บทบาทของเวียดนามต่อปัญหา “แม่น้ำโขง”

โดย เจษฎี ศิริพิพัฒน์
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( เมษายน 2553)



กลับสู่หน้าหลัก

ขณะที่หลายชาติทางตอนล่างของแม่น้ำโขงกำลังได้รับความเดือดร้อนจากความแห้งแล้งของลำน้ำสายนี้ เวียดนามในฐานะประเทศที่อยู่ปลายสุดก็ได้แสดงท่าทีออกมาแล้ว เพราะปัญหาความเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำโขงมีผลกระทบโดยตรงต่อพื้นที่ปลูกข้าว ซึ่งเป็นสินค้าออกสำคัญของประเทศ

จากเนื้อหาที่นิตยสารผู้จัดการ 360 ํ ได้รายงานไปเมื่อฉบับที่แล้วถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพทางภูมิศาสตร์ของที่ราบลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นแหล่งผลิตข้าวสำคัญของเวียดนาม ที่เกิดขึ้นจากระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น และการก่อสร้างเขื่อนจำนวนหลายแห่งในสาธารณรัฐประชาชนจีน (สป.จีน) ซึ่งเป็นประเทศต้นน้ำ (อ่านเรื่อง "ที่ราบลุ่มแม่น้ำโขง กำลังเปลี่ยนแปลง!!!" นิตยสารผู้จัดการ 360 ํ ฉบับเดือนมีนาคม 2553 หรือใน www.gotomanager.com ประกอบ)

เว็บไซต์ของสถานีวิทยุเอเชียเสรี (RFA) ภาคภาษาเวียดนามยังคงมีรายงาน เกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เว็บไซต์ดังกล่าวได้รายงานว่า องค์กรระหว่างประเทศหลายองค์กร รวมถึงบรรดาผู้เชี่ยวชาญ ทั้งภายใน และต่างประเทศได้แจ้งเตือนถึงสถานการณ์ สภาพอากาศโลกแปรปรวนที่เริ่มมีผลกระทบอย่างน่ากลัวต่อเวียดนาม

หายนะระยะยาว

ตามรายงานจากเว็บไซต์แห่งนี้ระบุว่า "ความผิดปกติหลายอย่าง" ได้เริ่ม ปรากฏขึ้น เช่น อากาศที่ร้อนมากเกินไป ฤดูหนาวก็หนาวจัด ฤดูร้อนมาเร็วขึ้น พายุมากขึ้น

ผลการวิจัยของธนาคารโลกแสดงให้เห็นว่าเวียดนามอยู่ใน 12 ชาติที่ประสบ อันตรายน่ากลัวที่สุดจากสภาพอากาศแปร ปรวน รวมทั้งสถานการณ์น้ำทะเลสูงขึ้น

ดร.โต วัน เตรื่อง อดีตผู้อำนวยการกรมชลประทานภาคใต้ อธิบายเพิ่มเติมว่า "ถ้าตามสภาพภูมิประเทศล่าสุดคาดการณ์ ได้ว่าในปี 2593 ที่ราบลุ่มแม่น้ำโขงอาจจะจมน้ำเพิ่มขึ้นประมาณ 30-50 เซนติเมตรและเมื่อถึงปี 2643 ระดับน้ำอาจจะสูงขึ้น 70 เซนติเมตร เมื่อจมน้ำเช่นนั้น เนื้อที่ธรรมชาติของที่ราบลุ่มแม่น้ำโขงอาจจะจมน้ำถึง 20%"

รายงานฉบับหนึ่งของรัฐบาลเวียดนามได้ประกาศเมื่อเดือนพฤศจิกายน ปีที่แล้วและได้รับการยอมรับจากโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ ก็แจ้งเตือนว่าอู่ข้าวของเวียดนาม 2 แห่ง คือที่ราบลุ่มแม่น้ำโขง และที่ราบลุ่มแม่น้ำแดง จะได้รับผลกระทบอย่างน่ากลัวจากสถาน การณ์สภาพอากาศแปรปรวนและในทศวรรษหน้าเมื่อระดับน้ำทะเลสูงขึ้น 1 เมตร เขตที่ราบลุ่มแม่น้ำโขง 1 ใน 3 จะจมน้ำ

ศ.เหงียน หง็อก เตริน ผู้รับผิดชอบ ศูนย์วิจัยและพัฒนาที่ราบลุ่มแม่น้ำโขง กล่าวกับผู้สื่อข่าวของสถานีวิทยุเอเชียเสรีว่า สำหรับประเทศหนึ่งที่มีความยาวฝั่งทะเล 3,200 กิโลเมตรอย่างเวียดนาม โดย มีเขตที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับที่ราบลุ่มแม่น้ำ แดง และที่ราบลุ่มแม่น้ำโขง ระดับน้ำทะเล ที่สูงขึ้น จะกระทบมากที่สุด

"ที่ราบลุ่มทั้งสองแห่งเป็นอู่ข้าวของเวียดนาม โดยเฉพาะที่ราบลุ่มแม่น้ำโขง เป็นอู่ข้าวที่รับรองความมั่นคงทางด้านธัญญาหารของทั้งประเทศ และการส่งออก อีกประการหนึ่งคือเมื่อเลียบตามฝั่งทะเลภาคกลาง ภาคเหนือ ตั้งแต่จังหวัดกว๋างนิญ จนถึงแหลมก่าเมา บวกกับที่ราบลุ่ม 2 แห่ง นี้ กรมสถิติเวียดนามแจ้งว่ามีประชากรเวียดนามถึง 75% หาเลี้ยงชีพอยู่ ดังนั้นผมคิดว่าระดับน้ำทะเลสูงขึ้น จะกระทบโดยตรงอย่างมากและสำคัญอย่างยิ่งต่อเวียดนาม"

รายงานฉบับหนึ่งของสหประชาชาติ ยังแจ้งเตือนว่าถ้าบรรยากาศโลกเพิ่มขึ้น 2 องศา ก็จะมีประชาชนเวียดนาม 22 ล้าน คนสูญเสียบ้านเรือน และเนื้อที่เกษตรกรรม 45% ในที่ราบลุ่มแม่น้ำโขงจะจมอยู่ในน้ำทะเล

กระทบโดยตรง

ปัจจุบัน ฤดูแล้งกำลังค่อยๆ ปรากฏ ความรุนแรงอย่างน่ากลัวในเขตที่ราบลุ่มแม่น้ำโขง ทำให้น้ำแห้งลง สร้างเงื่อนไขให้น้ำเค็มรุกลึกเข้าภายในทุ่งนา การเปลี่ยนแปลงที่บรรดาผู้เชี่ยวชาญเห็นว่าเป็นผลจากสภาพอากาศโลกแปรปรวน

ระหว่างที่สถานีอุตุนิยม-อุทกศาสตร์เวียดนาม แจ้งเตือนภัยฝนแล้งปีนี้กระทบต่อที่ราบลุ่มแม่น้ำโขงหนักกว่าปีที่แล้ว สถาบันวิทยาศาสตร์อุทกศาสตร์ภาคใต้พบว่าน้ำเค็มได้รุกล้ำเข้าจังหวัดเตี่ยนยาง จังหวัดเบ๊นแตร จังหวัดตร่าวิญ จังหวัดเหิ่วยาง จังหวัดซอกตรัง จังหวัดเกียนยาง และจังหวัดก่าเมา

บรรดาผู้เชี่ยวชาญยอมรับว่าในหลายปีผ่านมา น้ำในแม่น้ำโขงไม่สูงเหมือน อย่างเคย บวกกับสถานการณ์สภาพอากาศ แปรปรวน ทำให้ภัยความแห้งแล้งในที่ราบลุ่มแม่น้ำโขงรุนแรงขึ้น

บุ่ย ดึ๊ก ลอง หัวหน้าสำนักงานพยากรณ์อุทกศาสตร์ภาคกลาง เตยเงวียน และภาคใต้ กล่าวกับเว็บหนังสือพิมพ์แรงงานเมื่อเดือนที่แล้วว่า น้ำแม่น้ำโขงปีนี้พร่องไปประมาณ 30% จากระดับเฉลี่ย หลายปีผ่านมา ทำให้ความแห้งแล้งในพื้นที่เพิ่มขึ้นอย่างหนัก

บรรดาผู้เชี่ยวชาญซึ่งจัดการประชุมจัดขึ้นที่นครฮานอย เมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว ประเมินว่าสถานการณ์สภาพอากาศแปรปรวนจะกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจ สังคมเวียดนาม ทำให้เกิดภัยธรรมชาติ น้ำท่วมคุกคามชีวิต ทรัพย์สิน ทำให้กระบวนการขจัดความอดอยาก ลดความยากจน ล่าช้าไปอีก กระทบต่อหลาย ขอบเขตภายในประเทศ โดยเฉพาะการเกษตร ประมง ป่าไม้ และกระทบต่อความมั่นคงด้านธัญญาหาร

เมื่อเร็วๆ นี้ หนังสือพิมพ์ New York Times มีบทความเรื่อง "เวียดนามจะประสบอันตรายถ้าน้ำทะเลสูงขึ้น" ด้วยคำเริ่มต้นบทความว่า "ในหลายทศวรรษ เมื่อฤดูฝน พายุรุนแรง และทั้งสงครามกวาดล้างผ่านไป และอันตรธานไปตามแสงแดด ชาวนาและชาวประมงในที่ราบลุ่มแม่น้ำโขง ยังคงหาเลี้ยงชีพจากแหล่งน้ำ และจากทุ่งนาที่อุดมด้วยปุ๋ยในเขตนี้ สถานที่ซึ่งสายน้ำแม่น้ำโขงไหลออกทะเลหลังจากไหลผ่าน 4,350 กิโลเมตร"

แต่บทความในหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ ยังกล่าวว่า "ทุกอย่างที่นี่ เวลานี้ต้องประสบอันตราย อาจจะร้ายแรงและยาว นานกว่าสงครามที่ยุติลงไปเมื่อกว่า 30 ปีที่แล้ว"

จีนต้องแบ่งปันข้อมูล

เว็บไซต์ของสถานีวิทยุ BBC ภาษา เวียดนาม รายงานเมื่อกลางเดือนมีนาคมว่า อดีตผู้แทนรัฐสภาเวียดนามคนหนึ่งมองเรื่องจีนเชิญประเทศสมาชิกคณะกรรมการแม่น้ำโขงไปเยือนการสร้างเขื่อนเตี๋ยวลวาน ซึ่งอยู่ต้นน้ำ ว่าเป็นเพียงการเคลื่อนไหวรับมือกับกระแสโจมตีจากสาธารณะ

ศ.เหงียน หง็อก เตริน ซึ่งเป็นอดีตรองประธานคณะกรรมการการต่างประเทศ รัฐสภาสมัยที่ 11 กล่าวว่าการกระทำที่สำคัญกว่า คือจีนต้องแบ่งปันข้อมูลอุทกศาสตร์ของแม่น้ำ Lancang (ชื่อเรียกแม่น้ำโขงในอาณาเขตจีน) และระบบการทำงานของเขื่อนต่างๆ เพื่อให้ชาติทางตอนล่างรู้วิธีรับมือกับสถานการณ์ "ระดับน้ำต่ำผิดปกติ กระแสน้ำแห้งถึงก้นแม่น้ำ" ในช่วงเวลานี้

เขากล่าวว่า ประเทศตอนล่างแม่น้ำ ปัจจุบันกำลัง "ไม่รู้เรื่อง" เกี่ยวกับระบบทำงานของเขื่อน 4 แห่งที่ใช้น้ำในแม่น้ำโขงบนแผ่นดินจีน

ในบทความของเหงียน หง็อก เตริน ซึ่งเผยแพร่บน tuanvietnam.net เมื่อวันที่ 14 มีนาคมที่ผ่านมา (2553) เน้นย้ำถึงความรับผิดชอบของจีนชาติหนึ่งที่ใช้ประโยชน์จากน้ำตอนต้นแม่น้ำโขง

ปัจจุบัน ศ.เตรินเป็นนักวิจัยสภาพอากาศแปรปรวน เขาได้เขียนบทความไว้ว่า "สถานการณ์ระดับน้ำแม่น้ำโขง ที่บรรดาสถานีอุทกศาสตร์ในลาว เช่นที่หลวงพระบาง และเวียงจันทน์ ต่ำมากที่สุด เมื่อเทียบกับเมื่อก่อนนี้ จึงจำเป็นต้องแจ้งให้ทราบถึงระบบทำงานของเขื่อน 4 แห่ง ที่ได้ก่อสร้างขึ้นเป็นการด่วน"

จีนต้องจัดหาข้อมูลอุทกศาสตร์บนแม่น้ำ Lancang และแจ้งให้ทราบระบบทำงานของเขื่อนต่างๆ ไม่ใช่เชิญไปชมเขื่อนแห่งหนึ่ง

และนักวิชาการมีชื่อเสียงในเวียดนาม เรียกร้องจีนให้คิดถึงประโยชน์ของบรรดาประเทศตอนล่าง ซึ่งมีเวียดนาม อยู่ในนั้นด้วย

"เพราะแม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำนานาชาติ ทุกโครงการบนอาณาเขตประเทศสมาชิกจึงต้องมีการแจ้งให้ทราบและหารือกันบนพื้นฐานเคารพประโยชน์ ก่อนอื่นคือสิ่งแวดล้อมของทุกชาติในลุ่มน้ำ ทั้งเฉพาะ หน้าและระยะยาว"

ศ.เหงียน หง็อก เตริน กล่าวว่า จีนมีแผนการ "ใหญ่โต" ผันน้ำแม่น้ำจากทิศใต้ขึ้นทิศเหนือ นำน้ำหลายหมื่นล้านลูกบาศก์เมตรจากแม่น้ำแยงซีเกียงไปยังแม่น้ำเหลือง เพื่อนำไปปักกิ่งและเทียนสิน

และน้ำในแม่น้ำ Lancang อาจจะใช้ในโครงการนี้มากที่สุด

ในสภาพการณ์เช่นนั้น ศ.เตรินกล่าวว่าน้ำที่บรรดาชาติในลุ่มน้ำแม่น้ำโขง ยิ่งต้องการข่าวสารมากขึ้นเกี่ยวกับชาติที่ใช้น้ำตอนต้นน้ำ

"เรื่องผิดปกติกำลังเกิดขึ้น" ศ.เตริน กล่าว "นั่นคือจีนหาวิธีปฏิเสธความรับผิดชอบทุกอย่างของประเทศหนึ่งที่กำลังใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำของแม่น้ำโขง"

"จีนเพียงเข้าประชุมถ้าหารือเกี่ยวกับการแบ่งปันสิทธิประโยชน์" เขาให้ความเห็น

"ต้องเคลื่อนไหวเรียกร้องให้ประเทศ ต้นน้ำมีความรับผิดชอบมากขึ้น เมื่อใช้น้ำแม่น้ำโขง" ศ.เตรินกล่าวในอีกช่วงหนึ่ง "ที่สำคัญคือป้องกันสิทธิประโยชน์แห่งชาติของเวียดนาม"

เขามองว่าสิ่งนี้เป็นหน้าที่ "อันดับแรก" ของคณะกรรมการแห่งชาติแม่น้ำโขง นอกจากนั้นเขาก็เรียกร้องว่า ควรมีการเพิ่ม การสืบค้น วิจัย "การใช้ข้อมูลเสมือนเป็นเครื่องมือเพื่อเจรจา ป้องกันสิทธิประโยชน์ที่ชอบธรรมของชาติ"


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.