ทำไมเป็น “ผันกู่” ไม่ใช่ “มั่นกู่”

โดย นภาพร ไชยขันแก้ว
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( เมษายน 2553)



กลับสู่หน้าหลัก

คนที่พอรู้ภาษาจีนแบบงูๆ ปลาๆ เมื่อทราบข่าวว่าธนาคารกรุงเทพได้ใบอนุญาตทำธนาคารพาณิชย์ท้องถิ่นในจีน หลายคนคงเข้าใจว่าชื่อของธนาคารกรุงเทพในภาษาจีน น่าจะใช้ว่า "มั่นกู่อิ๋นหาง"

เพราะคำว่า "มั่นกู่" หรือ "ม่านกู่" แปลตรงๆ ก็คือกรุงเทพ ส่วน "อิ๋นหาง" นั้นหมายถึงธนาคาร

เอาเข้าจริงๆ แล้ว ธนาคารกรุงเทพ ได้ตั้งชื่อภาษาจีนของตนเองเอาไว้นานแล้ว แต่ไม่ได้ใช้คำว่า "มั่นกู่อิ๋นหาง" แต่กลับใช้ว่า "ผันกู่อิ๋นหาง" แทน ซึ่งเป็นคำที่ออกเสียงในสำเนียงที่คล้ายคลึงกัน

ชื่อเต็มๆ ของธนาคารกรุงเทพในจีน อ่านว่า "ผันกู่อิ๋นหาง (จงกว๋อ) โหย่วเสี้ยนกงซือ"

ว่ากันว่า เป็นความจงใจที่ชิน โสภณพนิช ตั้งใจจะสื่อสาร ถึงกลุ่มลูกค้าที่เป็นคนจีนของเขา ตั้งแต่ตอนที่เขารุกเข้าไปในจีนใหม่ๆ ว่าเขาตั้งใจอย่างเต็มเปี่ยมที่จะเข้ามาทำธุรกิจที่นี่

และธนาคารกรุงเทพในการให้บริการแก่ลูกค้าท้องถิ่นชาวจีนได้ดีกว่าธนาคารอาณานิคม ซึ่งเป็นของคนตะวันตก คำว่า "ผันกู่" หมายถึงวีรบุรุษผู้ยิ่งใหญ่

ส่วนคำว่า "จงกว๋อ" หมายถึงประเทศจีน

ในเว็บไซต์ http://thai.cri.cn/chinaabc/chapter16/chapter160104.htm ได้อธิบายที่มาคำว่า "ผานกู่" หรือ "ผันกู่" ว่ามาจากตำนาน "ผานกู่เบิกฟ้าแยกดิน"

มีเรื่องเล่าขานว่าในสมัยบุพกาล ฟ้ากับดินไม่ได้แยกออกจากกันทั่วทั้งจักรวาลเหมือนไข่ใบใหญ่ ข้างในมีแต่ความขุ่มมัวและมืดมิด ไม่มีการแบ่งสูงต่ำ ซ้ายขวา ตะวันออก กับตะวันตก หรือเหนือกับใต้ แต่ในไข่ใบนี้มีวีรบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ คือผานกู่ ผู้เบิกฟ้าแยกดิน

ผานกู่อาศัยอยู่ในไข่ใบนี้เป็นเวลา 18,000 ปี จึงตื่นขึ้น เมื่อเขาลืมตาขึ้น เห็นแต่ความมืดมัว และรู้สึกร้อนจนทนไม่ไหว หายใจไม่ค่อยออก เขาอยากจะยืนขึ้น แต่เปลือกไข่แข็งล้อมรอบตัวเขาจนไม่สามารถยืดเท้ายืดมือได้แม้นิดเดียว ผานกู่โกรธมาก จึงเอาขวานที่ติดตัวมาจามเปลือกไข่ ได้ยินเสียงกึกก้อง เปลือกไข่แตกออกทันที สิ่งของข้างในที่เป็นของเบาก็ค่อยๆ ลอยตัวขึ้นกลายเป็นท้องฟ้า และสิ่งที่หนักก็ค่อยๆจมลงและกลายเป็นแผ่นดิน

หลังจากผานกู่เบิกฟ้าแยกดินได้แล้ว เขารู้สึกยินดีเป็น อย่างยิ่ง แต่เขาก็กลัวว่า ฟ้ากับดินจะกลับมาเชื่อมต่อกันอีกครั้ง จึงใช้ศีรษะทูนท้องฟ้า และใช้เท้าเหยียบแผ่นดินไว้ แสดงอิทธิฤทธิ์และมีการเปลี่ยนแปลง 9 ครั้งต่อวัน เขาจะเติบโตสูงขึ้นวันละหนึ่งจ้าง (3.33 ม.) ท้องฟ้าก็จะสูงขึ้นหนึ่งจ้าง แผ่นดินจะหนาขึ้นหนึ่งจ้างพร้อมๆ กัน เป็นเช่นนี้ถึงหนึ่งหมื่น แปดพันปี ผานกู่กลายเป็นมนุษย์ยักษ์ที่ยันฟ้ายันดิน ร่างกายของเขามีความสูงถึง 9 หมื่นลี้

เมื่อเวลาผ่านไปนานอีกไม่รู้กี่หมื่นปี ฟ้ากับดินต่างอยู่ในสภาพถาวรแล้ว ไม่อาจจะเชื่อมต่อกันอีกแล้ว ผานกู่จึงรู้สึกวางใจ แต่วีรบุรุษผู้เปิดฟ้าแยกแผ่นดินคนนี้ก็รู้สึกเหนื่อยล้า ไม่อาจยืนค้ำต่อไปได้ ร่างกายใหญ่โตของเขาจึงล้มลง

ก่อนผานกู่จะตาย ร่างกายของเขาเกิดการเปลี่ยนแปลง อย่างมาก ตาซ้ายของเขากลายเป็นดวงอาทิตย์ที่แดงสด ตาขวากลายเป็นดวงจันทร์ที่มีสีน้ำเงิน ลมหายใจออกเฮือกสุดท้ายกลายเป็นลมและเมฆ สุ้มเสียงสุดท้ายกลายเป็นเสียงฟ้าร้อง เส้นผมและหนวดเคราของผานกู่กลายเป็นดวงดาวในท้องฟ้า ศีรษะกับมือและเท้ากลายเป็นดินแดนและภูเขาที่อยู่รอบข้าง สายเลือดกลายเป็นแม่น้ำ ทะเล และทะเลสาบ เส้นชีพจรกลายเป็นถนน กล้ามเนื้อกลายเป็นแผ่นดินที่อุดมสมบูรณ์ ผิวหนังและเส้นขนกลายเป็นต้นไม้ใบหญ้า ฟันและกระโหลก กลายเป็นแร่ธาตุเงินทองและเพชรพลอย เหงื่อของเขากลายเป็นเม็ดฝนและน้ำค้าง ตั้งแต่นั้นมาจึงมีโลกเกิดขึ้น

ความสำคัญของผานกู่ในตำนานกับการนำชื่อผานกู่มาใช้ในการทำธุรกิจของธนาคารกรุงเทพในจีน จะมีความหมาย หรือสัมพันธ์กันอย่างไร

เป็นเรื่องที่น่าคิด


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.