ชีวิตที่มืดและสว่างของเท็ด เทอร์เนอร์ (ตอนจบ)

โดย มานิตา เข็มทอง
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( เมษายน 2553)



กลับสู่หน้าหลัก

ก้าวใหญ่อีกก้าวของเท็ด เทอร์เนอร์ ในการบริหาร CNN คือการควบกิจการกับ Time Warner ในปี 1995 นับเป็นเวลา 30 ปี หลังจากที่เขาบุกเบิกลุยธุรกิจต่อจากบิดาของเขา ซึ่งในตอนนั้นเท็ดคิดว่าเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมแล้วที่เขาจะวางมือจากการเป็น CEO ของ CNN

แต่กระนั้นเขายอมรับว่า เขาเกิดความวิตกเหมือนกันที่ต้องละมือจากการเป็นผู้บริหารใหญ่ในบริษัทที่ตัวเองก่อตั้ง เขาคิดว่า การที่ CNN ได้เข้า ไปอยู่ใต้ร่มของบริษัทใหญ่ถือเป็นโอกาสที่ดี และเป็นส่วนหนึ่งในความตั้งใจของเขามาตลอดที่ต้อง การเป็นใหญ่ในอุตสาหกรรม จากบริษัทป้ายโฆษณา เล็กๆ ที่เท็ดประคับประคองจนอยู่รอดและขยายกิจการมาเป็นบริษัทที่มีมูลค่าสูงถึง 8 พันล้านเหรียญ ทำให้เท็ดกลายเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดขององค์กร สื่อสารมวลชนที่ใหญ่ที่สุดในโลก เท็ดแน่ใจว่า หาก บิดาของเขายังมีชีวิตอยู่คงจะภูมิใจในความสำเร็จนี้ ไม่น้อยทีเดียว

การควบกิจการทั้งสองบริษัทสำเร็จลุล่วง ด้วยดีในปี 1997 ด้วยระยะเวลาเพียง 9 เดือนหลังจากนั้นมูลค่าหุ้นของ Time Warner เพิ่มขึ้นประมาณ 50% ทำให้หุ้นในส่วนของเท็ดเพิ่มขึ้นจาก 2.2 พันล้านเหรียญ เป็น 3.2 พันล้านเหรียญ จึงเป็น ที่มาของความคิดในการบริจาคเงินจำนวน 1 พันล้านเหรียญให้แก่ United Nations (UN) นับเป็นความภาคภูมิใจอีกครั้งของเท็ดที่สามารถบริจาคเงิน เป็นสาธารณกุศลจากกระเป๋าของเขาเอง ดั่งที่เคยตั้งใจไว้เบื้องต้น

เท็ดกล่าวไว้ในหนังสือของเขาว่า เขาต้อง การใช้หนี้ส่วนของสหรัฐฯ ให้แก่ UN แต่ตาม กฎหมายไม่สามารถกระทำได้ในส่วนบุคคล เขาจึง ขอบริจาคเงินส่วนดังกล่าวเพื่อสนับสนุนโครงการต่างๆ ของ UN แทน ด้วยการก่อตั้งมูลนิธิ United Nations เขารับหน้าที่เป็นประธานของมูลนิธิ สำหรับส่วนของหนี้ของสหรัฐฯ ที่มีสัญญาจ่ายให้กับ UN เท็ดได้ก่อตั้งองค์กร Better World Fund เพื่อทำหน้าที่ในการล็อบบี้สภาสหรัฐฯ ในการจ่ายเงินตามสัญญาที่จะบริจาคไว้กับ UN เท็ดกล่าวว่าเขาต้องการสนับสนุนให้บรรดาเศรษฐีผู้มีเงินเหลือ ใช้ทั้งหลายเริ่มให้แก่สังคมต่อโลกของเราให้มากขึ้น

เท็ด เทอร์เนอร์ถือเป็นนักการกุศลคนสำคัญของโลก โดยก่อนหน้าเริ่มโครงการกับ UN เขาได้ก่อตั้งมูลนิธิเทอร์เนอร์ขึ้นในปี 1990 โดยมีสมาชิกของครอบครัวดำรงตำแหน่งเป็นผู้บริหารของมูลนิธิ อีกทั้งยังเป็นการสานสัมพันธ์ให้แก่ครอบครัวของเขาเองด้วย มูลนิธิเทอร์เนอร์มุ่งเน้นที่การสนับสนุนโครงการที่เกี่ยวข้องกับการปกป้องรักษาสิ่งแวดล้อม สำหรับเงินมูลค่า 1 พันล้านเหรียญที่เท็ดบริจาคให้ กับ UN นับเป็นมูลค่ามหาศาล ถือเป็นหนึ่งในสามส่วนของเงินที่เท็ดมีอยู่ แต่เขาคิดว่า หากเขาสามารถ หาไม่ได้ด้วยระยะเวลาเพียง 9 เดือน จากมูลค่าหุ้นของเขาใน Time Warner หากผลการดำเนินงานของ Time Warner ยังคงไปได้ดี เขาก็จะมีเงินเพิ่มขึ้นอีก แต่ไม่มีใครสามารถหยั่งรู้อนาคตได้ ในปี 1999 ก่อนเข้าสู่ศตวรรษใหม่ Time Warner เริ่มสูญเสียความเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมเคเบิลทีวีให้แก่กระแสดอทคอมที่กำลังมาแรงในขณะนั้น บริษัทเปลี่ยนทิศทางสู่อินเทอร์เน็ต

ในที่สุด Time Warner ควบกิจการกับ AOL แต่ก็ไม่ได้ทำให้หุ้นของ Time Warner เป็นที่รุ่งโรจน์อีกต่อไป เท็ดยอมรับว่าในตอนนั้นเขาสนับสนุนการควบกิจการระหว่างสองบริษัทพร้อมด้วยคำถามมากมายในใจ หลังจากดีลเสร็จสิ้น หุ้นของ Time Warner ขึ้นประมาณ 40% ในส่วนของเท็ดมีมูลค่าเพิ่มขึ้นเป็นหมื่นล้านเหรียญ แต่นั่น เป็นจุดเริ่มต้นของขาลง

นับตั้งแต่ดีลที่กลายเป็น AOL เข้าเทกโอเวอร์ Time Warner แล้วเปลี่ยนชื่อเป็น AOL Time Warner แทนที่จะเป็นการควบกิจการ แล้วใช้ชื่อ Time Warner AOL ต่อจากนั้นเพียงไม่กี่เดือนการเริ่มต้นศตวรรษที่ 21 ฟองสบู่ดอทคอมเริ่มแตก หุ้นของ AOL ดิ่ง ซึ่งเป็นหุ้นที่ใช้เข้าซื้อ Time Warner ยิ่งกว่านั้น มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างองค์กรครั้งใหญ่ เท็ดกล่าวว่า "เป็นครั้งแรกในชีวิตที่ถูกไล่ออก" ด้วยการถูกลดอำนาจจากการดูแลส่วนของเน็ตเวิร์ก ทั้งหมด เหลือเพียงแต่ตำแหน่งรองประธานของบริษัทโดยรวมเท่านั้น เท็ดยอมรับไม่ได้ที่องค์กรใหม่ ลอยแพพนักงานกว่า 40,000 ชีวิต แต่กลับยอมจ่ายเงินเดือนให้เขาปีละ 1 ล้านเหรียญ เพื่อนั่งอยู่เฉยๆ จนกว่าจะครบเทอม เนื่องจากเขาเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุด

มรสุมชีวิตได้กระหน่ำเท็ดในคราวเดียวกัน เท็ดถูกลดอำนาจในองค์กรที่เขาสร้างมากับมือ หลังจากที่เขาแยกทางกับเจน ฟอนด้าได้ไม่นาน ยิ่งกว่านั้น โรคร้ายได้คร่าชีวิตหลานสาววัย 3 ปีของเขาในปีเดียวกันนั้นด้วย ทำให้เขานึกถึงพี่สาวของเขาที่เสียชีวิตตั้งแต่ยังเยาว์เช่นกัน เท็ดเริ่มเกิดอาการวิตกจริต เกิดความกลัว หวาดระแวง กังวลในสิ่งที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ ในอดีตเขายังมีกีฬาเล่นเรือช่วยผ่อนคลายความเครียดได้บ้าง แต่เขาได้วางมือจากเกมเหล่านั้นแล้ว

หลังจากเหตุการณ์ 11 กันยายน 2001 เท็ดเริ่มทยอยขายหุ้นของเขาใน Time Warner ด้วย ราคาที่ต่ำกว่าเดิมมาก เพื่อนำมาใช้จ่ายในโครงการการกุศลของเขา ภาพที่เขาเคยวาดไว้ว่าจะมีเงินจำนวนมากเพื่อสนับสนุนมูลนิธิต่างๆ เริ่มไม่ราบรื่น จากราคาหุ้นที่เขาถืออยู่ดิ่งลงอย่างต่อเนื่อง ด้วยเวลาเพียง 2 ปีครึ่ง มูลค่ารายได้สุทธิของเท็ดที่มีอยู่ ประมาณหมื่นล้านเหรียญ ลดลงเหลือเพียง 2 พันล้านเหรียญ เท็ดกล่าวไว้ว่า "เท่ากับสูญเสียรายได้ประมาณวันละ 10 ล้านเหรียญ" ไม่ใช่สิ่งที่เขาหวังไว้ แต่เขาไม่สามารถทำอะไรได้

ในที่สุด ปี 2003 เท็ดตัดสินใจลามือจากธุรกิจที่เขาบุกเบิกสร้างมานานถึง 50 ปีอย่างถาวร วันนี้เท็ดปรารภจากใจจริงว่า หากเป็นไปได้ เขาต้องการจะซื้อ CNN กลับคืนมาเพื่อบริหารเอง แต่เขายอมรับความจริงว่า เขามีเงินไม่เพียงพอที่จะซื้อคืนกลับมา

แม้ว่า ขณะนั้นเท็ดจะมีอายุ 67 ปีแล้ว แต่เขาไม่เคยคิดว่าจะเกษียณ เขาเริ่ม "Plan B" ทันที ด้วยการย้ายเข้าสู่ออฟฟิศใหม่ในแอตแลนตา และเริ่มต้นธุรกิจใหม่เพื่อสร้างรายได้เป็นค่าใช้จ่ายในมูลนิธิต่างๆ ที่เขาก่อตั้งขึ้น ธุรกิจใหม่ที่ว่าคือ ธุรกิจ ร้านอาหาร Ted's Montana Grill ที่จำหน่ายแฮมเบอร์เกอร์เนื้อวัวไบซันของเขานั่นเอง

วันนี้ เท็ด เทอร์เนอร์ในวัย 72 ปียังคงมีสินทรัพย์เหลือประมาณ 2-3 พันล้านเหรียญ รวมทั้งพันธบัตรรัฐบาลมูลค่า 700 ล้านเหรียญ ที่ดินจำนวน 2 ล้านเอเคอร์ในสหรัฐอเมริกาและอาร์เจนตินา และวัวป่าไบซันอีกกว่า 50,000 ตัว ทั้งหมดนี้ เพียงเพราะเขายึดมั่นในคำสอนของบิดาที่ว่า "เข้านอนเร็ว ตื่นแต่เช้า ทำงานหนัก และเผยแพร่" ซึ่งเขาทำให้โลกรู้ทั้งด้านมืดและด้านสว่างของเขาไว้ใน หนังสือ Call Me Ted เป็นที่เรียบร้อยแล้ว


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.