|
แล้วก็ถึงคราว...ธนาคารนครหลวงไทย
โดย
นภาพร ไชยขันแก้ว
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( เมษายน 2553)
กลับสู่หน้าหลัก
"ปิดตำนานธนาคารนครหลวงไทย" กลายเป็นข่าวพาดหัวหนังสือพิมพ์รายวันในหน้าเศรษฐกิจแทบทุกฉบับ หลังจากที่ธนาคารธนชาตได้รับสิทธิ์ในการซื้อกิจการธนาคารที่มีอายุยาวนานถึง 69 ปี
ข่าวคราวการซื้อกิจการธนาคารนครหลวงไทยในช่วงระยะกว่า 2 ปีผ่านมาเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะจากธนาคารต่างชาติที่มีเงินทุนหนา
งานแถลงข่าวอย่างเป็นทางการเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2553 เวลา 16.00 น. ณ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยมีผู้ร่วมแถลง 3 รายคือ อุไร ลิ้มปิติ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายจัดการกองทุน ธปท. ในฐานะผู้จัดการกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน และเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ธนาคารนครหลวงไทยจำนวนร้อยละ 47.58 อยู่ในฝั่งของผู้ขาย
คนที่สอง บันเทิง ตันติวิท ประธาน กรรมการธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) และมิเชล ควอค รองประธานบริหารอาวุโส ภาคพื้นเอเชียแปซิฟิกและตะวันออกกลาง สโกเทียแบงก์ ในฐานะผู้ซื้อ
แม้ว่าในสัญญาการซื้อขายเป็นการร่วมลงนามระหว่างผู้บริหาร 3 รายคือ อุไร ลิ้มปิติ มิเชล คว๊อค และศุภเดช พูนพิพัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคาร ธนชาต
แต่งานแถลงข่าวในฝั่งของธนชาต ได้เปิดทางให้บันเทิง ตันติวิทเป็นผู้แถลงหลัก ซึ่งถือเป็นการเปิดตัวต่อสื่อมวลชนอย่างเป็นทางการครั้งแรก ในรอบกว่า 10 ปี
ธนาคารธนชาตเป็นธนาคารที่มีผู้ถือหุ้นหลักอยู่ 2 กลุ่มคือ บมจ.ทุนธนชาต ที่มีกลุ่มบริษัทเอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารศูนย์การค้ามาบุญครอง เป็นผู้ถือหุ้นหลัก ส่วนสโกเทียแบงก์ถือหุ้นในธนาคาร ธนชาตร้อยละ 48.99 โดยเริ่มเข้ามาถือหุ้น ตั้งแต่ปี 2550
สโกเทียแบงก์เป็นสถาบันการเงินจากประเทศแคนาดาที่มีอายุ 176 ปี เป็นธนาคารอันดับ 10 ในทวีปอเมริกาเหนือ
สโกเทียแบงก์ไม่ได้เป็นหน้าใหม่ในแวดวงสถาบันการเงินไทย แต่เป็นธนาคาร ที่มีความผูกพันกับธนชาตมานานกว่า 30 ปี ตั้งแต่ยังใช้ชื่อว่าธนาคารโนวาสโกเทีย และธนชาตยังมีสถานะเป็นบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ธนชาติ
สโกเทียแบงก์เป็นหนึ่งในเจ้าหนี้ร่วมในการปล่อยเงินกู้ให้กับบริษัทมาบุญ ครองอบพืชและไซโล เพื่อมาก่อสร้างศูนย์ การค้ามาบุญครองที่มีธนาคารไทยพาณิชย์ และบงล.ธนชาติเป็นแกนนำ ซึ่งถือเป็นตำนานแห่งการติดตามหนี้ เป็นกรณีศึกษา ที่น่าสนใจมากที่สุดเมื่อ 20 กว่าปีก่อน
(รายละเอียดอ่านเรื่อง "อนุสรณ์แห่ง โชคชะตามาบุญครอง" นิตยสารผู้จัดการ ฉบับเดือนสิงหาคม 2529 หรือใน www. gotomanager.com)
จนถึงปัจจุบันสโกเทียแบงก์ถือหุ้น อยู่ในธนาคารธนชาต และเป็นผู้สนับสนุนเงินทุนหลักอยู่เบื้องหลังของธนาคารธนชาต มาโดยตลอด
และสิ่งที่ยืนยันสถานภาพการเงินที่มั่นคงของสโกเทียแบงก์ เห็นได้จากวิกฤติ การเงินเมื่อปี 2550-2552 ที่ผ่านมา แทบจะไม่ได้รับผลกระทบ
สโกเทียแบงก์มีสินทรัพย์รวม 462 พันล้านเหรียญสหรัฐ เป็นธนาคารที่มีรายได้ ติด 1 ใน 5 ของโลก และมีลูกค้าประมาณ 12.5 ล้านคนใน 50 ประเทศทั่วโลก และเป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ทั้งโทรอนโต และตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก
ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ธนาคารธนชาตได้รับเลือกเป็นผู้ซื้อหุ้นในธนาคารนครหลวง ไทย และเบียดคู่แข่งยักษ์ใหญ่ด้านการเงินอีก 4 รายตกไป ไม่ว่าจะเป็นธนาคารเอชเอสบีซี (HSBC) จากประเทศอังกฤษ หรือธนาคาร ICBC จากประเทศจีน
ธนาคารนครหลวงไทยมีอายุ 69 ปี ในปีนี้ ก่อตั้งโดยคณะบุคคลของรัฐบาลและ สมาชิกในราชวงศ์ จึงทำให้ธนาคารแห่งนี้ใช้สัญลักษณ์ตราชฎา และใช้สีแดงเป็นเครื่องหมายของธนาคาร
เมื่อปี 2545 ธนาคารนครหลวงไทย ได้ควบรวมกิจการกับธนาคารศรีนคร กลาย เป็นธนาคารพาณิชย์ไทยที่มีสินทรัพย์สูงเป็นอันดับที่ 7 หรือ 4.24 แสนล้านบาท และธนาคารมีกองทุนฟื้นฟูฯ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ร้อยละ 47.58 ส่วนที่เหลือเป็นผู้ถือหุ้น รายย่อยในตลาดหลักทรัพย์ฯ อีกร้อยละ 52.42
ธนาคารธนชาตใช้เงินราว 68,000 ล้านบาท ซื้อกิจการธนาคารนครหลวงไทย แบ่งซื้อหุ้นจากกองทุนฟื้นฟูทั้งหมดในราคา หุ้นละ 32.50 บาท จากหุ้นที่ครอบครอง 1,005,330,950 หุ้น หรือเป็นเงินราว 32,000 ล้านบาท ส่วนหุ้นรายย่อยธนาคารจะซื้อใน ราคาเดียวกัน
ว่ากันว่า งานนี้กองทุนฟื้นฟูฯ ได้กำไร 2 หมื่นล้านบาท เพราะราคาตามบัญชีอยู่ที่ 19 บาทต่อหุ้น
สำหรับเงินทุนที่นำมาซื้อมาจาก 2 ส่วน ส่วนแรกจากการเพิ่มทุนและออกหุ้นกู้ 42,000 ล้านบาท ส่วนกว่าอีก 20,000 ล้านบาท เป็นเงินสดของธนาคารที่ได้เตรียมการล่วงหน้าไว้แล้ว
กระบวนการซื้อกิจการธนาคารนครหลวงไทยรวมไปถึงการรวมทรัพย์สินและหนี้สินจะใช้เวลา 2 ปี หรือสิ้นสุดในสิ้นปี 2554
ซึ่งหมายความว่าตั้งแต่ต้นปี 2555 ชื่อธนาคารนครหลวงไทยก็จะไม่มีอีกต่อไป!! และจะถูกแทนที่โดยแบรนด์ธนาคารธนชาต
การเข้าซื้อกิจการของธนาคารธนชาตในครั้งนี้ ทำให้ธนาคารกระโดดไปเป็นธนาคารที่มีสินทรัพย์สูงเป็นอันดับ 5 โดยมีสินทรัพย์รวม 8 แสนล้านบาท มีสาขา 677 แห่ง มีตู้เอทีเอ็ม 2,101 เครื่อง และมีลูกค้าประมาณ 4 ล้านราย
ไม่เพียงสินทรัพย์ที่เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า แต่ด้วยจำนวนสาขาและเครื่องเอทีเอ็มของธนาคารนครหลวงไทยที่มีมากกว่าธนาคารธนชาต 2-3 เท่าตัว ทำให้ยุทธศาสตร์ของธนาคารธนชาตชัดเจนขึ้นเป็นอย่างมาก เพราะเป้าหมายของธนชาต คือการเป็นธนาคารที่ให้บริการครบวงจร (Universal Banking) โดยเฉพาะการให้บริการลูกค้ารายย่อย
แต่สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งที่ธนาคารธนชาตได้จากการซื้อกิจการในครั้งนี้ คือบุคลากร โดยเฉพาะผู้บริหาร
เพราะบันเทิงบอกว่า ที่ผ่านมาธนาคารธนชาตขยายตัวอย่างรวดเร็ว ทำให้ ขาดแคลนบุคลากร โดยเฉพาะระดับผู้บริหาร จึงเป็นเรื่องดีที่จะคัดสรรผู้บริหารเข้ามาร่วมทำงาน
ปัจจุบันประธานเจ้าหน้าที่บริหารของธนาคารธนชาตคือ ศุภเดช พูนพิพัฒน์ ส่วนธนาคารนครหลวงไทย มีชัยวัฒน์ อุทัยวรรณ์ ดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่
สำหรับพนักงานระดับกลางและล่าง หลังจากรวมกันแล้วจะมีประมาณ 14,521 คน แม้ว่าจะไม่มีการเปิดเผยว่าจะมีการปลดพนักงานหรือไม่นั้น เพราะต้องรอ กระบวนการขั้นตอนต่อไป แต่พื้นที่ตั้งสาขา บางแห่งมีจุดทับซ้อนกันอยู่ 60-70 แห่ง
ธนาคารธนชาตเป็นธนาคารขนาดเล็ก ส่วนธนาคารนครหลวงไทยเป็นธนาคาร ขนาดกลางทั้งสองแห่งมีบริษัทลูกที่อยู่ภาย ใต้การดูแลเหมือนกันทุกอย่าง คือบริษัทหลักทรัพย์, บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน, บริษัทประกันภัย, บริษัทประกันชีวิต และบริษัทลิสซิ่ง ดำเนินธุรกิจเช่าซื้อ (ดูตารางประกอบ)
แต่ทั้งสองธนาคารก็มีจุดแข็งที่ต่างกัน ธนาคารธนชาตมีจุดแข็งด้านให้บริการเช่าซื้อรถยนต์ ส่วนนครหลวงไทยมีจุดเด่น ให้บริการสินเชื่อธุรกิจและจำนวนสาขา
การเข้าซื้อกิจการธนาคารไทยของสถาบันการเงินในต่างประเทศ เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา และเป็นสิ่งที่ไม่สามารถปฏิเสธวิถีของทุนนิยมไปได้
เหมือนดั่งเช่นกลุ่มไอเอ็นจีจากประเทศเนเธอร์แลนด์เข้าซื้อกิจการธนาคาร ทหารไทย และตอนนี้ชื่อของธนาคารก็ถูกเรียกสั้นๆ จนคุ้นเคยว่าทีเอ็มบี (TMB) หรือ ไทยธนาคารที่กลุ่มซีไอเอ็มบีจากมาเลเซียเข้ามาถือหุ้นใหญ่และเปลี่ยนชื่อเป็นธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย
แม้แต่ธนาคารกรุงศรีอยุธยาก็มีกลุ่ม จีอีจากสหรัฐอเมริกาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในปัจจุบัน ส่วนธนาคารสินเอเซีย ธนาคารขนาดเล็กอยู่ระหว่างการเจรจาซื้อหุ้นจากกลุ่มไอซีบีซี ประเทศจีน
ยุคการเปิดเสรีทางด้านการเงิน กำลังจะเปลี่ยนโฉมหน้าสถาบันการเงินประเทศไทยอีกครั้งหนึ่ง หลังจากเคยถูกเขย่าครั้งใหญ่จากวิกฤติ ปี 2540
คำว่าธนาคารลูกครึ่งน่าจะเริ่มกลับ มาได้ยินกันคุ้นหูอีกครั้งอย่างมากขึ้นและมากขึ้น
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|