Bluefin Tuna Revolution

โดย ภก.ดร. ชุมพล ธีรลดานนท์
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( เมษายน 2553)



กลับสู่หน้าหลัก

มีคำอยู่หลายคำที่ใช้ขนานนามหรือสื่อความหมายแทน "ประเทศญี่ปุ่น" ซึ่งหนึ่งในชื่อเรียกขานเหล่านั้น "แดนปลาดิบ" เป็นคำที่บ่งบอกเอกลักษณ์ อีกทั้งยังนัยถึงรากฐานวัฒนธรรมการบริโภคปลาดิบที่หยั่งลึกในสังคมญี่ปุ่นมาเป็นเวลาช้านาน

แม้ว่าการบริโภคปลาโดยไม่ผ่านกระบวนการปรุงให้สุกด้วยความร้อนนั้นดูเหมือนเป็นอนารยธรรม ที่อยู่นอกกรอบของบรรทัดฐานการบริโภคของผู้คนที่เจริญแล้วทั่วโลกก็ตามแต่การบริโภคปลาแบบดิบๆ นี้สืบเนื่องมาจากความสัมพันธ์อย่างลึกซึ้งระหว่างภูมิศาสตร์ทำเลที่ตั้งของหมู่เกาะของญี่ปุ่นกับวิถีชีวิตของชาวญี่ปุ่นในสมัยโบราณ

กระแสน้ำอุ่น Kuroshio จากทางใต้ของมหาสมุทรแปซิฟิกที่ไหลเวียนมาบรรจบกับกระแสน้ำเย็น Oyashio จากขั้วโลกเหนือทางฝั่งตะวันออกของประเทศ ส่วนอีกด้านหนึ่งก็มีกระแสน้ำอุ่น Tsushima* กับกระแสน้ำเย็น Liman ที่ไหลมารวมกันทางฝั่ง Japan Sea กระแสน้ำทั้งหมดนั้นได้พัดพาเอาแพลงตอนซึ่งเป็นอาหารของปลาและสัตว์น้ำนานาชนิดที่เอื้ออำนวยให้เกิดระบบห่วงโซ่อาหาร อันอุดมสมบูรณ์ในนิเวศวิทยาทางทะเลที่โอบล้อมรอบญี่ปุ่นทั้ง 4 ด้าน

ด้วยเหตุนี้อาหารทะเลจึงกลายเป็นแหล่งอาหารสำคัญของชาวญี่ปุ่นโดยเฉพาะเมนูปลาดิบทั้ง Sashimi (ปลาทะเลที่แร่เนื้อออกเป็นชิ้นแล้วรับประทานสดๆ) และ Sushi (ข้าวหน้าปลาดิบ) ซึ่งเป็นแขนงหนึ่งแห่งศาสตร์และศิลป์ของอาหารญี่ปุ่น

ในบรรดาชนิดของปลาดิบที่มีให้เลือกมาก มายนั้น Bluefin Tuna หรือที่เรียกในภาษาญี่ปุ่นว่า Kuro-Maguro เป็นปลาชนิดหลักที่ขาดเสียมิได้ในการเสิร์ฟเมนูปลาดิบ

จวบกระทั่งเกิดกระแสนิยมของอาหารญี่ปุ่นในยุคโลกาภิวัตน์ที่ได้ชื่อว่าเป็นอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูงและมีแคลอรีต่ำ ซึ่งผู้คนจำนวนไม่น้อยตามเมืองใหญ่หลายแห่งทั่วโลกที่เคยลิ้มลองปลาดิบต่างติดใจหลงใหลในรสชาติของเนื้อปลาโดยเฉพาะ Kuro-Maguro ที่เสมือนเป็นการเพิ่มอุปสงค์การบริโภคอีกทางและส่งผลให้ Bluefin Tuna ในธรรมชาติมีจำนวนลดลงจนน่าเป็นห่วง

เมื่อกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมามีการประชุมวาระที่ 15 ของประเทศภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการค้าขายระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าใกล้สูญพันธุ์หรือ CITES (Convention on International Trade in Endangered Species of Wild Fauna and Flora หรือที่เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า อนุสัญญาวอชิงตัน Washington Convention) จัดขึ้นที่กรุงโดฮา ประเทศกาตาร์

หนึ่งในหัวข้อประชุมที่กลายเป็นข่าวใหญ่ในญี่ปุ่นซึ่งประท้วงมติที่ Monaco เสนอให้จัด Bluefin Tuna ที่จับจากมหาสมุทรแอตแลนติกและทะเลเมดิเตอร์เรเนียนนั้นเข้าสู่ชนิดพันธุ์ในบัญชีอนุรักษ์หมายเลข 1 ซึ่งห้ามค้าขายระหว่างประเทศโดยเด็ดขาดเนื่องจากใกล้สูญพันธุ์

ผลโหวตคะแนนเสียงรอบสุดท้ายของการประชุม CITES ครั้งนี้มีประเทศที่สนับสนุนอยู่ 20 เสียง ประเทศที่ลงคะแนนไม่เห็นด้วย 68 เสียง ซึ่งนำโดย ประเทศญี่ปุ่นผู้นำเข้า Bluefin Tuna ในสัดส่วนราว ร้อยละ 80 ที่ได้รับเสียงสนับสนุนจากประเทศแคนาดาและหลายประเทศในแถบแอฟริกา ขณะที่มีประเทศที่งดออกเสียงมากถึง 30 ประเทศส่งผลให้ Monaco Proposal ไม่มีผลบังคับใช้ในทางปฏิบัติและถูกวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางโดย เฉพาะประเด็นการล็อบบี้ของผู้แทนจากประเทศญี่ปุ่น

ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจประการหนึ่งคือสาระสำคัญของ Monaco Proposal อยู่ที่การนำเสนอมาตรการป้องกันการสูญพันธุ์ของ Bluefin Tuna แต่การออกเสียงลงคะแนนรับรองกลับมุ่งไปที่ประเด็นบริบทที่ข้องเกี่ยวกับเศรษฐกิจมากกว่า

กล่าวคือประเทศที่ออกเสียงคัดค้านส่วนใหญ่เป็นผู้ส่งออก Bluefin Tuna ซึ่งมีสนนราคาสูงถึงตัวละหลายแสนถึงล้าน บาท โดยให้เหตุผลว่าการห้ามการส่งออก Bluefin Tuna ที่จำกัดการจับอยู่เพียงในเขตมหาสมุทรแอตแลนติกและทะเลเมดิเตอร์เรเนียนนั้นไม่อาจบรรลุวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของ Monaco Proposal ได้ หากไม่ห้ามการค้าขาย Bluefin Tuna ที่จับได้จากทะเลส่วนอื่นของโลกด้วย ยกตัวอย่างเช่น ในเขตมหาสมุทรแปซิฟิก เป็นต้น

ขณะที่ประเทศญี่ปุ่นในฐานะผู้นำเข้าราย ใหญ่ก็สำทับว่า Bluefin Tuna จะไม่สูญพันธุ์ไปจากโลกเนื่องเพราะเมื่อเร็วๆ นี้ด้วยเทคโนโลยีของญี่ปุ่นสามารถเพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์ Bluefin Tuna สำเร็จแล้ว

แนวคิดในการเพาะเลี้ยงปลาทะเลริเริ่ม ขึ้นเมื่อปี 1948 โดย Koichi Seko ซึ่งเป็นอธิการบดีคนแรกของ Kinki University ในจังหวัด Wakayama ภายใต้วิสัยทัศน์ที่ว่ามหาสมุทรคือตู้ปลาทะเลตามธรรมชาติขนาดใหญ่ที่สามารถ เพาะพันธุ์ให้เกิดเป็นผลผลิตหล่อเลี้ยงประชากรญี่ปุ่นในห้วงเวลาที่ไม่สามารถพึ่งพาการประมงได้ในอนาคต

แม้ในระยะแรกแนวคิดดังกล่าวอาจฟังดูน่าขบขันและประสบผลล้มเหลวมาเป็นเวลานานต่อเนื่องหลายสิบปีด้วยเหตุผลที่ว่าการเพาะเลี้ยงปลาน้ำเค็มมีปัจจัยที่ต้องควบคุมมากมาย ซึ่งไม่ง่ายเหมือนการเพาะพันธุ์ปลาน้ำจืดประกอบกับองค์ความรู้ในห้วงเวลานั้นยังไม่พัฒนาเท่าที่ควร

กระนั้นก็ตาม ความสำเร็จก้าวแรกเกิดขึ้นใน ปี 1954 จากไอเดียของ Teruo Harada** ที่สามารถ เลี้ยงดูลูกปลาจากธรรมชาติให้เติบโตภายในตาข่ายที่ขึงอยู่ในทะเลแทนการเลี้ยงในแท็งก์ปลาขนาดใหญ่ ซึ่งต่อมาใช้เป็นแม่แบบเพื่อการพัฒนาเทคโนโลยีต่อยอดสำหรับเพาะเลี้ยงปลาหลายพันธุ์ในระดับอุตสาหกรรม

ตั้งแต่ปี 1965-ปัจจุบันได้พัฒนาเทคโนโลยีที่มีศักยภาพในการเพาะเลี้ยงและผสมพันธุ์ปลาทะเลที่มีความสำคัญในเชิงเศรษฐกิจสำเร็จแล้ว 18 ชนิดซึ่งนอกจากช่วยป้องกันการสูญพันธุ์ของปลาได้แล้วยังทำให้ชาวญี่ปุ่นบริโภคปลาได้ในราคาถูกลง

ในปี 2002 ประสบความสำเร็จในการเพาะเลี้ยง Bluefin Tuna ได้ครบวงจรชีวิตเป็นครั้งแรกของโลก ตั้งแต่เริ่มผสมพันธุ์, วางไข่, อนุบาลเพาะเลี้ยงจนกระทั่งได้เป็นตัวเต็มวัยและวางไข่ให้ลูกปลา ในรุ่นถัดไปซึ่งผลงานวิจัยชิ้นนี้ใช้เวลาในการสะสมองค์ความรู้ ค้นคว้าและวิจัยอย่างต่อเนื่องนานถึง 32 ปี เนื่องเพราะมนุษย์มีความรู้เกี่ยวกับวงจรชีวิตของ Bluefin Tuna น้อยมากเมื่อเทียบกับความชำนาญในการประมงจับปลา

ในศูนย์ทดลองของ Kinki University สามารถ เพาะเลี้ยง Bluefin Tuna ตัวเต็มวัยมีความยาวถึง 3 เมตร น้ำหนักราว 500 กิโลกรัม ซึ่งใช้เวลาเติบโต นานกว่า 5 ปีและส่งป้อนตลาดภายในประเทศได้

ความสำเร็จของเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยง Bluefin Tuna ได้แสดงบทบาทปฏิวัติจาก Fishing พลิกผันให้เป็น Farming ซึ่งเป็นหลักประกันให้กับอนาคตของ Bluefin Tuna ทั้งในแง่การอนุรักษ์, การบริโภครวมถึงการประมงในระดับอุตสาหกรรม

หมายเหตุ
* กระแสน้ำอุ่น Tsushima ไหลแยกสายมาจากกระแสน้ำอุ่น Kuroshio ในบริเวณเกาะ Kyushu
** ในเวลาต่อมา Teruo Harada ดำรงตำแหน่งอธิการบดีคนที่ 5 ของ Kinki University


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.