|
“ผันกู่” และ “หนงหมิง” ก้าวรุกของธนาคารไทยที่ต้องจับตา
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( เมษายน 2553)
กลับสู่หน้าหลัก
การได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์ท้องถิ่นในจีนของธนาคารกรุงเทพ และความร่วมมือในการปล่อยสินเชื่อให้กับเอสเอ็มอีในจีนของธนาคารกสิกรไทยกับธนาคารหมินเซิง
ถือเป็นก้าวรุกอันสำคัญยิ่งอีกก้าวหนึ่งของธนาคารพาณิชย์ ไทย ในการเกาะเกี่ยวการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของสาธารณรัฐ ประชาชนจีน ที่ยังมีแนวโน้มว่ายังไม่ถึงจุดสูงสุด
เป็นก้าวรุกที่แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการอย่างต่อเนื่องของธุรกิจธนาคารพาณิชย์ในไทย ในรอบเกือบ 2 ทศวรรษมานี้
ที่ผ่านมาธนาคารพาณิชย์ของไทยเคยหลงระเริงกับเศรษฐกิจ ในยุคฟองสบู่ในปี 2537-2538 ต้องดิ้นรน กระเสือกกระสนเพื่อให้อยู่รอดจากภาวะวิกฤติในประเทศเมื่อปี 2540-2542 และต้องประคองตัวให้ผ่านพ้นวิกฤติเศรษฐกิจโลกในช่วงปี 2551-2552
ทั้งธนาคารกรุงเทพ และกสิกรไทย ล้วนมีประสบการณ์จากปรากฏการณ์เหล่านั้น และเริ่มมองไปถึงอนาคตในวันข้างหน้า ทั้ง 2 ธนาคารเริ่มก้าวขาเข้าไปในจีน ในแบบที่มีการวางแผนเอาไว้ อย่างดี และเป็นระบบมิใช่การตามแห่เข้าไปแบบเป็นแฟชั่นเหมือน ธุรกิจอื่นๆ
แรงบันดาลใจและเป้าหมายในการทำธุรกิจในจีนของธนาคารพาณิชย์ไทยทั้ง 2 ธนาคารนั้น ไม่แตกต่างกัน นั่นคือการจับกลุ่มลูกค้าที่เป็นผู้ประกอบการในจีน ในขนาดธุรกิจที่ไม่ใช่เป็น Big Corporate
เป็นกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่ทั้ง 2 ธนาคารถนัด และธุรกิจใน จีนทุกวันนี้ยังพอจะมีช่องว่างเหลืออยู่ให้สามารถสอดแทรกเข้าไปได้
ที่มาที่ไปในการรุกเข้าไปในจีนของทั้ง 2 ธนาคารนั้นมีความต่างกันอยู่บ้าง
ธนาคารกรุงเทพมองเรื่องจีนไว้ตั้งแต่ยุคของนายห้างชิน โสภณพนิช มีการวางเครือข่ายธุรกิจเอาไว้อย่างกว้างขวาง ทั้งในฮ่องกง ไต้หวัน และจีนแผ่นดินใหญ่
ขณะที่ธนาคารกสิกรไทย บัณฑูร ล่ำซำยอมรับว่าเริ่มให้ความสนใจจีนเมื่อประมาณ 7 ปีที่ผ่านมานี้เอง
แต่บัณฑูรก็ให้ความสำคัญกับการทำธุรกิจในจีนเป็นอย่างมาก ถึงขนาดที่เอ่ยปากออกมาว่า "ชีวิตที่เหลือของผม คือในเมือง จีน"
และเป้าหมายสูงสุดของธนาคารกสิกรไทยในจีน ก็มิได้หยุดไว้เพียงแค่การเปิดเป็นเพียงสาขาของธนาคารไทย
ธนาคารกสิกรไทยก็ต้องการได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์ท้องถิ่น เหมือนกับธนาคารกรุงเทพ
ปัจจุบันหากนับจำนวนธนาคารพาณิชย์ที่มีอยู่ในไทย ธนาคารที่เป็นของคนไทยจริงๆ แล้วเหลือเพียง 4 แห่ง
ในจำนวนนี้เป็นธนาคารพาณิชย์ของเอกชนล้วนๆ เพียง 2 แห่ง คือธนาคารกรุงเทพ และกสิกรไทย
ส่วนธนาคารกรุงไทยก็เป็นธนาคารรัฐวิสาหกิจ ขณะที่ธนาคารไทยพาณิชย์ กลุ่มผู้ถือหุ้นหลักเป็นสถาบัน
กลุ่มตระกูลผู้ก่อตั้งทั้งของธนาคารกรุงเทพ และกสิกรไทย ล้วนมีเชื้อสายจีน
ความที่มีเชื้อสายจีน ถือเป็นใบเบิกทางสำคัญในการรุกเข้า ไปปักธงในประเทศที่มีผืนแผ่นดินกว้างใหญ่แห่งนี้
ที่สำคัญที่สุด...หากทั้งธนาคารกรุงเทพ และกสิกรไทย ประสบความสำเร็จในการรุกธุรกิจเข้าไปในจีน
โอกาสที่ธนาคารในจีนจะเติบโตจนมีขนาดใหญ่กว่าธนาคาร แม่ในไทยนั้นมีอยู่สูงมาก
เรื่องราวในจีนของทั้งธนาคารกรุงเทพ และกสิกรไทย จึงเป็นเรื่องที่มีสีสันที่น่าติดตามเป็นอย่างยิ่ง
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|