 250 บาท/หุ้น (จ่าย 25% ของมูลค่าหุ้น) เพียงปีแรกก็ได้รับเงินปันผล และจากนั้นมาทุกปีถึงปี 2510 (ความจริงต่อจากนั้นจนถึงปัจจุบันก็จ่ายไม่ว่างเว้นแม้ปีเดียว) มูลค่าหุ้นเริ่มจาก 250 บาท/หุ้นได้เพิ่มเป็น 860 เหรียญสหรัฐ/ต่อ (ประมาณ 17,200 บาท/หุ้น)

พิจารณาในแง่ยอดขายได้เพิ่มจากนับล้านบาทในระยะเริ่มแรกเป็นประมาณ 1.5 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 30 ล้านบาท ในวันที่นายห้างจากไป

หนังสือเล่มนี้พยายามบรรยายถึงความเสียสละของนายห้างจิมทอมป์สันอย่างมาก นับตั้งแต่หุ้นของตนเองในกิจการลดลง รายได้ของนายห้างก็ไม่ได้เพิ่มหรือมากเท่าที่ควรจะเป็น ตำแหน่งกรรมการผู้จัดการของจิม ทอมป์สันมีรายได้ปีละประมาณ 3,000 เหรียญสหรัฐ หรือ 60,000 บาท/ปี หรือเพียงเดือนละ 5000 บาทเท่านั้น และในวันที่เขาหายตัวลึกลับไปที่ CAMERON HIGHILAND ประเทศมาเลเซีย เขามีรายได้จากบริษัทประมาณ 660,000 บาท บวกกับเงินโบนัสเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม WARREN มิได้พูดถึง จอร์จ แบร์รี่อีกเลย เพียงแต่พูดไว้ในตอนต้นว่า "well-to-do and adventurous minded businessman" ซึ่งแตกต่างกับนายห้างสะสมของเก่า นักโบราณคดี สถาปนิกสร้างบ้านทรงไทยอย่างวิจิตรพิสดาร แทบไม่มีความเป็น businessman เอาเสียเลย

บทบาทในกิจการของจอร์จ แบร์รี่ก็ไม่ได้มีการบันทึกไว้ นอกจากข้อมูลพื้น ๆ ว่าเขาดำรงตำแหน่งกรรมการบริษัทจนเขาตายไปก่อนบริษัทตำแหน่งนั้นจึงกลายเป็นมรดกตกทอดมาถึงภรรยาเขาเท่านั้น

แต่สิ่งที่แบร์รี่ได้เพิ่มขึ้น ไม่เพียงผลตอบแทนกรรมการที่เพิ่มขึ้นเท่านั้น เขายังได้ชื่อเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุด ล่าสุดมีมากถึง 28.4% เพิ่มจากเดิมถึง 10% เต็ม "ผู้จัดการ" ไม่ทราบว่าซื้อจากใคร แต่เท่าที่ตรวจเอกสารผู้ถือหุ้นครั้งแรกก่อตั้งบริษัทกับปัจจุบันได้พบข้อสังเกตว่า ท้าวแพง ชนะนิกร ซึ่ง WILLIAM WARREN ได้กล่าวไว้ในหนังสือของเขาว่าเป็นเพื่อนกับนายห้างคนหนึ่ง ชื่อนี้เคยถือหุ้น 40 หุ้นหรือ 8% ในครั้งแรกได้อันตรธานไปแล้วในปัจจุบัน

ชุมชนบ้านครัว แห่งพักอาศัยของชาวอิสลามกลางกรุงเทพฯ เป็นจุดเริ่มต้นของจิม ทอมป์สันไหมไทย ชาวบ้านในชุมชนแห่งนี้ทอผ้าไหมเป็นงานอดิเรก ต่อมานายห้างจิม ทอมป์สันมาแนะนำ ส่งเสริมพัฒนาเป็นอาชีพอย่างแท้จริง ด้านหนึ่งพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้านการย้อมสีสรร และลวดลาย อีกด้านหนึ่งรับซื้อไหมไทยหาตลาดให้ เป้าหมายในช่วงนั้นคือ นักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศ

ในที่สุด ชุมชนบ้านครัวได้กลายเป็นแหล่งผลิตไหมไทยขึ้นชื่อ ในเวลาต่อมานายห้างได้นำไหมไทยขึ้นโรงแรมโอเรียลเต็ล ซึ่งนายห้างมีความผูกพันในฐานะผู้ร่วมทุนคนหนึ่งในขณะนั้น 3 ปีที่ไหมไทยถูกแนะนำจากปากต่อปากของชาวต่างประเทศ จนทำให้นายห้างมั่นใจขยายกิจการ ประจวบเหมาะกับมีทุนจากจอร์จ แบร์รี่ สมทบจึงได้ตัดสินใจตั้งบริษัทดำเนินธุรกิจอย่างเต็มรูป เปิดร้านอยู่ริมถนนเจริญกรุง เป็นห้องแถวคูหาเดียว จากจุดยืนตรงนั้น เป็นเวลาประมาณ 5 ปี ร้านจิม ทอมป์สันได้ขยายกิจการเช่าตึกแถว 2 คูหาฝั่งตรงข้ามจากร้านเดิม พร้อมๆ กับการพัฒนาผลิตภัณฑ์พิมพ์ผ้าครั้งแรก

ย่นย่อประวัติในช่วง 10 ปีต่อจากนั้นถือเป็นช่วงสะสม GOODWILL ของไหมไทยจิม ทอมป์สัน นายห้างเดินทางต่างประเทศ พกไหมไทยเร่ขายและแนะนำเป็นประจำ จากถนนเจริญกรุงก้าวกระโดดขึ้นตึกไทย ริมถนนสุรวงศ์ในปี 2510

การวางรากฐานของนายห้างจิม ทอมป์สันก็จบลงแค่นั้น

อันเป็นเวลาใกล้เคียงกับชุมชนบ้านครัวเริ่มเสื่อม ข้อสมมติฐานจากคนคลุกคลีบ้านครัวก็ว่าเป็นผลกระทบจากวัฒนธรรมเปลี่ยนไป ในเวลาเดียวกันนั้น ชุมชนทอผ้าไหมที่กระจายทั่วประเทศไทยโดยเฉพาะภาคอีสาน ได้รับความสนใจเป็นพิเศษและมีการพัฒนาต่อเนื่องทดแทนมาก่อนแล้ว ดังนั้นการสูญเสียชุมชนผลิตไหมไทยชั้นหนึ่งของไทยในย่านกรุงเทพฯ จึงดูเหมือนไม่กระทบกระเทือนบริษัทอุตสาหกรรมไหมไทย

อำเภอปักธงไชย จังหวัดนครราชสีมา เป็นแหล่งผลิตไหมไทยแห่งใหม่ป้อนจิม ทอมป์สันอย่างเป็นการเป็นงานหลังนายห้างจากไปประมาณ 5 ปี เป็นต้นมา จวบจนทุกวันนี้

ปี 2518 บริษัทซิลโก้การ์เม้นท์ตั้งขึ้นเพื่อตัดเย็บเสื้อผ้าสำเร็จรูป เป็นการรกรากขยายชนิดผลิตภัณฑ์เป้าหมายคือ มูลค่าเพิ่ม

ซิลโก้การ์เม้นท์ เริ่มต้นจากจักรเย็บผ้าเพียง 20 ตัว ได้เพิ่มเป็น 100 ตัวในปัจจุบัน และกำลังขยายเป็น 200 ตัวในอีก 2 เดือนข้างหน้านี้พร้อมกับการโยกย้ายไปอยู่ที่แห่งใหม่ ตึก 6 ชั้นริมถนนสุรวงศ์ ห่างจากที่เดิมประมาณ 800 เมตร เพราะตึก 6 ชั้นหลังบ้านไทยคับแคบเกินไปแล้ว

ปี 2521 ก่อตั้งบริษัทอุตสาหกรรมไหมไทยและการพิมพ์ผ้า ดำเนินกิจการพิมพ์ผ้าโดยร่วมทุนกับบริษัทพิมพ์ผ้ามีชื่อเสียงที่สุดแห่งหนึ่งในเยอรมันชื่อ TAUNUS TEXTILERUCK ZIMMER GBH & CO. ในอัตราส่วนไทย/เยอรมัน 75/25 ตั้งอยู่ที่ถนนเทพารักษ์ สมุทรปราการ

เดิมรับจ้างพิมพ์ผ้า 40% ของงานที่เหลือจากงานพิมพ์ผ้าของจิม ทอมป์สัน แต่ปัจจุบันมีเวลาเหลือเพียง 20% เท่านั้น สำหรับรับงานนอกเพราะการขยายตัวของจิม ทอมป์สันไหมไทยไม่หยุดยั้ง

อีกเพียง 2 ปี (2523) จากนั้น บริษัทอุตสาหกรรมไหมไทย ได้เปิดโรงงานทอผ้าของตนเองขึ้นที่ อ. ปักธงไชย เริ่มจากไม่กี่กี่จนถึงประมาณ 240 กี่ในปัจจุบัน สามารถผลิตผ้าไหมได้ประมาณ 4 แสนหลาต่อปี อันเป็น 60% ของผ้าไหมจิม ทอมป์สันขายหน้าร้านริมถนนสุรวงศ์และส่งออกต่างประเทศ

ภายหลังนายห้างจากไป ชื่ออุตสาหกรรมไหมไทย อันเป็นชื่อที่จิม ทอมป์สัน ตั้งขึ้นได้ปรากฏรูปร่างชัดเจนตามจินตภาพทีละน้อย ๆ จนถึงทุกวันนี้ แจ่มชัดเจิดจ้าแล้ว !!

"แต่แรกผู้ซื้อก็รู้กันว่าไหมจากจิม ทอมป์สัน แตกต่างจากร้านอื่นอย่างไร เราไม่ถึงกับต้องปั๊มชื่อในผืนผ้า แต่สักประมาณ 10 ปีมานี้ ชื่อนี้จึงถูกติดหราในผ้าไหมทุกเมตรจากร้าน รวมไปจนถึงสินค้าสำเร็จรูปชนิดอื่น ๆ" ผู้บริหารจิม ทอมป์สัน กล่าวกับ "ผู้จัดการ"

GOODWILL มีค่าเพิ่มขึ้น ๆ พร้อมกับอุตสาหกรรมไหมไทยได้ก่อรูปอย่างชัดเจนในแง่ของการลงทุนครบวงจร ล่าสุดนี้บริษัทอุตสาหกรรมไหมไทยกำลังดำเนินโครงการสาวไหมด้วย เพื่อแก้ปัญหาการสูญเสียเส้นไหม ในขณะปริมาณผลิตไหมไทยจริง ๆ ลดลงอย่างน่าวิตก

อุตสาหกรรมครบวงจรก็ยังเอกลักษณ์เดิมไว้ ยังคงงานที่ต้องใช้มือ (HAND-MADED) อยู่เช่นเดิม เนื่องจากผลิตภัณฑ์เป็นงานศิลปะ เป็นหัตถกรรมดั้งเดิม เครื่องจักรทันสมัยมิอาจเข้าแทนที่ทั้งหมด ทั้งในแง่ความรู้สึกของผู้บริโภค ชอบไหมไทยเพราะเป็น HAND MADED นี่เอง

ทิศทาง 20 ปีหลังจาก นายห้างจิม ทอมป์สันจากไป เป็นทิศทางของอุตสาหกรรมผ้าไหมครบวงจร เป็นสภาพจากผู้ค้ามาเป็นผู้ลงทุนเกือบทั้งหมด ชาวบ้านทอผ้าไหมค่อย ๆ หายหน้าหายตาไป ลูกหลานของเขากลายเป็นคนงานในโรงงานของจิม ทอมป์สัน

จะเป็นเจตนารมย์ของนายห้างหรือไม่? ไม่ทราบ แต่ธุรกิจคงเป็นธุรกิจ ตามแนวคิดของจอร์จ แบร์รี่ ผู้ถือหุ้นรายใหญ่และผู้ก่อตั้งคนหนึ่งอย่างแท้จริง

จิม ทอมป์สัน เป็นนักธุรกิจเข้มแข็งมากองค์กรหนึ่ง ดำเนินนโยบายพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่องและเน้นหนักมากกว่าด้านการตลาด

QUALITY CONTROL เป็นนโยบายเริ่มตั้งแต่สมัยนายห้างจิม ทอมป์สัน รับซื้อผ้าไหมจากชาวบ้านทอผ้าไหม นายห้างกำหนดคุณภาพผ้าอย่างเข้มงวด เช่น ทอแน่น สีสัน ลวดลายงดงามจนกระทั่งต้องโดดลงแนะนำเทคนิคของการทอผ้าไหมของชาวบ้าน การก่อตั้งโรงงานทอผ้าไหมเอง โรงพิมพ์ผ้าและล่าสุดโครงการสาวเส้นไหมจากรังไหมซื้อจากชาวบ้านมาตีเกลียว แก้ปัญหาความไม่สม่ำเสมอ โดยจะจ้างผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศมาดำเนินการ แผนการล่าสุดนี้คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2531

PRODUCT LINES หากเปรียบปริมาณการทอผ้าผืนผ้าไหมที่เพิ่มขึ้นกับยอดขายของบริษัทอุตสาหกรรมไหมไทยแล้ว จะพบข้อเท็จจริงประการสำคัญประการหนึ่งคือ สิ่งหลังนำหน้าและทิ้งห่างมากขึ้นทุกขณะ ทั้งนี้เนื่องมาจาก PRODUCT LINE ได้เพิ่มขึ้น ๆ ไม่หยุด การเพิ่มชนิดผลิตภัณฑ์ เริ่มจากผ้าพันคอ เนคไท ตั้งแต่สมัยนายห้างจนมาถึงเสื้อผ้า หมอน และผลิตภัณฑ์อื่น ๆ มากมายในปัจจุบัน ทำให้มูลค่าเพิ่ม (VALUE ADDED) เพิ่มขึ้นอย่างทันตาเห็น การตั้งโรงงานซิลโก้ และอีกไม่ช้าจะขยายไปอยู่ในสถานที่กว้างขวางกว่า เพื่อเป้าหมายนี้โดยตรง

GOOD DESIGN ผลพวงต่อเนื่องจนก่อรูปเป็นแผนกงานล่าสุดของบริษัทอุตสาหกรรมไหมไทย เรียกกันกว้าง ๆ ว่า แผนกพัฒนาผลิตภัณฑ์ แท้ที่จริงขอบข่ายงานเพียงการออกแบบ (DESIGN) ผลิตภัณฑ์ในเชิง Comercial Art แผนกงานตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อประมาณ 7 ปีที่ผ่านมา ปัจจุบันมีพนักงานร่วม 20 คน และแน่นอนดีไซเนอร์หัวหน้าเป็นชาวต่างประเทศ อันเนื่องมาจากไหมไทยของจิม ทอมป์สัน นั้น ตลาดส่วนใหญ่อยู่ที่ต่างประเทศ

ไหมไทย จิม ทอมป์สัน จึงได้ชื่อว่ามีคุณภาพที่ดี และงดงามยืนยงตราบเท่าทุกวันนี้

ด้านการตลาด บริษัทอุตสาหกรรมไหมไทยจะมีเพียงตัวแทนจำหน่ายแต่เพียงผู้เดียว (Sole Agent) ในแต่ละประเภท โดยจะเน้นในประเทศที่มีผู้บริโภคมากพอ Sole Agent จะต้องวางเป้าหมายในการขายสินค้าเพิ่มขึ้นในอัตรา 10% ต่อปีเป็นอย่างน้อย ยกเว้นบางประเทศที่บริโภคสินค้านี้มากเป็นพิเศษเช่นในสหรัฐอเมริกาอาจจะเป็น 15-20% การเปลี่ยนแปลง Sole Agent มีน้อยมาก นอกเสียจากว่ายอดสินค้าตกต่ำนาน ๆ อย่างไม่มีเหตุผล

Jim Thompson ได้กลายเป็น Trademark อันมีค่า Goodwill เพิ่มขึ้น ๆ โดยคาดไม่ถึง ต่อมาจึงกลายเป็นทรัพย์สินมีค่ามากชิ้นหนึ่งของตระกูล Thompson ต่อไปในอนาคตสิ่งนี้อาจจะเป็น "ไพ่" ใบสำคัญ หากมีปัญหาความขัดแย้งอย่างหนักระหว่างผู้ถือหุ้นด้วยกัน

และเพราะการจากไปอย่างลึกลับของนายห้าง จิม ทอมป์สัน เป็นข่าวที่หนังสือพิมพ์ต่างประเทศให้ความสนใจวิเคราะห์กันไปต่าง ๆ นานา การประโคมข่าวต่อเนื่องกลายเป็นการโฆษณาไหมไทย จิม ทอมป์สัน อย่างช่วยไม่ได้

ยอร์จ แบร์รี่ ถึงแก่กรรมเมื่อปี 2527 แคโรไลนา วินสตัน แบร์รี่ ภรรยาจึงได้รับแต่งตั้งกรรมการแทน จนถึงเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2528 บริษัทอุตสาหกรรมไหมไทยได้เปิดประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ลงมติเพิ่มทุนจดทะเบียนจาก 10 ล้านบาทเป็น 20 ล้านบาท ต่อมาวันที่ 19 เมษายนปีเดียวกัน ก็ได้เปิดประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นอีกครั้ง ข้อใหญ่ใจความเพื่อยืนยันมติเพิ่มทุนในการประชุมครั้งก่อน

ในการประชุมครั้งนี้ ศรีลำพูน ธรรมเกษม ผู้ถือหุ้น 400 หุ้นหรือ 0.0002% ได้เสนอในที่ประชุมลงมติถอดถอน คาโรไลนา แบร์รี่ออกจากตำแหน่งกรรมการ โดยเสนอแต่งตั้ง นาท ชัยเจริญ เข้าแทน ศรีลำพูน ได้กล่าวในที่ประชุมว่า แบร์รี่อยู่ต่างประเทศ ไม่สามารถอุทิศเวลา และปฏิบัติงานให้กับบริษัทได้อย่างเต็มที่และระยะเวลาที่ผ่านมาหลายปีแบร์รี่ไม่ได้ช่วยกิจการของบริษัทเท่าที่ควร

นาท ชัยเจริญ เคยเป็นเลขานุการส่วนตัวนายห้างจิม ทอมป์สัน เมื่อสมัยนายห้างยังมีชีวิต ปัจจุบันถือเป็นพนักงานคนไทยเพียง 1 ใน 3 คนที่เคยทำงานร่วมกับนายห้าง อายุเลยวัยเกษียณแล้ว แต่บริษัทยังจ้างให้ทำงานครึ่งวัน

จากจุดนี้ คาโรไลนา แบร์รี่จึงตัดสินใจพึ่งศาลแพ่งฟ้องข้อหาละเมิด และเรียกสินไหมทดแทน เป็นเงิน 35,016,001 บาท ต่อบริษัทอุตสาหกรรมไหมไทย กับพวกรวม 12 คน ตั้งแต่คณะกรรมการบริษัทไปจนถึงกรมทะเบียนการค้าและพนักงานรับจดทะเบียน เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2529

แบร์รี่ต่อสู้ว่าการประชุมครั้งนั้นมิชอบด้วยกฎหมาย เพราะไม่ระบุว่ามีวาระตอนถอนหรือแต่งตั้งกรรมการ

สินไหมทดแทนที่แบร์รี่เรียกนั้น รวมตั้งแต่ค่าบำเหน็จกรรมการปีละ 1 แสนบาท ไปจนกว่าจะถึงอายุ 85 หรืออีก 26 ปี ค่าตั๋วเครื่องบินไปกลับกรุงเทพฯ-สหรัฐ-อเมริกา อย่างน้อยปีละ 2 ครั้งทุกปี จนถึงอายุ 85 ปี ค่าที่พักระหว่างพำนักในประเทศไทยที่โรงแรมโอเรียลเต็ล ปีละไม่ต่ำกว่า 2 ครั้ง ๆ ละ 2 สัปดาห์ และค่าสินไหมทดแทนความเสียหายด้านชื่อเสียงอีก 20 ล้านบาท

เป็นเงินจำนวนไม่น้อยทีเดียว จนผู้ตรวจสอบบัญชีต้องบันทึกไว้ในงบการเงิน เมื่อสิ้นปี 2529 ด้วย

ผู้สันทัดกรณีกล่าวถึงลักษณะพิเศษ โครงสร้างผู้ถือหุ้นในบริษัทอุตสาหกรรมไหมไทย 2 ประเด็น หนึ่ง-แม้จะเป็นไปตามกฎหมาย กำหนดว่าหุ้นชาวต่างประเทศไม่เกิน 49% ก็ตาม แต่โครงสร้างการถือหุ้นในบริษัทนี้ กลุ่มคนไทยเป็นลักษณะ "เบี้ยหัวแตก" มีผู้ถือหุ้นประมาณ 70 คน กระจายกันไป มากที่สุดไม่เกิน 10% เช่น ของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภานุพันธ์ยุคลและครอบครัว (8%) หรือมีเซียม ยิบอินซอย (3%) ส่วนชาวต่างประเทศนั้นค่อนข้างเป็นก้อนใหญ่ ๆ อยู่ 2 กลุ่ม ครอบครัวแบร์รี่ 24.4% ตระกูลทอมป์สัน (บริษัทวีวเวอร์ส อิสเทอร์น และเฮนรี่ บี ทอมป์สัน) 16.86%

"หุ้นคนไทยอีกส่วนหนึ่งเป็นพนักงานเก่าแก่ที่ภักดีต่อนายห้างจิม ทอมป์สัน อีกนับ 10%" ผู้สันทัดกรณี ซึ่งติดตามความเป็นไปของบริษัทนี้มาตลอดกล่าว

สอง- ปกติกฎหมายไทยมิได้กำหนดชัดเจนว่า ผู้ถือหุ้นใหญ่ถือหุ้นจำนวนเท่าใดจึงจะมีสิทธิ์ดำรงตำแหน่งกรรมการ แต่ในทางปฏิบัติ (ธรรมเนียม) ถือหุ้นเพียง 10% ก็ควรจะมีกรรมการรักษาผลประโยชน์ของตน

"กรณีผู้ถือหุ้นกลุ่มหนึ่งกลุ่มเสียงข้างมากเกิน 51% เลือกกรรมการจากฝ่ายตนเท่านั้นเข้าบริหารกิจการ โดยไม่สนใจเสียงข้างน้อย นั่นแสดงว่า บริษัทมีปัญหาความขัดแย้งระหว่างผู้ถือหุ้น" เขาสรุป

ยิ่งไปกว่านั้น กรณีบริษัทอุตสาหกรรมไหมไทย กลุ่มผู้ถือหุ้นมากที่สุดตามกฎหมาย 24.4% มีกรรมการรักษาผลประโยชน์ของตนเพียงคนเดียวตลอด ก็ถือว่าไม่มีอำนาจต่อรองอยู่แล้ว หรือหากพิจารณาในแง่บทบาทหรือการทำงานอันอันเป็นปกติของสังคมธุรกิจไทยที่มิได้พิจารณาสำคัญไปกว่าครองหุ้นในมืออยู่แล้ว ผู้สังเกตการณ์หลายคนมักมองเรื่องที่เกิดขึ้นในบริษัทอุตสาหกรรมไหมไทย เป็นเรื่องค่อนข้างแปลกประหลาดพอสมควร

"เท่าที่ทราบ ทายาทของนายห้างจิม ทอมป์สัน ไม่ค่อยจะชอบมิสซิสแบร์รี่" ผู้อยู่วงการว่ากันอย่างนั้น แต่ไม่ยอมเปิดเผยถึงรายละเอียดเรื่องดังกล่าว

เคยมีคนพูดทีเล่นทีจริงว่า ไหมไทยโด่งดังไปทั่วโลกนั้น แทนที่จะเป็น brandname ไทยๆ กลับกลายเป็นเป็นชื่อฝรั่ง (Jim Thompson) เช่นเดียวกัน เมื่อพูดถึงไหมไทย จิม ทอมป์สันซึ่งดำเนินธุรกิจภายใต้ชื่อบริษัทอุตสาหกรรมไหมไทย คนที่ฟังคิดว่า ฝรั่งคงจะเป็นเจ้าของ (ถือหุ้นข้างมาก) ความจริงคนไทยถือหุ้นมากกว่า แต่คนที่มีอำนาจบริหารสูงสุดในกิจการนี้กลับเป็นฝรั่งอีก

หากพิจารณาเฉพาะในแง่ธุรกิจ หุ้น 51% ของคนไทยสมควรจะมีส่วนในการบริหารกิจการนี้ และไม่เป็นเช่นนั้นมีคนตั้งข้อสังเกตจากโครงสร้างผู้ถือหุ้นของคนไทยแบบ "เบี้ยหัวแตก" ไม่สามารถรวมกันติดนั่นเอง ในขณะที่ผู้ถือหุ้นฝรั่งเป็นก้อนใหญ่ ๆ และง่ายต่อการรวมตัวกัน

ยิ่งไปกว่านั้น ผู้ถือหุ้นรายย่อยของไทยไม่น้อยภักดีต่อครอบครัวทอมป์สันเสียด้วย

เหตุการณ์เช่นนั้นผ่านไปแล้ว ชนิดไม่หวนกลับ เช่นเดียวกับการจากไปของนายห้างจิม ทอมป์สัน

เป็นจุดปะทุครั้งแรกของความ "เปราะบาง" ของบริษัท เป็นอาณาจักรที่สร้างมาด้วยความยากลำบากของนายห้างจิม ทอมป์สัน

ตัวเร่งอยู่ที่ไหน?

"อยู่ที่ทีท่าของผู้ถือหุ้นต่างประเทศ 2 ฝ่ายในคดีว่าจะเป็นอย่างไร ประนีประนอมหรือไม่" นักธุรกิจไหมไทยคนหนึ่งกล่าว

อยู่ที่ความภักดีของผู้ถือหุ้นรายย่อยคนไทย ต่อตระกูลทอมป์สัน อยู่ที่ตระกูลแบร์รี่ซึ่งแทบไม่เคยแตะต้องธุรกิจนี้มาก่อน จะใช้เวลาเรียนรู้อีกนานแค่ไหน

และก็อยู่อัตรากำไรที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วตลอดเวลา เป็นสิ่งที่เราให้นักธุรกิจทั้งหลายอยากเข้าเป็นเจ้าของกิจการ

นักธุรกิจจับตามองกันอย่างนั้นจริง ๆ!!



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.